กระเทียมต้นและหอมญี่ปุ่น(Leek and Japanese bunching Onion)

ลักษณะทั่วไป
เป็นพืชอายุยาว ดีตรงที่สามารถเก็บเกี่ยวขายได้แม้พ้นวันเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว (คุณภาพอาจต่ำลง) ไม่เน่าเสียเร็วเปรียบเทียบกับผักกาดหอมหรือปวยเหล็ง เหมาะแก่การส่งเสริมปลูกในพื้นที่ไกลจากตลาด ปลูกง่าย ต้องการความเอาใจใส่ช่วงย้ายปลูกบ้าง ปลูกได้ใน พื้นที่ขนาดใหญ่ หรือปลูกสลับแถวกับพืชอื่น เช่น ปวยเหล็ง หรือ แรดิช (Radish) ขณะที่ต้นยังเล็ก (ซึ่งระยะปลูกค่อนข้างห่าง เพื่อทำการพูนดินภายหลังได้สะดวก)


กระเทียมต้น
ข้อมูลการผลิต
พันธุ์ Swiss Giant Helvitia
ฤดูปลูก ตลอดปี
ระดับความสูง สูงกว่า 800 เมตร ขึ้นไป
ความเป็นกรดด่างของดิน 6.5-7.00
ชนิดของดิน ทุกชนิด แต่ชอบดินร่วนปนทราย
ระยะปลูก (ต้นxแถว)    15 ซม. X 100-120 ซม.
จำนวนต้น 7 ต้น/ตร.ม.
การเตรียมกล้า
ระยะปลูก (ต้นxแถว)    1-2 ซม. X10 ซม.
จำนวนต้น 200 ต้น/ตร.ม. (คาดว่ากล้าจะเสีย 67%) เพียงพอสำหรับย้ายปลูกบนพื้นที่ 25-30 ตร.ม.


หอมญี่ปุ่น เช่นเดียวกับกระเทียมต้น ยกเว้น
ระยะปลูก (ต้นxแถว)    10-20 ซม. X 100-120 ซม.
ร่องปลูก ลึก 30 ซม. กว้าง 30 ซม.
ระยะเวลาเจริญเติบโตเต็มที่ ช่วงยาว 120-230 วัน แล้วแต่จะเก็บเกี่ยว
กระเทียมต้น
ข้อมูลต้นทุนและผลตอบแทน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)


หมายเหตุ ข้อมูลต้นทุนผลตอบแทนและราคา เป็นข้อมูลในอดีตที่มีการเปลี่ยนแปลง
ข้อสังเกตเกี่ยวกับต้นทุนและผลตอบแทน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)
การผลิต
เกษตรกรที่ปลูกกระเทียมต้น (และหอมญี่ปุ่น) สนใจเรื่องราคามาก จะเก็บเกี่ยวขายเมื่อราคาดี ซึ่งพืชนี้เก็บเกี่ยวเมื่อใดก็ได้ น้ำหนักผลผลิตโดยเฉลี่ยต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม. จึงคำนวณยากเพราะเก็บเกี่ยวได้ ตั้งแต่พืชอายุ 100-235 วัน และน้ำหนักจะเมตามอายุพืช แต่การสูญเสียคุณภาพก็สูงตามไปด้วย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝนนอกจากนั้นน้ำหนักผลผลิตยังขึ้นอยู่กับความถี่ห่างของระยะปลูกอีกด้วย
ผลผลิต
ฤดูหนาว ผลผลิตสูงกว่า (200-220 กก.) ฤดูฝนราว 180-200 กก. เนื่องจากมีปัญหาเรื่องโรคมากกว่า ประมาณ 40-50% ของผลผลิตทุกฤดูเป็นเกรด A
ราคาขายของเกษตรกร
ผลิตผลที่จำหน่ายแก่ตลาดจำเพาะ เช่น ครัวการบินไทยได้ ราคาเกรด AA สูงถึง 15-20 บาท/กก. โดยเฉลี่ยราคาตลาด 8-12 บาท/กก. ตลอดปี
ต้นทุนปัจจัยการผลิต
ใช้ยากำจัดศัตรูพืชสูงในฤดูร้อน และยากำจัดเชื้อราสูงในฤดูฝน  โดยเฉลี่ยฉีดพ่นสารเคมี 3-5 ครั้ง ทั้งสองฤดู
ผลตอบแทน
ในการปลูกฤดูหนาวได้ผลตอบแทนดีกว่า เพราะต้นทุนต่ำ น้ำหนักและคุณภาพดี แต่ก็ขึ้นกับระดับราคา
สำหรับเจ้าหน้าที่ส่งเสริม
อายุกล้าไม่ควรเกิน 2 เดือน ช่วยเกษตรกรตัดสินใจช่วงเวลาที่จะเก็บเกี่ยว ถ้าราคาต่ำหรือมีปริมาณมากไป ควรชลอการเก็บเกี่ยว ตรวจดูผลผลิตและคุณภาพเป็นระยะ เปรียบเทียบกับราคาตลาดต้องคำนึงว่า เมื่อพืชอายุมากแม้น้ำหนักสูง แต่คุณภาพและราคาจะต่ำ  โดยเฉพาะในฤดูฝน ต้นพืชอายุมาก มักมีใบสูญเสียมาก ถ้าราคาค่อนข้างคงตัว แนะนำให้เกษตรกรถอนขายเสีย เพื่อพื้นที่เพาะปลูกพืชอื่นต่อไปจะคุ้มกว่า การกำจัดวัชพืชในฤดูฝน ควรใช้มีดตัดระวังอย่าให้กระทบกระเทือนต้น เชื้อโรคอาจเข้าสู่แผลที่ใบได้ พืชนี้เหมาะแก่การส่งเสริมแก่ (1) เกษตรกรที่เน้นหนักการปลูกพืช อื่นแต่ต้องการรายได้เสริมตลอดฤดู (2) เกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกกว้างขวาง
การตลาด
ตลาดกว้างขวาง เอกชนสนใจมาก การสูญเสียพืชระหว่างขนส่งเชียงใหม่-กรุงเทพฯ ประมาณ 30% ในฤดูฝน และ 40-50 % ในฤดูร้อน ราคาสูงสุดระหว่าง ม.ค.-มี.ค. (20-30 บาท/กก.) และต่ำระหว่าง พ.ค.-ก.ย. (10-15 บาท/กก.)
หอมญี่ปุ่น
ข้อมูลต้นทุนและผลตอบแทน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)


หมายเหตุ ข้อมูลต้นทุนผลตอบแทนและราคา เป็นข้อมูลในอดีตที่มีการเปลี่ยนแปลง
ข้อสังเกตเกี่ยวกับต้นทุนและผลตอบแทน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)
ผลผลิต
ฤดูร้อน 100-200 กก. ขึ้นอยู่กับการจัดการ ฤดูฝนราว 70-100 กก. แต่ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับปัญหาโรคเน่าเละอันเกิดจากฝน การระบายน้ำและต้นถูกกระทบกระเทือนหรือไม่ เป็นเกรด A 50-60%
ราคาขายของเกษตรกร
ได้ราว 50-60% ของราคาตลาดหรือประมาณ 10-13 บาท/กก. ราคาสูงกว่าเล็กน้อย ช่วง ม.ค.-มี.ค.(12-15 บาท/กก.)
ต้นทุนปัจจัยการผลิต
ต้นทุนต่ำ ส่วนใหญ่เป็นค่าปุ๋ยเคมี
ผลตอบแทน
กำไรจะดีกว่าในฤดูร้อน
สำหรับเจ้าหน้าที่ส่งเสริม
แนะให้เกษตรกรเพาะกล้าก่อนสิ้นเดือน พ.ย. การขาดน้ำ จะทำให้ผลผลิตตกต่ำในช่วง มี.ค.-เม.ย. แนะนำให้เกษตรกรกลบโคนต้นสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพดีตามตลาดต้องการ ในการกลบโคนควรระมัดระวัง เพื่อป้องกันใบและลำต้นหัก หรือเป็นแผลซึ่งจะทำให้เชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่าย
การตลาด
ตลาดแคบกว่าต้นหอมชนิดอื่นๆ แต่ไม่แคบเกินไป การสูญเสียระหว่างขนส่งไปกรุงเทพฯ 30-50% (ค่อนข้างสูงในฤดูร้อน) ราคาตลาดเฉลี่ยตลอดปี 12-16 บาท/กก. สูงสุดระหว่าง ม.ค.-มี.ค. (20-30 บาท/กก.) และต่ำช่วง พ.ค.-ก.ย. (15-20 บาท/กก.)
ข้อแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการเพาะปลูก
ศัตรูพืชและโรค
ศัตรูพืช
มด หนอนกระทู้ดำ (Black Cut Worm) ฉีดพ่น ลอร์สแบน (Lorsban) นุวาครอน (Nuvacron) แลนเนท (Lannate) เมื่อพบการทำลาย
เพลี้ยไฟ(Thrips) ใช้ พอสส์ (Posse) สัปดาห์ละครั้งถ้าจำเป็น
หนอนกระทู้หอม (Leaf-eating worm, Spodoptera exigus) ป้องกันแก้ไขโดยใช้ แลนเนท (Lannate) สัปดาห์ละครั้งถ้าจำเป็น
โรค
ปลายใบไหม้ (Tip burn) ป้องกันโดยให้น้ำสม่ำเสมอ ให้ปุ๋ยทางใบช่วยราสีม่วง (Purple Blotch) ฉีดพ่น ไดเทนเอ็ม 45 (Dithane M 45) หรือโพสีรัม-คอมบี (Polyrum-combi) สลับกับ รอร์ฟรัล (Rovral) สัปดาห์ละครั้งจนกว่าจะหาย รากเน่า (Root Rot) ใช้ เบนเลท (Benlate) ผสมแคปแทน (Captan) อัตราส่วน 1:1 (ตามคำแนะนำ) 2 ครั้ง จนต้นฟื้นตัว รากปม (Root Knot) ไม่มีวิธีรักษา แต่ฉีดธาตุอาหารเสริม เช่น โทนา (Tona) ช่วยได้ และป้องกันโดยใส่ ฟูราดาน รองก้นหลุมก่อนปลูก
ปัจจัยที่ต้องการ (ต่อพื้นที่ปลูก 1 ตร.ม.)
ในแต่ละขั้นตอนการผลิต ต้องการชนิดและปริมาณปัจจัย ดังนี้


การใช้แรงงาน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)


*ข้อมูลแรงงานและระยะเวลาได้จากข้อมูลสนาม
ข้อควรปฏิบัติ
ช่วงเพาะกล้า
ขุดดิน ทิ้งตากแดด 15 วัน ขึ้นแปลงกว้าง 1 เมตร คลุกปุ๋ย 15-15-15 ปูนขาว ปุ๋ยคอกลงให้ทั่วแปลง รดน้ำให้ชุ่มแล้วขีดร่องขวางแปลงลึก 4-5 ซม. ห่างกัน 5-10 ซม. หยอดเมล็ดห่างกัน 1-2 ซม. กลบดินบางๆ ราว 1 ซม. โรย ฟูราดาน (Furadan) แล้วรดน้ำให้ทั่วแปลงและเพื่อป้องกันมดขนย้ายเมล็ด ใช้ นุวาครอน ผสมน้ำรดแปลง รดน้ำวันละ 2 ครั้ง คลุมแปลงด้วยหญ้าเพื่อรักษาความชื้นเอาหญ้าคลุมออกหลังเมล็ดงอก 2-3 วัน ใช้มุ้งไนลอนคลุมเหนือแปลงแทนป้องกันแสงแดดฉีดยาเคมีเมื่อมีปัญหาแมลงหรือโรคพืช ย้ายกล้าปลูกเมื่ออายุ 40-90 วัน หรือเมื่อโคนต้นโตประมาณ 1 ซม. ถอนกล้าด้วยมือ หรือขุดออก
ข้อควรระวัง
1. ถ้าไม่เอาหญ้าคลุมแปลงออก หลังเมล็ดงอก 3 วัน กล้าจะคดงอด
2. ปลูกให้ลึก 4-5 ซม. และกลบด้วยดินเบาๆ เพื่อให้กล้างอกตรงตัว
3. ไม่จำเป็นต้องกลบดินเต็มหลุมเพาะกล้า เพราะดินจะหล่นลงไปเอง
ช่วงปลูก
เตรียมแปลง ตากแดดทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ ขุดร่องลึก 30 ซม. กว้าง 30 ซม. ห่างกัน 100-120 ซม. รองพื้นด้วยปุ๋ย 15-15-15 ใส่ปุ๋ยคอกและโรย ฟูราดาน กลบดินเหลือพื้นที่ขอบร่องสูง 5 ซม. รดน้ำให้ทั่วแปลงย้ายกล้าปลูก ให้ใบแผ่ขนานตามความยาวแปลง ไม่ล้ำออกมาบนทางเดินและเมื่อกลบดินภายหลังใบไม่หักเสียหาย
ข้อควรระวัง
เมื่อราคาดี ใช้กระดาษห่อโคนต้นก่อนกลบดิน เพื่อให้ต้นสะอาดและสวย
ช่วงดูแลรักษา
เมื่อปลูกได้ 20 วัน โรยปุ๋ย 21-0-0 และ 15-15-15 ลงในร่องปลูกแล้ว กลบดิน พูนโคน อายุได้ 60 วัน โรยปุ๋ย 15-15-15 แล้วกลบดินพูนโคนต้นถึงระดับใบล่าง ตอนต้นฤดูฝน ความชื้นในดินสูง อาจมีปัญหาเชื้อรา ให้ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันแก้ไข ถอนต้นที่เป็นโรคทิ้งเสีย
ข้อควรระวัง
ควรใช้สารจับใบเมื่อฉีดพ่นยาในฤดูฝน เพราะใบจะลื่น
ช่วงเก็บเกี่ยว
ถอนได้เมื่ออายุ 90 วัน หรือเมื่อใบล่างห่างจากพื้น 15 ซม. หรือโคนต้นโตเกิน 2.5 ซม. ใช้จอบขุดเอาต้นโตออก ล้างรากให้สะอาดตัดรากทิ้งเหลือ 3 ซม. ขลิบปลายใบออกถ้าส่งลูกค้าพิเศษ เช่น ครัวการบินไทย เก็บเสียทิ้ง แล้วบรรจุถุงพลาสติค
ข้อควรระวัง
1. การถอนระวังอย่าให้รากขาดตรงโคนต้น
2. ถ้าต้นยังไม่โตดี ใส่ปุ๋ย 15-15-15 และฉีดพ่นยาต่อไปอีก
อื่นๆ
ใช้ประโยชน์พื้นที่ระหว่างแถวปลูกได้ โดยปลูกพืชอายุสั้น (30-50 วัน เช่น ผักกาดหอม แรดิช เอ็นไดว์) ทันทีเมื่อย้ายปลูก เพราะเมื่อพ้น 50 วัน ต้องขุดดินระหว่างร่องเพื่อใช้พูนโคน
ที่มา:  ภาควิชาส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่