การปลูกโกสน

โกสน

Common name : Croton

Scientific name : Codiaeum variegtum

Family : Euphorbiaceae

คำว่าโกสนนั้นอาจเพื้ยนมาจากคำที่ใช้เรียกพันธุ์ไม้ชนิดนี้เป็นภาษามาเลย์ว่า โกรต๋น และภาษาอังกฤษก็อาจเพื้ยนไปเป็น Croton ส่วนชื่อทางพฤกษศาสตร์นั้นเรียกว่า Codiaeum ซึ่งเป็นภาษากรีก แปลว่า สำหรับศรีษะ เพราะกรีกใช้ใบไม้พวกโกสนทำเป็นมาลัยสวมศรีษะไว้

โกสนเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อน ในเอเซีย มาเลเซีย หมู่เกาะแปซิฟิค ชวา ออสเตรเลีย หมู่เกาะทะเลใต้ ที่พบเป็นโกสนป่าขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ในชวาถึงออสเตรเลียนั้นใบมีสีเขียว ไม่มีสีสันงดงามเหมือนที่พบเห็นในปัจจุบัน จึงไม่นิยมนำมาใช้เป็นไม้ประดับได้

โกสนเป็นไม้ไนสกุล (Genera) Codiaeum ซึ่งมีอยู่ด้วยกันประมาณ 6 ชนิด (species) แต่มีเพียงชนิดเดียวคือ variegatum ที่มีลักษณะสีสรรงดงามและเป็นไม้ประดับได้ดีอยู่ในวงศ์ Spurge หรือ Family Euphorbiaceae วงศ์ เดียวกันกับพวกคริสมัส (Poinsettia, Euphor­bia pulchervima) และต้นโป้ยเซียนของตระกูลนี้ด้วย (Genus Codiaeum)

โกสนเป็นพันธุ์ไม้พุ่มที่มีขนาดต่าง ๆ กัน ตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดกลางและขนาดใหญ่ ใบมีรูปลักษณะแปลก ๆ และมีสีสรรงดงาม ทั้งที่มีสีเดียวหรือหลายสีเป็นด่างเป็นจุดต่าง ๆ ในใบเดียวกัน มีสีสันมากมายตั้งแต่สีเขียวอ่อน เหลือง ขาวครีม ส้ม ชมพู แดง ม่วง ส่วนรูปร่างของใบนั้นก็แตกต่างกันหลายลักษณะ มีตั้งแต่ใบกว้าง ใบกลม ใบเล็ก แคบ ยาว ใบบิดเป็นเกลียว ส่วนมากมีขอบใบเรียบ นอกจากบางชนิดขอบใบมีแฉกลึก และส่วนมากใบเป็นมันเรียบ นับเป็นไม้ใบที่ใช้เป็นไม้ประดับได้ดีมากชนิดหนึ่ง

โกสนชอบความชุ่มชื้นสูง และเจริญเติบโตได้ดีในที่กลางแจ้ง ได้รับแสงแดดตลอดวัน ขึ้นได้ดีในที่ทั่ว ๆ ไปในประเทศเขตร้อน การดูแลรักษามีน้อย มีขนาดพุ่มต่าง ๆ กันให้เลือกมากในการนำมาใช้เป็นไม้ประดับปลูกในกระถาง หรือปลูกลงดินเป็นแปลง ตัดให้เรียบเป็นรูปทรงต่าง ๆ เป็นพุ่ม หรือปลูกรวมกับพันธุ์ไม้อื่น ๆ ได้ดี เมื่อนำมาปลูกในกระถางนั้นต้องการดินร่วน ที่มีอินทรีย์วัตถุมากพอสมควร และมีการระบายน้ำได้ดีด้วย อาจจะใช้ปุ๋ยพิเศษ หรือปุ๋ยคอกในรูปของปุ๋ยน้ำบ้างอาทิตย์ละครั้ง หรือสองอาทิตย์ต่อหนึ่งครั้งในฤดูที่มีอากาศแห้งแล้ง ควรให้น้ำให้ความชุ่มชื่นอยู่เสมอ ๆ แสงสว่างเป็นสิ่งสำคัญในการเจริญเติบโต และให้สีสันงดงามของโกสน หากได้รับแสงสว่างไม่ดีพอหรือสม่ำเสมอแล้วจะทำให้สีของใบผิดเพื้ยนไป ทั้งรูปร่างลักษณะของใบก็อาจผิดเพี้ยนแตกต่างไปด้วยก็ได้

โกสนที่เป็นลูกผสมใหม่ ๆ บางชนิดนั้นยังมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมน้อย การถูกแสงแดดโดยตรงตลอดวันอาจทำให้เกิดอันตราย แก่ใบได้ หรือการให้ปุ๋ยมากเกินไปก็อาจทำให้รูปร่างลักษณะผิดไปไม่งดงามกว่าที่ควรได้เหมือนกัน

ันธุ์

ได้กล่าวมาแล้วว่า โกสนที่ใช้เป็นไม้ประดับงดงามนั้นมีชนิด (species) เดียวคือ Codiaeum variegatum แต่มีหลายพันธุ์ (varieties) ดังต่อไปนื้

ก. พวกใบเล็ก มีพันธุ์ Delicatissimum ใบเล็กแคบยาว สีแดงปนเหลือง Graciosum สีทองแดงเข้ม มีจุดหรือประสีเหลือง, Crusonii สีเขียวอ่อนปนเหลืองสลับแดง

ข. พวกใบใหญ่ มีพันธุ์ Reidii สีม่วงเหลือง และชมพู Harvest moon สีเขียวสดปนเหลือง, Bravo สีเหลืองแดงปนเขียว

ค. พวกใบบิดเป็นเกลียว มีพันธุ์ Golden ring สีเหลืองทอง Rex. พื้นเขียวมีด่างสีแดงและเหลือง, Masterpiece สีแดงเขียวและเหลือง

สำหรับโกสนในเมืองไทยนั้นไม่ทราบแน่ชัดว่า ใครเป็นผู้นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับต้นแรกในเมืองไทย แต่ประมาณได้ว่ามีโกสนเป็นไม้ประดับในเมืองไทยมาแล้วประมาณ 60-80 ปีกว่ามาแล้ว และก็สันนิษฐานได้ว่า ต้นแรกที่ นำมาปลูกอาจนำมาจากมาเลเซียตามชื่อไทยที่เพื้ยนมา และพันธุ์โกสนที่ตั้งชื่อให้ในระยะนั้น ก็มีพันธุ์ที่เก่าแก่ มีชื่อพันธุ์ว่า “ล้าแขก” หรือ “แขกดำ” หรืออาจพิจารณาได้ว่ามีผู้นำเข้ามาจากอินเดียตามชื่อพันธุ์โกสนเก่าแก่พันธุ์หนึ่ง ชื่อ “แขกอินเดีย” ในสมัยโบราณได้มีผู้นำโกสนเข้ามาจากต่างประเทศด้วยกันหลายทาง คือ มาจากมาเลเซีย อินเดีย ลังกา ชะวา ซึ่งล้วนแต่เป็นถิ่นแขกทั้งสิ้น จึงยืนยันด้วยเหตุผลชื่อ พันธุ์ที่มีคำว่าแขกนั้นยังไม่แน่นอนอยู่นั้นเอง ต่อมามีคนไทยนิยมโกสนกันมากขึ้นจนเริ่มมาปลูกและมาเล่นโกสนกันอย่างสนใจกันในเมื่อ 30 ปีกว่ามานี้เอง ได้มีคนไทยผสมพันธุ์โกสน และเพาะลูกผสมออกมาปลูกกันมากขึ้น มีการตั้งชื่อโกสนเป็นภาษาไทยมากขึ้น จนในที่สุด ได้มีสมาคมรับจดทะเบียนลักษณะพันธุ์ของโกสน ได้เลิกรากันไปพักหนึ่งเพราะหมดความนิยม เนื่องจากมีพันธุ์ไม้อื่น ๆ เข้ามาทำให้โกสนหมดความสนใจ แต่แล้วกลับหันมานิยมกันอีก จนถึงปัจจุบันนี้ มีสมาคมโกสนขึ้นที่คลองบาง กรวย ธนบุรี ทำหน้าที่รับขึ้นทะเบียนโกสน และรวบรวมสมาชิกโกสน มีสมาชิกประมาณ 30 คน แต่กิจการยังไม่แพร่หลาย ส่วนคนเก่า ๆ ที่เคยเล่นโกสนมาก่อนก็มีอายุมากเสียชีวิตไปก็มาก ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็เลิกราไปแล้วบ้าง หรือไม่ก็เปลี่ยนมาเล่นพันธุ์ไม้อี่น ๆ ไปเสียแล้ว ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันก็มีครูเจ้ (ครูเจต จุนะปิยะ) และคุณลุงเอี่ยม อั๋นวงศ์

ในการตั้งชื้อภาษาไทยของโกสนนั้นอาจแบ่งออกได้ตามลักษณะที่ใช้ชื่อกันได้ต่าง ๆ กัน คือ ส่วนมากมักจะตั้งชื่อแต่ละต้น ๆ และเมื่อรวมกันก็เป็นชุดหนึ่งเรียกว่าตับ ในตับหนึ่ง ๆ นั้นอาจมีโกสน 3 ต้นเป็นอย่างน้อย และมีจำ นวนมากขึ้นไปหลายต้นแล้วแต่ตับนั้นจะแค่ไหน ซึ่งจะยกตัวอย่างให้ทราบเฉพาะพันธุ์โกสนที่อยู่ในตับ และเป็นพันธุ์ที่นับว่ามีความนิยมมากในพันธุ์นั้น ๆ และโดยเฉพาะชื่อพันธุ์ โกสนนั้นอาจแบ่งออกได้เป็นโกสนพันธุ์เก่าแก่ หรืออย่างที่อย่างประกาศเรียกว่า “พันธุ์โลกเก่า” (Old world หรือ Old pashion) กับพันธุ์ลูกผสมใหม่, ที่เกิดขึ้นและเป็นที่นิยมในปัจจุบันนี้ (New world หรือ New fashion หรือ Modern varieties)

ต้นโกสนต่าง ๆ ที่มีชื่อภาษาไทยนั้น ไม่อาจสืบทราบได้แน่ชัดว่ามาจากชนิด (species) และพันธุ์ (varieties) ที่แน่นอนต้นไหน จึงขอกล่าวเฉพาะชื่อภาษาไทยเท่านั้น

1. ต้นทั่ว ๆไปนั้นส่วนมากเป็นต้นสั้น ๆ และเป็นโกสนพันธุ์เก่า ๆ ประกอบด้วย 3 พันธุ์เป็นส่วนมากรวมเข้าเป็นต้นหนึ่ง เช่นต้นแขก มีแขกอินเดีย แขกดำ เจ้าแขก

-ต้นมังกรมีมังกรห้าเล็บ มังกรแดง มังกรเหลือง

-ต้นหิมะรัน มี หิมะรันแดง หิมะรันขาว หิมะรันเหลือง

-ต้นสาเก มี สาเกขาว สาเกเหลือง สาเกกระ

2. ต้นจังหวัด โดยใช้ชื่อเมือง หรือชื่อจังหวัดตั้งชื่อให้โกสนที่เป็นพันธุ์ที่ดีและนิยมกันในปัจจุบันนี้ก็มีนครปฐม (เดิมชื่อศรีวิชัย) อ่างทอง พระนคร ลพบุรี ศรีอยุธยา สระบุรี สุ­พรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี จันทบุรี

3. ต้นวรรณคดี โดยใช้ชื่อตัวแสดงในวรรณคดีไทยเป็นชื่อตั้งให้โกสน ที่เป็นพันธุ์ที่ดี ๆ และนิยมกันในปัจจุบันนี้ก็มี

ก. ต้นขุนช้างขุนแผน มีพันธุ์พระกาญจนบุรี พลายงาม พลายชุมพล สายทอง แว่นแก้ว เณรแก้ว พระยาฤทธิ์ณรงค์ ขุนช้างเข้าหอ

ข. ต้นผู้ชนะสิบทิศ มีพันธุ์ พระเจ้าศิริธรรมราชา พระเจ้าศิริไชยสุระ พระเจ้าทินยาราม มังสุระมณีจักร ผู้ชนะสิบทิศ เนงบา บุเรงนอง จะเลงกาโบ สะโดเบงสอ นรบดี

4. เป็นชื่อที่มีขึ้นเดี่ยวๆไม่เป็นต้น แล้วแต่ความพอใจของผู้ตั้งชื่อ เช่น หนุมานเผาลงกา เจ้าโลก แซ่ม้า (เพียงหลอด) คุณหญิงโม ระย้า ลิ้นจี่

โกสนพวกที่เป็นลูกผสมใหม่ ๆ นั้น ส่วนมากมีใบกลม มีสีสันงดงาม เมื่อเทียบกับโกสน รุ่นเก่า ๆ แล้ว โกสนสมัยใหม่นั้นงดงามกว่ามาก ส่วนโกสนที่เป็นลูกผสมที่มีลักษณะไม่แน่นอน และไม่งดงามนั้น ทางสมาคมไม่รับจดทะเบียนก็ปล่อยให้เป็นไม้ไม่มีชื่อ และปลูกกันทั่วไปเพื่อใช้ใบ และปลูกเป็นไม้ประดับทั่ว ๆ ไปตามเรื่องนับว่าเป็นโกสนที่ใช้ไม่ได้แล้ว

ลักษณะโกสนพันธุ์ดี

โกสนที่นับว่ามีลักษณะพันธุ์ดีนั้น อาจพิจารณาได้ในคุณสมบัติของต้นโกสนเป็นต้น ๆ ไปดังข้อพิจารณาดังต่อไปนี้คือ

1. ลักษณะของการเจริญเติบโตของต้นโกสน คือเลี้ยงได้ง่าย เจริญเติบโตได้ดี การแตกใบจากกิ่งหรือลำต้นต้องถี่หรือชิดกันไม่ทิ้งช่องว่างให้ว่างหรือห่างกันมาก ระหว่างใบที่แตกออกจากกิ่งของใบหนึ่ง กิ่งก้านใบที่แตกออกจากกิ่งอีกใบหนึ่ง ทำให้ยอดหรือใบที่แตกออกจากกิ่งหรือต้นเป็นพุ่มเป็นช่อโดยรอบกิ่ง รอบต้นงดงาม แน่นทึบโดยสม่ำเสมอ ถ้าหากให้ปุ๋ยมากไป จะทำให้การแตกใบห่างออก เพราะยอดหรือกิ่ง หรือลำต้นยดสูงขึ้นมากเกินไป หรือถ้าหากให้ได้รับแสงสว่างไม่พอก็จะทำให้ต้นโกสนยึดตัวสูงชลูดขึ้นโดยมีการแตกใบน้อยไม่แน่นทึบ การยืดของลำต้นหรือกิ่งที่ทำให้ใบแตกออกห่างนั้น ภาษาทางโกสนเรียกว่า “ชูด” ถือว่ามีลักษณะหมดงาม

2. ลักษณะของใบ โกสนที่นับว่ามีลักษณะงามนั้น ควรมีใบตรงตามพันธุ์ให้งดงาม ถ้าหากเป็นโกสนใบกลมก็ควรมีใบกลมจริง ๆ คล้าย อีแปะ ถ้าหากเป็นโกสนใบยาวขนาดกลางก็ควรมีโคน ตัวใบกว้างมาก ๆ กว้างกว่าทางปลายใบ ซึ่งทางภาษาโกสนเรียกว่า “สะโพก,, และอีกประการเกี่ยวกับลักษณะใบที่ต้นเดียวกันมีใบที่มีลักษณะไม่เหมือนกัน คือบางใบกลม บางใบยาว บางใบมีขนาดกลาง แต่อีกใบมีขนาดเล็กยาว โกสนชนิดนี้เรียกกันว่าไม้สองใบ ถือว่า เป็นไม้ปานกลางไม่ดีและเลว ส่วนโกสนที่มีลักษณะใบเหมือนกันทั่งหมดต้น เรียกว่า ไม้ใบเดียวนั้นหมายถึงโกสนที่มีใบขนาดกลาง คือยาวประมาณ 6-8 นิ้ว สมรเสมอทั่งต้น ถ้าเป็นไม้ใบยาวแล้ว มีลักษณะส่วนแคบไม่กว้างแต่มี ความยาวมาก ถ้ากว้าง 1/4 นิ้ว อาจยาวได้ถึง 12- 14 นิ้ว เรียกว่าไม้ใบยาว นอกจากนี้โกสนที่มีลักษณะใบงดงามและถือว่าดีนั้น ควรจะมีก้านใบสั้นด้วย ถ้าหากก้านใบสั้นมากจนทำให้ดูเหมือนว่าตัวใบติดกับกิ่งหรือลำต้นเลย ยิ่งถือว่ามีลักษณะใบงดงามมาก

3. ลักษณะของเนื้อใบ โกสนที่นับว่าดีนั้น ควรมีเนื้อใบหนาพอสมควร ซึ่งแสดงถึงความสมบูรณ์ไม่ทิ้งใบได้ง่าย ๆ คือใบที่อยู่ส่วนโคนต้น โคนกิ่ง ไม่แก่และร่วงหล่นไปหมดในเวลาที่เร็วเกินไป ถ้าหากเป็นโกสนที่ทิ้งใบง่าย ๆ แล้ว จะทำให้ใบตรงส่วนโคนต้นหลุดร่วงไปหมด คงเหลือแต่ใบที่ใกล้ส่วนยอดเท่านั้น แลดูเห็นต้นเห็นกิ่งก้านถือว่าไม่งาม ลักษณะดีของใบนั้น ควรมีสีสม่ำเสมอ สีไม่ตกคือสีไม่ผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติ หรือสีอ่อนแก่ไม่เหมือนกัน ไม่ตรงตามพันธุ์ ซึ่งเรียกภาษาโกสนว่า “สีดิบ” คือสีไม่เด่นชัดตามพันธุ์ ซึ่งอาจจะเกิดจากการได้รับแสงสว่างไม่พอ หรือสมบูรณ์เกินไป จึงทำให้ใบมีสีผิดเพื้ยนไปก็ได้ เช่นสีเหลืองกลายเป็นสีขาว หรือเหลืองปนขาว ดูคล้ายผ้าสีที่ถูกแดดเลียจนสีตก หรือผ้าสีที่ชักนำแล้วสีตกซีดไป ซึ่งอาจเกิดจากการไม่สมบูรณ์เช่นขาดธาตุอาหาร หรือถูกโรคและแมลงรบกวนก็ได้ ด้วยเหตุนี้ใบโกสนที่ดีจึงต้องสะอาดปราศจากโรค และแมลงทำลายให้ขาดเสียหายไปด้วย เช่น ใบแหว่งเพราะถูกแมลงกัดกิน เป็นต้น

ลักษณะของใบโกสนรูปต่าง ๆ

ก. ลักษณะใบกว้าง (Broad Leaved)

1. ใบกว้างแบบใบไม้ธรรมดา

2. ใบกว้างมีสายระยาง

3. ใบกว้างกลม

4. ใบกว้างมีแฉกลักษณะใบสาเก (Lobed (Lobed Croton)

ข. ลักษณะใบแคบ (Narrow Leaved)

6. ใบแคบยาวลักษณะใบกลาง

7. ใบแคบยาวลักษณะใบยาว

8. ลักษณะใบแคบขอด (Broken – Leaved)

9. ลักษณะใบแคบบิดเป็นเกลียว (Spiral – Leaved)

10. ใบแคบสะโพกใหญ่

11. ใบแคบมีสายระยาง

12. ใบแคบปลายบิด

4. ถ้าหากเป็นโกสนต้น หมายถึง โกสนที่ปลูกจากกิ่งตอน และให้เป็นลำต้นเดี่ยว ๆ ขึ้นไปโดยไม่มีกิ่งเป็นแขนงนั้น ควรจะมีใบแตกออกรอบ ๆ ด้าน ควรจะมีใบแตกออกรอบ ๆ ด้าน ทำให้ทรงต้นตั้งตรงและเป็นพุ่มกลมโดยรอบ ๆ ถ้าหากวัดรัศมีที่ยอดแล้วจะมีเส้นรัศมีออกไปถึงปลายพุ่มใบเท่ากันหมดทุกด้านรอบๆ ต้น ถ้าหากเป็นโกสนที่เป็นลักษณะพุ่ม มีกิ่งก้านแตกออกเป็นพุ่มแล้ว ก็ควรจะมีลักษณะพุ่มกลมโดยรอบ ไม่เว้าแหว่งหรือทำให้พุ่มบิดเบี้ยวได้ ถ้าหากมีลักษณะพุ่มเป็นรูปปลายแหลมได้ยิ่งงดงามและดีมาก

5. ลักษณะพิเศษอื่น ๆ เช่นพวกโกสนที่มีใบบิดเป็นเกลียว การบิดควรบิดโดยสม่ำเสมอกัน และมีลักษณะเหมือนกันทั้งต้น ส่วนโกสนที่มีสายระยางออกจากใบนั้นก็เช่นเดียวกัน สายระยางที่แตกลอกมาจากใบนั้นควรมีลักษณะพองามกับใบ และที่ปลายสายระยางอาจมีใบเล็ก ๆ หรือ มีติ่งเล็ก ๆ นั้น นอกจากนี้ก็มีลักษณะย่นของใบพันธุ์ที่มีใบย่นนั้นควรมีลักษณะย่นสองข้างของแกนกลางใบ และสองข้างควรย่นให้เท่า ๆ กัน ด้วย ลักษณะย่นควรเป็นระเบียบเหมือนการย่นบนจานของดอกหน้าวัว

การขยายพันธุ์

โกสนขยายพันธุ์ได้ง่ายและได้ผลดีที่สุด คือ การตอนยอดหรือตอนกิ่ง โดยการตอนวิธีธรรมดาเช่นเดียวกับการตอนกุหลาบหรือตอนพันธุ์ ไม้ทั่ว ๆ ไป ถ้าตอนจากยอดได้ต้นโกสนใหม่ที่ใบติดมากับต้นใหม่ตั้งแต่ใบที่อยู่ชิดโคนต้นที่สุดไปถึงยอด เมื่อนำมาปลูกในกระถางจะทำให้ได้รูปทรงของต้นงดงามดีกว่าต้นที่ได้จากการตอนกิ่ง หรือตอนต่อมาปลูกในการตอนยอดหรือตอนกิ่งโกสนนั้น ถ้าหากต้องการได้ต้นโกสนเป็นไม้ต้น ก็เลือกตอนจากกิ่งยอดที่มีกิ่งเดี่ยว ๆ ถ้าหากต้องการไม้พุ่มก็เลือกตอนจากกิ่งที่มีแขนง โดยตอนโคนกิ่งที่แยกออกเป็นแขนง เมื่อได้กิ่งตอนที่มีรากออกแล้วก็ตัดมาปลูกในกระถาง ในครั้งแรกให้มีหลักปักยึดลำต้นในกระถางให้ต้นตรง เพื่อให้รากที่แตกใหม่ยึดและเจริญออกมา สีดินในกระถางได้ดีขึ้น โดยเฉพาะไม้ต้นที่มีลำต้นเดี่ยวนั้นควรใช้ไม้หลักปักยึดให้ตั้งตรงนั้น จะทำให้ต้นโกสนที่ตอนมาปลูกใหม่เจริญเติบโตไปในส่วนตรงและไม่คิดด้วย

การปักกิ่งชำนั้นอาจใช้กับโกสนที่มีปริมาณมาก ๆ เพราะการปักชำนั้นอาจไม่ได้ผลดีแน่นอนเท่ากับการตอนบางชนิดนั้นนิยมนำกิ่งโกสนนั้นมาแช่น้ำในขวดให้แตกรากเสียก่อน จึงนำไปปลูก กิ่งโกสนที่จะนำมาปักชำนั้นควร ตัดกิ่งยาวประมาณ 4-6 นิ้ว ชำเช่นวิธีชำต้นไม้ อื่น ๆ ทั่ว ๆ ไป

การติดตา ต่อกิ่ง สำหรับโกสนนั้นอาจทำขึ้นเพื่อให้โกสนที่มีลักษณะพันธุ์หลาย ๆ พันธุ์อยู่บนต้นเดียวกันมากกว่าที่จะทำขึ้นเพื่อขยายพันธุ์หรือหาต้นตอที่ทนทานต่อดินสำหรับพันธุ์โกสนที่อ่อนแอ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับพันธุ์ไม้อื่น ๆ แต่การติดตา ต่อกิ่งโดยวิธีธรรมดา นั้นก็ได้ผลเช่นเดียวกับพันธุ์ไม้ทั่ว ๆ ไป

การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

โกสนในปัจจุบันนี้ล้วนใหญ่เป็นพันธุ์ลูกผสมที่เกิดขึ้นจากการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดเกือบทั้งหมด จะเป็นโดยมนุษย์ช่วยผสมพันธุ์ให้โกสนแล้วนำเมล็ดมาเพาะ หรือโกสนเกิดจากการผสมพันธุ์ของมันเอง แล้วมนุษย์นำเมล็ดมา เพาะก็ตาม ก็ทำให้เรามีโกสนลูกผสมต่าง ๆ ที่มีความสวยสดงดงามขึ้นกว่าเก่ามาก ด้วยเหตุที่โกสนนั้นผสมพันธุ์เกิดเป็นเมล็ดได้ง่ายเหมือนพันธุ์ไม้ดอกทั่ว ๆ ไป จึงทำให้ได้พันธุ์แปลก ๆ ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ในเมืองไทยนั้นคน ไทยรู้จักการขยายพันธุ์โกสนด้วยเมล็ดมานานแล้ว โดยเก็บเมล็ดโกสนที่เกิดเป็นเมล็ดของมันเองมาเพาะบาง ช่วยผสมเกสรให้มันและเก็บเมล็ดที่คนผสมเกสรเอาไว้แล้วมาเพาะบ้าง เมื่อได้ต้นลูกผสมโกสนที่เกิดจากเมล็ดขึ้นมาแล้ว ก็คัดเอาต้นที่งดงามและแปลกกว่าพันธุ์เดิมไว้ขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง หรือปักชำ ให้มีปริมาณมากขึ้นต่อไป ต้นที่งดงามและแปลกกว่าต้นอื่น ๆ ของใครมีขึ้นจากการเพาะเมล็ดนั้น ก็ตั้งชื่อให้โกสนนี้ตามความพอใจ ต่อมาจึงได้มี สมาคมโกสนขึ้น ใครมีโกสนลูกผสมที่งดงาม และแปลกกว่าต้นเดิมที่มีอยู่แล้วก็นำไปตั้งชื่อและขึ้นทะเบียนโกสนไว้ ส่วนต้นไหนที่เพาะเมล็ดงอกออกมาแล้วรูปร่างลักษณะล้วนไม่งดงามน่าดู ก็ปล่อยทิ้งให้ตายไป ถ้าหากต้นไหน ทนทานไม่ตายกลับเจริญงอกงามได้ดีขึ้นเสียอีกก็ปลูกเอาไว้ และไม่ค่อยมีใครสนใจต้นนั้นนัก นับว่าเป็นลูกผสมที่คัดทิ้งพวกนี้ก็จะถูกเรียกว่า ไม้ไม่มีชื่อบ้าง ไม้ไม่มีทะเบียนบ้างหรือไม้ตัดใบบ้าง

นักเล่นโกสนสมัยเก่า ๆ นั้น ใช้เมล็ดขยายพันธุ์กันเกือบทุกคน เพื่อจะเลี้ยงที่ให้ได้ต้นโกสน ลูกผสมที่ดี ๆ กว่าต้นเดิมขึ้น เพราะโกสนนั้น เมื่อเพาะแล้วไม่นานก็งอก และเมื่องอกเป็นต้นแล้วอีกไม่นานก็เห็นได้ชัดว่าลักษณะดีเลวอย่างไร ควรจะเก็บเอาไว้ต่อไปหรือคัดทิ้งเสีย ดังนั้นจึงใช้เมล็ดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของมันมาเพาะบ้าง ผสมเกสรให้มันแล้วเอาซองธูปห่อดอกไว้จนเป็นเมล็ดแล้วจึงเก็บมาเพาะบ้าง ซึ่งนับว่าเป็นบุญคุณอย่างยิ่งที่ทำให้เมือง ไทยมีโกสนลูกผสมที่งดงามอยู่มากในปัจจุบันนี้ทั่ว ๆ ไป ในสมัยนั้นทำไปโดยไม่ได้ใช้หลักวิชาการวิทยาศาสตร์ในเรื่องการผสมพันธุ์พืช (Plant Breeding) เข้าช่วยเหลือเท่าใดนัก เพราะในสมัยนั้นวิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญพอ ความรู้ และวิชาหากินยังเป็นเรื่องที่ต้องปกปิดรักษาความลับกันไว้

ลักษณะของการผสมพันธุ์ของดอกโกสนนั้น ก็เหมือนพันธุ์ไม้ดอกทั่ว ๆ ไป โกสนเป็นพันธุ์ไม้ที่มีดอกไม้สมบูรณ์เพศ คือดอกตัวผู้ และดอกตัวเมียแยกกันอยู่คนละช่อดอกในต้นเดียวกัน เป็นแบบ Monoecious โกสนดอกเล็ก ๆ ออกดอกเป็นช่อยาวประมาณ 8-10 นิ้ว แล้วแต่ชนิดและพันธุ์ ช่อดอกตัวเมียล้วนมากจะสั้นกว่าช่อดอกตัวผู้ และช่อดอกตัวเมียส่วนมากมักจะออกดอกก่อนช่อดอกตัวผู้ ช่อดอกโกสนทั้ง 2 เพศนี้ จะออกที่ยอดกิ่ง และถ้าโกสนต้นนั้นสมบูรณ์ดีแล้ว จะออกดอกเป็น 2 ช่อ คือ ช่อตัวเมียดอกก่อนแล้วช่อดอกตัวผู้ก็จะออกตามมาในยอดเดียวกัน ลักษณะที่เห็นได้ชัดด้วยตาเปล่าก็คือ ช่อดอกตัวผู้นั้นยาวมีดอกเล็ก ๆ แตกตามแขนงของช่อดอกมาก ประมาณ 40-60 ดอกในช่อหนึ่งก้านดอกตัวผู้ยาวกว่าก้านดอกตัวเมีย ดอกตัวผู้บานเป็นรูปกลมคล้ายดอกกระถิน หรือดอกกระทุ่ม มีเกสรตัวผู้สีเหลืองมากมายแลดูดอกกลมก้านยาว คนในสมัยก่อนเปรียบว่าเหมือนไม้ยอนหู เมื่อดอกตัวผู้บาน จะเริ่ม บานตั้งแต่โคนช่อดอกไปยังปลายช่อดอก ดอกบานแล้วก็ร่วงหล่นจากก้านช่อดอกหมด ในที่สุดเหลือแต่ก้านช่อดอกตัวผู้เปล่า ๆ เท่านั้น ส่วนช่อดอกตัวเมียที่ออกก่อนนั้น มีจำนวนดอกในช่อหนึ่งน้อยกว่าช่อดอกตัวผู้ คือจะมีดอกตัวเมียประมาณช่อหนึ่ง 10-20 ดอก ก้านดอกสั้น ทำให้ดอกตัวเมียอยู่เกือบชิดก้านช่อดอก ดอกจะมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบจริง 5-6 กลีบ มีปลายเกสรตัวเมียเป็น 3 แฉก รังไข่ของดอกตัวเมียมี 3 ช่อง ในช่อหนึ่งมีเมล็ด 1 เมล็ด ดังนั้นในผลหนึ่งจึงมีเมล็ดไม่เกิน 3 เมล็ด เมื่อถูกผสมกับเกสรตัวผู้ซึ่งมีละอองเรณูประมาณ 30 กว่าแล้วดอกตัวเมียจะติดเป็นเมล็ด ถ้าผสมกันเองตามธรรมชาติแล้ว ช่อดอกเกสรตัวเมียซึ่งมีดอกตัวเมียประมาณ 20 ดอก จะติดเป็นเมล็ด เพียงประมาณ 5-8 ดอกเท่านั้น นอกนั้นเมื่อนานแล้วก็ร่วงหล่นไปหมด ที่ติดเป็นผลจะโตขึ้นมีลักษณะสีเขียวอ่อน และโตขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขนาดเมล็ดฟักไทย หรือขนาดผลฟัก จะเริ่มแก่และมีสีม่วงคลํ้าจนดำ จะกินเวลาประมาณ 1.5 – 2 เดือน เมื่อผลแก่จะแห้งและแตกดีดเมล็ดกระเด็นออกไป หลังจากผลแก่แล้วก็นำมาเพาะโดยวิธีเพาะเมล็ดธรรมดา หรือจะเพาะในกระบะทรายก็ได้ ประมาณ 2-3 อาทิตย์ก็จะงอกเป็นต้นอ่อน หลังจากนั้นอีกประมาณ 1 เดือน ก็จะทราบได้ว่าต้นอ่อนนั้นมีลักษณะงดงามหรือไม่อย่างไร ถ้าทิ้งไว้จนอายุ 2 เดือนหลังจากงอกแล้ว จะเห็นลักษณะเด่นชัดเจนมากขึ้น ต่อจากนั้นก็จะนำไปปลูกในกระถางต่อไป ถ้าหากเพาะในกระบะทราย เมื่อเมล็ดงอกแล้ว ประมาณ 2-3 อาทิตย์ ก็แยกออกชำในกระบะชำจนตั้งตัวและแข็งแรงดีแล้ว จึงแยกออกปลูกในกระถางต่อไป

การปลูกและบำรุงรักษา

ดินปลูกโกสนเพื่อให้ได้ลักษณะโกสนที่งดงามตามลักษณะ แล้วก็เป็นเรื่องที่จะต้องทดลอง และศึกษารูปมาก เพราะถ้าหากดินดีเกินไปมีธาตุอาหารสมบูรณ์มากไป ก็จะทำให้ไม้งามมาก จนเสียรูปร่างอย่างที่เรียกว่า “ชลูด” นั้น ถ้าดินไม่ดีก็ทำให้ไม้ไม่สมบูรณ์ ใบร่วงหล่นไม่ติดอยู่กับต้น ทำให้ทิ้งใบได้ง่าย ๆ ถ้าหากมีแร่ธาตุอาหารน้อยไปหรือมากไปในบางอย่างแล้ว ก็ทำให้สีสันที่ใบผิดไป ในสมัยก่อนผู้ปลูกโกสน จะใช้ดินโคนกกไผ่ หรือที่เรียกว่า “ดินขุยไผ่” มาสุมไฟ โดยขุดดินโคนกดไผ่มากองรวมกันไว้ แล้วใช้ใบไม้ใบหญ้าแห้ง ๆ กลบดินโคนกอไผ่นั้น เอาไฟจุดเผาใบหญ้าใบไม้แห้งนั้นให้ลุกเป็นไฟทั่ว ๆ กัน แล้วใช้ดินธรรมดากลบทับอีกทีหนึ่ง ปล่อยให้ใบไม้ใบหญ้าแห้งนั้นคุกรุ่น ไหม้ต่อไป โดยสุมไฟทิ้งไว้อย่างนั้นจนไฟไหม้ ใบหญ้าใบไม้แห้งนั้น ๆ หมดดีแล้ว จึงรื้อกองดินโคนกอไผ่ที่สุมดีแล้วนั้นออกมาใช้ปลูกโกสเช่นเดียวกับที่คนเก่า ๆ ใช้ดินโคนมะขามมาสุมปลูกบอน ท่านว่าจะทำให้โกสนและบอนที่ใช้ดินดังกล่าวแล้วปลูกได้ผลงดงามดีมาก สีไม่ตก และรูปร่างลักษณะใบก็เป็นไปตามพันธุ์ของมันดีกว่าดินที่ใช้ปลูกโดยผสมดินโดยวิธีอื่น ๆ มาก

แต่ในปัจจุบันนี้ดินที่ใช้ปลูกโกสนในกระถางกันโดยทั่ว ๆ ไปแล้วก็ใช้ดินแผ่น คือดินที่ทำขึ้นจากขี้โคลนหรือเลนจากท้องร่องสวนฝั่งธนบุรี นำขึ้นมาตากแห้งแล้วตัดเป็นแผ่น ๆ ขาย ถ้าหากดินโคลนนั้นมีพวกใบไม้ เช่น ใบทอง หลางผุ ๆ น้อย ก็ใช้หญ้าไทรสับเป็นท่อน ๆ หมักลงไปกับโคลนหมัก และนำมาตากแดดทำเป็นแผ่นเช่นกัน เวลาปลูกอาจใช้ปุยเทศบาล ซึ่งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ผสมลงไปด้วยก็ได้ ปรากฎว่าได้ผลดีพอใช้และงามดีเหมือนกัน ในต่าง ประเทศนั้นใช้ดินผสมที่มีส่วนผสมจากดินร่วน พีทมอสทรายหยาบ ใบไม้ผุ ผสมเข้าด้วยกัน ปลูกเป็นไม้กระถาง

เมื่อโกสนแตกรากออกหากินได้ดีในดินกระถางดีแล้ว ก็ให้ปุ๋ยน้ำรดให้บ้างโดยใช้ปุ๋ยคอกหมักแช่น้ำ และเอาน้ำจากปุ๋ยคอกที่หมักผสมกับน้ำธรรมดารดในกระถาง ถ้าหากจะใช้ปุ๋ยพิเศษที่มีแร่ธาตุอาหารสมบูรณ์ในปุ๋ยผสม ทางเคมีแล้ว ก็ให้ในรูปปุ๋ยน้ำและใช้อย่างเจือจางสัปดาห์ละครั้ง หรือสองสัปดาห์ต่อหนึ่งครั้ง

ถ้าหากปลูกลงดินนั้นส่วนมากเป็นโกสนพันธุ์ที่มีพุ่มขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ และส่วนมากเป็นพันธุ์ใบใหญ่และใบยาว ซึ่งพันธุ์เก่า ๆ มีความทนทานและเจริญได้ดีในภูมิอากาศของเมืองไทยแล้ว เช่นพันธุ์ใบใหญ่ชื่อสาเกต่าง ๆ นั้น ปลูกลงดินได้ดีหรือพันธุ์ที่เรียกว่าเจ้าแขก ซึ่งเป็นพันธุ์เก่า ๆ พันธุ์แซ่ม้า หรือเพียงหลอด ก็ปลูกลงดินได้ดี และขึ้นได้ดีในที่กลางแจ้ง วิธีปลูกคงปลูกโดยวิธีธรรมดาเช่นเดียวกับการปลูกพันธุ์ไม้พุ่มธรรมดาทั่ว ๆ ไป

การตัดแต่งกิ่งนั้น ถ้าหากปลูกลงดินก็ควรได้ตัดแต่งกิ่งให้เป็นรูปทรงที่งดงามได้ตามความต้องการ ที่กิ่งแก่ ๆ เก่า ๆ นั้นควรตัดออกเสียบ้าง เพื่อให้มีกิ่งแขนงแตกเป็นหน่อขึ้นมาใหม่ ๆ ต้นที่มีกระโดงขึ้นสูงชลูดนั้น อาจตัดยอดหรือตอนยอดลงเพื่อให้แตกเป็นพุ่มได้บ้าง สำหรับโกสนที่ปลูกลงดินนั้นควรทำให้เป็นพุ่มมากกว่า ปล่อยให้เป็นต้นสูงชลูดไม่น่าดู

ประโยชน์

1. ปลูกเป็นไม้ประดับสวนภายนอก

2. ปลูกเป็นไม้กระถางเป็นไม้ประดับภายนอกอาคาร

3. ใช้ใบจัดโต๊ะอาหารบุฟเฟ่ จัดสวนหลัง หีบศพ พวงหรีด กรอบรูปหน้าศพ ฯลฯ