การปลูกไผ่

การปลูกไผ่ก็มีวิธีดำเนินการเช่นเดียวกันกับการปลูกพันธุ์ไม้ชนิดอื่นทุกประการ ไผ่จะขึ้นได้ดีในดินร่วนปนทรายมีการระบายนํ้าค่อนข้างดี ดินเป็นกรด ซึ่งต้องคำนึงถึงหลักใหญ่ ๆ ดังนี้

1. พันธุ์ที่เหมาะสม ควรจะได้ทำการคัดเลือกชนิดพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้นมาปลูกโดยคำนึงถึง

1.1 อุณหภูมิและดินฟ้าอากาศ : เป็นต้นว่าพื้นที่ ที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ปริมาณนํ้าฝนเฉลี่ยต่อปีต่ำกว่า 1,000 มม. ก็ไม่ควรจะเลือกพันธุ์ที่ต้องการความชุ่มชื้นมาก เช่น ไผ่ผาก ไผ่ป่า มาปลูก ควรจะได้ทำการปลูกไผ่รวก (หรือพันธุ์อื่น ที่ทนความแห้งแล้งได้ดีกว่า) แทน เป็นต้น

1.2 ดิน ด้านลาด และทิศทาง : ซึ่งอาจจะต้องแยกคำนึงถึง

ดิน : ถ้าเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีการระบายนํ้าดี ก็ควรจะคัดเลือกพันธุ์ไผ่ที่มีลำขนาดใหญ่ เช่น ไผ่สีสุก ไผ่ตง หรือไผ่บง ไผ่ป่ามาปลูก ไม่ควจะนำพันธุ์ที่สามารถทนความแห้งแล้งมาปลูก เพราะจะทำให้ผลที่ได้ไม่คุ้มค่า เท่าที่ควร แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความต้องการในแง่เศรษฐกิจเป็นหลักประกอบด้วย

ด้านลาดของดิน ทิศทางของพื้นที่ :- แม้ว่าไม้ไผ่จะเจริญเติบโตได้ดีตามที่ลาดชันก็ตาม แต่ทั้งนี้ก็ย่อมขึ้นอยู่กับปริมาณของแสงแดดที่มันต้องการอีกด้วย ส่วนใหญ่แล้ว ไม่ไผ่เจริญเติบโตได้ดีทางด้านลาดทิศเหนือ เช่น ไผ่ซางนวล ไผ่หก ไผ่เฮียะ ไผ่ข้าวหลาม เป็นต้น

1.3 ชนิดพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ จะสังเกตได้ว่าชนิดพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ ตั้งแต่พวกหญ้าจนกระทั่งไม้พุ่มและไม่ยืนต้น จะมีบทบาทอันสำคัญคือ จะเป็นตัวชี้ให้เราทราบว่าดินดี หรือเลวเพียงใด ทั้งนี้เพื่อจะช่วยทำให้การคัดเลือกชนิดพันธุ์ ที่เหมาะสมได้รวดเร็วยิ่งขึ้น กับทั้งเป็นการประหยัดเวลาได้มากขึ้นด้วย เช่น ในพื้นที่ที่มีไม้ชั้นล่างเป็นพวกหนามเล็บเหยี่ยว ก็ไม่ควรจะนำไผ่ป่าซึ่งต้องการความชุ่มชื้นสูงไปปลูก ควรจะทำการปลูกไผ่ชนิดอื่นที่สามารถทนแล้งได้ ดีกว่าก็จะทำให้สามารถประหยัดเวลาและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่ามาก

2. วิธีการขยายพันธุ์หรือวิธีปลูก

สำหรับพวกที่ขึ้นเป็นกอนั้น สามารถทำการขยายพันธ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัย ได้ 3 วิธีด้วยกัน คือ

2.1 ใช้เมล็ดในการขยายพันธ์ :- ไผ่ส่วนใหญ่ ในประเทศไทยจะมีการออกดอกราว ๆ เดือนพฤศจิกายน- เดือนกุมภาพันธ์ และเมล็ดเริ่มแก่และร่วงหล่นลงสู่พื้นดิน ในแดือนกุมภาพันธ์-เดือนเมษายนของทุกๆปี ในการเก็บหาเมล็ดไผ่นั้น เราไม่สามารถจะทำการคัดเลือกแม่ไม้หรือหมายแม่ไม้เพื่อทำการเก็บเมล็ดได้เช่นเดียวกับพันธุ์ไม้ชนิดอื่น ๆ เพราะส่วนใหญ่กอไผ่ที่ขึ้นอยู่ในดินอุดมสมบูรณ์ ย่อมจะออกดอกและให้เมล็ดล่าช้ากว่ากอที่ขึ้นอยู่ในที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ซึ่งเป็นไปตามหลักของทางด้านพันธุศาสตร์และสรีระวิทยา เพราะฉะนั้นเราจึงไม่อาจจะเลือกเก็บเมล็ดได้ เช่นเดียวกับพันธุ์ไม้ชนิดอื่นดังกล่าวแล้ว ในระยะที่เมล็ดไผ่กอใดเริ่มแก่ ก็ดำเนินการกวาดเก็บเศษไม้ ใบไม้รอบบริเวณ ใต้โคนกอออกให้หมด เพื่อสะดวกในการกวาดเก็บเมล็ดไผ่ หลังจากร่วงหล่นลงสู่พื้นดิน ปกติแล้วไม่นิยมเก็บเมล็ดไผ่ ที่แก่ติดกับกิ่ง เพราะส่วนใหญ่เมล็ดในตอนนี้ยังไม่แก่เต็มที่ เมื่อนำไปเพาะแล้วอาจจะทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกน้อยมาก หรือแทบจะไม่งอกเลยก็ได้ จึงทำให้เสียเวลาและเปลืองค่าใช้จ่ายมาก หลังจากเมล็ดร่วงหล่นลงสู่พื้นดินแล้ว ก็ทำการกวาดเก็บเมล็ดทั้งหมดใส่ภาชนะเช่น กระสอบป่าน กระสอบผ้า หรือภาชนะอื่นใดก็ได้ ใช้กระด้งสำหรับฝัดข้าวฝัดร่อนเอาเปลือกออกเมล็ดลีบออกเสียให้หมด คงเหลือแต่เฉพาะเมล็ดดีเท่านั้น จึงนำไปเก็บไว้ในภาชนะ เช่น ขวดโหล หรือภาชนะสำหรับเก็บเมล็ดโดยเฉพาะ ถ้ามีตู้เก็บก็ควรเก็บรักษาเมล็ดไผ่ดังกล่าวไว้ในตู้เย็นโดยปรับอุณหภูมิให้คงที่สมํ่าเสมอ ปกติใช้อุณหภูมิประมาณ 12 องศาเซลเซียสเป็นอย่างตํ่า ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เมล็ดเสียและฝ่อเร็ว อาจจะเก็บเมล็ดไว้ ถึง 1 ปีก็ได้ ถ้าหากมีตู้เย็นสำหรับเก็บเมล็ดใช้

วิธีเพาะเมล็ดและการย้ายชำ :— ในการเพาะเมล็ด ไผ่นั้นอาจกระทำได้ 2 วิธี คือ เพาะเมล็ดในกระบะและเพาะเมล็ดไผ่ในแปลงเพาะก่อนอื่นต้องเตรียมดินสำหรับเพาะเมล็ดให้เรียบร้อยเสียก่อน ถ้าให้ได้ผลแน่นอนแล้วควรจะทำการคั่วดินที่จะใช้เพาะเสียก่อนเพื่อทำลายเชื้อโรคและราต่าง ๆ ที่มีอยู่ในดินให้หมดเสียก่อน ดินที่ใช้ในการเพาะควรจะเป็นดินร่วนปนทรายหรือผิวดิน ซึ่งมีอยู่ตามป่าไผ่ธรรมชาติทั่ว ๆ ไป ผลจากการทดลองเพาะเมล็ดไผ่รวกและไผ่ป่า โดยใช้ต้นดังกล่าวปรากฏว่า ไผ่รวกมีเปอร์เซ็นต์การงอกถึง 80% ส่วนไผ่ป่าประมาณ 60% แต่ก็ให้เปอร์เซ็นต์การงอกสูงกว่าการเพาะในดินชนิดอื่น

วิธีเพาะ หลังจากเตรียมดินในกระบะเพาะหรือแปลงเพาะเรียบร้อยแล้ว ก็นำเมล็ดไผ่ลงหว่านในกระบะหรือแปลงเพาะ โดยอาจจะหว่านตามแนวยาวของกระบะหรือแปลงเพาะ หรือจะหว่านทั่วๆไปทั้งกระบะ หรือแปลงเพาะ ก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความสะดวกในการถอนกล้าเพื่อย้ายชำต่อไปเป็นหลักด้วย ภายหลังจากหว่านเมล็ดไผ่เรียบร้อยแล้ว ก็ทำการรดนํ้าโดยใช้ฝักบัวฝอยรดนํ้าให้ทั่วทั้งกระบะหรือแปลงเพาะ ใช้ทรายละเอียดโรยทับเมล็ดอีกชั้นหนึ่ง เพื่อกันมิให้เมล็ดไหลหรือกระเด็นออกจากกระบะ หรือแปลงเพาะในขณะที่รดนํ้าได้ จะต้องทำการรดนํ้าทุกเช้าเย็น ยกเว้นวันที่มีฝนตกเมล็ดจะเริ่มงอกประมาณ 7-10 วัน ภายหลังจากหว่านเมล็ดแล้ว ในระยะนี้ต้องคอยดูแล ฉีดยาป้องกันพวกเชื้อราแมลงต่าง ๆ ที่จะมาทำอันตรายแก่กล้าไผ่ได้ และต้องคอยถอนวัชพืชออกในคราวเดียวกันด้วย

การย้ายชำ :- หลังจากที่กล้าไผ่เริ่มงอกจากเมล็ด ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ก็เริ่มทำการย้ายชำกล้าไผ่ดังกล่าวลงถุงพลาสติก ขนาด 4 X 8 นิ้ว หรือ 5X9 นี้วก็ได้ เพราะถุงพลาสติกนอกจากขนาดดังกล่าวแล้วมักจะเล็กหรือใหญ่เกินไป การบรรจุดินใส่ถุงพลาสติกก็ควรจะได้เริ่มดำเนินการไปพร้อม ๆ กันกับการเพาะเมล็ด ส่วนดินที่ใช้ในการชำก็ควรจะเป็นดินชนิดเดียวกันคือดินผิวบน หรือดินร่วนปนทราย ไม่ควรจะใช้ดินเหนียวหรือทรายล้วน เพราะดินเหนียวจะทำให้การระบายนํ้าไม่ดี ดินมักเกาะจับกันแข็งแน่น ส่วนทรายล้วนนั้นมักจะไม่สะดวกในการขนย้ายตอนนำไปปลูก เพราะทรายมักจะร่วงหล่นออกจากถุงพลาสติกได้ง่าย ทำให้กล้าไผ่เหี่ยวเฉาทันที จึงควรจะให้มีเปอร์เซ็นต์ของดินเหนียวปนอยู่บ้างเล็กน้อย ในระยะนี้ก็จะต้องรดนํ้ากล้าไผ่เช่นเดียวกัน อาจจะรดนํ้าทุก ๆ 2 วันหรือทุก ๆ 3 วันก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสมและสภาพของสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ส่วนระยะเวลาในการชำนั้นอาจจะเป็น 6-12 เดือนดีที่สุด เพราะระยะเวลานอกจากนั้นจะได้กล้าที่เล็กเกินไป หรือสูงเกินไป ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษามากกว่ากล้าซึ่งย้ายชำอยู่ในระยะเวลา 6-12 เดือน เพราะกล้าในระยะนี้ จะแกร่งเต็มที่และพร้อมที่จะเจริญเติบโตทุกขณะ แต่ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับสถานที่และความชื้นเป็นหลักอีกด้วย ถ้าพื้นที่นั้นมีความชื้นดีก็อาจจะทำการย้ายปลูกหลังจากชำกล้าเพียง 3-6 เดือนก็ได้

2.2 การขยายพันธุ์โดยวิธีใช้ปล้องกิ่งตัด : การขยายพันธุ์โดยวิธีนี้มักจะได้ผลเฉพาะพันธุ์ไผ่ที่มีลำหนา เช่นไผ่ป่า ไผ่สีสุก เป็นต้น โดยทำการคัดเลือกลำไผ่ที่มีอายุประมาณ 1 ปี อาจจะนำไปชำทั้งลำหรือทอนออกเป็นท่อนๆ ให้แต่ละท่อนหรือปล้องมีข้อติดอยู่ 2 ข้อ เจาะรูตรงกึ่งกลาง ปล้องเพื่อหล่อนํ้า ส่วนกิ่งที่ข้อก็ตัดริดออกให้เหลือเพียง 2-3 นิ้วก็พอ แต่ระวังอย่าให้ตาที่ข้อของปล้องแตกหักได้ แล้วนำปล้องที่ทอนแล้วไปชำในแปลงชำเสียก่อนโดยวางเรียงตามแนวขนานกับพื้นดิน ใช้ดินกลบที่ข้อทั้งสองของปล้อง เหลือไว้เฉพาะที่หล่อนํ้าเท่านั้น ทำการรดนํ้าทุกเช้าเย็น เว้นวันฝนตก หรืออาจจะรดนํ้าทุก ๆ 2 หรือ 3 วัน ก็ได้ แล้วแต่สภาพสิ่งแวดล้อมเป็นเกณฑ์ด้วย หลังจากนั้นประมาณ 10-15 วัน ตาที่ข้อของปล้องก็จะแทงหน่อโผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดิน ในระยะนี้ต้องคอยดูแลรักษาเป็นพิเศษ เพราะพวกเพลี้ยและเชื้อรามักจะทำอันตรายแก่หน่ออยู่ตลอดเวลา จึงต้องคอยกำจัดด้วยยาฆ่าแมลงและเชื้อรา ผลจากการทดลองชำไผ่ป่าเพื่อหาอัตราการแตกหน่อ อัตราการเจริญเติบโต และเปอร์เซ็นต์การรอดตายที่สถานีทดลอง ต.หินลับ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ปรากฏว่า จำนวนหน่อของพวกปลายลำมีมากกว่าหน่อของพวกโคนลำ และจำนวนหน่อของส่วนปลาย ปล้องก็มีน้อยกว่าหน่อของส่วนโคนปล้อง แต่สำหรับในพวกโคนลำแล้วกลับปรากฏว่าหน่อของพวกปลายปล้องจะมี มากกว่าหน่อของส่วนโคนปล้อง การเจริญของหน่อส่วนปลายลำดีกว่าโคนลำ และหน่อของพวกปลายปล้องเจริญเติบโตดีกว่าหน่อโคนปล้องทั้งส่วนโคนลำและปลายลำ แต่เปอร์เซ็นต์การรอดตายไม่แตกต่างกัน ระยะเวลาในการชำนั้นย่อมขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ที่จะปลูก เช่นในพื้นที่ชุ่มชื้นก็อาจจะชำเพียง 6 เดือนก็ได้ แต่โดยทั่ว ๆ ไปแล้วมักจะชำไว้ ประมาณ 12 เดือน ก่อนทำการย้ายปลูก เพราะในระยะนี้ รากและหน่อจะแกร่งเต็มที่

2.3 ใช้ส่วนของตอกับเหง้าในการขยายพันธุ์

ในการขยายพันธุ์โดยวิธีนี้นั้นเหมาะกับพันธุ์ไผ่แทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นชนิดลำหนาหรือลำบาง เช่น ไผ่รวก ซางนวล ไผ่ป่า สีสุก และไผ่ชนิดอื่นๆ ก็สามารถจะทำการขยายพันธุ์ โดยวิธีนี้ได้ ก่อนอื่นต้องทำการคัดเลือกลำไผ่ที่มีอายุประมาณ 1-2 ปี เสียก่อน ตัดลำส่วนบนออกเพื่อนำไปทอนออกเป็นปล้อง ๆ ใช้ในการชำปล้องเหลือส่วนตอไว้เพียง 30-50 ซม. ทำการขุดเหง้าพร้อมกับตอนั้นแยกออกจากกอแม่เดิม ระวังอย่าให้ตาที่เหง้าแตกเสียหายได้ แล้วนำเหง้าพร้อมด้วยตอ ดังกล่าวไปชำไว้ในแปลงชำเสียก่อน หรืออาจจะนำไปปลุก ในแปลงปลูกเลยก็ได้ ระยะเวลาในการชำไม่ควรเกิน 12 เดือนเช่นกัน เพราะถ้าชำไว้นานกว่านี้ ก็จะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการย้ายปลูก อาจจะทำให้ลำเก่าหรือหน่อใหม่เหี่ยวเฉาตายได้ง่าย สำหรับไผ่บางชนิดที่มีโคนกิ่งหรือแขนงใหญ่ เช่น ไผ่ตง ไผ่ไร่ หรือไผ่บง ก็อาจจะใช้ส่วนของกิ่ง (แขนง) ในการขยายพันธุ์ได้ และวิธีนี้ใช่ได้ผลดีมาก สำหรับไผ่ตงที่ปฎิบัติกันอยู่ขณะนี้ในจังหวัดปราจีนบุรี

3. ฤดูปลูก

โดยทั่ว ๆ ไปแล้วในการปลูกสร้างสวนไม้ผลหรือสวนป่าก็ตาม กสิกรส่วนใหญ่มักจะอาศัยธรรมชาติโดยเฉพาะปริมาณนํ้าฝนเป็นหลักมากกว่าอาศัยระบบการชลประทาน เพราะฉะนั้นฤดูปลูกที่เหมาะสมที่สุด ก็คือฤดูฝน ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงปลายเดือนกันยายนของทุกปี เพราะในช่วงฤดูดังกล่าวสามารถช่วยให้ทุ่นค่าใช้จ่ายในการรดนํ้าได้มาก และเป็นช่วงระยะที่ไผ่กำลังแตกหน่อดีที่สุดอีกด้วย

4. จำนวน กล้า ปล้อง หรือเหง้ากับตอ ที่จะใช้ปลูกต่อหน่วยพื้นที่

ประการแรกจะต้องดำเนินการเตรียมกล้า ปล้อง หรือ เหง้ากับตอให้เพียงพอกับพื้นที่ที่จะปลูกเสียก่อนตามปกติแล้ว ถ้าเป็นพื้นที่ที่ดินค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ดีแล้ว สำหรับชนิดไผ่พันธุ์ที่มีลำหนากอขนาดใหญ่ก็ไม่ควรจะปลูกให้ถี่จนเกินไปนัก ระยะห่างระหว่างกอสำหรับชนิดพันธุ์ไผ่ที่มีขนาดลำใหญ่ เช่น ไผ่ป่า ไผ่สีสุก ไผ่บง ฯลฯ ที่เหมาะที่สุดคือระยะ 6X6 เมตร ส่วนไผ่ที่มีลำเล็กและขนาดของกอเล็กก็ควรจะปลูกระยะตั้งแต่ 2X2 เมตร, 3X3 เมตร หรือ 4X4 เมตร โดยคำนึงถึงขนาดความกว้างของกอสำหรับชนิดพันธุ์ไผ่นั้น ๆ เป็นหลักด้วย เพราะฉะนั้นสำหรับพันธุ์ไผ่ที่มีขนาดกอใหญ่ ถ้าจะปลูกระยะ 6X6 เมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ ไม่ควรปลูกเกิน 36-40 กอ ส่วนไผ่ขนาดเล็ก เช่น ไผ่รวก ถ้าปลูกระยะ 3X3 เมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ ก็ปลูกได้ประมาณ 170-180 กอ เป็นต้น

5. วิธีปลูก

ถ้าใช้ปล้องหรือเหง้ากับตอในการขยายพันธุ์ ก็พึงระมัดระวังอย่าให้ตาที่เหง้าและที่ข้อของปล้องได้รับอันตรายมากนัก เพราะอาจจะทำให้ตาซึ่งจะแตกหน่อต่อไปเสียหรือบอดได้เช่นเดียวกันกับในระยะขนย้ายกล้าปล้องหรือเหง้า กับตอก่อนปลูก ในการปลูกโดยใช้วิธีใช้เหง้ากับตอนนี้ ควรจะขุดหลุมให้มีขนาดกว้าง 30 X 30 X 50 ชม. สำหรับปล้องนั้นย่อมขึ้นอยู่กับขนาดใหญ่เล็กและยาวของแต่ละปล้องเป็นหลัก แต่อย่างน้อยก็ควรจะขุดหลุมให้มีขนาด 20 X 30 X 50 ซม. เป็นอย่างน้อย ส่วนในการปลูกกล้าก็อาจจะอนุโลมให้ใช้ขนาดของการปลูกโดยวิธีใช้เหง้ากับตอได้ ภายหลังจากการเตรียมขุดหลุมเรียบร้อยแล้วเมื่อฤดูฝนย่างเข้ามา และฝนเริ่มชุกก็ให้ทำการย้ายปลูกกล้า เหง้ากับตอ และปล้องทันที โดยใช้ดินร่วนกลบโคนกล้าเหง้ากับตอ หรือปล้อง อย่าให้ดินที่กลบแน่นจนเกินไปนัก เพราะจะทำให้การแตกหน่อ ไม่สะดวกนัก

6. การดูแลบำรุงรักษา

ภายหลังจากที่หน่อเริ่มแตกจากตาของเหง้าข้อของปล้องแล้ว ควรหมั่นหาทางป้องกันพวกเชื้อราและแมลงที่จะเข้ามากัดกินและอาศัยอยู่ตามกาบของหน่ออ่อนได้ โดยอาจจะใช้ยาจำพวกปราบศัตรูพืชก็ได้ ในระยะช่วงฤดูฝนก็ อาจจะต้องทำการดายวัชพืช จะเป็นเดือนละครั้งหรือสองครั้ง ก็ย่อมแล้วแต่ความมากน้อยของวัชพืชในท้องที่นั้น ๆ ภายหลังจากที่ไม่ไผ่เริ่มตั้งกอหลังจากเริ่มปลูกประมาณ 2-3 ปี ก็ อาจจะเพลาการบำรุงรักษาลงได้บ้าง ในระยะนี้จะเห็นว่าหน่อที่แตกจะมีขนาดค่อนข้างเล็ก และจะมีขนาดโตขึ้นทุก ๆ ปี ถ้าความชุ่มชื้นและดินอุดมสมบูรณ์ดีพอเพียง แต่ถ้าจะให้ได้ผลรวดเร็วก็ควรจะใช้ปุ๋ยเร่ง เช่น ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ก็ได้ ถ้าเป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแล้ว อย่างน้อยในพื้นที่ป่าไผ่ 1 ไร่ ควรจะใช้ปุ๋ยดังกล่าวประมาณ 100-150 กก. สำหรับอัตราส่วนของปุ๋ยวิทยาศาสตร์ขณะนี้ยังไม่มีสถิติที่แน่นอน ถ้าเป็นพื้นที่มีลมจัด ก็อาจจะปลูกพันธุ์ไม้ชนิดอื่นจำพวกไม้โตเร็วเพื่อกำบังลม และขณะเดียวกันก็ควรจะปลูกพันธุ์ไม้โตเร็ว เช่น พวกสะเดา สะแก มะกอก หรือพันธุ์ไม้ชนิดอื่นควบด้วย ทั้งนี้ นอกจากจะให้ร่มแก่กล้าไม้หรือหน่อไผ่ในระยะแรกแล้วเรายังสามารถ ใช้ประโยชน์จากไม้โตเร็วเหล่านั้นได้อีกด้วย

7. การจัดการป่าไผ่

ลักษณะทั่ว ๆ ไปเกี่ยวกับการจัดการป่าไผ่ที่ถูกหลัก และเหมาะสมนั้น จะต้องคำนึงถึงหลักใหญ่ ๆ คือ

7.1 ปริมาณหรือปริมาตรของลำไม้ไผ่ทั้งหมด ที่มีอยู่ในป่านั้น สามารถจะทราบได้จากการสำรวจนับจำนวนลำหรือวัดปริมาตรของลำทั้งหมดว่ามีอยู่เท่าใดเป็นพื้นฐานก่อน เพื่อสะดวกในการวางแผนการจัดการต่อไป

7.2 ผลผลิตรายปีที่ได้จากการสำรวจ อาจจะนับเป็นจำนวนลำทั้งหมดที่แตกใหม่ หรือคิดเป็นปริมาตรก็ได้ ว่ามีมากน้อยเพียงใด เป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของปริมาณ หรือปริมาตรของป่านั้นทั้งหมด

7.3 อายุของลำที่จะทำการตัด ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงการใช้ประโยชน์อย่างอเนกประสงค์เป็นหลักด้วย ปกติพวกไผ่ที่ขึ้นเป็นกอนั้น อายุที่เหมาะที่สุดที่จะตัดได้ควรจะเป็นลำที่มีอายตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพราะลำพวกนี้แก่เกินไปที่จะให้หน่อใหม่ต่อไปได้อีกแล้ว นอกจากนั้นแล้วลำอายุ 1 และ 2ปี ยังทำหน้าที่เลี้ยงลำใหม่อีกด้วย จึงไม่ควรตัดออกอย่างยิ่ง แต่ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับการใช้ประโยชน์เป็นส่วนใหญ่ จึงมิค่อยจะได้คำนึงถึงเรื่องอายุแต่อย่างใด

7.4 พื้นที่ที่จะเข้าจัดการนั้นควรจะเป็นพื้นที่ ที่ไม่กว้างขวางเกินไป และสามารถจะเข้าจัดการได้อย่างทั่วถึง ควรใช้รอบหมุนเวียนอย่างมากไม่เกิน 2-3 ปี ทั้งนี้เพื่อป้องกันผลเสียหาย เช่น ลำไผ่แห้งตาย ถูกโรคและแมลงทำลาย ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับป่าไผ่ในแต่ละปี

7.5 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ถ้าเราสามารถวางหลักเกณฑ์และดำเนินการอย่างถูกต้องแล้ว การปลูกป่าใหม่ก็แทบจะไม่จำเป็นนัก เพราะหลังจากที่ตัดลำเก่าออกแล้ว ลำใหม่ก็จะเจริญขึ้นมาแทนที่ทำให้ทุ่นค่าใช้จ่ายได้มาก แต่เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ยังมิได้มีการเข้าจัดการกับป่าไผ่แต่อย่างใด จึงทำให้ป่าไผ่ธรรมชาติส่วนใหญ่ทรุดโทรม เนื่องจากการตัดฟันโดยไม่ถูกหลักวิธีลงเป็นอย่างมาก และถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ ไปแล้ว ก็จะทำให้เกิดปัญหายุ่งยาก และเสียค่าใช้จ่ายสูงจนถึงกับต้องใช้ปุ๋ยช่วยต่อไปในอนาคตก็อาจจะเป็นได้

7.6 วิธีตัดและรอบหมุนเวียนที่จะใช่ในการตัด :- ตามที่ได้กล่าวแล้วว่าสำหรับไผ่ที่ขึ้นเป็นกอ เช่น ไผ่รวก ไผ่ป่า ไผ่ซางนวล เป็นต้นนั้น ลำที่มีความสำคัญที่สุดไม่ควรตัดก็คือลำที่มีอายุ 1-2 ปี เพราะลำพวกนี้จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงของลำใหม่ โดยทำหน้าที่คุ้มกันรักษาและปรุงเก็บอาหาร พื่อที่จะส่งไปเลี้ยงลำใหม่ต่อไป จึงควรจะใช้รอบตัดฟัน 3 ปี ขึ้นไป จึงจะให้ผลดีที่สุด คือตัดลำอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปออกหมด คงเหลือไว้เฉพาะลำที่มีอายุ 1-2 ปีเท่านั้น และผลจากการค้นคว้าทดลอง โดยทดลองตัดฟันไผ่รวกสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร ใช้รอบตัดฟัน 3 ปี ผลปรากฏว่าเมื่อทำการตัดไผ่รวกซึ่งเริ่มตัดครั้งแรกเมื่อปี พ.ค.2507 และหลังจากตัดครั้งที่สองในปี 2510 จะได้จำนวนลำและนํ้าหนักสูงที่สุดและดีกว่าวิธีตัดแบบอื่น ๆ ทั้งสิ้นสำหรับไผ่ชนิดอื่น ๆ ก็ควรจะให้ผลเช่นเดียวกัน