กะหล่ำดาว(brussel Sprout)


ลักษณะทั่วไป
เหมาะที่จะปลูกในฤดูหนาว ไม่ควรส่งเสริมปลูกฤดูร้อน เป็นพืชใหม่สำหรับเกษตรกรและให้รายได้สูง แต่ไม่ควรปลูกมาก เพราะตลาดมีจำกัด สามารถให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวเป็นเวลานานถ้ามีการจัดการดี  โดยหลังการเก็บเกี่ยวครั้งแรกแล้ว ควรดูแล บำรุงรักษาต้นให้ดี
ข้อมูลการผลิต
พันธุ์ Jade Cross (“E” Strain)
ฤดูปลูก กลางฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว (ส.ค.-ธ.ค.)
ระดับความสูง 1000 เมตร ขึ้นไป
ระยะปลูก (ต้นxแถว)    100×100 ซม.
ความลึก 10-15 ซม.
จำนวนต้น 1 ต้น/ตร.ม.
ความกว้างของแปลง 50 ซม.
ระยะห่างของแปลง 50 ซม.
การเพาะกล้า
ระยะปลูก (ต้นxแถว)    5×10 ซม.
ความลึก 1-2 ซม.
จำนวนต้น 130-135 ต้น/ตร.ม. (กล้าเสีย 25%) เพียงพอสำหรับการย้ายปลูกบนพื้นที่ 100 ตร.ม.
ระยะเวลาเจริญเติบโตเต็มที่ เริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 60-70 วัน หลังการปลูกย้าย
ข้อมูลต้นทุนและผลตอบแทน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)


หมายเหตุ ข้อมูลต้นทุนผลตอบแทนและราคา เป็นข้อมูลในอดีตที่มีการเปลี่ยนแปลง
ข้อสังเกตเกี่ยวกับต้นทุนและผลตอบแทน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)
การผลิต
ควรปลูกฤดูหนาว ถ้าปลูกฤดูร้อน ต้นจะแคระแกร็น มีปัญหาแมลงทำลายมาก และผลผลิตต่ำ สำหรับฤดูฝน มีปัญหาโรคต้นเน่าและเหี่ยว ให้ผลผลิตต่ำในฤดูแล้ง ถ้ามีปริมาณน้ำพอ ควรปลูกปลายฤดูแล้ง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาแมลง และสามารถให้ผลผลิตในฤดูฝน
ผลผลิต
ฤดูหนาว 45-55 กก. เป็นเกรด A ระหว่าง 50-60% ฤดูฝน 15-25 กก. ส่วนใหญ่เป็นเกรด B คือ 70-80%
ราคาขายของเกษตรกร
ฤดูฝนราคาสูง 35-40 บาท/กก. เทียบกับฤดูหนาว 28-33 บาท/กก.
ต้นทุนปัจจัยการผลิต
โครงการฯ ควรทำการเพาะกล้าแก่เกษตรกร ช่วยลดต้นทุน การเสียหายของต้นกล้า (1 ต้น/ตร.ม.) ค่ายาฆ่าแมลงสูงทั้งสองฤดู ส่วนฤดูฝนค่ายากำจัดเชื้อราสูงกว่า เพื่อลดปัญหา โรคเน่าดำ (Black Rot) หลังเก็บเกี่ยว
สำหรับเจ้าหน้าที่ส่งเสริม
อายุพืชยาวนาน พื้นที่ปลูกจึงควรมีน้ำตลอดฤดูการปลูก ควรสนับสนุนให้เกษตรกรดูแลรักษาต้นให้ดีต่อไปหลังการเก็บเกี่ยวครั้งแรก ควรมีการตัดแต่งใบล่างออกให้ทรงต้นโปร่ง ผลผลิตจะค่อยๆ สูงขึ้น การเก็บเกี่ยวไม่ควรใช้มีดตัด จะทำให้มีแผล เชื้อโรคเข้าลำต้นได้ และหลังจากการเก็บเกี่ยวควรฉีดยาป้องกันโรคและแมลงที่อาจเข้าทำลายตามบาดแผล การเก็บเกี่ยวเมื่อพืชอายุมาก ลำต้นสูง ควรทำไม้ค้ำหรือพูนโคนเพื่อพยุงลำต้นไม่ให้ล้ม
การตลาด
ตลาดจำกัด แนวโน้มราคาไม่แน่นอน แต่สูงขึ้นเล็กน้อยในฤดูฝน ยังไม่มีตลาดธุรกิจเอกชนรองรับ
ข้อแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการเพาะปลูก
ศัตรูพืชและโรค
ศัตรูพืช
เพลี้ยอ่อน (Aphids) เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน สังเกตจากใบม้วนตัวขึ้น มีรอยดำที่ใบ ฉีดพ่น แลนเนท (Lannate) ฮอสตาไธออน (Hostathion) เมื่อพบแมลง 5-7 วัน/ครั้งหรือใช้ ฟูราดาน (Furadan) รองพื้นป้องกัน ก่อนปลูก หนอนใย (Diamond Back Moth) พบช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน สังเกตจากใบถูกกินเหลือแต่เส้นใบมีใยของหนอนติดอยู่ ใช้ แลนเนท (Lannate) หรือ แอมบุช (Ambush) สลับกับ อโกรนา (Agrona) หรือ ธูรี่ไซด์ (Thuricide) ฉีดพ่นในตอนเย็น เมื่อมีการระบาด 5-7 วัน/ครั้ง หนอนคืบกะหล่ำ (Looper) พบช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน สังเกตจากการกัดกินใบ ป้องกันแก้ไขโดยฉีดพ่น แลนเนท แอมบุช หรือ แบคโทสปิน ทุก 5-7 วัน หนอนกระทู้ดำ (black Cut Worm) เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน (ธ.ค.-มี.ค.) กัดกินลำต้นระดับดินหลังย้ายปลูก ป้องกันแก้ไขโดยใช้ แลนเนท หรือ คูมิฟอส (Kumiphos) หรือ ลอร์สแบน (Lorsban) ละลายน้ำรด เมื่อย้ายปลูก หรือเมื่อพบตัวหนอน
โรค
โรคเหี่ยวเฉา (Wilt) เนื่องจากเชื้อรา เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน ทำลายลำต้นส่วนใต้ดินและราก ทำให้ต้นเหี่ยว ใช้ เทอร์ราคลอร์(Terraclor) หรือ แคปแทน (Captan) ผสมกับ เบนเลท (benlate) อัตราส่วน 1:1 ละลายน้ำรดโคนต้น เพื่อควบคุมโรค โรคเน่าดำ (black Rot) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ช่วงฤดูฝน เชื้อเข้าทำลายตั้งแต่ขอบใบเข้าไปกลางใบ เป็นรูปตัว V ป้องกันแก้ไขโดยใช้ อกริมัยซิน (Agrimycin) โคแมค (Comac) ทุกๆ 5-7 วัน ถ้าจำเป็น และเก็บใบที่มีอาการโรคไปเผาทำลาย
หมายเหตุ ควรใช้ยาอกริมัยซิน หรือ สารเคมีปฏิชีวนะอื่นๆ เมื่อต้นพืชอายุยังน้อยเท่านั้น
ปัจจัยที่ต้องการ (ต่อพื้นที่ปลูก 1 ตร.ม.)
ในแต่ละขั้นตอนการผลิต ต้องการชนิดและปริมาณปัจจัย ดังนี้


การใช้แรงงาน(ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)


*ข้อมูลแรงงานและระยะเวลาได้จากข้อมูลสนาม
ข้อควรปฏิบัติ
ช่วงเพาะกล้า
ขุดพลิกดิน ทิ้งไว้ 2 วัน ใส่ปูนขาว ขี้ไก่ ปุ๋ย 0-4-0 และ 15-15-15 คลุกผสมดินให้ทั่ว ทำดินให้ละเอียด แล้วขึ้นแปลง ใช้ไม้ขีดเป็นร่องลึก 1-2 ซม. ขวางแปลงห่างจากกัน 10-15 ซม. หยอดเมล็ดทีละเมล็ดห่างกัน 5 ซม. กลบดินบางๆ แล้วรดน้ำ ใช้ยาเซฟวิน 85 (ป้องกันมดและแมลง) และโคแมค(ป้องกันเชื้อรา) ผสมน้ำรดแปลง ใช้ตาข่ายสีฟ้าคลุมแปลงรักษาความชุ่มชื้นและป้องกันแดดและฝนตกแรงประมาณ 15 วัน จึงเอาออก ใช้เครื่องมือค่อยๆ แซะต้นกล้าให้ดินติดราก เมื่อจะย้ายปลูก
ข้อควรระวัง
1. ดูแลป้องกัน โรคเน่าคอดิน (Damping Off) ในฤดูฝน และปัญหาหมัดกระโดด (Jumping Flea) ซึ่งพบทุกฤดู
ช่วงย้ายปลูก
ขุดพลิกดินตากแดดทิ้งไว้ 7 วัน ขุดหลุมปลูกลึก 10-15 ซม. รองพื้นหลุมด้วยปูนขาว ขี้ไก่ ปุ๋ย 15-15-15 โบแรกซ์ (Borax) และฟูราดาน (Furadan) คลุกเคล้ากับดิน กลบดินให้ได้ระดับแปลง ทำหลุมลึก 5 ซม. ย้ายกล้าอายุ 25-30 วันปลูกในตอนเย็น กดดินให้แน่นแล้วรดน้ำ
ข้อควรระวัง
1. ถ้าย้ายปลูกหลุมตื้นเกินไป ทำให้ต้นล้ม
2. ถ้าปลูกชิดเกินไป ทำให้เข้าไปดูแลรักษายาก อาจทำต้นโยกคลอนควรปลูกแปลงละ 1 แถว
ช่วงดูแลรักษา
ใส่ปุ๋ยครั้งแรกหลังย้ายปลูก 7-10 วัน ใช้ 46-0-0 และ 15-15-15 อัตราส่วน 1:2 ประมาณ 25-30 กรัม/ต้น โดยขีดร่องรอบต้นลึก 2-3 ซม. โรยปุ๋ย กลบดินแล้วรดน้ำ ให้ปุ๋ยครั้งต่อไปหลังจากครั้งก่อน 15-20 วัน ใช้ 13-13-21 สลับกับ 15-15-15 จนกว่าพืชเริ่มวายคือประมาณ 1 เดือน ก่อนหมดฤดูเก็บเกี่ยว เมื่อฉีดพ่นยาแก้เพลี้ยอ่อนควรฉีดใต้ใบซึ่งมีตัวแมลงอยู่ ใช้ยากำจัดเชื้อราและยาฆ่าแมลงเมื่อจำเป็น ให้อาหารเสริมพวก โทนา กรีนลีฟส์ และยูเรีย (Tona, Greenleaves, Uria) พร้อมการฉีดพ่นยาเดือนละครั้ง ถ้าต้นเริ่มล้ม ใช้ไม้ค้ำไว้ ให้น้ำ 1-2 วันต่อครั้ง แล้วแต่ปริมาณฝน
ข้อควรระวัง
1. ถ้าขาดน้ำ กะหล่ำจะไม่เข้าหัว
2. อาจพบเพลี้ยอ่อน หนอนใยผัก หนอนคืบกะหล่ำ และหนอนกระทู้ดำ หรือการเกิดโรคเหี่ยว โรคราดำ และโรคเน่าดำ
3. ถ้าเกิดชนต้นหรือกระทบกระเทือนต้น เมื่อปฏิบัติดูแลรักษาต้นอาจจะล้ม
ช่วงเก็บเกี่ยว
เริ่มเก็บเกี่ยวเมื่อพืชอายุ 60-70 วัน เลือกหัวแน่นขนาด 2.5-3 ซม. ใช้มือเก็บและทำในตอนเย็นก่อนหรือวันเดียวกับการขนส่ง ตัดแต่งหัวที่เก็บให้เหลือกาบหุ้ม 2-3 ใบ ผึ่งให้แห้งก่อนบรรจุใส่เข่ง อย่าทำความสะอาด ล้างน้ำหรือบรรจุข้ามคืน
ข้อควรระวัง
1. การดูแลรักษาที่ดีตลอดฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้เก็บผลผลิตได้นาน โดยเฉพาะฤดูหนาว
2. คอยปลิดใบแก่เริ่มเหลืองทิ้ง
ที่มาภาควิชาส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่