การเพาะเลี้ยงปลายี่สกเทศ

ปลายี่สกเทศเป็นปลาที่นิยมเลี้ยงกันอย่างกว้างขวางในประเทศอินเดีย เพราะเป็นปลาที่มีรสชาติดี และได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างมาก ปลายี่สกเทศมีชื่อเรียกทั่วๆ ไปว่า Rohu มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Labeo rohita (Hamilton) ภายหลังจากที่ได้นำเข้ามาทดลองเลี้ยงและเพาะพันธุ์ในประเทศไทย ปรากฎว่าปลาชนิดนี้เพาะพันธุ์ได้ง่าย เลี้ยงโตเร็วทั้งในบ่อ และในแหล่งนํ้าธรรมชาติ ปัจจุบันปลาชนิดนี้ได้รับความนิยมในการบริโภคกันทั่วไปในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ตลอดจนภาคตะวันออก อาจพบการซื้อขายในตลาดสดทั่วไปในภาคต่างๆ ดังได้กล่าวแล้ว

ปลายี่สกเทศได้นำมาจากประเทศอินเดียเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรก โดยนายประสิทธิ์ เกษสัญชัย เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2511 จำนวน 19 ตัว และครั้งที่ 2 ในปี 2512 จำนวน 250 ตัว

ในระยะแรกที่นำเข้ามานั้น ยังมื่เฉพาะในภาษาไทย จึงยังเรียกปลาชนิดนี้ว่า “ปลาโรฮู่” ตามชื่อพื้นเมืองของอินเดีย และต่อมา ดร.บุญ อินทรัมพรรย์ ได้เปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่าเป็น “ปลายี่สกเทศ” ด้วยเหตุผลที่ว่าปลาโรฮู่เป็นปลาที่มีรสชาติดีและเป็นปลาในตระกูลเดียวกับปลายี่สกของไทย นอกจากนี้ยังมีความหมายว่าเป็นปลาที่คนไทยนำมาจากต่างประเทศอีกด้วย

แหล่งกำเนิดและการแพร่กระจาย

ปลายี่สกเทศเป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในน่านน้ำจืดตอนเหนือของประเทศอินเดีย แม่น้ำนามาดาทับตี และมหานทีในภาคกลาง แม่น้ำในประเทศปากีสถาน บังกลาเทศ พม่า แม่น้ำทาโร ประเทศเนปาลต่อมาภายหลังได้ถูกนำไปแพร่พันธุ์ในแหล่งต่างๆ ของประเทศอินเดีย เช่น ทะเลสาบโพโอ บอมเบ

ปลาชนิดนี้ได้ถูกนำไปแพร่พันธุ์ในประเทศศรีลังกาและหมู่เกาะมอริเชียส ในระยะต่อมาประมาณ ปี ค.ศ.1957-1970 ได้ถูกนำไปเลี้ยงแพร่พันธุ์ในรัสเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบางประเทศในแอฟริกา

สำหรับประเทศไทยเรานั้น ภายหลังที่ได้นำเข้ามาเมื่อปี 2512 ซึ่งได้ทำการทดลองเพาะพันธุ์ และเลี้ยงในบ่อทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติแล้ว ปรากฎว่าปลาชนิดนี้เพาะพันธุ์ได้ง่าย เลี้ยงโตเร็วทั้งในบ่อและแหล่งน้ำธรรมชาติ นอกจากนั้นยังได้รับความนิยมจากผู้เลี้ยงและผู้บริโภคอย่างกว้างขวางดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ในประเทศไทยปลายี่สกเทศได้เริ่มแพร่หลายในแหล่งนํ้าในปี 2515 โดยกรมประมงได้นำลูกปลาขนาด 2.5 นิ้ว ไปปล่อยในอ่างเก็บนํ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 แห่ง คืออ่างเก็บน้ำลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา อ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจาน จังหวัดมหาสารคราม และอ่างเก็บน้ำห้วยสีทน จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยทดลองปล่อยแห่งละ 30,000 ตัว ทั้งนี้เพื่อทดลองศึกษาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเจริญเติบโต และการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของปลาชนิดนี้ในอ่างเก็บน้ำ ผลปรากฎว่า ปลาชนิดนี้สามารถเจริญเติบโตได้ดีใน อ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะในอ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจาน 9 เดือน พบปลายี่สกเทศมีน้ำหนัก 2 กก. ความยาว 51 ซม.

รูปร่างลักษณะ

ปลายี่สกเทศเป็นปลามีเกล็ดวงศ์เดียวกับพวกปลาตะเพียน ปลาไน ฯลฯ เป็นปลาน้ำจืดที่มีรูปร่างเพรียว ลำตัวค่อนข้างแบนข้าง สันหลังโค้งมากกว่าส่วนท้อง หัวมนและแบนข้าง จะงอยปากยื่นยาวกว่าขากรรไกรทั้งสอง ริมฝีปากย่น ประกอบด้วยหลืบเห็นเด่นชัด โดยทั่วไปจะมีหนวดคู่เดียวบนขากรรไกรบน บางครั้งอาจจะพบหนวดอีกคู่หนึ่งที่ปลายจะงอยปาก จุดเริ่มต้นของครีบหลังอยู่กึ่งกลางระหว่างปลายจะงอยปากกับฐานของครีบหาง เกล็ดบนเส้นข้างตัว 40-42 เกล็ด สันหลังจะมีสีน้ำเงินปนน้ำตาล ด้านข้างและด้านท้องสีขาวเงิน ครีบสีแดงเรื่อ มีจุดแดงอยู่ในเกล็ดๆ ละจุด ลูกปลายี่สกเทศขนาด 1-2 ซม. จะมีจุดดำ 3 จุด ทำเป็นมุมสามเหลี่ยมอยู่บนฐานครีบหางเป็นลักษณะเอกลักษณ์ของลูกปลายี่สกเทศโดยเฉพาะ

ลักษณะเพศ

ปลายี่สกเทศเพศผู้-เมีย เมื่อขนาดเล็กก่อนเต็มวัย จะสังเกตความแตกต่างของเพศจากลักษณะภายนอกได้ยาก แต่จะมีความแตกต่างที่ชัดเจน เมื่อปลาเจริญเติบโตเต็มวัย ปลายี่สกเทศเพศผู้-เมียในฤดูผสมพันธุ์ที่มีความอุดมสมบูรณ์เต็มที่ มีดังนี้

ลักษณะปลาตัวเมียที่พอจะสังเกตได้คือ ส่วนท้องจะอูมเป่ง เมื่อเอามือจับดูจะรู้สึกนิ่ม ถ้าเอามือลูบบริเวณท้องจากส่วนทางด้านหัวไปหาง จะมีความรู้สึกว่าไข่จะแยกออกเป็น 2 พูชัดเจน และถ้าดูอวัยวะเพศจะมีลักษณะอูมเป่งและมีสีชมพูเรื่อๆ ถ้าเอามือจับบริเวณแก้มและเกล็ดข้างตัวจะมีเมือกลื่นเช่นเดียวกับปลาไนและปลาตะเพียน

ส่วนปลาตัวผู้จะมีลักษณะลำตัวเรียวยาว ถ้าเอามือลูบบริเวณแก้มและเกล็ดข้างตัวจะรู้สึกสาก ถ้าบีบบริเวณก้นเบาๆ จะมีน้ำเชื้อสีขาวขุ่นคล้ายนมสดไหลออกมา

อุปนิสัยและคุณสมบัติบางประการ

อาหารและนิสัยการกินอาหาร

ปลายี่สกเทศมีอุปนิสัยในการกินอาหารที่ขึ้นอยู่กับขนาดและอายุของปลา ลูกปลายี่สกเทศ หลังจากฟักออกเป็นตัวขนาด 1.5-2.3 ซม. จะกินพวกแพลงก์ตอนสัตว์ ส่วนพวกแพลงก์ตอนพืชที่ปะปนมากับแพลงก์ตอนสัตว์เมื่อลูกปลากินเข้าไปจะถูกขับถ่ายออกหมดโดยไม่มีการย่อย ความยาวของทางเดินอาหารประมาณ 1.5 เท่าของความยาวตัวปลาที่มีขนาด 5 ซม.ขึ้นไป จะกินแพลงก์ตอนพืชเป็นอาหาร ความยาวของกระเพาะและลำไส้ยาวเป็น 3 เท่าของความยาวลำตัว ส่วนปลายี่สกเทศขนาดใหญ่ตั้งแต่ 20 ซม. ขึ้นไปจะเปลี่ยนมากินอาหารที่เป็นพวกพืชผักและเศษพืชที่เน่าเปื่อยตามพื้นท้องนํ้ามากขึ้น ความยาวของกระเพาะและลำไส้ตอนนี้จะประมาณ 10 เท่าของลำตัว ลักษณะของกระเพาะอาหารของปลายี่สกเทศจะตรงยาวคล้ายลำไส้ ทำให้แบ่งส่วนของกระเพาะอาหารออกจากลำไส้ไม่ชัดเจนเมื่อมองจากภายนอกอย่างผิวเผิน แต่ถ้าจะสังเกตโดยใกล้ชิดแล้วจะพบว่า ส่วนของกระเพาะอาหารจะใหญ่และมีผนังหนากว่าลำไส้

ได้มีการศึกษานิสัยการกินอาหารของปลายี่สกเทศขนาด 10-20 ซม. และปลาขนาดใหญ่ กว่าที่จับได้ในอ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจาน จังหวัดมหาสารคาม และอ่างเก็บน้ำหนองหญ้าม้า จังหวัดร้อยเอ็ด พบว่าในกระเพาะปลายี่สกเทศประกอบด้วยเศษพืชที่เน่าเปื่อย และแพลงก์ตอนพืชจำพวก Nostoc, Closte-rium Cosmarium และ Navicula เมื่อจัดขนาดของปลากับชนิดของอาหารที่พบในกระเพาะพบว่าปลาขนาด 10-20 ซม. กินแพลงก์ตอนพืชมากกว่าเศษพืชที่เน่าเปื่อย ส่วนปลาตั้งแต่ขนาด 20 ซม. ขึ้นไป จะกินแพลงก์ตอนพืช และเศษพืชที่เน่าเปื่อยเป็นปริมาณเท่าๆ กัน

การแพร่และขยายพันธุ์

การวางไข่ ปลายี่สกเทศสามารถแพร่พันธุ์วางไข่ได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีสภาวะแวดล้อมเหมาะสม แต่จะไม่วางไข่ในบ่อ

ในประเทศอินเดียปลายี่สกเทศตัวผู้ที่มีอายุได้ 2 ปี 6 เดือน และตัวเมียอายุได้ 2 ปี 8 เดือน จะมีอายุพอผสมพันธุ์ได้ 50% ขนาดตัวผู้ที่ผสมพันธุ์ได้นี้มีขนาดยาว 46.2-65 ซม. ส่วนตัวเมียมีขนาด 51.5 – 70 ซม. สำหรับประเทศไทยเรานี้ได้ทำการผสมเทียมโดยใช้ปลาตัวผู้ขนาด 800 กรัมขึ้นไป และมีอายุ 2 ปี 11 เดือน มีนํ้าเชื้อสมบูรณ์ทุกตัว และปลาตัวเมียรุ่นเดียวกับขนาด 1,450-1,700 กรัม วางไข่ทั้งหมด

ส่วนฤดูวางไข่ ของปลาชนิดนี้ ในประเทศอินเดียมีความแตกต่างกันตามภาคต่างๆ แต่จะอยู่ระหว่างเดือนเมษายน-กันยายน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นระยะเวลาประจวบเหมาะกับฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นระยะเวลาใกล้เคียงกับฤดูวางไข่ของปลายี่สกเทศในเมืองไทย แต่ที่เมืองไทยเรานั้นส่วนใหญ่ปลายี่สกเทศจะมีไข่แก่ระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน

ความดกของไข่ รังไข่ของปลายี่สกเทศเมื่อไข่แก่เต็มที่แล้ว จะมีความยาวเป็น 0.4 ของความยาวลำตัว ปริมาณของไข่ปลาที่สุ่มจากปอเลี้ยงของสถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ บางเขน จำนวน 118 พบว่าปลาขนาดความยาว 30-39 ซม.หนัก 350-559 กรัม จะมีไข่ประมาณ 39,850-157,794 ฟองต่อแม่ หรือปลาขนาดเฉลี่ยความยาว 35-99 ซม. หนัก 516.6 กรัม จะมีไข่ประมาณ 122,787 ฟอง ซึ่งความแตกต่างของจำนวนไข่ส่วนใหญ่จะผันแปรไปตามขนาด อายุ และความสมบูรณ์ของปลาเป็นสำคัญ ดังจะสังเกตได้จากตารางต่อไปนี้

ตารางแสดงความดกของไข่ปลายี่สกเทศ ความยาว น้ำหนัก และจำนวนไข่


การฟักไข่ ไข่ของปลายี่สกเทศเป็นไข่ประเภทครึ่งลอยครึ่งจม มิสีเหลืองอ่อนปนเทา เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.0-1.4 มม. เมื่อได้รับการผสมกับน้ำเชื้อแล้ว ไข่จะพองนํ้ามีขนาด 3-5 มม.หรือมีขนาด 3-4 เท่า ของไข่ที่ไม่ได้ผสม ไข่ที่ได้รับการผสมน้ำเชื้อแล้วนี้จะฟักออกเป็นตัวภายในระยะเวลาประมาณ 16 ชั่วโมง ในอุณหภูมิ 26-30°ซ. และจะฟักออกเป็นตัวหมดภายใน 45 นาที

การเพาะพันธุ์ปลา

เนื่องจากปลายี่สกเทศเป็นปลาที่ไม่แพร่พันธุ์วางไข่ในบ่อเลี้ยงตามสภาพปกติซึ่งได้กล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้น การเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้จึงจำเป็นต้องใช้วิธีฉีดฮอร์โมนเร่งให้ปลาวางไข่

ขั้นตอนในการเพาะพันธุ์ปลายี่สกเทศเท่าที่ได้ปฏิบัติในประเทศไทยเรา มีดังต่อไปนี้

การคัดเลือกพ่อแม่ปลา

ในการคัดเลือกพ่อแม่ปลาเพื่อนำปลามาทำการเพาะพันธุ์นั้น ควรเลือกปลาที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เฉพาะตัวผู้ควรมีขนาดตั้งแต่ 800 กรัมขึ้นไป ส่วนตัวเมียควรมีขนาด 1,400 กรัมขึ้นไป ลักษณะพ่อแม่พันธุ์ที่พร้อมจะวางไข่ได้นั้นได้กล่าวไว้ตอนข้างต้นแล้ว

การผสมเทียม

ในการผสมเทียมนั้นทำได้เป็น 2 ระยะ คือ

1. ระยะการฉีดฮอร์โมน ในการฉีดฮอร์โมนนั้นยังมีการแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

-การฉีดฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองอย่างเดียว โดยฉีดแม่พันธุ์ ครั้งแรกใช้ 0.7-1.0 โดส ครั้งที่ 2 ใช้ 1.5-2.0 โดส โดยเว้นระยะครั้งที่ 1 และที่ 2 ห่างกันประมาณ 6 ชั่วโมง หลังจากการฉีดครั้งที่ 2 ประมาณ 5-6 ชั่วโมง ก็จะรีดไข่ผสมกับน้ำเชื้อหรือปล่อยพ่อแม่พันธุ์ให้ผสมกันเองในกระชังที่เตรียมไว้สำหรับพ่อพันธุ์ หากเห็นว่าน้ำเชื้อยังไม่สมบูรณ์ก็ให้ฉีดฮอร์โมนดังกล่าว 0.5 โดส พร้อมกับการฉีดแม่พันธุ์ครั้งที่ 2 เพื่อให้มีน้ำเชื้อออกทันเวลาที่ตัวเมียวางไข่

-การฉีดฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองและฮอร์โมนสกัดผสมกัน กล่าวคือ การฉีดครั้งแรก ฉีดเฉพาะแม่พันธุ์โดยใช้ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง 0.5 โดส ผสมกับฮอร์โมนสกัด หรือ CG 20 IU. ครั้งที่ 2 ฉีดฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง 1.5 โดส ผสม CG 400 IU. ส่วนเพศผู้ถ้าตรวจดูน้ำเชื้อว่าไม่สมบูรณ์ก็ฉีดฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง 0.5 โดส ผสม CG 30 IU. ระยะเวลาการฉีดครั้งแรกกับครั้งที่สองห่างกัน 6 ชั่วโมง และหลังจากครั้งที่ 2 ประมาณ 5-6 ชั่วโมง ก็นำไปรีดไข่ผสมน้ำเชื้อหรือปล่อยลงผสมพันธุ์ในกระชังได้

2. ระยะการปล่อยให้ปลาผสมพันธุ์กันเองและแบบการผสมเทียม

-การผสมพันธุ์นั้น ให้ทำได้หลังจากที่ได้ฉีดฮอร์โมนครั้งที่ 2 แล้วประมาณ 5-1 ชั่วโมง โดยการนำพ่อแม่ปลาที่ขังแยกกันอยู่ (หลังการฉีดฮอร์โมน) มาปล่อยรวมกันในอวนกระชัง 2 ชั้น เพื่อให้ผสมพันธุ์กันเอง

ชั้นในเป็นอวนโพลีเอททีลินหรือไนลอนอยู่ชั้นใน มีขนาดตา 2 ½  ซม. สำหรับปล่อยให้พ่อแม่พันธุ์ผสมพันธุ์กัน

ชั้นนอกเป็นกระชังโอล่อนแก้วสำหรับรองรับไข่ที่ได้รับจากการผสมพันธุ์กัน

ตลอดระยะเวลาที่ปล่อยปลาลงผสมพันธุ์กันในอวนกระชังนี้ ให้พ่นน้ำลงในอวนทั้ง 2 ชั้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับปลา เมื่อปลาวางไข่เสร็จแล้วจึงจับเอาพ่อแม่ปลาออกจากอวนชั้นใน ส่วนไข่ที่ติดอยู่กับอวนโอล่อนแก้วให้น้ำไปทำการฟักต่อไป

-การรีดไข่ผสมน้ำเชื้อ หลังจากการฉีดฮอร์โมนครั้งที่ 2 แล้วประมาณ 5-6 ชั่วโมง ก็ให้คอยสังเกตและตรวจดูพ่อแม่พันธุ์ปลา หากเป็นแม่ปลาให้บีบที่ส่วนท้อง บริเวณช่วงต้นๆ ของรังไข่เบาๆ ถ้าไข่ปลาพุ่งไหลออกมาแสดงว่าไข่พร้อมที่จะผสมน้ำเชื้อได้แล้ว ให้นำแม่ปลามาเช็ดลำตัวให้แห้งแล้วรีดไข่ใส่ภาชนะที่สะอาด และหลังจากนั้นก็นำพ่อพันธุ์มาเช็ดลำตัวให้แห้งแบบเดียวกัน แล้วรีดน้ำเชื้อลงไปบนไข่ ใช้ขนไก่คนให้ทั่วเพื่อให้ใข่และน้ำเชื้อผสมกันให้ทั่ว เติมน้ำลงไปอีกเล็กน้อยแล้วคนอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงใส่น้ำจนเต็มคนให้ทั่วแล้วรินน้ำทิ้ง ใส่น้ำสะอาดทำเช่นเดิมอีกประมาณ 2-3 ครั้ง จึงนำไข่ที่ผสมน้ำเชื้อดีแล้วดังกล่าว ไปทำการฟักในกระชังโอล่อนแก้วหรือกรวยฟักไข่ต่อไป

การฟักไข่

ในการฟักไข่ปลายี่สกเทศนั้นอาจทำได้ 2 แบบ กล่าวคือ

1. นำเอาไข่ที่ได้จากปลายี่สกเทศผสมพันธุ์กันเอง แล้ววางไข่ในกระชังโอล่อนแก้ว หรือถ้าหากเป็นไข่ที่ได้จากการรีดไข่ผสมน้ำเชื้อแล้ว ก็ให้นำไข่นั้นมาใส่ไว้ในกระชังโอล่อนแก้วเพื่อทำการฟักไข่ ระบบน้ำที่ใช้ในการฟักไข่แบบนี้จะมีน้ำพ่นเป็นฝอยลงผิวน้ำภายในกระชัง

2. นำไข่ที่ได้จากการผสมพันธุ์หรือรีดไข่ผสมน้ำเชื้อดังกล่าวข้างต้นมาทำการฟักในกรวยฟักไข่ ใช้ระบบน้ำและพ่นอากาศหมุนเวียน ระบบน้ำที่ใช้ในการฟักไข่แบบดังกล่าวนี้เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปสำหรับนักเพาะปลาเอกชน

ในการฟักไข่ปลายี่สกเทศนั้น ทำได้แบบเดียวกับการฟักไข่ปลาตะเพียนขาว

ไข่ที่ได้รับการผสมน้ำเชื้อดีแล้ว เมื่อนำมาฟักไข่ด้วยอุปกรณ์การฟักดังกล่าวแล้วจะฟักออกเป็นตัวภายใน 16 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 26-30°ซ. หรือประมาณ 14-18 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิปกติในเมืองไทย

การอนุบาล

หลังจากไข่ปลาที่ฟักออกเป็นตัวแล้ว ควรให้ลูกปลาอยู่ในกระชังโอล่อนแก้วหรือในกรวยฟักต่อไปอีก 1 วัน จึงค่อยย้ายไปไว้ในอวนผ้าที่ตรึงแขวนไว้ในบ่อซีเมนต์อีกทีหนึ่ง ลูกปลาที่ฟักเป็นตัว 10ออกใหม่นี้เมื่อมีอายุ 5 วัน ถุงไข่แดงจะยุบหมด แต่ก่อนที่ไข่แดงจะยุบหมดคือลูกปลาอายุ 2-3 วัน ควรให้ไข่แดงต้มสุกบดละเอียดสาดลงไปให้กินเช่นเดียวกับการอนุบาลปลาชนิดอื่นๆ ทั่วไป ระยะเวลาที่ให้ไข่แดงนี้ควรเป็น 3 วัน เพื่อให้ลูกปลาเจริญเติบโตแข็งแรงดีเสียก่อน จึงค่อยนำไปปล่อยอนุบาลต่อในบ่อซีเมนต์หรือบ่อดินที่เตรียมไว้

การเตรียมบ่ออนุบาลลูกปลายี่สกเทศนั้นมีวิธีการเตรียมเช่นเดียวกับการอนุบาลลูกปลาชนิดอื่นโดยทั่วไป คือ

-การอนุบาลในบ่อซีเมนต์ เนื่องจากลูกปลายี่สกเทศกินพวกแพลงก์ตอนสัตว์เป็นอาหารจึงจำเป็นต้องเพาะไรแดงเสียก่อนจึงปล่อยลูกปลา ในการเพาะไรแดงนั้นมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน แต่ที่สะดวกและได้ทำกันขณะที่เพาะลูกปลายี่สกเทศที่สถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาตินั้น เริ่มจากเปิดน้ำเข้าบ่อซีเมนต์ให้มีระดับลึกประมาณ 20 ซม. แล้วเอาอาหารลูกปลาซึ่งมีส่วนผสมคือ ปลาป่น 15% กากถั่ว 24% กากถั่วเหลือง 14% รำละเอียด 30% ปลายข้าว 15% วิตามินและแร่ธาตุ 1% ลงในบ่อในอัตราส่วน 140 กรัม/ม. 2 โดยใส่อาหารสูตรนี้ทิ้งไว้ประมาณ 2 วัน แล้วจึงช้อนไรแดงมีชีวิตใส่ลงไปในอัตรา 5 กรัม/ม.2 ทิ้งไว้ประมาณ 3 วัน ลูกไรจะเกิดขึ้นจำนวนมาก แล้วเติมน้ำลงไปให้มีระดับ 50 ซม. แล้วจึงนำลูกปลายี่สกเทศซึ่งมีอายุ 5-7 วัน ปล่อยลงไป

-การอนุบาลในบ่อดิน ใช้บ่ออนุบาลทั่วๆ ไป ซึ่งมีขนาดประมาณ 400 ม.2 ก่อนที่จะอนุบาลก็ควรจะมีการเตรียมบ่อได้แก่ การทำความสะอาดบ่อกำจัดศัตรูปลาให้หมด สาดปูนขาว ใส่ปุ๋ย ตากบ่อให้แห้งแบบเดียวกับการเตรียมบ่อตามวิธีการของกรมประมง

อัตราการปล่อยลูกปลายี่สกเทศลงบ่ออนุบาลที่ทำกันในปัจจุบันจะประมาณ 400-500 ตัว/ม.2

ในการปล่อยลูกปลายี่สกเทศที่มีจำนวนหนาแน่นควรต้องมีอาหารเสริมเพื่อให้ลูกปลามีการเจริญเติบโตเร็วขึ้น อาหารเสริมธรรมดาได้แก่ รำข้าว กากถั่วป่น แช่น้ำแล้วสาดทั่วบ่อโดยให้วันละ 2 ครั้ง เช้าและบ่าย

การเจริญเติบโตของลูกปลายี่สกเทศหลังจาก 2-3 อาทิตย์ หากเลี้ยงในบ่อดินจะโตประมาณ 2-3 ซม. ซึ่งปกติแล้วจะโตเร็วกว่าและใช้ระยะเวลาเลี้ยงสั้นกว่าการอนุบาลลูกปลาตะเพียนขาวในขนาดเท่ากัน อัตราการรอดจากการอนุบาลในบ่อดินดังกล่าวจะประมาณ 50%

การเลี้ยง

การเลี้ยงปลายี่สกเทศนั้น มีการทดลองเลี้ยงหลายรูปแบบ เช่น ในบ่อกระชัง และในคอก ในการเลี้ยงในบ่อนั้นมีทั้งเลี้ยงแบบเดี่ยวและแบบรวมกับปลาชนิดอื่นซึ่งปัจจุบันนี้นิยมเลี้ยงแบบรวมมากที่สุด จากผลของการทดลองเลี้ยงปลายี่สกเทศในคอกรวมกับปลาชนิดอื่น คือ ปลานิล ปลาซ่ง และปลาเฉา ที่บึงไผ่แขก จังหวัดสุพรรณบุรี ให้ผลสูงสุดคือ 2.32 ตัน/ไร่ ในระยะเวลา 190 วัน

ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้มีการเลี้ยงปลาชนิดนี้อย่างกว้างขวาง จากสถิติของกรมประมง ในปี 2528 มีผู้เลี้ยงปลายี่สกเทศถึง 883 ราย ในเนื้อที่ 1,650.26 ไร่ ให้ผลผลิต 177.65 ตัน มูลค่า 3,355,990 บาท

การเลี้ยงในบ่อ

ได้มีการทดลองเลี้ยงปลายี่สกเทศในบ่อดินของสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดมหาสารคาม โดยปล่อยปลาขนาดเฉลี่ย 9.3 ซม. หนัก 10.08 กรัม อัตรา 1 ตัว/ม.2 และ 1 ตัว/4 ม.2 โดยให้อาหารเม็ดสูตรของสถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติในอัตรา 5% ของน้ำหนักตัวในระยะแรก และเมื่อปลามีขนาด 6 นิ้วขึ้นไป ให้อาหาร 3% ของน้ำหนักตัวแล้วใส่ปุ๋ยเคมีจำพวกฟอสเฟต (P205 40%) ลงไปในบ่อ ในอัตรา 10 กก./ไร่/เดือนจนครบ 8 เดือน ผลปรากฏว่าปลาที่เลี้ยงอัตรา 1. ตัว/ม.2 มีขนาดยาวเฉลี่ย 27.4 ซม. หนัก 281.55 กรัม ให้ผลผลิต 418.6 กก./ไร่ ส่วนปลาที่เลี้ยงในอัตรา 1 ตัว/4 ม.2 มีความยาวเฉลี่ย 31.73 ซม. หนัก 468.0 กรัม ผลผลิต 152 กก./ไร่ แสดงให้เห็นว่าในการทดลองครั้งนี้ อัตราการปล่อย 1 ตัว/ม.2 ให้ผลผลิตมากกว่า

นอกจากนี้ได้มีการทดลองที่สถาน่ประมงน้ำจืดจังหวัดขอนแก่นปี 2516 ในบ่อดินขนาด 800 ม.2 โดยปล่อยลูกปลายี่สกเทศขนาด 4.0-7.9 ซม. น้ำหนักเฉลี่ย 1.98 กรัม บ่อละ 400 ตัว เลี้ยงระยะเวลา 12 เดือน โดยเปรียบเทียบกันระหว่างการใส่ปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟต 5 กก./ไร่/เดือน กับใส่ปุ๋ยอัตราเดียวกัน และเพิ่มอาหารเม็ด 5% แล้วลดลง 3% เมื่อปลามีขนาด 500 กรัม ผลปรากฎว่าผลผลิตทั้ง 2 แบบ คือ ที่ใส่ปุ๋ยอย่างเดียวและทั้งให้ปุ๋ยและอาหารเม็ดนั้น ได้ 335.36 กก./ไร่ และ 336.38 กก./ไร่ ซึ่งดูแล้วจะไม่มีผลแตกต่างกันเลย แสดงให้เห็นว่าการให้ปุ๋ยแก่ปลายี่สกเทศที่เลี้ยงในบ่อนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง และถ้าจะถ้าจะพิจารณาดูนิสัยการกินอาหารของปลายี่สกเทศตามที่ได้บรรยายไว้ข้างต้นจะเห็นได้ว่า ปลายี่สกเทศกินอาหารแพลงก์ตอนพืชและกินอาหารพืชผักและเศษพืชเน่าเปื่อย อันเป็นผลสืบเนื่องจากการใส่ปุ๋ยลงบ่อได้อย่างดี แม้จะไม่มีอาหารสมทบเลยก็สามารถเจริญเติบโตได้

การเลี้ยงในกระชัง

ได้มีการทดลองเลี้ยงปลายี่สกเทศในกระชัง ที่สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดกาญจนบุรีในปี 2519 ในกระชังไม้ขนาด 4 ม.2 ลึก 1.5 เมตร โดยใช้ลูกปลายี่สกเทศปล่อยในอัตรา 100, 75 และ 50/ม.2 และให้อาหารผสมวันละ 5% ของน้ำหนักปลา ผลปรากฎว่าปลาเจริญเติบโตช้ามาก คือ ในระยะเวลา 8 เดือน ได้ปลาขนาด 11.99-18.8 ซม. น้ำหนัก 44.91-67.79 กรัม ในปัจจุบันปลาชนิดนี้ยังไม่เป็นที่นิยมในการเลี้ยงในกระชัง

การเลี้ยงในคอก

การเลี้ยงปลายี่สกเทศชนิดเดียวในคอกนั้น ยังไม่มีรายงานว่ามีผู้ใดเคยทดลองหรือทำการเลี้ยง แต่ได้มีรายงานการทดลองที่เลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

การเลี้ยงในน

ถึงแม้ว่าจะไม่มีการเลี้ยงปลายี่สกเทศในนาแพร่หลายนัก แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เริ่มมีการตื่นตัวในการเลี้ยงปลาชนิดนี้ในนากันมากในปี 2526 การเลี้ยงปลาในนาในเขต 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และชัยภูมิ มีการเลี้ยงในนา 54 ราย ในเนื้อที่นา 247.44 ไร่ แต่ในปี 2528 มีการเลี้ยงในนา 61 ราย ในเนื้อที่นา 290.68 ไร่ อย่างไรก็ตามในการเลี้ยงปลายี่สกเทศในนานั้นส่วนใหญ่ก็มีการเลี้ยงแบบรวมกับปลาชนิดอื่น เช่น ปลาไน ปลาตะเพียนขาว และปลานิล

จากการไปพบชาวนาผู้เลี้ยงปลาที่มีประสบการณ์ดีคนหนึ่งที่อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ได้เลี้ยงปลายี่สกเทศในแปลงนาที่ยกคันขึ้นสูง โดยเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่น เช่น ปลาไน ปลาตะเพียนขาว ปลานวลจันทร์เทศ ใช้ปุ๋ยจากคอกหมูซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียง มีรำเป็นอาหารเสริม ปรากฏว่าปลาเจริญเติบโตดี แต่ไม่อาจให้ข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับผลผลิตและอื่นๆ ได้

การปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ

ตั้งแต่ปี 2511 ซึ่งได้นำปลาชนิดนี้เข้ามาในประเทศไทย ได้มีการเพาะพันธุ์และปล่อยปลาลงแหล่งนํ้าธรรมชาติเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2515 โดยปล่อยลงอ่างเก็บน้ำลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา อ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจาน จังหวัดมหาสารคาม อ่างเก็บน้ำห้วยสีทน จังหวัดกาฬสินธุ์ ผลปรากฎว่าปลาสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของอ่างเก็บน้ำได้เป็นอย่างดี และมีการเจริญเติบโตเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับปลาชนิดอื่นๆ ที่นำไปปล่อยลงในแหล่งน้ำดังกล่าว หลังจากนั้นปลายี่สกเทศได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการ เพิ่มผลผลิตในแหล่งนํ้าธรรมชาติ และแหล่งน้ำตามโครงการสร้างงานในชนบทอย่างมาก เช่น

-โครงการปรับปรุงการประมงแหล่งน้ำเล็กทางภาคเหนือ จำนวน 384 แห่ง เนื้อที่ 122,083.12 ไร่

-โครงการพัฒนาทำนบปลาประจำหมู่บ้าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามเป้าหมาย ปี 2515-2529 จำนวน 264 แห่ง

-โครงการสร้างงานในชนบท (กสช.) ตามเป้าหมาย ปี 2525-2529 จำนวน 304 แห่ง

มีรายงานเกี่ยวกับผลผลิตปลาในอ่างเก็บน้ำหนองบัว จังหวัดมหาสารคาม เมื่อปี 2519 หลังจากนำพันธุ์ปลายี่สกเทศขนาดเฉลี่ย 6.5 ซม. หนัก 6.15 กรัม จำนวน 150,000 ตัว ปล่อยลงไปเป็นเวลา 1 ปี พบว่าผลผลิตในอ่างเก็บน้ำหนองบัว เฉลี่ย 14.26 กก./ไร่ เพิ่มขึ้นกว่าเดิม 5.90 กก./ไร่ เมื่อคิดเปอร์เซ็นแล้ว ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 41.37%

จากข้อมูลที่กล่าวมาแล้วนี้พอจะสรุปได้ว่า การเลี้ยงปลายี่สกเทศให้ได้ผลดีนั้น ควรจะได้พิจารณาจากผลดีที่ได้รับจากการปฏิบัติที่แล้วๆ มา เช่น

-ควรใส่ปุ๋ยเพิ่มเติมในการเลี้ยงในบ่อ ทำนบปลา ฯลฯ

-ควรเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นๆ ทั้งในบ่อและในนา

-ควรปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติรวมกับปลาชนิดอื่นๆ ในหนอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทำนบปลา ฯลฯ ปรากฎว่า เคยได้ผลผลิตดีเป็นที่น่าพอใจ