การปลูกพุทธรักษา

พุทธรักษา

Common name : Indian shot

Scientific name : Carina indica

Family      : Cannaceae

พุทธรักษา มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ และทางอินเดียตะวันตก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Canna inclica เป็นไม้ประเภทใบเลี้ยงเดี่ยว ลำต้นไม่แข็ง เป็นไม้ดอกที่ขึ้นเป็นกอ แตกหน่อ เช่นเดียวกับกล้วย ลำต้นตรง มีช่อดอกที่ยอด ต้นที่มีช่อดอกแล้วจะไม่มีช่อดอกใหม่ขึ้นมาแทนอีก ความสูงของลำต้นมีตั้งแต่สูง 20 เซนติเมตร ถึงความสูง 2.5 เมตร แล้วแต่ชนิด

สำหรับในประเทศไทย เราจะเห็นพุทธรักษาขึ้นอยู่ทั่วไปในกรุงเทพฯ และตามชนบท ต้นพุทธรักษาจะมีมาในบ้านเมืองเรานานสักเท่าใด ยังไม่มีหลักฐานปรากฎแน่ชัด ทราบแต่เพียงว่าต้นพุทธรักษาได้มีมาในเมืองไทยแล้วไม่ต่ำกว่า 200 ปี เพราะได้ปรากฎชื่ออยู่ในพระนิพนธ์กาพย์ ห่อโคลงนิราศธารทองแดง ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร ตอนหนึ่งที่ว่า

ไผ่เทศงามผาดผุด

ต้นเล็บครุฑพุทธรักษา

ทองสิบอย่างงามนานา

ข้าวตอกแตกแปลกดอกขาวฯ

ใบ ลักษณะเป็นใบเดี่ยว ๆ คล้ายใบกล้วย แต่สั้นและเล็กกว่าใบกล้วยมาก ปลายใบส่วนมากมักแหลมเป็นรูปหอก มีส่วนน้อยที่ปลายใบกลมหรือปลายใบมน สีของใบมีสีเขียวเป็นส่วนมาก นอกจากสีเขียวมีสีน้ำตาลปนสีแดง มีทั้ง สีอ่อนและสีแก่ และมีอีกสีหนึ่งสีใบเขียว มีเส้นสีขาวไปตามเส้นใบ ต้นนี้มีดอกสีเหลือง

ดอก ออกเป็นช่อ และมีแขนงแตกออกทางด้านข้างทั้งสองข้าง ลักษณะดอกมีกลีบดอก 3 กลีบ และมีปากอีก 1 ปาก กลีบดอกทั้งสามมีขนาดเกือบจะเท่า ๆ กัน ถ้าเราจะเปรียบก็คล้ายกับดอกกล้วยไม้ประเภทแคทลียา ผิดกันที่ว่า แคทลียามีกลีบดอก 5 กลีบ และมีกลีบไม่เท่ากัน มีปาก 1 ปาก เช่นเดียวกัน

สีของดอกพุทธรักษามีตั้งแต่สีขาว สีแดง สีเหลือง สีส้ม สีชมพู และยังมีพื้นสีที่เป็นสีเหลือง มีจุดประหรืออาจเป็นเส้นยาว ๆ สีแดง หรือสีส้ม หรือสีชมพู ส่วนต้นที่เห็นว่าแปลกมากคือ ต้นที่มีดอกสีเหลืองและสีแดงอยู่ในช่อดอกเดียวกัน หรือมีทั้งดอกที่เป็นสีเหลืองครึ่งดอก สีแดงครึ่งดอก หรืออาจจะมีสีเหลืองมาก หรือสีแดงมากน้อยกว่ากันในดอกหรือในช่อดอกเดียวกันก็มี

จำนวนดอกใน 1 ต้น อาจมีตั้งแต่ 5-50 ดอก ยกเว้นบางต้นอาจมีจำนวนดอกมากว่า 50 ดอกใน 1 ช่อ ก็เคยพบ

ขนาดดอกมีตั้งแต่ที่ดอกเล็ก ขนาดไม่ถึงครึ่งนิ้วจนถึงมีขนาดดอกใหญ่กว่า 6 นิ้วฟุตก็มี

ผล มีลักษณะเป็นพู และมีหนามแหลมแต่ไม่แข็ง มีหนามรอบทั้งผล ขนาดของผลประมาณหัวแม่มือ

สีของผล มีอยู่ 2 สี คือ สีเขียว และสีชมพู อมสีเลือดหมู สีอาจอ่อนหรือแก่ได้แล้วแต่พันธุ์

จำนวนเมล็ดใน 1 ผล มีตั้งแต่ 1-8 เมล็ด สีของเมล็ดขณะที่อ่อนอยู่เป็นสีขาว แต่เมื่อแก่ จะเป็นสีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลดำ

การขยายพันธุ์ ทำได้ 2 วิธีคือ

1. การเพาะเมล็ด

2. แยกหน่อ

พุทธรักษาอาจใช้เมล็ดขยายพันธุ์ก็ได้ แต่ทั่ว ๆ ไปใช้ปลูกด้วยเมล็ด เมื่อขยายพันธุ์ลูกผสม ที่ผสมพันธุ์ขึ้นใหม่ ๆ เท่านั้น ในการขยายพันธุ์ เพื่อเพิ่มปริมาณจริง ๆ แล้ว ใช้วิธีแบ่งแยกกอ หรือแยกหน่อมากกว่า

การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดนั้นได้ผลช้ามาก เพราะเมล็ดงอกช้า เนื่องจากเมล็ดพุทธรักษาแข็งมาก ก่อนจะเพาะจึงต้องนำมาแช่น้ำไว้ 24 ชั่วโมง หรือใช้ตะไบถูให้เปลือกบางเสียก่อนจึงนำมาเพาะ

การขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อนั้นง่ายเพียง แต่ขุดและตัดเง่า (rootstock) ให้ติดหน่อที่มีลำต้นเหนือพื้นดินติดมาด้วยอย่างน้อยก็หนึ่งต้น เมื่อตัดหน่อมาแล้วบางชนิดอาจนำลงปลูกในดิน หรือกระถางได้ทันทีเลย แต่บางชนิดอาจต้องนำมาชำในกระบะทรายในที่ร่มให้ตั้งตัวได้เสียพักหนึ่งก่อน จึงนำไปปลูกในที่ ๆ ต้องการกลางแจ้ง

พุทธรักษาทั่ว ๆ ไปที่ปลูกในเมืองไทยนั้นชอบน้ำมาก ขึ้นได้ดีในที่มีน้ำ ที่ลุ่มดินเหนียว ทั่ว ๆ ไป การขยายพันธุ์จึงง่ายมากไม่เคยมีปัญหา ใด ๆ เลย บางชนิดขุดไปทิ้ง ๆ กองไว้ก็แตกหน่อและไม่ยอมตายง่าย ๆ อีกด้วย แต่พุทธรักษาบางชนิดที่เป็นลูกผสมหรือพันธุ์แท้ ชนิดต้น แคระเตี้ยนั้น เจริญเติบโตไม่ได้ดีนักในที่เช่น พุทธรักษาทั่ว ๆ ไปปลูกอยู่ จึงต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ พุทธรักษาพวกลูกผสมหรือพวกพันธุ์แท้นี้ ชอบดินร่วนทราย มีการระบายน้ำดีกลางแจ้ง ไม่ชอบดินเหนียวที่มีน้ำขังอยู่ตลอดเวลา

การเตรียมดินปลูก ฟันดินตากแดดทิ้งไว้เช่นเดียวกับการเตรียมดินเพื่อปลูกผัก หรือปลูกต้นไม้ดอกโดยทั่ว ๆ ไป เมื่อตากดินแห้ง ใส่ปุ๋ย คอกและปุ๋ยอินทรีย์ ย่อยดินให้ละเอียดเพื่อให้ปุ๋ยเข้ากับดินอีกครั้งหนึ่ง ขุดหลุมกว้างประมาณ 6 นิ้ว ความลึกประมาณ 4-5 นิ้วก็พอ ระยะห่างระหว่างแถว 1 เมตร ระหว่างหลุม 60-80 เซ็นติเมตร ระยะปลูกจะถี่หรือห่างกว่านี้ก็ได้ ตามที่เราต้องการใส่ปุ๋ยคอกหลุมละ 1 กอบ พรวนดินให้เข้ากันอีกที แล้วแยกหน่อมาตั้งต้นลงกลางหลุม กลบดินให้แน่นพอควร รดน้ำให้ชุ่มทั้งเช้าเย็น ถ้ามีใบติดต้นมามากตัดใบเสียครึ่งๆใบ เพื่อจะได้ตั้งตัวเร็วขึ้น ถ้าจะทำร่มเงาให้สัก 4-5 วันแรกก็จะยิ่งดี

การบำรุงรักษา

เมื่อปลูกได้ 2 อาทิตย์ ใส่ปุ๋ยผสมชนิดเม็ด เช่นปุ๋ยไนโตรฟอสก้า เม็ดสีฟ้า สูตร 12-12-17-2 หรือปุ๋ยเม็ดชนิดอื่น ๆ ก็ได้ ใส่ประมาณ 1 ช้อนแกงรอบโคนต้นให้ห่างโคนต้นประมาณ 4-6 นิ้ว พรวนดินกลบ รดน้ำเพื่อให้ปุ๋ยละลาย ข้อควรระวังคืออย่าให้ปุ๋ยที่ใส่ถูกโคนต้นหรือถูกใบจะทำให้ต้นหรือใบเน่าได้ ปุ๋ยเม็ดใส่เดือนละครั้ง ถ้ากอใหญ่ขึ้นก็เพิ่มจำนวนปุ๋ยขึ้นตามขนาดของกอ

โรคและแมลงศัตรูพืช

แมลงที่เป็นอันตรายต่อต้นและดอกพุทธรักษา

ก็คือ

1. เพลี้ยไฟ (Thrip)

2. ตั๊กแตน (Loeust)

3. พวกแมลงปีกแข็งจำพวกด้วงตัวเล็ก เช่นเดียวกับที่กินดอกและใบกุหลาบ

4. หนอนปลวก (Round worm)

นอกจากแมลงแล้ว ก็ยังมีนกกระจอกชอบจิกกินดอกอ่อน และกลีบดอกในที่บางแห่ง

การป้องกัน และกำจัด

ใช้ยาโฟลิคอล E 605 หรือเซฟวิน 85 ผสม น้ำฉีดทุก ๆ 7 วันจนกว่าจะหาย ภายหลังจากนี้ ฉีด 15 วันครั้ง

โรค มีพวกโรคใบจุด จะเป็นทั้งที่ใบและกาบของใบ มักเกิดขึ้นในขณะที่อากาศมีความชื้นสูง และน้ำที่ใช้รดเป็นน้ำเน่าเสีย นอกจากนี้ต้นและกอเบียดกันแน่นเกินไป แสงแดดส่องไม่ทั่วถึงการแก้ไขต้องตัดต้นแก่เเละใบที่หนาทึบออกเสียบ้าง แล้วฉีดยาพวกแคปแทน หรือออร์โธ่ไซด์ ก็ได้ หรืออาจจะใช้ยาฆ่าเชื้อราชนิดอื่น ๆ ที่มีขายอยู่ทั่ว ๆ ไปก็ได้ การฉีดใช้ผสมกับยาฆ่าแมลงฉีดในคราวเดียวกัน

การปรับปรุงพันธุ์พุทธรักษา

1. การปลูกและคัดเลือกพันธุ์จากต้นที่ดี และแข็งแรงผิดกว่าต้นอื่น ๆ

2. การผสมพันธุ์

การผสมพันธุ์

เป็นวิธีที่ทำให้เราได้พืชพันธุ์ใหม่แน่นอนกว่า และเป็นการประหยัดเวลา เพราะสามารถที่จะคัดเลือกต้นพ่อพันธุ์และต้นแม่พันธุ์ เฉพาะที่เราเห็นและทดสอบว่าดีแล้วมาผสมพันธุ์ ดังนั้นต้นถูกผสมที่ได้ใหม่ ย่อมมีเปอร์เซ็นต์ดีมากกว่า ถ้าเราจะรอให้ผสมกันเองตามธรรมชาติ อาจกินเวลาหลาย ๆ ปี หรือหลาย ๆ สิบปีก็เป็นได้ เราจะเห็นได้จากพวกไม้ผลขึ้นต้น ในช่วงระยะเวลา 20 ปี จะมีพันธุ์ดีใหม่ ๆ เกิดขึ้นสักพันธุ์หนึ่งก็แสนยาก ที่เป็นเช่นนี้เพราะต้นพ่อ พันธุ์และต้นแม่พันธุ์ดีมักจะอยู่ห่างไกลกัน และปัจจุบันเราก็ไม่นิยมปลูกไม่ผลโดยใช้เมล็ด มักจะปลูกโดยใช้กิ่งต่อหรือกิ่งตอนมากกว่า ดังนั้น ไม้ผลพันธุ์ใหม่ ๆ จึงไม่เกิดขึ้น

ต้นพุทธรักษาก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราต้องการให้ได้พันธุ์ที่ดีก็ต้องทำการผสมพันธุ์ โดยคัดเลือกต้นพันธุ์พ่อและต้นพันธุ์แม่ที่ดีมาผสมพันธุ์กัน

เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการผสมพันธุ์พุทธรักษา

1. ปากคีบเล็ก ๆ 1 อัน

2. พู่กันเล็ก ๆ หรืออาจใช้ไม้จิ้มฟันแทน

3. ถุงกระดาษคลุมช่อดอก ใช้กระดาษลอกลายมาพับเป็นถุงคลุม

4. เข็มหมุดกลัดถุงคลุมเกสร

5. ปากกาหมึกแห้งหรือดินสอสีเขียนป้าย

6. ป้ายกระดาษแขวนบอกชื่อพ่อชื่อแม่ที่ทำการผสมพันธุ์

7. เกสรตัวผู้ที่จะใช้เป็นพ่อในการผสมพันธุ์ การเลือกต้นแม่ต้องเลือกต้นที่ติดเมล็ดง่ายโดยธรรมชาติเป็นหลัก ต้นที่ติดเมล็ดยากไม่ควรใช้เป็นต้นแม่ เพราะจะทำให้เสียเวลา

เมื่อเลือกต้นแม่ได้แล้ว ต้องเลือกช่อดอกที่สมบูรณ์ดอกยังไม่บาน ธรรมดาดอกพุทธรักษา จะบานทะยอยกันทุกวัน ดอกที่มีสีสดจะเป็นดอกที่บานวันนี้ ส่วนดอกที่มีสีซีด หรือถ้าเป็นสีแดงก็จะคล้ำ เป็นดอกที่บานเมื่อวาน ส่วนดอกที่กำลังจะบานพรุ่งนี้ เราต้องดูดอกที่เล็กถัดไป คือดอกที่จะบานมะรืนนี้ ที่ต้องเลือกดอกที่บานมะรืนนี้ก็เพราะดอกที่จะบานพรุ่งนี้คือดอกที่กำลังแย้มวันนี้นั้น เกสรตัวผู้จะแตกออกจากอับแล้ว และอาจจะผสมตัวเองแล้ว

เด็ดดอกที่บาน และดอกที่แย้มออกทิ้ง เหลือดอกที่เล็กกว่าดอกที่แย้มไว้ 3 ดอก ดอกที่เล็กกว่านั้นเด็ดออกให้หมด

ต่อจากนั้นก็ใช้มือและปากคีบค่อย ๆ แหวกกลีบดอก เพื่อให้เห็นอับเกสรตัวผู้ เมื่อเห็นแล้วใช้ปากคีบจับออกทั้งอับ ทำเช่นนี้ทุกดอก แล้วเอาถุงกระดาษที่เตรียมคลุมไว้ วันรุ่งขึ้นจึงจะนำเกสรตัวผู้มาผสม โดยการเปิดถุงกระดาษ ใช้พู่กันหรือปลายไม้จิ้มฟันแตะเกสรตัวผู้ที่เราจะใช้เป็นพ่อจากดอกที่เริ่มจะแย้มไปแตะปลายเกสรตัวเมีย ซึ่งมีลักษณะยืดยาวอยู่ตรงกลางอันเดียว เมื่อแตะเสร็จแล้วทุกดอกก็ใช้ถุงกระดาษคลุมช่อดอกไว้ และใช้เข็มหมุดกลัด เพื่อไม่ให้ถุงหลุด เขียนชื่อพ่อชื่อแม่ วันที่ทำการผสม จำนวนดอกที่ผสม ไว้ที่ป้ายผูกติดไว้ที่ช่อดอกที่ทำการผสม เช่น

แม่ (   ) ชมพูอ่อนช่อดก

พ่อ (   ) แดงเข้มฟอร์มดี

20/12/2521

จำนวน 3 ดอก

เวลาที่ทำการผสมพันธุ์ พุทธรักษาแปลกและมีคุณสมบัติดีกว่าดอกไม้ชนิดอื่นที่ทำการผสมได้ทุกเวลา ตั้งแต่เช้าถึงค่ำ ซึ่งต้นไม้ส่วนมากมักจะผสมได้เฉพาะตอนเช้าเท่านั้น หรือบางอย่างก็ผสมได้เฉพาะตอนเย็น เช่น บวบเหลี่ยม เพราะดอกบานตอนเย็น

นับจากวันที่ผสมดอกพุทธรักษาประมาณ 5-7 วัน เปิดถุงคลุมออกดู ถ้าผสมติดผลก็จะเริ่มพองตัวขึ้น แต่ถ้าผสมไม่ติด ผลเล็กที่ติดอยู่ในโคนช่อดอกที่ผสมก็จะร่วงไปหมดเมื่อผสมติด นับเวลาจากวันผสมถึงวันที่ผลแก่จะกินเวลา 21-24 วัน นำเมล็ดที่ได้ไปเพาะในภาชนะใช้ ดินร่วน 1 ส่วน ทราย 1 ส่วน ใบไม้ผุ 1 ส่วน หรืออาจใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกแทนใบไม้ผุก็ได้ ผสมให้เข้ากัน เกลี่ยหน้าดินให้เรียบ โรยเมล็ดลงไปกลบดินสูงประมาณ 1 นิ้ว รดนำให้ ชุ่ม เก็บไว้ในที่รำไรประมาณ 7-14 วัน เมล็ดจะขึ้นหมด เมื่อมีใบจริงประมาณ 4-5 ใบ ย้าย ลงกระถางหรือลงแปลง และอย่าลืมปักป้ายบอกชื่อลูกผสมด้วย ถ้าทำหลายชุดก็ต้องเขียนบอก ไว้ เช่น ชุดที่ 1 : ต้น 1 ต้น 2 ต้น 3… แล้ว แต่ว่าจะมีกี่ต้น เพราะแต่ละต้นจะให้ดอกไม่เหมือนกัน อาจดีหรือเลวก็ได้ ถ้าเราไม่ติดป้ายไว้เราจะไม่รู้เลยว่าเป็นลูกผสมต้นไหน เพราะดอกที่ออกมาอาจไปมีสีคล้ายกับชุดอื่นที่เราทำก็ได้ จากวันเพาะถึงวันออกดอกกินเวลาประมาณ 4-6 เดือน เลือกเฉพาะต้นที่ดีเท่านั้นไว้ขยายพันธุ์ โดยแยกหน่อ เราก็จะได้พันธุ์ใหม่แล้ว ถ้าต้องการจำนวนมากก็ขยายพันธุ์จากหน่อออกไปอีก แต่ถ้ายังไม่ดีเท่าที่เราต้องการก็ต้องผสมกับต้น ที่ออกดอกมาแล้วนี้อีก 1 ชั่ว 2 ชั่ว หรือ 3 ชั่ว ลูกที่ได้อาจดีขึ้น

ประโยชน์

1. ใช้ปลูกประดับบ้าน หรือสถานที่ต่าง ๆ เพื่อความสวยงาม

2. ใช้ตัดดอกปักแจกันได้ เช่นเดียวกับไม้ ดอกอื่น ๆ

3. ใช้ในพิธีมงคลต่าง ๆ ใช้ทั้งใบและดอก

4. พุทธรักษาบางพันธุ์ ในต่างประเทศใช้แป้งที่ได้จากหัวทำอาหารเลี้ยงทารก ส่วนในบ้านเราใช้หัวหรือเง่าต้มกินเช่นเดียวกับหัวเผือก หรือหัวมัน

5. ใบใช้ห่อของ

6. เง่าใช้เป็นสมุนไพร สำหรับเข้าตัวยาแผนโบราณ

7. เมล็ดพุทธรักษามีลักษณะกลมสีดำ และแข็ง ในอินเดียตะวันตกใช้เป็นลูกกระสุนล่าสัตว์

8. เมล็ดดำกลมใช้เป็นลูกประคำประดับกาย