ลองกอง

(Longkong)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lansium domesticum Corr.
ชื่อวงศ์ MELIACEAE
ถิ่นกำเนิด มาลายูและภาคใต้ของไทย
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-15 ม. ขนาดทรงพุ่ม 6-10 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มรูปกรวยแผ่กว้าง แน่น เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อน ค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ


ใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ แกนกลางใบประกอบยาว 15-25 ซม.ใบย่อย 5-7 ใบใบย่อยปลายรูปไข่กลับ มีขนาดใหญ่ที่สุด ใบย่อยรูปขอบขนาน กว้าง 5-9 ซม. ยาว 10-20 ซม. ปลายใบ เป็นติ่งแหลม โคนใบมนเบี้ยว ขอบใบเป็นคลื่น แผ่นใบค่อนข้างหนา และเหนียว ย่นเป็นลอน ใบสีเขียวเข้มเป็นมัน


ดอก สีขาวอมเหลือง ออกเป็นช่อแบบช่อเชิงลดที่กิ่งแก่และลำต้น มีทั้งช่อดอกตั้งและช่อดอกห้อย ยาว 10-20 ซม. โดยออกเป็นกลุ่ม 2-10 ช่อ ดอกย่อย 10-30 ดอก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียว เป็นเกล็ดรูป โค้งมน กลีบดอก 5 กลีบ ติดอยู่กับหลอดเกสรเพศผู้โดยโคนกลีบเชื่อมติดกัน เกสรเพศผู้ 8-10 อัน เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 0.5-0.8 ซม. ออกดอกเดือน มี.ค.-พ.ค.
ผล ผลสดแบบมีเนื้อ ทรงกลมเป็นจุกหรือรูปไข่กลับ สีเขียวเข้ม เมื่อสุกสีน้ำตาลอมเหลืองเมล็ดมีเนื้อสีน้ำผึ้งใสห่อหุ้มและติดกับแกนกลาง ผล มี 5 กลีบ เมล็ดรูปมนรี สีเหลืองอมเขียว 1-2 เมล็ดต่อผล ติดผลเดือน มี.ค.-พ.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ติดตา ทาบกิ่งและต่อกิ่ง
นิเวศวิทยา พบปลูกเลี้ยงทั่วไปในภาคใต้
การใช้ประโยชน์ ลองกอง เมื่อสุกเนื้อผลจะใสสีน้ำผึ้ง รสชาติหวานฉ่ำ และมีกลิ่นหอม รับประทานเป็นผลไม้
หมายเหตุ ต้นที่คล้ายกัน คือ ลางสาด (Lansium domesticum Correa)
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย