การปลูกยาสูบพันธุ์เตอร์กิช


เชื่อกันว่ายาสูบเป็นพืชดั้งเดิมของทวีปอเมริกา แล้วได้แพร่หลายเข้ามาในทวีปยุโรป เมื่อโคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกา (พ.ศ. 2035) หลังจากนั้นนักเดินเรือชาวตะวันตก ได้นำยาสูบมาเผยแพร่ทางตะวันออก ไกลและเลยเข้ามาในประเทศไทยในสมัยกรุงศริอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2153 ซึ่งเป็นสมัยรัชกาลพระเจ้าเอกาทศรถ
การปลูกยาสูบ นอกจากจะเพิ่มปริมาณสนองต่อความต้องการให้มากขึ้นแล้ว จะต้องปรับปรุงคุณภาพของใบยาให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสามารถวัดคุณภาพได้โดยทดสอบสี กลิ่น และ รสชาติ และจะต้องเริ่มตั้งแต่การปลูก ตลอดจนการปฏิบัติรักษาให้ถูกต้อง เพื่อให้ได้ใบยาสูบที่มีคุณภาพดี
ที่ดินเหมาะในการปลูกยาสูบ
ควรเป็นดินทรายหรือดินร่วนปนทราย มีอินทรียวัตถุที่มีอาหารพืชปะปนอยู่บ้างประมาณ 1.3-2.1 มี PH. ของดินประมาณ 5.6-6.4 ลักษณะดินไม่ควรปลูกยาสูบคือ ที่ต่ำ ที่ลุ่มมีน้ำขัง สำหรับดินที่มีความเป็นกรดมาก เมื่อปลูกแล้วจะได้ใบยาที่มีคุณภาพต่ำ เมื่อบ่มออกมาแล้วใบยาเป็นสีเทา ขาว ไม่มีกลิ่น การเผาไหม้ไม่ดี
บริเวณที่ทำแปลงเพาะยาสูบ
1. ต้องเป็นพื้นที่สูง การระบายน้ำดี
2. ต้องไม่ห่างจากแหล่งน้ำ เพราะจำเป็นต้องใช้น้ำ สำหรับแปลงเพาะกล้า และในระยะเริ่มปลูก ถ้าขุดบ่อได้ก็ยิ่งดี
3. ไม่มีร่มไม้บัง เพราะยาสูบต้องการแสงแดดตลอดวัน
4. อย่าให้ไกลที่อยู่อาศัยจนเกินไป เพราะสะดวกในการดูแลรักษาและเก็บได้ง่าย
5. ไม่เป็นที่อุดมสมบูรณ์จนเกินไป หรือไม่เป็นที่คอกสัตว์เก่า
การเตรียมดิน
ควรไถอย่างน้อย 3 ครั้ง แต่ละครั้งควรห่างกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ควรไถก่อนวัชพืชออกดอก เพื่อเป็นการปราบวัชพืชและทำปุ๋ยสดไปในตัว เพราะถ้าไถวัชพืชออก ดอกจะทำให้เมล็ดวัชพืชงอกออกมาอีก และควรไถดินตากแดดไว้ จะเป็นการฆ่าเชื้อโรคและไข่ของแมลงในดิน
การทำแปลงเพาะ
แปลงเพาะควรทำให้ได้ขนาดกว้าง 1 เมตรยาว 10 เมตร ให้แปลงสูงจากพื้นดิน 30 ซม. ในฤดูฝน หรือสูง 15 ซม. ถ้าเพาะหลังช่วงฝนตกหนักไปแล้ว ในหน้าฝนควรทำผิวหน้าตรงกลางเป็นรูปโค้งนูน เพื่อการระบายน้ำที่ดี แต่หลังจากฤดูฝนก็ทำหน้าแปลงให้เรียบสม่ำเสมอ เมื่อทำแปลงเพาะกล้าแล้วควรรดน้ำก่อน แล้วกวนวัชพืชทิ้งเสียให้หมดก่อนจึงลงมือหว่านเมล็ดยาสูบ
เครื่องคลุมแปลง
ก่อนที่จะทำการหว่านควรหาเครื่องคลุมแปลงให้ครบ เช่นเผือก ลำปอ ก้านมะพร้าว หญ้าคาหรือวัสดุอื่นๆ แต่มิให้เอาใบไม้มาคลุม เพาะจะร่วงหล่นลงบนแปลง เครื่องคลุมควรทำเป็นรูปเพิงหมาแหงนให้ด้านหน้าสูง 45 ซม. ด้านหลังสูง 30 ซม. เหนือหน้าแปลง หรือทำลักษณะหน้าจั่วในฤดูฝน
การคัดเลือกพันธุ์
พันธุ์ยาสูบพันธุ์เตอร์กิชที่ใช้ปลูกขณะนี้มี 2 พันธุ์คือ
1. พันธุ์แซมซูม ลักษณะใบป้อม
2. พันธุ์ซิกน่า ลักษณะใบกลมกว่าพันธุ์แซมซูม
ปัจจุบันนิยมปลูกพันธุ์แซมซูมกันมาก แต่สำหรับพันธุ์ซิกน่ากำลังอยู่ในระหว่างการทดลอง
วิธีการหว่าน
หว่านปุ๋ย 1.5 กก. ลงบนแปลง ใช้สูตรปุ๋ย 5-15-20 แล้วใช้คราดกลบปุ๋ยให้ลงลึกจากผิวดินเกินกว่า 1 นิ้ว ระวังอย่าให้หลงเหลืออยู่บนผิวหน้าแปลง เพราะถ้าหว่านเมล็ดยาสูบถูกปุ๋ยจะทำให้เมล็ดยาสูบไม่งอก เมื่อหว่านแล้วควรรดน้ำให้ชุ่มพอสมควร
การหว่านใช้เมล็ดพันธุ์ 2 กรัม หรือ 1 ซองต่อแปลงเพาะ 1 แปลง คลุกกับทรายละเอียดประมาณ 5 กิโลกรัม ฟูราดาน 2-3 ช้อนโต๊ะหรือ 50-55 กก. ต่อ 1 แปลง คลุกเข้ากันให้ดี หว่านให้ทั่ว เมื่อหว่านเสร็จแล้วรดน้ำให้ดินมีความชุ่มชื้นเป็นอย่างดีแล้วใช้วัสดุที่เตรียมไว้คลุมแปลง
การให้น้ำแปลงเพาะ เมื่อหว่านเมล็ดพันธุ์แล้วพยายามรดน้ำให้หน้าแปลงเพาะชุ่มชื้นอยู่เสมอ อย่าให้หน้าแปลงแห้ง โดยรดวันละ 3 เวลา แต่อย่าให้มากเกินไป ทำเช่นนี้ 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าเมล็ดจะงอก จากนั้นก็พยายามดูแลรักษาอยู่เสมอ อย่าให้แปลงหรือกล้าแห้ง
วิธีการใช้ยาฆ่าโรคและแมลง
ให้ใช้ยาคอปปีไซด์ 30 กรัม หรือ 2 ช้อนแกง ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดบนแปลงเพาะ เมื่อทำการหว่านแล้วให้ป้องกันไว้เมื่อฝนตกชุก และฉีดครั้งที่ 2 เมื่อกล้าได้ 2 สัปดาห์ จากนั้นให้ฉีดยาฆ่าเชื้อราทุกๆ สัปดาห์ ถ้ากล้ายาสูบเป็นโรคโคนเน่า ให้เอากล้าและดินตรงที่เป็นโรคโคนเน่าทิ้งเสีย แล้วใช้ยาคอปปิไซด์โรยตรงที่เป็นโรคโคนเน่า และเมื่อกล้ามีอายุได้ 2 สัปดาห์ ให้ถอนวัชพืชนั้นเสีย แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ถ้าเห็นกล้างอกต่ำกว่า 50% ก็จัดการซ่อมเสีย แสงแดดไม่พอจะทำให้กล้าสูงชลูด ก็ควรขยายเครื่องคลุมแปลงออก เพื่อให้ถูกแสงแดดมากขึ้น เมื่อต้นกล้ามีอายุได้ 3 สัปดาห์ ใบของต้นกล้ายาสูบจะโตเท่าหัวแม่มือ ให้เปิดเครื่องคลุมแปลงออกให้มากเกือบหมด ถ้าปรากฎมีหนอนกินกล้ายาสูบให้ใช้แลนเนท 10-12 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดให้ทั่ว
วิธีปลูก ควรปฏิบัติดังนี้คือ
1. การเบิกร่อง ร่องควรลึกถึงระดับของดินที่มีความชื้น หรือลึกประมาณ 5 นิ้ว ร่องควรเป็นรูปสามเหลี่ยม แต่ด้านข้างๆ หนึ่งควรลาดเทลงเล็กน้อย เพื่อจะได้ปลูกได้สะดวก ให้แต่ละแถวห่างกัน 40 ซม. ทางที่ดีควรใช้เชือกขึงเป็นแนวยาว จะได้แถวตรงไม่เปลืองเนื้อที่
2. การถอนต้นกล้า ควรงดน้ำหรือให้น้ำน้อยลงก่อนถอนประมาณ 4-5 วัน เพื่อให้ต้นกล้าปรับตัวเสียก่อน แต่ไม่ถึงกับให้ต้นกล้าแห้งตาย อาจรดน้ำใน่ตอนเย็นบ้างเล็กน้อย และควรเลือกต้นกล้าที่สูงกว่าไปปลูกก่อน และควรจะถอนต้นกล้าที่มีอายุประมาณ 30-35 วัน มีลำต้นยาว 2-4 นิ้ว
3. การเตรียมย้ายปลูก ต้องรดน้ำในแปลงก่อนปลูก แล้วใช้ไม้แหลมๆ ทำหลุมข้างร่องให้ห่างจากร่องไปประมาณ 4 นิ้ว หรือ 10 ซ.ม.
4. การย้ายปลูก ให้ฝังต้นกล้าลงไปในดินให้เหลือส่วนยอด 1 นิ้วเท่านั้น ถ้าต้นกล้ายาวก็ให้ฝังเหลือ 1 นิ้วเหมือนกัน แล้วรากจะงอกออกตามลำต้นที่ฝังไว้ แต่ระวังเวลาย้ายต้นกล้าอย่าใช้มือบีบโคนต้น แต่ควรใช้นิ้วมือเปิดรูข้างต้นกล้า เพื่อให้ดินแน่นตรงราก เมื่อปลูกแล้วรดน้ำให้ชุ่มแต่ระวังอย่าให้น้ำถูกใบยาสูบ
5. การใส่ปุ๋ย ควรใส่ก่อนปลูกครึ่งหนึ่งก่อน เมื่อปลูกแล้วต้นยาสูบมีอายุได้ 1 สัปดาห์จึงทำการใช้ป๋ยอีกครึ่งหนึ่งโดยโรยปุ๋ยเคมีตามช่วงห่างจากต้นยาสูบประมาณ 4 นิ้ว เสร็จแล้วราดน้ำให้ชุ่ม การที่จะใส่ปุ๋ยมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน ถ้าดินเลวใส่ 20 กก. ต่อไร่ขึ้นไป ถ้าดินดีใส่ไม่เกิน 10 กก. ต่อไร่ ต่อไปเมื่อต้นยาสบสูงขนาด 50 ซม. งดการใส่ปุ๋ย ฉีดแต่ยาฆ่าแมลงเท่านั้น
สำหรับการใส่ปุ๋ยเพิ่มเติม ถ้าหากต้นยาสูบได้แสดงอาการขาดปุ๋ย เช่นสีของใบไม่เขียว ควรเอาปุ๋ยเคมีละลายน้ำราดตามร่องแล้วใช้น้ำเปล่าราดทับอีกที โดยใช้ปุ๋ยในอัตรา 10 กก.ต่อไร่
วิธีเก็บใบยาสูบ
อายุของใบยาสูบที่จะเก็บไว้ประมาณ 38-45 วัน หลังจากย้ายไปปลูก ต้นยาสูบที่แคระแกรนจะเก็บใบยาได้ภายใน 45-55 วัน
สีของใบยาสูบ
1. ใบยาที่แก่จัด (เรียกว่าสุกจัด) ซึ่งจะอยู่ส่วนล่างของลำต้น จะมีเหลืองทั้งใบ ปลายใบแห้งเป็นสีน้ำตาลหรือเป็นโรคตากบ ก้านใบเป็นสีขาว ไม่แนะนำให้ชาวไร่เก็บ ควรทำการเก็บก่อนหน้านี้ เพราะใบยาสุกเกินไป มีน้ำหนักน้อยคุณภาพต่ำ และใบยาบาง แต่เมื่อชาวไร่เก็บแล้ว ควรจะเสียบร้อยไว้ต่างหาก
2. ใบยาแก่ (เรียกว่าสุก) มีลักษณะขอบของใบเป็นคลื่น สีเหลืองเล็กน้อย ใบมีสีเขียวปนเหลืองหรือสีมะนาว เนื้อใบนูนขรุขระ เส้นกลางใบสีค่อนข้างขาว ถ้าใบค่อนข้างเรียบจะมีตกกระ ปลายใบจะงองุ้มลงดิน เพราะใบยาหนักและจะตัดได้ง่าย ใบยาที่แก่จะเป็นใบยาที่เหมาะหรือพอดีในการเก็บ เพราะเมื่อแห้งแล้วจะได้น้ำหนักมาก คุณภาพดี สีสวย ได้ราคา
3. ใบยาหนุ่ม (เรียกว่าไม่สุก) จะมีสีเขียวอ่อน เขียวจัด ใบยาเรียบ ปลายใบชันขึ้น การตัดลำบาก หากสภาพดินค่อนข้างเป็นกรด ใบยาจะมีสีเหลืองขาวๆ เมื่อเก็บมาแล้วจะเหี่ยวทันทีไม่ควรเก็บ ทำให้เสียราคาและมีน้ำหนักเบา
วิธีการเก็บ
ให้หงายฝ่ามือ โดยใช้นิ้วนางและนิ้วกลางสอดคล่อมลำต้น ใช้นิ้วหัวแม่มือหักใบยาลงมาติดกับนิ้วกลาง และนิ้วนาง แล้วเลื่อนไปตัดใบสูงขึ้นไปตามลำดับ การเก็บใบยาแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับความแก่ของใบยา โดยเก็บครั้งละ 2-5 ใบ ห่างกันประมาณ 3-7 วัน ใบยาส่วนล่างของลำต้น จะเก็บได้ในช่วงไวกว่า เวลาเก็บใบยาที่ดีที่สุดในตอนเช้าและเย็น ตอนกลางวันแดดร้อนจัด จะทำให้ใบยาเหี่ยวได้ง่าย เมื่อเก็บใบยาหมดหนึ่งแถวแล้ว ควรวางใบยาเรียงตามลำดับเป็นวงกลมในตะกร้า แล้วจึงนำเข้าบ้าน เพื่อคัดเลือกใบยาเสียบร้อยต่อไป
การคัดเลือกใบยาสูบก่อนเสียบร้อย
1. ใบยาแก่จัด เฉพาะส่วนล่างของลำต้นให้แยกเสียบร้อยไว้เป็นพวก ใบขนาดใหญ่และขนาดกลาง สำหรับใบยาสุกจัด จากส่วนบนของลำต้น ให้แยกเสียบเป็นใบใหญ่ ใบกลางและใบเล็ก
2. ใบยาแก่ ให้แยกเสียบใบใหญ่ ใบกลางและใบเล็ก
3. ใบยาหนุ่ม ให้แยกเสียบเป็นใบใหญ่ ใบกลางและใบเล็ก
การเสียบร้อยใช้เข็มรูปหอกขนาดกว้าง ½ ซม. ยาว 30-60 ซม. และด้ายขนาดรัง 6-8 ซม. ยาวประมาณ 160 ซม. โดยเสียบทางก้านระหว่างก้านและใบให้หันหน้าใบยาไปทางเดียวกัน ใบยาส่วนล่างของลำต้นให้เสียบห่างกันอย่าให้แน่นจนเกินไป ประมาณใบเว้นใบ เพราะใบยาส่วนล่างมีน้ำหนักมาก เมื่อเสียบแน่นและเอาออกตากแดดจะเกิดตายนึ่ง ทำให้ใบยาเน่าได้ เมื่อเสียบร้อยแล้ว ให้เอาไปแขวนไว้ในกรอบที่เตรียมไว้ โดยทิ้งไว้ในร่มที่ไม่มีลมโกรก
การตากใบยาสูบ
ใช้ไม้ไผ่ทำเป็นรางคู่ กว้าง 160 ซม. ความยาวแล้วแต่ความต้องการ สูงจากพื้น 50 ซม. เมื่อใบยาสูบเหลือง 25% ก็เอากรอบขึ้นไปตากบนราว หันหน้าใบยาสูบไปทางทิศใต้ เราตากใบยาตอนกลางวัน กลางคืนเราเก็บใบยาทั้งกรอบไว้ใต้ถุนบ้าน เพื่อมิให้ถูกน้ำค้างหรือน้ำฝน หรืออาจจะใช้เสื่อลำแพน สังกะสีหรือแผ่นพลาสติคคลุมก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเอาเข้าร่ม บริเวณที่จะใช้ตากใบยาต้องถางกญ้าออกให้หมด เพื่อมิให้ใบหญ้าใต้กรอบตากใบยา คายน้ำไปถูกใบยา กลายเป็นสีน้ำตาล เสื่อมคุณภาพและราคาต่ำ
การตากใบยาด้วยแสงแดดนี้ เราเรียกว่าการบ่มแดด เพราะฉะนั้นจึงต้องบังลมเพื่อมิให้ใบยาแห้งจนเกินไป ใบยาจะมีสีเขียว เมื่อเอาใบยาตากแดดแห้งถึงก้านดีแล้ว โดยการหักก้านใบยาได้ เราก็มัดปลายเชือกทั้งสองด้านห้อยเป็นพวงไว้ใต้ถุนบานประมาณ 7-15 ก็ทำการอัด
การพรางแสงแดดในการบ่ม ในระยะระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคม ไม่จำเป็นจะต้องพรางแสงแดด เพราะแสงแดดยังไม่ร้อนจัด แต่ในกลางเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน ซึ่งตอนกลางวันจะร้อนจัด เมื่อใบยาออกตากแดด ควรใช้ทางมะพร้าวพรางแสง เพราะใบยาจะได้เปลี่ยนสีทัน ถ้าไม่พรางแสงแดดใบยาจะแห้งเร็วเกินไป ทำให้ใบยาติดสีเขียวมากเกินไป
การหมัก เมื่อแขวนใบยาไว้ในร่มประมาณ 7-15 วันแล้ว ควรหมักใบยาที่แห้งแล้ว รูดใบยาให้ชิดกัน แล้ววางเรียบบนพื้นเสื่อหรือกระสอบให้ปลายใบยาทับกัน กองให้สูงประมาณ 50-75 ซม. แล้วใช้ผ้ากระสอบคลุมไว้ การหมักใบยานี้ควรแยกประเภทของใบยา คือใบยาส่วนล่าง ส่วนกลาง และส่วนยอดของลำต้น เพื่อสะดวกในการอัด ให้ชาวไร่ทิ้งไว้เช่นนี้ประมาณ 3 สัปดาห์ ใบยาที่หมักไว้นี้จะเปลี่ยนสีไปในทางที่ดี มีความชื้นที่พอเหมาะ เวลาหมักใบยาควรมีการตรวจสอบบ่อยๆ เพื่อไม่ให้เกิดความร้อน
การอัดใบยา เมื่อแยกใบยาตามคุณภาพแล้วให้บรรจุลงในกระสอบหรือในลังอัดใบยา หลังจากนั้นจึงนำใบยามาอัดเป็นลูกๆ ทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ ตรวจสอบโดยใช้มือแหย่เข้าไปในกลางของห่อใบยา ถ้าใบยาร้อนให้รีบแก้กระสอบและขยายใบยาในห่อให้ห่าง เพื่อให้ระบายความร้อนและความชื้นและกลับห่อเอาส่วนล่างขึ้นข้างบนทุกๆ 7 วัน