การขยายพันธุ์เบญจมาศ

การขยายพันธุ์ (propagation)

เบญจมาศสามารถจะขยายพันธุ์ได้หลายวิธีด้วยกันคือ โดยการใช้เมล็ด(seeds) ใช้กิ่งปักชำ (cuttings) การแยกหน่อ (divisions) และการต่อกิ่ง (grafting) แต่การต่อกิ่งไม่นิยมทำ จะทำก็ต่อเมื่อต้องการโชว์เท่านั้น ทั้งนี้เพราะทำได้ช้าเสียเวลาและสิ้นเปลืองแรงงานโดยใช่เหตุ การขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดก็เช่นเดียวกันไม่นิยมทำจะใช้วิธีการนี้เมื่อผสมพันธุ์เพื่อให้ได้ พันธุ์ใหม่เท่านั้น จึงกล่าวได้ว่ามีการขยายพันธุ์เบญจมาศที่นิยมทำกันอยู่เพียง 2 วิธีเท่านั้น

1. การใช้กิ่งปักชำ (cuttings) เรานิยม ter­minal cutting คือใช้ส่วนยอดของกิ่ง (shoot) ไปปักชำเป็นส่วนใหญ่ กิ่งที่เหมาะสำหรับการนี้ควรจะเป็นกิ่งที่อยู่ส่วนล่างหรืออยู่ส่วนโคนของพุ่มต้นมากกว่ากิ่งที่อยู่ส่วนบน ทั้งนี้เพราะกิ่งส่วนที่อยู่ส่วนล่างหรือโคนต้นนั้น ส่วนมากเป็นกิ่งที่มีตาใบมากกว่าตาดอก เมื่อนำไปปักชำ จึงทำให้ออกรากง่ายได้กิ่งชำที่สมบูรณ์กว่า อีกประการหนึ่งควรจะเลือกสรรกิ่งที่ได้จากต้นที่ปราศจากเชื้อโรค ทั้งนี้เพราะโรคบางชนิดที่ เกิ่ดขึ้นกับเบญจมาศสามารถถ่ายทอดไปในที่ต่าง ๆ ได้โดยติดไปกับกิ่งปักชำ และควรจะเลือกจากต้นที่มีลักษณะดีเด่น ต้นมีสภาพสมบูรณ์ปราศจากโรคและแมลงรบกวน

ในต่างประเทศจะมีเนิสเชอรี่ที่ทำกิ่งปักชำเบญจมาศขายโดยเฉพาะผู้ปลูกจะสามารถเลือกซื้อกิ่งชำจากเนิสเชอรี่ต่าง ๆ ได้ตามใจชอบ และมักจะเลือกซื้อจากเนิสเซอรี่ที่เชื่อถือได้เท่านั้น ส่วนในประเทศไทยเรายังไม่มีบริการอันนี้ แต่ถ้าเราจำเป็นจะต้องขยายพันธุ์เบญจมาศด้วยกิ่งปักชำแล้วก็สามารถจะทำได้ แต่จะต้องมีวิธีการทำที่ถูกต้องจึงจะบรรลุผลตามเป้าหมาย

วัสดุที่ใช้ปักชำควรจะปราศจากเชื้อโรค มีความชุ่มชื้นพอเหมาะ จากการทดลองพบว่าทรายสะอาดผสมกับขี้เถ้าแกลบ หรือทรายสะอาด ผสมกับปุ๋ยมะพร้าวในอัตราส่วน 1 : 1 เหมาะที่สุด ระยะเวลาที่ใช้ในการปักชำ ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับพันธุ์ (10-30 วัน) การใช้แนบทาลีนอซีติคแอซิด (NAA) ผสมกับอินโคลบิวทีริคแอซิด (IBA) ความเข้มข้น 5,000 ppm. จะทำให้กิ่งชำเบญจมาศออกรากเร็วขึ้น

2. การแยกหน่อ เบญจมาศบางพันธุ์สามารถ แตกหน่อได้ดีมาก โดยเฉพาะพันธุ์เบญจมาศที่สั่งมาจากญี่ปุ่น คือหลังจากให้ดอกแล้ว ต้นจ แตกกอมีหน่อมาเป็นจำนวนมาก จากการศึกษาพบว่าเบญจมาศที่ปลูกไป 1 ต้น จะให้จำนวนหน่อโดยเฉลี่ยประมาณ 10 หน่อ แต่ละหน่อจะมีรากติดอยู่ด้วย เมื่อแยกเอาหน่อเหล่านี้ไปปลูก จะได้ต้นที่แข็งแรง มีการเจริญเติบโตดีกว่าการ ปลูกโดยใช้กิ่งปักชำ

การปรับปรุงคุณภาพเบญจมาศ

1. ลดจำนวนดอกต่อต้นให้เหลือเพียงดอกเดียว อาหารที่สร้างและสะสมมาจะถูกส่งไปเลี้ยงดอกยอดหมด จึงทำให้คุณภาพดอกดี ดอกมีขนาดใหญ่ ก้านดอกยาว และแข็งแรง

2. เพิ่มปริมาณต้นให้มากขึ้น ตามปกติที่มีการเด็ดยอดเบญจมาศ มักใช้ระยะปลูก 6X8 นิ้ว หรือ 8X 8 นิ้ว เพื่อที่จะเว้นระยะให้ต้นเบญจมาศแตกพุ่มได้โดยสะดวก ในเนื้อที่ 1 ตารางเมตร ปลูกเบญจมาศได้ 36 ต้นๆละ 5 ดอก ได้จำนวนดอก 180 ดอก แต่ถ้าเราปลูกแบบไม่มีการเด็ดยอด จากการทดลองพบว่าระยะปลูกใช้เพียง 4X4 นิ้ว ในเนื้อที่ 1 ตารางเมตร ปลูกได้ 100 ต้นๆ ละ 1 ดอก ได้จำนวนดอก 100 ดอก การปลูกแบบนี้ให้ผลผลิตต่ำกว่า 45% แต่ขายได้ราคากว่าเท่าตัว และต้นทุนในการผลิตต่ำกว่าแบบเด็ดยอด ทำให้ได้กำไรมากกว่า

3. ผลิตดอกข้างดอกให้ทันเวลา ไม่ช้าหรือเร็วเกินไป ไม่ควรให้หน่อเจริญเติบโตในแปลงต่อไป จนให้ดอกชุดต่อ ๆ ไป ทั้งนี้เพราะดินในแปลงเดิมเริ่มแน่นไม่ฟูเหมือนเดิม อันเนื่องจากการเหยียบย่ำเข้าไปทำงานในแปลงอยู่ตลอดเวลา อาหารและอากาศในดินมีไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของราก การที่มีหน่อใหม่เกิดขึ้นมาใหม่ เป็นจำนวนมากประมาณ 10 เท่าของจำนวนต้นเดิม ทำให้การแก่งแย่งในการหาอาหารและแสงแดดมีมากขึ้น ดอกที่รอดมาจึงไม่ได้คุณภาพ

5. ควรรื้อแปลงปลูกทันที หลังจากตัดดอกหมด แล้วและนำหน่อที่ได้ไปปลูกในแปลงใหม่ต่อไป

6. หน่อที่นำไปปลูกในแปลงใหม่ควรจะคัดเลือก ให้มีขนาดและความสมบูรณ์เสมอกัน  เพื่อสะดวกในการปฏิบัติงานที่เป็นไปพร้อม ๆ กัน

pH ของดินที่เหมาะอยู่ระหว่าง 6.0-7.0 ถ้าเป็นกรดมากเกินไปจะทำให้เบญจมาศชะงักการเจริญเติบโต ต้นแคระแกร็น ส่วนยอดและด้านหลังใบจะเหลือง แสดงอาการ Chlorosis ถ้าดินเป็นด่างมากเกินไปจะทำให้ต้นพืชขาด ธาตุเหล็ก อาการที่แสดงออกมาก็คือใบเหลืองเช่นกัน ดินที่ใช้ปลูกเบญจมาศ ควรจะเป็นดินร่วนซุย มีอินทรีย์วัตถุมากคือประมาณ 1/3 – 1/4 ของปริมาตรดินที่ใช้ปลูก ปุ๋ยอินทรีย์ของกทม. เบอร์ 902 ควรจะใช้ได้ผลดีในการผสมกับดินที่ ใช้ปลูก นอกจากนี้ดินควรจะมีการระบายน้ำดี

7. การปลูกใหม่แต่ละครั้งไม่ควรจะปลูกซ้ำแปลงเดิม ควรจะมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนการปลูกเบญจมาศกับพืชอื่นที่มีอายุใกล้เคียงกัน ปัญหาเรื่องโรคแมลงอันมีสาเหตุมาจากการปลูกซ้ำที่หรือซ้ำพืชจึงหมดไป

8. ควรจะมีโปรแกรมการให้ปุ๋ยที่แน่นอน เป็นที่ทราบแล้วว่าไม้ดอกส่วนมากมีอายุสั้น ปลูกไปไม่นานก็มีดอก โดยเฉพาะเบญจมาศซึ่งมีแนวโน้มที่จะบานดอกอยู่แล้ว ถ้าไม่มีโปรแกรมการให้ปุ๋ยที่แน่นอนและทันเวลา จะทำให้ดอกที่ได้มีขนาดเล็กไม่ได้คุณภาพ ฉะนั้นหลังจากปลูกเบญจมาศแล้วรอให้ต้นตั้งตัวได้ และเริ่มแตกรากใหม่ ควรจะให้ปุ๋ยทันที ควรจะเป็นปุ๋ยผสม ปุ๋ยที่ให้ในระยะ 2 เดือนแรกนี้จะต้องมีธาตุไนโตรเจนสูง อัตราส่วนของปุ๋ยควรจะเป็น 3:2:1: ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้การเจริญทางต้น หลังจากปลูกไปแล้ว 2 เดือน ควรจะเปลี่ยนปุ๋ยสูตรใหม่ให้มีไนโตรเจนต่ำลง มีฟอสฟอรัสเพิ่มขึ้น อัตราส่วนปุ๋ยในระยะนี้ควรจะเป็น 1:2:1 จนกว่าจะเก็บเกี่ยว การให้ปุ๋ยให้ทุก 7 วัน

9. มีโปรแกรมการฉีดยาป้องก้นโรคและแมลง ไว้ล่วงหน้าเป็นประจำอาทิตย์ละครั้ง ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ควรมีตารางการฉีดยาเป็นประจำ เช่น มีการฉีดยาฆ่าแมลงทุกวันจันทร์ ฉีดยากันราทุกวันพุธ และรดปุ๋ยทุกวันศุกร์เป็นต้น การรดน้ำถ้าเป็นไปได้ควรจะรดให้เปียกเฉพาะดินปลูกเท่านั้น การรดน้ำทั้งต้นทั้งดอกจะทำให้ ต้น ใบ และดอกเปียกน้ำ ย่อมส่งเสริมให้เกิด โรคได้ง่ายและช่วยแพร่กระจายเชื้อโรคจากจุดที่เป็นโรคไปยังส่วนต่างๆ อีกด้วย ส่วนยาฆ่าแมลงนั้นควรจะเลือกยาที่สามารถจะควบคุมแมลงได้กว้างขวางฉีดป้องกันไว้ก่อน

10. ป้องกันการร่วงหล่นของกลีบล่างของดอก กลีบดอกเบญจมาศร่วงได้ง่าย ถ้าไม่ป้องกันการร่วงหล่นของกลีบอันจะเกิดขึ้น จะทำให้ดอกบางลงไปมาก ไม่ฟูสวยเท่าที่ควร ในญี่ปุ่นใช้ไม้หรือลวดขดเป็นวงกลมเป็นชั้น ๆ รองรับตรงฐานของดอกไว้ ส่วนอังกฤษใช้ถุงตาข่ายพลาสติค จะขยายตัวตามไปจนในที่สุดดอกจะถูกตัดส่งไปยังผู้ค้าไม้ดอก