การปลูกพีทูเนีย(Petunia)

พีทูเนีย

Common name : Petunia

Scientific name : Petunia hybrid, Petunia grandiflora

Family : Solanaceae

พีทูเนียเป็นไม้ดอกอีกชนิดหนึ่งที่มีความสวยงามไม่แพ้ไม้ดอกชนิดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นในแง่รูปทรงหรือสีสันของดอกทั้งยังให้ปริมาณของดอกต่อต้นมากกว่าไม้ดอกชนิดอื่น ๆ อีกหลายชนิด นอกจากจะใช้ปลูกประดับในแปลง (Mass beds) แล้ว ยังใช้ปลูกในกระบะประดับตามหน้าต่าง และระเบียงบ้าน (window box) และใช้ปลูกในกระเช้าแขวนไว้ประดับบ้านเรือน (hanging baskets) พีทูเนียเป็นไม้ที่รู้จักกันแพร่หลาย (popular) และนิยมปลูกกันมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา

พีทูเนีย เป็นพืชอยู่ในตระกูล Salanaceae ชนิดที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เป็น 2 ชนิด ใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ Petunia hybrida และ Pe­tunia grandiflora พีทูเนียจัดอยู่ทั้งในประเภทไม้ล้มลุก (annual) และยืนต้น (pereunial) อยู่ในตระกูลเดียวกับยาสูบ มีถิ่นกำเนิดในอาร์เยนตินา การที่ได้ชื่อว่า Petunia นั้น เพราะในประเทศอาร์เยนตินา เรียกยาสูบว่า พีทุน (petun) ส่วนดอกไม้ชนิดนี้มีต้นในขณะที่ยังเล็กคล้ายต้นยาสูบ จึงได้ชื่อว่าพีทูเนีย (Petunia)

มีนักผสมพันธุ์หลายท่าน ได้สนใจทำการผสมพันธุ์พีทูเนียกันอย่างแพร่หลาย จนได้พีทูเนียหลายประเภท และมีลักษณะเด่นในตัวของมันเอง อย่างเห็นได้ชัด จนในที่สุดพบว่า มีผู้นิยมปลูกพีทูเนียกันมากที่สุด เป็นอันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ ดาวเรือง (Marigold) เป็นอันดับหนึ่ง และพีทูเนียมาเป็นอันดับ 3 แต่เนื่องจากเหตุผลข้างต้นดังได้กล่าวแล้ว ประมาณ ปี ค.ศ. 1950 ความนิยมพีทูเนียมาเป็นอันดับหนึ่ง และเป็นหนึ่งเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ (1976) จากการสำรวจในมลรัฐ Michigan ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าพีทูเนียขายได้มากที่สุด คือ ประมาณ 40% ของไม้ดอกทั้งหมด ดาวเรืองเป็นอันดับ 2 คือประมาณ 12% นอกนั้นเป็นไม้ดอกชนิดอื่น ๆ ขายได้เท่า ๆ กัน คือประมาณ 3-7% ที่พีทูเนีย มีความนิยมอันดับหนึ่ง เห็นจะเป็นเพราะว่า

1. พีทูเนีย เป็นไม้หลายฤดู (แม้ว่าขณะนี้ จะนิยมปลูกเป็นไม้ฤดูเดียว) ที่มีความทนทาน มีชีวิตอยู่ได้ยืนยาวกว่าไม้ดอกล้มลุกอื่น ๆ

2. การย้ายกล้าพีทูเนียทำได้ง่ายกว่าไม้ดอกชนิดอื่น ๆ

3. สามารถทำให้ฟื้นได้ง่ายและเร็วกว่าไม้ดอกชนิดอื่น หรือแม้ว่าบานดอกไปชุดหนึ่งแล้ว ตัดแต่งและเลี้ยงดูใหม่ก็ยังเจริญเติบโตและให้ดอกชุดต่อไปอีกได้

4. ทนแล้งได้ดี แต่ไม่ทนแฉะหรือชื้นมาก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

พีทูเนียเป็นไม้ดอกหลายฤดู แต่ในขณะนี้ นิยมปลูกพีทูเนียให้เป็นไม้ฤดูเดียว มีพุ่มต้นเตี้ย และค่อนข้างไปทางเลื้อยเป็นไม้เนื้ออ่อน ลำต้นสูงประมาณ 30 ซม. ใบคล้ายใบยาสูบ แต่มีขนาดเล็กกว่า ใบกว้างประมาณ 5 ซม. ยาว 8- 10 ซม. (แล้วแต่พันธุ์และความสมบูรณ์ของต้น) มีขึ้นอยู่ทั่วไปตามผิวใบ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ลักษณะใบเป็นรูปไข่ (Ovate) ปลายใบแหลม (Acute) เนื้ออ่อน (Soft) ขอบใบเรียบ (Entire) ดอกมีรูปร่างเป็นรูปกรวย (Funnelform) ดอกเป็นดอกเดียว (Solitary) มีทั้งชนิดดอกซ้อน (Double) และดอกชั้นเดียว (Single) ก้านดอกเกิดที่ยอด (Terminal) หรือตามส่วนข้างของลำต้น กลีบรองดอก (Calyx) แยกเป็น 5 แฉก มีคอดอก (Throates) ยาว กลีบดอกมี 5 แฉก (Lobe) มีเกสรตัวผู้ (Stamen) 5 อัน ขนาดดอก และสีต่างออกไปตามประเภทและพันธุ์ เมล็ดพีทูเนียลักษณะเป็นเมล็ดกลม ขนาดเล็ก ฝักหนึ่ง ๆ อาจจะมีตั้งแต่ 100-300 เมล็ด น้ำหนักเมล็ด 1 ออนซ์ จะมีประมาณ 185,000-200,000 เมล็ด แล้วแต่พันธุ์

การแยกประเภทของพีทูเนีย (Classification of Petunia) ขณะนี้นิยมแยกประเภทของพิทูเนีย เป็น 5 ประเภทด้วยกัน คือ

1. Grandiflora singles มีดอกชั้นเดียว มีขนาดใหญ่

2. Multiflora singles ประเภทมีดอกดก ขนาดดอกเล็ก และดอกชั้นเดียว

3. Grandiflora double ประเภทดอกมีขนาดใหญ่ และกลีบดอกซ้อน

4. Multiflora double ดอกมีขนาดเล็ก แต่ดอกดก และกลีบดอกซ้อน

5. Superbissima หรือ California Giants มีดอกขนาดใหญ่มากเป็นพิเศษ มีทั้งกลีบดอกซ้อนและชั้นเดียว

พีทูเนียทั้ง 5 ประเภทที่กล่าวมานี้ ประเภท Grandiflora single (ดอกใหญ่ กลีบดอกชั้นเดียว) น่าปลูกมากที่สุด ทั้งนี้เพราะว่าให้ดอกขนาดใหญ่นั่นเอง นอกจากนี้แล้วจำนวนดอกที่ให้ก็มากพอที่จะทำให้ฟู่ฟ่า เหมาะที่จะปลูกเป็นไม้กระถางปลูกในภาชนะแขวน หรือปลูกลงดินเป็นกลุ่ม ๆ

ลักษณะดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม

พีทูเนีย สามารถขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด แต่จะเจริญได้ดีที่สุดในดินร่วนซุย อากาศถ่าย เทได้สะดวก มีความอุดมสมบูรณ์ดี หรือมีอินทรีย์วัตถุอยู่ในดินเพียงพอ มีการระบายน้ำดี แต่ยังคงสามารถเก็บรักษาความชื้นไว้ในดินได้อีกด้วย สำหรับอิทธิพลของแสงที่มีต่อการเจริญเติบโตของพีทูเนียนั้น ปกติพีทูเนียเป็นไม้ต้องการแสงมาก ขณะนี้นักผสมพันธุ์กำลังจะผสมให้ได้พันธุ์ ที่ต้องการแสงน้อยลง เพื่อประโยชน์กับผู้ปลูกที่อยู่ตอนเหนือของอเมริกาในช่วงฤดูหนาวที่แสงแดดมีช่วงสั้นมาก และมีความเข้มของแสงน้อย ฉะนั้นจึงได้พยายามผสมพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศ ซึ่งเรียกว่า Photo effi­ciency จากการทดลองปลูกพีทูเนียทางแถบเหนือของอเมริกาพบว่าในระหว่างฤดูหนาว ต้องใช้เวลาตั้งแต่เพาะเมล็ดจนถึงดอกบานประมาณ 80-90 วัน ส่วนในฤดูใบไม้ผลิใช้เวลาประมาณ 50 วัน

การขยายพันธุ์

1. โดยใช้เมล็ดปลูก เมล็ดของพีทูเนียมีขนาดเล็กมาก คือประมาณ 185,000-200,000 เมล็ดต่อน้ำหนัก 1 ออนซ์ แล้วแต่พันธุ์ คือ เมื่อเทียบกับเมล็ดดอกไม้ชนิดอื่น ๆ แล้ว นับว่ามีขนาดค่อนข้างเล็กมาก ฉะนั้นจึงต้องใช้ความ ระมัดระวังเป็นอย่างมาก ที่จะเพาะเมล็ดให้ได้ต้นเต็มตามจำนวนที่ควรจะได้

ดินที่ใช้สำหรับเพาะเมล็ดจะต้องเป็นดินค่อนข้างจะละเอียด สะอาด และปราศจากเชื้อโรค ใช้ทรายก่อสร้างที่ร่อนแล้วผสมกับปุยมะพร้าว (ที่นำเอาเส้นใยไปใช้แล้ว เหลือเฉพาะปุ๋ย) ในอัตราส่วน 1 : 1 คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วผสมน้ำให้ชื้นพอประมาณ (ไม่แฉะ)

กระบะที่ใช้เพาะเมล็ด จะใช้ลังเป๊ปซี่เก่า ๆ หรือตะกร้าพลาสติคโปร่ง ๆ ก็สะดวกดี บรรจุทรายที่ผสมกับปุ๋ยมะพร้าว และเคล้ากับน้ำให้ชื้น แล้วใส่ลงไปในกระบะประมาณ 2/3 เกลี่ยให้ผิวหน้าเรียบเสมอกันมากที่สุดเท่าที่จะเป็น ไปได้ แล้วทำร่องตามยาว ลึกประมาณ 1/2 ซม. โดยให้ร่องห่างกันประมาณ 1 นิ้ว (จะได้ประมาณ 7-8 ร่องต่อกระบะ) นำเมล็ดที่จะเพาะประมาณ 500 เมล็ด ผสมกับทรายที่ร่อนแล้วประมาณ 2 ช้อนชา คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วค่อย ๆ หยอดเมล็ดลงไปตามร่องที่ทำไว้ทั้ง 7-8 ร่อง ให้แต่ละร่องได้รับเมล็ดเท่า ๆ กัน เสร็จแล้วกลบร่องด้วยทราย และปุยมะพร้าวที่ผสมไว้แล้วตบเบา ๆ ด้วยท่อนไม้เล็ก ๆ เช่น แปรงลบกระดานดำ รดน้ำด้วยฝักบัวที่มีหัวละเอียด ๆ จนเปียก ปิดด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือกระดาษอะไรก็ได้ โดยให้ขนาดของกระดาษเท่ากับกระบะหรือตะกร้าพอดี (ไม่ใหญ่จนเหลือเป็นขอบกระดาษขึ้นมา หรือเล็กจนปิดทรายปุยมะพร้าวไม่มิด) แล้วรดน้ำไปบนกระดาษจนเปียก และรดน้ำเช้าเย็นต่อไปอีก 3-4 วัน หลังจาก 3 วันไปแล้ว ก่อนจะรดน้ำ ควรเปิดกระดาษออกสำรวจดูว่า เมล็ดพีทูเนียงอกทั่วกันหรือยัง ถ้ายังและจำนวนที่งอกใกล้เคียงกับที่ใช้เพาะลงไปหรือไม่ (500 เมล็ด) ถ้าปรากฎว่ายังงอกไม่ครบ หรือยังไม่ใกล้ เคียงกับจำนวนที่กะไว้ (ถ้าเป็นเมล็ดใหม่และมี คุณภาพดีจะมีเปอร์เซ็นต์ความงอกประมาณ 85% คือประมาณ 420 ต้น) ควรจะปิดกระดาษไว้คงเดิม และรดน้ำบนกระดาษเช้า-บ่าย ต่อไปอีก 2-3 วัน เมื่อได้สำรวจดูว่าจำนวนที่งอกใกล้เคียงกับที่กะไว้ ให้เอากระดาษออกแล้วปิด ด้วยกระจกใสแทน ทั้งนี้เพื่อที่จะช่วยรักษาความชื้นไว้ ถ้าไม่ปิดด้วยกระจก ทำให้ดินแห้งเร็วเกินไป ต้องรดน้ำบ่อย ๆ ทำให้ต้นกล้าช้ำ และเน่าตายในที่สุด แต่ถ้าปิดด้วยกระจกจะช่วยลดปริมาณน้ำที่รด ควรรดตามความจำเป็น

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า พีทูเนียมีข้อดีและได้เปรียบกว่าดอกไม้ชนิดอื่น ๆ มากตรงที่ว่าสามารถทนต่อการย้ายได้ดีกว่า หลังจากเพาะแล้วประมาณ 10-12 วัน (ไม่ควรเกิน 15 วัน ขนาดของต้นพีทูเนียเท่าจอกแหนเล็ก ๆ) โดยใช้ดินสอดำและปากคีบช่วยเป็นเครื่องมือในการย้าย ถ้าทำได้และทำด้วยความระมัดระวัง พีทูเนียจะโตวันโตคืนยิ่งกว่าทิ้งต้นไว้ในกระบะเพาะ รอจนเกิดใบจริง ดังที่นิยมทำกันอยู่ Medium ที่ใช้สำหรับย้ายกล้าในระยะนี้ ยังคงใช้ทรายกับปุยมะพร้าว ในอัตราส่วน 1: 1 อยู่เช่นเดิม ระยะปลูก 1” X 1” และเริ่มผสมปุ๋ยใบ (foliar fertilizer) ลงไปในน้ำอย่างเจือจางที่ใช้รดทุกวัน

2. โดยใช้ยอดปักชำ (Terminal Cutting)

วิธีการขยายพันธุ์โดยวิธีนี้ ปกติจะไม่นิยมเพราะได้จำนวนต้นน้อยกว่าการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และอีกประการหนึ่ง เนื่องจากพีทูเนียเป็นพืชที่ค่อนข้างจะมีเนื้ออ่อน และอวบน้ำ (Soft wood) และยังมีขนอ่อน ๆ ขึ้นอยู่ทั่วไปตามต้น กิ่งก้าน และใบ ทำให้เกิดปัญหาในการปักชำ เพราะจะทำให้ต้นเน่าได้ง่าย โดยเฉพาะในแปลงปักชำที่ใช้ระบบการให้น้ำแบบพ่นหมอก ถ้าจะ เลี่ยงควรปักชำในกระบะหรือกระถางแล้วหุ้มกระบะหรือกระถางด้วยถุงพลาสติค เพื่อรักษาความชื้น พร้อมกับมีระบบการให้น้ำก้นกระถาง (Sub-irrigation) ยอดพีทูเนียที่ใช้ชำมีขนาดประมาณ 3” ก็เพียงพอ ถ้าจะให้ดีควรจุ่มยากันรา และผึ่งให้แห้งก่อนปักชำ ใช้เวลาประมาณ 8- 12 วัน พีทูเนียจะออกรากแล้วย้ายปลูกได้

การปลูก

การปลูกพีทูเนียเพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีนั้น สิ่งสำคัญที่สุดเห็นจะได้แก่ ความสม่ำเสมอของพีทูเนีย (Uniformity) โดยเฉพาะผู้ที่ปลูกพีทูเนียเป็นการค้า อาจจะค้าในรูปของการขายต้นกล้า ขายไม้กระถาง และไม้ภาชนะแขวน เป็นต้น ผู้ปลูกควรจะผลิตพีทูเนียออกมาได้สม่ำเสมอกันหมด ถ้าต้นกล้ามีขนาดใหญ่บ้าง เล็กบ้าง หรือไม้กระถางบานดอกไม่พร้อมกันแล้ว โอกาสจะขายได้ย่อมมีน้อย เพราะสภาพทั่วไปไม่ชวนซื้อ ฉะนั้นการที่จะได้มาซึ่งความสม่ำเสมอของต้นพีทูเนียนั้น ควรจะเริ่มคิดตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว คือตั้งแต่เมล็ดของพีทูเนียเลยทีเดียว เมล็ดพีทูเนียควรจะเป็นเมล็ดจากบริษัทที่เชื่อถือได้ เป็นเมล็ด ใหม่ (fresh) แต่ถ้าจำเป็นจะต้องส่งเมล็ดมาเก็บตุนไว้ จะต้องมีวิธีการเก็บที่ถูกต้อง ควรจะเก็บในที่แห้ง (moisture proof) และเย็น วิธีง่ายๆ ก็คือ อาจจะเก็บไว้ในขวดพลาสติคหรือขวดแก้ว ขนาดขวดกาแฟ แล้วใส่ Dry sillica gel. ลงไปประมาณ 40 gm. แล้วจึงวางซองเมล็ดพันธุ์ ลงไปพร้อมทั้งปิดฝาให้แน่น เก็บไว้ในตู้เย็นและเมื่อนำเมล็ดไปเพาะแล้ว เมื่อพบว่าเมล็ดงอกครบ ตามจำนวนหรือใกล้เคียงแล้ว ถ้าสะดวกที่จะย้ายกล้าได้รีบย้ายทันที เมื่อย้ายแล้วควรจะจัดสภาพแวดล้อมให้เป็นไปตามนี้

แสง (Light) 100-1,500 ft. candle โดย ใช่แสงไฟจากหลอด fluorescent และ incandescent อีกช่วงหนึ่งก็ได้ แต่รวมกันแล้วประมาณ 20- 44 ชม./วัน

อุณหภูมิ (Temperature) 75ํ องศาฟาเรนไฮน์

ความชื้น (Relative Humidity) 85-90%

คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 100-1,500 p.p.m. ระหว่างที่ให้แสงไฟ

ไนโตรเจน (N) 100 p.p.m.

ฟอสฟอรัส (P) 20 p.p.m.

พอแตสเซี่ยม (K) 25-100 p.p.m.

pH ของดิน 6.5

ถ้าสามารถจัดทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นไปตามนี้ พีทูเนียจะบานดอกภายใน 32 วัน นับจากวันเพาะเมล็ด และต้นพีทูเนียนั้นจะเจริญเติบโตสมํ่าเสมอกันแทบทุกต้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องปฏิบัติเช่นว่านี้ แต่เป็นเพียงผลการทดลองของต่างประเทศ เมืองไทยเรามีครบหมดแล้วในธรรมชาติ มีอุณหภูมิ แสงแดด และความชื้น ไม่ต้องซื้อหา เพียงแต่คิดและลงมือปลูกเท่านั้น ก็เท่ากับสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง

เมื่อย้ายกล้าปลูกในกระบะมีระยะปลูก 1” X 1” แล้ว ควรเริ่มผสมปุ๋ยใบ (foliar fertilizer) ที่มีไนโตรเจนสูงลงไปในน้ำที่ใช้รดทุก ๆ เช้า-บ่าย ได้เลย โดยผสมอย่างเจือจาง (1 ช้อนชาต่อน้ำ 1 แกลลอน) พีทูเนียจะเจริญเติบโตได้ดีมาก ระยะเวลาที่อยู่ในกระบะนี้ประมาณ 20 วัน จากนี้ แล้วจึงย้ายปลูกในกระถาง 3” ตื้น (ที่ชาวสวนใช้ปลูกผักเป็ด เวอร์บีน่า และไม้อื่น ๆ) ดินที่ ใช้ปลูกในระยะนี้ ควรจะเป็นดินผสมที่จะใช้ปลูกจริง ๆ โดยมีการรดน้ำ 2 ครั้ง เช้า-บ่าย ให้ปุ๋ยในน้ำทุกหยดที่รด

หลังจากย้ายปลูกในกระถาง 3” ประมาณ 30 วัน จึงย้ายปลูกในแปลงปลูกต่อไป หรือจะย้ายลงกระถางที่ใช้ปลูกจริง ๆ กระถางที่ใช้แขวนก็ได้

ดินปลูก (Growing media)

ดินที่ใช้ปลูกพีทูเนียหรือไม้ดอกชนิดอื่น ๆ ควรจะเป็นดินผสมขึ้นมาใหม่ หรือได้รับการปรับปรุงให้เป็นไปตามความต้องการของต้นพืช ดังได้กล่าวแล้วว่า พีทูเนียชอบดินร่วนซุย อากาศถ่ายเทได้ดี ระบายน้ำดี และเก็บความชื้นได้ดีด้วย มีความอุดมสมบูรณ์พอ มีอินทรีย์วัตถุมาก ซึ่งได้จากการผสมวัสดุที่หาได้ง่ายในแต่ละท้องถิ่น อาทิเช่น ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยเทศบาล ทราย ปุยมะพร้าว แกลบผุ หรือเปลือกถั่ว หรือขี้กบ เป็นต้น ในสัดส่วนดังนี้

ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยเทศบาล 901 2 ส่วน

ทราย 1 ส่วน

ปุยมะพร้าว  1 ส่วน

แกลบผุหรือเปลือกถั่ว     1 ส่วน

ส่วนผสมดังกล่าวมานี้ในปริมาณ 1 คิวบิคเมตร ควรจะผสมกระดูกป่น 1 กิโลกรัม ปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟต 1 กิโลกรัม และปุ๋ยผสม 14- 14-14 หรือใกล้เคียงอีก 2 กิโลกรัม และไม่ควรจะผสมปุ๋ยเหล่านี้ลงไปในดินผสมทิ้งไว้นาน จะเห็นได้ว่าดินผสมที่ใช้ปลูกพีทูเนียนั้นไม่จำเป็นจะต้องใช้ดินเสมอไป เนื่องจากขณะนี้ดินหายากขึ้นทุกวัน ดินที่ใช้ถมที่ปรับระดับบริเวณบ้านเรือนขณะนี้ส่วนมากเป็นดินชั้นล่าง ๆ ที่เหนียวจัด ไม่เหมาะสำหรับปลูกต้นไม้เลย จึง จำเป็นต้องหาวัสดุอื่นแทนวัสดุเหล่านั้นจะต้องหาง่าย ราคาถูก สลายตัวช้า ปราศจากสารที่เป็นพิษกับต้นไม้ สะอาด และปราศจาเชื้อโรค ส่วนปุ๋ยคอกควรจะเป็นปุ๋ยเก่าค้างปี หรืออย่างน้อย 2-3 เดือน

พันธุ์ที่ใช้ปลูก

จาก Catalog ของบริษัท Geo J. Ball 1977 ได้จัดพันธุ์พีทูเนียดีเด่นไว้ 10 พันธุ์ ซึ่งอยู่ในประเภท Grandiflora แบบ Single เรียกว่า The Top Ten Petunias ปรากฎว่าปลูกได้ผลดีมาก มีดังนี้ คือ

1. White Cascade ดอกมีขนาดใหญ่ มาก มีสีขาว เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ในภาชนะแขวนและปลูกเป็นกลุ่มประดับแปลง

2. Red Cascade ดอกมีขนาดใหญ่ เป็นต้นมีสีแดง เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้กระถาง

3. Old Glory White ดอกมีขนาดย่อมลงมา เมื่อเทียบกับ White Cascade กลีบดอกหยักสวยไปอีกแบบหนึ่ง

4. Old Glory Bed ดอกมีสีแดงเข้ม เป็นพันธุ์เบา

5. Pink Magic พุ่มต้นเตี้ยกระทัดรัด ดอกดก สีชมพูเข้ม

6. White Magic ดอกสีขาวสะอาด กลีบดอกหยักยิ่งกว่า Old Glory, White เหมาะสำหรับปลูกตามขอบแปลง หรือปลูกเป็นกลุ่ม ๆ

7. Old Glory Blue ดอกมีสีม่วงเข้ม

8. Red Baron ดอกมีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่ดอกดก บานทน และทนต่ออากาศเย็นได้ดี

9. Sugar Daddy ดอกมีสีม่วงอ่อน มีลายเส้นสีม่วงเข้มตามใจกลางของดอก เหมาะสำหรับปลูกในภาชนะแขวน หรือปลูกในแปลง

10. El Toro ดอกสีแดงเข้ม บานดอกเร็ว มีขนาดดอกใหญ่ เมื่อเทียบกับพันธุ์ดอกแดงที่กล่าวมาพุ่มต้นเตี้ย และกระทัดรัด

นอกจาก 10 พันธุ์ดังกล่าวแล้ว ยังมีพันธุ์พีทูเนียที่มีสองสีในดอกเดียวกัน (bi-colors) แบบรูปดาวมีทั้งสีแดง-ขาว และม่วงขาว เช่นพันธุ์ แดงขาวมี Artro, Calypso, Viva, Fiesta, Penny Candy และ Dancy Lady ส่วนพันธุ์ ม่วง-ขาว มี Blue Picotee, Fandango, Gary-paris และ Telstar การที่จะปลูกพีทูเนียแบบสองสีนี้ให้ได้สัดส่วนของสีทั้งสองเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เราสามารถจะจัดทำให้ได้ในสัดส่วนของสีเป็นไปตามความต้องการของตลาดได้ ดังเช่น ถ้าต้องการให้ส่วนที่เป็นสีแดงหรือสีม่วงมากกว่าสีขาว ควรจะจัด เป็นปัจจัยและสภาพแวดล้อมให้กับพีทูเนีย ดังต่อไปนี้

1. ให้พีทูเนียได้รับแสงน้อยลง (low light intensity)

2. ให้ปุ๋ยมาก ๆ (high fertilizer) แต่ไม่ควรจะมากจนเกินไป จะทำให้ต้นตายได้

3. ปลูกในที่ ๆ มีอากาศค่อนข้างเย็น (low temperature)

4. รดน้ำมาก ๆ (heavy watering) แต่ไม่ถึงกับแฉะ

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราจัดเป็นปัจจัยและสภาพต่าง ๆ ให้ตรงข้ามกับที่กล่าวมาแล้ว จะได้ส่วนสีขาวมากกว่าสีแดง หรือสีม่วง

การดูแลรักษา

การป้องกันโรคและแมลงมิให้เกิดกับต้นพืชนั้นดีกว่าที่จะให้มีการทำลาย และเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจึงคิดแก้ไข ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องมีโปรแกรมฉีดพ่นยาไว้ล่วงหน้าเป็นประจำ อาทิตย์ละครั้ง อาจฉีดพ่นยากันเชื้อราทุกวันจันทร์ และยาฆ่าแมลงทุกวันพุธ จะเป็นยาชนิดใดนั้นแล้วแต่จะพิจารณาเอาเอง เช่น ใช้ยากันเชื้อรา “เบนเลท (Benlate) และดาโคนิล (Daconil) ส่วนยาฆ่าแมลงใช้แลนเนท (Lanate) เป็นต้น