ประดู่อังสนา

(Burmese Rosewood, Padauk)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pterocarpus indicus Willd.
ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE – PAPILIONOIDEAE
ชื่ออื่น ประดู่ ประดู่กิ่งอ่อน ประดู่บ้าน ประดู่เหลือง
ถิ่นกำเนิด เอเชียเขตร้อนและมาเลเซีย
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-20 ม.
ขนาดทรงพุ่ม 6-10 ม. ผลัดใบ ทรงพุ่มกลมหรือแผ่กว้าง กิ่งทอดย้อย ลงต่ำ เปลือกต้นสีนํ้าตาล แตกเป็นร่องตามยาวและหลุดล่อนเป็นแผ่นบาง


ใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ แกนกลางใบประกอบยาว 15-25 ซม. ใบย่อย 7-13 ใบ เรียงสลับ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 4-5 ซม. ยาว 6-10 ซม. ปลายใบแหลมเป็นติ่งทู่ โคนใบมนกว้าง ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียวและย่น เป็นลอนสีเขียวสดเป็นมัน


ดอก สีเหลืองมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกเป็นช่อแบบช่อกระจะที่ซอกใบ ใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งยาว 10-20 ซม. ดอกย่อยคล้ายรูปดอกถั่ว กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังขอบหยักซี่ฟันตื้นๆ 5 จักมีขนสั้นๆ กลีบดอก 5 กลีบ บางยับย่น เมื่อใกล้โรยเป็นสีเหลืองอมนํ้าตาล เกสร เพศผู้ 10 อัน เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 1-1.5 ซม. ออกดอกเดือนมี.ค.-พ.ค.
ผล ผลแห้งเป็นฝักทรงกลมแบนมีปีกเดียวปีกกลมและแบนเป็นคลื่น ล้อมรอบ เส้นผ่านศูนย์กลางรวมปีก 3.5-6 ซม. มีกระเปาะรูปรีนูนเด่น อยู่ตรงกลาง สีเขียวสด เมื่อสุกสีน้ำตาล เมล็ดรูปรี สีน้ำตาลเข้ม 1 -2 เมล็ดต่อฝัก ติดผลเดือน เม.ย.-ก.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบปลูกเลี้ยงอยู่ทั่วไป
การใช้ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้แปรรูปเป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้าน เครื่องดนตรี ก่อสร้างทุกชนิด
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร เนื้อไม้ แก้พิษไข้ กล่อมโลหิต บำรุงโลหิต คุมธาตุ แก่นสีแดง ใช้ย้อมผ้า ใบและดอก ทำให้ฝีสุกเร็ว แก้ผดผื่นคัน น้ำคั้นจากใบใช้สระผม รากและยาง แก้ปากเปื่อย ปากแตก แก้ท้องเสีย แก้โรคบิด
หมายเหตุ ต้นไม้ประจำจังหวัดภูเก็ต
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย