ส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่

สมุทรสงครามเป็นจังหวัดเล็ก ๆ ที่ประกอบไปด้วย อ.เมือง อ.อัมพวา และ อ.บางคนที มีแม่น้ำแม่กลองเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญในการทำการเกษตรที่ไหลลงสู่อ่าวไทยและอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ประมาณ 70 กิโลเมตร  แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงคือ ดอนหอยหลอด อุทยาน ร.2 ตลาดน้ำท่าคา วัดบ้านแหลม ไม้ผลที่มีชื่อเสียงมากเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไปคือส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่  ซึ่งปลูกกันมานานมากกว่า 20 ปี

ผู้บุกเบิกการทำสวนส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่แห่ง จ.สมุทรสงคราม

บุคคลผู้หนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ให้แพร่หลายใน จ.สมุทรสงครามและจังหวัดต่าง ๆ คือคุณสมทรง  แสงตะวัน เป็นชาวอ.บางคนทีปัจจุบันนอกจากคุณสมทรง จะมีอาชีพรับราชการเป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนวัดบางพลับ อ.บางคนที แล้วยังทำสวนส้มโออีกด้วย ก่อนปี 2523 มีอาชีพทำน้ำตาลรวมพื้นที่ 7 ไร่ และมีส้มเพียง 3 ต้น เท่านั้น ต่อมาได้มีการจดบันทึกข้อมูลทำให้ทราบว่าส้มโอทำรายได้มากกว่ามะพร้าวหลายเท่าจึงเลิกอาชีพทำน้ำตาลจากมะพร้าวเนื่องจากต้นสูงและการขึ้นก็ลำบากในฤดูฝนเพราะว่าที่ขึ้นมันลื่น จึงเปลี่ยนมาปลูกส้มโอทั้งหมดและขยายพื้นที่ปลูกรวม 15 ไร่ ในปัจจุบันคุณสมทรงและภรรยาลงมือทำสวนส้มโอเองทั้งหมด  โดยคุณสมทรงจะใช้เวลาช่วงเช้าเวลา 5.30-7.30 น.  จากนั้นจะไปสอนหนังสือ และเมื่อโรงเรียนเลิกจะกลับบ้าน และเริ่มเข้าสวนเวลา 16.30-19.00 น.  นอกจากนี้ในวันหยุดและวันปิดเทอมจะทำให้มีเวลาในการทำสวนมากกว่าปกติ  คุณสมทรงเป็นบุคคลที่น่ายกย่องมากในสังคมปัจจุบัน นอกจากจะอุทิศชีวิตส่วนหนึ่งในการเป็นครูสอนหนังสือแล้ว ยังใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แทนที่จะใช้เวลาว่างไปในทางที่ไม่เกิดประโยชน์ เช่น หลงในอบายมุขต่าง ๆทำการประกอบอาชีพส่วนตัว โดยทำสวนส้มโอ ทำให้มีฐานะเป็นปึกแผ่น เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มผู้ผลิตส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ ต.บางพรหม และยังรับหน้าที่เป็นประธานกลุ่มอีกด้วยทำหน้าที่ช่วยเหลือเกษตรกรอื่น ๆ ในการทำสวนส้มโอ

การปลูก

ปลูกแบบยกร่องกว้าง 8 เมตร ยาว 40 เมตร ร่องกว้าง 8 เมตร เกิดจากการรวม 2 ร่อง  ซึ่งเป็นร่องเก่าให้เป็นร่องเดียวกันโดยใส่พวกเศษไม้ และดินลงในท้องร่องไม่นานก็จะรวมเป็นร่องเดียวกัน เทคนิคนี้คุณสมทรงพบว่าต้นส้มจะเจริญเติบโตมากกว่าส้มที่ปลูกแบบร่องเดียวที่ไม่รวมร่อง  ซึ่งจะกว้างประมาณ 3.5 เมตร ที่เจริญเติบโตมากกว่าเนื่องจากรากสามารถไปหาอาหารได้ไกลกว่า ระยะปลูกครั้งแรกใช้ระยะ 10 เมตร ปรากฎกว่าผลส้มถูกแดดเผาเสียหายโดยผิวส้มจะแห้ง  เนื่องจากอากาศร้อนมาก ๆ ต่อมาได้ทดลองปลูกระยะ 6 เมตร พบว่าเป็นระยะที่ดีที่สุด และนำทองหลางมาปลูกริมร่องระหว่างต้นส้มเพื่อช่วยบังแดด

การให้ปุ๋ย

มีการให้ปุ๋ยปีละ 4 ครั้ง การให้ปุ๋ยจะคำนึงถึงส้มรุ่นที่ให้ผลมากที่สุดคือ ส้มปีจะออกดอกและติดผลในเดือนธันวาคม-มกราคม และเก็บผลเดือนสิงหาคม  เมื่อเก็บผลรุ่นแรกหมดแล้วในเดือนกันยายน  พอถึงเดือนตุลาคมจะใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 หรือ 16-16-16 ต้นละ 1 กิโลกรัม  เมื่อใส่เสร็จปล่อยน้ำออกจากสวนจนหมดและโกยเลนที่มีใบทองหลางเป็นหลักขึ้นมากลบปุ๋ย  การโกยเลนจะโกยเพียงปีละ 1 ครั้ง เลนที่โกยขึ้นมาจะหนาประมาณ 30 ซม. ใช้พลั่วสำหรับโกยเลนสาดไปบนร่องและจะใช้มือปรับระดับให้เรียบเป็นอันเสร็จ  การโกยเลนจะต้องโกยทุกปีจะเว้นไม่ได้เลย เพราะจะทำให้เลนแข็งและส้มไม่ชอบช่วงเวลานี้ส้มกำลังกินอาหารคือปุ๋ยที่ใส่ลงไปเพื่อสะสมอาหารเตรียมตัวที่จะออกดอกออกผลต่อไป เมื่อเลนแห้งแล้วยังไม่ต้องรดน้ำ ทำการกักน้ำคือทำให้ส้มอดน้ำต่อจากนี้ไปประมาณ 2-3 สัปดาห์  จะสังเกตเห็นใบแก่ใบที่เป็นโรคร่วงและใบที่เหลืออยู่จะเหี่ยวดินจะแตกระแหงจึงทำการปล่อยนำเข้าสวนและให้น้ำทันที  โดยใช้สายยางรดน้ำเพื่อให้ดินเปียกและเว้นระยะให้ดินแห้ง ทำการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 สูตร 16-16-16 ต้นละ 1 กิโลกรัม ทำการรดน้ำทุกวันเพื่อให้ปุ๋ยละลายประมาณ 1-2 สัปดาห์ ส้มรุ่นแรกจะเริ่มออกดอกพอส้มรุ่นนี้อายุ 3 เดือน ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 สูตร 16-16-16 ต้นละ 1 กิโลกรัม และใส่ปุ๋ยครั้งที่ 4 สูตร 13-13-21 เมื่อผลส้มอายุได้ 5 เดือนต้นละ 1 กิโลกรัม  เช่นเดียวกันจะทำให้ส้มมีคุณภาพดีอายุตั้งแต่ออกดอกจนกระทั้งเก็บผลประมาณ 8-9 เดือน เก็บผลขายได้ตรงกับเดือนสิงหาคม-กันยายน เป็นระยะเวลาที่ส้มราคาดี  เนื่องจากเป็นเทศกาลสาร์ทจีนและไหว้พระจันทร์จะได้ราคา 25 บาทต่อกิโลกรัม หรือสูงกว่านี้ ส้มรุ่นที่ 2 ซึ่งมีมากรองลงมาจะเก็บผลได้ในราวเดือนธันวาคม-มกราคม ส่วนส้มรุ่นที่ 3 มีน้อยเก็บผลได้ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน ส้มแต่ละรุ่นจะได้ราคาดีตลอดเนื่องจากส้มพันธุ์นี้เป็นที่ต้องการของตลาดการทยอยไว้ส้ม 3 รุ่นต่อปีนั้นดีกว่าไว้ครั้งเดียวเนื่องจากต้นจะไม่โทรมมากส่วนปุ๋ยทางใบและฮอร์โมนนั้นไม่เคยนำมาใช้

การใส่เกลือ

มีการนำเกลือมาใช้กับต้นส้มโอเพื่อปรับปรุงคุณภาพส้มโอให้ดีขึ้น เนื่องจากส้มรุ่นที่ 2 ซึ่งเก็บผลในราวเดือนธันวาคมคุณภาพไม่ดีเลย  จะฟ่ามเป็นประจำคือส่วนหัวของผลจะเป็นอาการที่เรียกว่าข้าวสาร ทำให้รสชาติไม่ดี จึงได้นำเกลือมาใส่ต้นละ 1 กระป๋องนมโรยรอบ ๆ ต้น เกลือที่ใช้ต้องซื้อเกลือในส่วนที่ติดกับดิน  ซึ่งออกสีดำ พบว่าเหมาะต่อการใช้และมีราคาถูก จะใส่ในเดือนตุลาคมก่อน การโกยเลนและการใส่ปุ๋ยครั้งแรก ถ้าฝนตกก็ไม่ต้องรดน้ำ  ซึ่งเกลือจะละลายหมดเร็ว

การให้น้ำ

ต่อแป๊บน้ำกึ่งกลางร่องแต่ละร่องจะทำก๊อกเปิดปิดทำการสูบน้ำ  โดยใช้มอเตอร์ผ่านไปตามแป๊บน้ำ และใช้สายยางต่อฉีดทีละร่องในฤดูแล้งรดน้ำมากหน่อย  โดยสังเกตดูหากดินแห้งทำการรดน้ำ  ส่วนในฤดูฝนเมื่อฝนไม่ตกหลายวันจึงทำการรดน้ำ

การจัดการวัชพืช

ในอดีตนั้นเคยใช้สารกำจัดวัชพืช เมื่อสังเกตเป็นประจำพบว่าร่องที่ใช้สารเมื่อเปรียบเทียบกับร่องไม่ใช้สารผลปรากฎว่าร่องใช้สารต้นไม่ค่อยเจริญเติบโต  รากส้มที่ผิวดินนั้นเป็นสีดำ ทำให้ดูดอาหารได้ไม่เต็มที่  ตั้งแต่เวลานั้นมาจนถึงปัจจุบันไม่ใช้สารกำจัดวัชพืชอีกเลย แต่ทำการกำจัดวัชพืชโดยใช้เครื่องตัดหญ้าแทนการใช้สารเคมี  ส่วนในฤดูแล้งประมาณ 2 เดือนครั้ง  เพื่อเก็บความชุ่มชื่นให้แก่ดิน

การโกยเลน

ปีหนึ่งจะทำการโกยเลนเพียงครั้งเดียวเท่านั้น  ในเดือนตุลาคมของทุกปี ตอนต้นฤดูฝนจะตัดกิ่งทองหลางออกหมดหรือเหลือเพียงต้นละ 1 กิ่ง แช่น้ำในท้องร่องประมาณ 1 สัปดาห์ใบจะร่วงหมด  นำเอากิ่งมาไว้บนร่อง เพื่อเป็นปุ๋ยได้อีกเมื่อผุพัง  จะไม่ทำการเผาเศษตอซังใด ๆ ทั้งสิ้น ไม้ทองหลาง 1 ปีจะผุหมดกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์อย่างดี

การตัดแต่งกิ่ง

ตัดแต่งกิ่งปีละ 3 ครั้ง เมื่อเก็บผลแต่ละรุ่นเสร็จทำการตัดแต่งกิ่งทันที โดยตัดกิ่งแห้งออกให้หมด โดยเฉพาะต้นกาฝากต้องหมั่นตรวจดู เมื่อพบต้องรีบตัดออกทันที มิฉะนั้นจะทำให้ส้มชะงักการเจริญเติบโต

พืชแซม

นอกจากปลูกส้มโอเป็นหลักเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ยังพอมีที่ว่างระหว่างต้นได้นำหมากมาปลูก หมากมีลำต้นที่สูงขึ้นไม่มีกิ่งก้านสาขาจึงไม่บังแสงแดด  ส่วนรากก็หาอาหารไม่ไกลมาก จึงไม่มีผลเสียต่อส้มโอทำให้มีรายได้เสริม เช่น ฤดูแล้งสามารถขายได้ผลละ 3 บาท การปลูกหมากมีข้อดีอีก คือช่วยยึดริมร่องไว้ไม่ให้พังทลาย

กล้วย โดยเฉพาะกล้วยหอม่ไม่มีผลเสียต่อการเจริญเติบโตของส้มโอยกเว้นกล้วยน้ำว่า  ไม่ควรนำมาปลูก เนื่องจากมีรากที่แข็งแรง และสามารถไปหาอาหารได้ไกล กล้วยหอมจะปลูกได้ในปีแรกที่ปลูกส้มจะปลูกถี่หน่อยระยะ 1 เมตร เพื่อเป็นร่มเงาให้แก่ส้มที่ยังเล็กอยู่  และสามารถปลูกต่อมาได้อีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ระยะปลูกควรห่างเนื่องจากส้มโตแล้ว

ทองหลาง พืชนี้สมควรปลูกเป็นอย่างยิ่งไม่เพียงแต่ให้ปุ๋ยเท่านั้นยังช่วยเป็นร่มเงาในฤดูแล้ง  ทำให้ผลส้มที่ติดผลใหม่ ๆ ไม่ค่อยร่วง ดังนั้นจึงไม่ตัดกิ่งเด็ดขาดในช่วงเวลานี้

การจัดการศัตรูพืช

ศัตรูพืชที่พบมี หนอนชอนใบส้ม (Phyllocnistix citrella Stainton) พบน้อยมากจากการสังเกตใบชุดนี้ ซึ่งเป็นใบเพสลาดแล้ว แต่ใบก็ยังปกติดี  มีร่องรอยการทำลายน้อย

หนอนฝีดาษส้ม (Prays sp.) ทำลายผลส้มทำให้เป็นปุ่มปม พบความเสียหายประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์  ผลที่ถูกทำลายยังขายได้แต่ราคาถูกลง  โดยเฉพาะร้านขายอาหารชอบมาซื้อ เพราะว่าต้องเอาใบแกะเปลือกทำให้ได้กำไรเพิ่มขึ้น  เพลี้ยไฟพริก (Scirtothrips dorsalis Hood)ทำลายผลอ่อนโดยดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้แผลตกสะเก็ดสีเทา ไรสนิมส้ม (Phyllocoptruta oleivora(Ashmead) ทำลายผลโดยดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ผิวของผลเป็นสีน้ำตาลไม่งดงาม  ผลเล็กเมื่อถูกทำลายมากผลจะแคระแกร็น ไรขาวพริก(Polyphagotarsonemus latus(Banks) ทำลายผลอ่อนโดยดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้เป็นแผลสีเทา  เป็นแบบร่างแห  ถ้าถูกทำลายทั้งผลต้องปลิดทิ้ง  เพราะว่าจะแคระแกร็น  ถ้าถูกทำลายเป็นบางส่วนยังคงเจริญเติบโตต่อไปได้  แต่ผลจะมีน้ำหนักเบา มีเนื้อน้อย เปลือกหนา แต่ขายได้โดยมีแม่ค้าจากเพชรบุรีชอบซื้อนำเอาเปลือกไปเชื่อมขาย  โรคที่พบคือโรคราดำ (sooty mold) เกิดจากเชื้อราเมลิโอลา (Meliola sp.) หรือแคปโนเดียม (Capnodium citri B Pesm.) เชื้อราขึ้นปกคลุมได้ทั้งบนใบ ผลและกิ่งส้ม ทำให้ใบสังเคราะห์แสงได้น้อยลง  ทำให้ผลสกปรก โรคแคงเกอร์ (canker) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียแซนโธโมแนส (Xanthomonas campestris pv citri (Hassel Dyr) อาการที่เกิดจะเห็นเป็นแผลสีน้ำตาลและจะนูนเกิดขึ้นที่ใบ ผลและกิ่งส้ม ทำให้ใบและผลร่วงซึ่งมีผลต่อผลผลิต  โรคนี้พบในสวนส้มโอที่ยังเล็กอายุ 2 ปี  จัดการโดยตัดกิ่งและนำใบที่ร่วงไปเผาไฟ  ส่วนส้มโออายุ 15 ปี ไม่พบอาการของโรค การทำลายของแมลง ไรและโรคไม่รุนแรงจนทำให้ต้องใช้สารเคมี แต่จากการสำรวจพบแมงมุมชนิดต่าง ๆ ซึ่งเป็นตัวห้ำ (predator) กินหนอนชอนใบส้ม เพลี้ยไฟและไร มีปริมาณประชากรค่อนข้างสูง

การตลาด

มีพ่อค้าจากกรุงเทพฯ และจากที่อื่น ๆ เช่น สมุทรสงคราม ราชบุรีและเพชรบุรีมารับซื้อถึงสวน ผลผลิตที่ได้ทั้งหมดของจังหวัดส่งขายเฉพาะภายในประเทศเท่านั้นและยังมีปริมาณน้อยไม่พอจำหน่าย  ดังนั้นจึงไม่ต้องกลัวปัญหาส้มล้นตลาด เนื่องจากรสชาติเป็นที่นิยมของผู้บริโภค มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ผลิตส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ ต.บางพรหม จึงมีอำนาจในการต่อรองราคาไม่ถูกกดราคาจากพ่อค้าเหมือนกับในอดีตสามารถขายได้ราคาเฉลี่ย 25 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากขายผลแล้วยังมีกิ่งตอนจำหน่ายอีกด้วย ปีหนึ่ง ๆ จำหน่ายได้หลายพันกิ่ง มีลูกค้าจากทั่วประเทศมาซื้อไปปลูกคุณสมทรงได้จดที่อยู่ของลูกค้าเพื่อจะได้ติดตามผลการปลูกส้ม และยังมีพันธุ์ไม้อื่น ๆ จำหน่ายอีกด้วย เช่น หมาก ลิ้นจี่ ชมพู่ ท่านที่สนใจติดต่อได้ที่บ้านเลขที่ 29/2 หมู่ 3 ต.บางพรหม อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม โทร.(034) 761985

สภาพแวดล้อมของสวน

ดินที่สวนนี้มีความเป็นกรด-ด่าง(pH) เฉลี่ย 5.5 (จากการตรวจเมื่อปี 2536) นับว่าเหมาะสมต่อการปลูกส้มน้ำไหลมาจากแม่น้ำแม่กลองซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก และคุณภาพของน้ำดีเหมาะต่อการเพาะปลูก  เนื่องจากจังหวัดสมุทรสงครามไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมในเขต ต.บางพรหม มีพื้นที่ปลูกส้มโอประมาณ 150 ไร่  จากสมาชิกทั้งหมด 30 คน แต่ละสวนดูแลรักษาส้มเหมือนกันหมดคือ  ไม่มีการพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากมีการประชุมปรึกษาหารือกันเป็นประจำทุกเดือน ใครมีข้อมูลอะไรจะมีการแลกเปลี่ยนกัน ส่วนสารเคมีที่ใช้คือปุ๋ย ซึ่งยังจำเป็นต้องใส่ให้ส้ม เนื่องจากส้มเป็นพืชที่ต้องการอาหารไปเลี้ยงลำต้นและผลมากและเป็นพืชที่มีระบบรากไม่ค่อยแข็งแรง มีรากอยู่ตื้น ๆ คุณสมทรงได้เล่าว่ามีลูกค้านำกิ่งไปปลูกแล้วไม่มีการใส่ปุ๋ยใด ๆ ปรากฎว่าส้มไม่โตแคระแกร็นจนต้องเลิกกิจการไปส่วนสารเคมีที่เป็นสารกำจัดแมลงสารกำจัดไรและสารป้องกันกำจัดโรคไม่ได้ใช้เนื่องจากศัตรูพืชมีปริมาณน้อย

ต้นส้มโอเป็นพืชตระกูลส้มที่แข็งแรงกว่าส้มอื่น ๆ แม้จะถูกศัตรูพืชรบกวนก็ยังพอทนได้ ระดับความเสียหายมีไม่มาก  เนื่องจากชาวสวนจัดสภาพแวดล้อมใหม่  โดยมีการปลูกพืชแซมลงไปในที่ว่างของส้มโอ เช่น หมาก ทองหลาง ลิ้นจี่ ทำให้ศัตรูพืชมีปริมาณไม่รุนแรงมากเหมือนปลูกพืชเดียว  อีกทั้งยังมีศัตรูธรรมชาติอื่น ๆ คอยช่วยจัดการ ระบบนิเวศวิทยาจึงอยู่ในภาวะสมดุล ชาวสวนใกล้เคียงให้ความร่วมมือกันดี ถ้าหากมีสวนใดสวนหนึ่งพ่นสารเคมีก็จะทำให้ศัตรูพืชเช่น แมลง อพยพมายังสวนที่ไม่พ่นสารเคมี

ส้มโอเป็นไม้ผลตระกูลส้มที่น่าปลูกชนิดหนึ่ง ทำรายได้ให้เกษตรกรที่จังหวัดนี้  ซึ่งปลูกครอบครัวละ 3-5 ไร่  สามารถเลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี  โดยปีหนึ่ง ๆ ได้เงินเป็นแสนต้นหนึ่งเฉลี่ยให้ผลผลิต 70 ผลราคาผลละ 30 บาท ได้เงิน 2,100 บาท ต่อต้นไร่หนึ่งปลูกได้ประมาณ 20 ต้นส้มเป็นพืชที่ต้องใช้เวลาปลูกนานถึง 4 ปี จึงจะเริ่มไว้ผลแต่ยังไว้ได้ไม่มากจะไว้ผลได้เต็มที่ตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไปและสามารถเก็บผลผลิตได้นานมากกว่า 20 ปีขึ้นไป  ดังนั้นถ้าคิดจะปลูกส้มโอต้องใจเย็นปี 1-2 สามารถปลูกพืชแซมเพื่อทำให้มีรายได้เช่น กล้วยปีต่อไปอาจทำสวนพืชล้มลุกเพิ่มเติมในที่แปลงใหม่ เช่น ผักเพื่อให้มีรายได้มาเลี้ยงครอบครัว และเป็นทุนในการทำส้ม หรือสามารถหาเงินทางอื่นมาลงทุนและคอยเก็บผลผลิตเป็นก้อนในอนาคตในยามแก่ชรา  ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเทคนิคต่าง ๆ ที่ได้จากสวนแห่งนี้คงเป็นข้อมูลให้แก่เกษตรกร ผู้ซึ่งกำลังคิดที่จะทำสวนส้มโอ หรือผู้ที่กำลังทำอยู่แล้วจะได้เป็นข้อมูลประกอบในการบริหารงานในสวนส้มโอต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูล: เทวินทร์  กุลปิยะวัฒน์

กองกีฏและสัตววิทยา  กรมวิชาการเกษตร