หน่อไม้ฝรั่ง:โรคของหน่อไม้ฝรั่ง

นิยมรัฐ  ไตรศรี, ลักษณา  วรรณภีร์

กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร เกษตรกลาง บางเขน กรุงเทพฯ

หน่อไม้ฝรั่ง เป็นพืชผักที่มีศักยภาพในด้านตลาดต่างประเทศสูง มีทั้งการส่งออกเป็นหน่อไม้ฝรั่งสด การส่งออกในรูปกระป๋องหรือทำน้ำผัก โดยที่เป็นพืชค่อนข้างใหม่ การพัฒนาจึงมีปัญหาสำคัญหลายประการที่ต้องเร่งพิจารณาและเตรียมการ เช่น พื้นที่ดำเนินการ การปรับปรุงคุณภาพแนวทางงานวิจัยและพัฒนาการเขตกรรมที่เหมาะสมทั้งด้านการอารักขาพืชและวัตถุมีพิษควบคู่กันไป มาตรฐานผลิตผลที่ตลาดต้องการ ตลอดจนวิทยาการหลังเก็บเกี่ยวอื่น ๆที่จำเป็นแก่การเก็บรักษา การขนส่งโดยเฉพาะต่างประเทศ ลดการสูญเสียระหว่างการขนส่ง

เรื่องที่สำคัญยิ่งคือ การป้องกันกำจัดโรคจำเป็นป้องกันต้องให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ เพราะในปัจจุบันเกิดการแพร่ระบาดของโรคทุกพื้นที่ที่ปลูกหน่อไม้ฝรั่งในประเทศ เป็นอุปสรรคทำให้ผลผลิตของเกษตรกรได้รับความเสียหายเนื่องจากโรคเข้าทำลาย เกษตรกรควรสนใจและปฏิบัติดูแลรักษา หน่อไม้ฝรั่งอย่างถูกวิธีทุกระยะเพื่อให้ได้คุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดต่างประเทส เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิตและปลอดภัยต่อผู้บริโภค

โรคที่สำคัญของหน่อไม้ฝรั่งที่พบเสมอตามแหล่งปลูกต่าง ๆ เช่น ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี นครราชสีมา เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี กรุงเทพฯ และนนทบุรี  ในปัจจุบันมีดังต่อไปนี้

โรคลำต้นไหม้

สาเหตุเกิดจากเชื้อรา

ลักษณะอาการ ลำต้นเป็นแผลสีน้ำตาลรูปรียาว(คล้ายรูปไข่) เป็นแนวเดียวกับลำต้น เมื่อแผลกระจายกว้างขึ้นจะทำให้ลำต้นไหม้ แห้ง เป็นทางยาว เมื่อระบาดรุนแรงต้นจะหักตรงรอยแผลทำให้ต้นทรุดโทรม พบโรคนี้ทั้งที่โคนต้น กิ่ง ก้าน และใบเทียม ทำให้ใบร่วง ต้นแห้ง ตายในที่สุด ทำให้ผลผลิตลดลงกว่าครึ่งโรคนี้จะเกิดกับต้นกล้าในแปลงเพาะตั้งแต่อายุ ๒ เดือน

การแพร่ระบาด โรคนี้แพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วในฤดูฝน ความชื้นในอากาสสูง เชื้อราจะแพร่กระจายไปยังต้นหน่อไม้ฝรั่งบริเวณใกล้เคียงได้เมื่อถูกน้ำชะ หรือสปอร์เชื้อราอาจปลิวไปกับลมทำให้โรคระบาดรุนแรงกว้างขวางยิ่งขึ้น

การป้องกันกำจัด

๑.  ทำทางระบายน้ำอย่าให้ขังแฉะ

๒.  ถ้ามีระบาดทั้งในแปลงกล้าและแปลงปลูกให้ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชในกลุ่มของคาร์เบนดาซิม เช่น เดอโรซาล บาวิสติน โปรปิเน็บ เช่น แอนทราโคล แมนโคเซ็บ เช่น เอซินแมก หรือใช้พวกที่มีตัวยาผสมกัน ๒ ชนิด คือ แมนโคเซ็บ+คอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ เช่น คูโปรซาน ฉีดทุก ๕-๗ วัน ถ้ามีการระบาดมากโดยเฉพาะฤดูฝนจนกว่าโรคจะลดลงจึงลดการฉีดพ่นเป็นทุก ๑๐-๑๕ วัน ส่วนอัตราที่ใช้นั้นให้ใช้ตามฉลากระบุไว้ข้างภาชนะบรรจุ

๓.  ถ้าเป็นว่าโรคระบาดรุนแรงมากควรถอนต้นที่เป็นโรคทิ้ง แล้วเผาทำลายให้หมด ไม่ควรนำไปกองไว้ข้างแปลง เพราะจะทำให้หน่อที่งอกใหม่ถูกเชื้อโรคเข้าทำลาย

๔.  ก่อนย้ายไปปลูกในแปลงควรแช่ต้นพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งในข้อ ๒ โดยเพิ่มปริมาณของสารอีก ๑ เท่า นาน ๑๐ นาที ผึ่งให้แห้งก่อนนำไปปลูก

โรค เซอโคสปอร่าไบลท์

สาเหตุเกิดจากเชื้อรา

ลักษณะอาการ ในฤดูฝนอาจจะพบโรคนี้เกิดร่วมกันกับโรคลำต้นไหม้ โดยจะมีแผลสีม่วงอมน้ำตาลหรือสีม่วงแดงเป็นจุดค่อนข้างกลม ตรงกลางมีสีเทา ขอบแผลไม่สม่ำเสมอ ขนาดของแผลเป็นจุดไม่แน่นอนขนาดตั้งแต่ ๑-๕ ม.ม. และบางครั้งแผลจะขยายใหญ่ติดกันเป็นสีน้ำตาลแผลจะมีมากตามปลายกิ่งและยอดทำให้ใบเทียมแห้งร่วงหล่นกิ่งแห้งยืนต้นตายไป ใบที่เป็นโรคจะแห้งจากปลายใบก่อน โรคนี้เกิดได้ในระยะกล้า

การแพร่ระบาด หน่วยขยายพันธุ์ สปอร์ สามารถแพร่ระบาดไปกับลม หรือติดไปกับละอองน้ำที่ใช้รดจะระบาดมากขึ้นในสภาพที่มีความชื้นสูง

การป้องกันกำจัด

๑.  ควรถอนต้นที่เป็นโรคทิ้งแล้วเผาทำลายให้หมด ไม่ควรนำไปวางกองสุมไว้ข้างแปลง เพราะจะทำให้หน่อที่งอกใหม่ถูกเชื้อโรคเข้าทำลาย

๒.  ถ้ามีการระบาดให้ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชในกลุ่มของคอปเปอร์ ออกซี่คลอไรด์ เช่น คูปราวิท ฟอร์โต้ คาเบนดาซิม เช่น บาวีซาน การปฏิบัติเช่นเดียวกับการใช้สารป้องกันกำจัดโรคลำต้นไหม้

๓.  ก่อนปลูกควรแช่ต้นพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชดังกล่าวในข้อ ๒ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเพิ่มปริมาณสารอีก ๑ เท่า นานเวลา ๑๐ นาที แล้วผึ่งให้แห้งก่อนนำไปปลูก

โรคเน่าเปียก

สาเหตุเกิดจากเชื้อรา

ลักษณะอาการ เกิดกับหน่อไม้ฝรั่งที่เป็นต้นอ่อน เริ่มแตกกิ่งแขนงหรือยอดอ่อน เชื้อโรคจะเข้าทำลายตรงปลายยอดทำให้มีลักษณะฉ่ำน้ำสีเขียวเข้มและจะทำให้ยอดอ่อนเหลือง บนแผลมีเส้นใยราสีเทาอ่อนงอกขึ้นมาเป็นก้านตั้งตรงสั้น ๆ ที่ปลายโป่งออกเป็นหัวสีดำเล็ก ๆ มองเห็นชัดเจน อาการเน่าลุกลามรวดเร็วมากในขณะที่ฝนตกชุกต้นจะเน่ายุบไปภายใน ๒-๓ วัน

การแพร่ระบาด โรคจะระบาดรุนแรงถ้าอากาศมีความชื้นสูงและมีฝนตกชุก โดยมีลักษณะที่ฝนตกสลับกับแดดออก

การป้องกันกำจัด

ใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชฉีดพ่นทุก ๕-๗ วัน ถ้ามีการระบาดรุนแรงอันเนื่องมาจากสภาพอากาสที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ควรฉีดพ่นทุก ๓ วัน จนกว่าโรคจะเบาบางลง อัตราที่ใช้ตามฉลากระบุไว้ข้างภาชนะบรรจุในกลุ่มของไตรโฟรีน เช่น ซาพรอลไทอะเบนดาโซล เช่น พรอนโต้

โรคแอนแทรกโนส

สาเหตุเกิดจากเชื้อรา

ลักษณะอาการ ส่วนใหญ่เกิดแผลเห็นได้ชัดเจนบนลำต้นที่ไม่อ่อนและแก่จนเกินไป แผลมีสีน้ำตาลลักษณะเป็นวง สีเข้ม หรือดำซ้อน ๆ กัน ขอบแผลชั้นนอกจะช้ำสีเขียวเข้มและแผลจะยุบตัวลงตามความยาวของลำต้น เมื่อเป็นมากขึ้นแผลจะขยายออกไป ลำต้นจะยุบตัวลงทำให้ลีบแห้ง ซึ่งแผลที่เห็นเป็นวงซ้อน ๆ กันนี้สามารถจะมองเห็นลักษณะของเชื้อราเป็นตุ่มสีดำเล็ก ๆ อยู่เต็มไปหมด ทำให้ต้นแห้งตายในสภาพอากาศชื้นแผลจะมีเมือกสีส้มอ่อนเยิ้มออกมา ซึ่งเมือกเยิ้มนี้คือส่วนของเชื้อราที่ระบาดไปยังต้นอื่นโดยแพร่ระบาดไปกับน้ำหรือลม

การแพร่ระบาด โรคนี้แพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วในฤดูฝนหรือในช่วงที่มีความชื้นสูง สามารถแพร่ระบาดได้โดยลม สปอร์ของเชื้อราจะแพร่ไปยังต้นหน่อไม้ฝรั่งบริเวณใกล้เคียงได้เมื่อถูกน้ำชะหรือปลิวไปกับลมทำให้ระบาดรุนแรงกว้างขวางยิ่งขึ้น

การป้องกันกำจัด

๑.  เก็บเศษซากพืชและถอนส่วนที่เป็นโรคไปเผาทำลาย เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อและรักษาความสะอาดของแปลง

๒.  ถ้ามีการระบาดให้ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชในกลุ่มของเบ็นโนมิส เช่น เบนเลท คาร์เบ็นดาซิม เช่น บาวีซาน คอปเปอร์ ออกซี่คลอไรด์ เช่น คูปร๊อกซ์ แบนโคแซ็บ เช่น อะซินแมก อัตราที่ใช้ตามฉลากที่ระบุไว้ข้างภาชนะบรรจุ ๗ วัน/ครั้ง

๓.  ทำทางระบายน้ำอย่าให้ขังแฉะ

โรคหน่อเน่า

สาเหตุเกิดจากเชื้อบักเตรี

ลักษณะอาการ เริ่มอาการของโรคเป็นจุดช้ำน้ำ ซึ่งจะเน่าอย่างรวดเร็วทำให้เนื้อเยื่อเปื่อยและเป็นน้ำภายใน ๒-๓ วัน หน่อจะเน่ายุบหายไปหมดทั้งต้นหรือฟุบแห้งเป็นสีน้ำตาลอยู่ที่ผิวดิน อาการเน่าจะเกิดขึ้นที่ส่วนใดก่อนก็ได้ แต่โดยปกติจะเริ่มที่โคนหน่อ

การแพร่ระบาด โรคนี้จะเกิดเนื่องจากเชื้อบักเตรีเข้าไปทางบาดแผล ซึ่งเกิดจากหนอนแมลงกัดกิน หรือเกิดจากการเขตกรรมโดยการพรวนดิน ใส่ปุ๋ย ปราบวัชพืช จอบ เสียม ไปโดนทำให้เกิดบาดแผลเชื้อเข้าทำลายทีหลัง

การป้องกันกำจัด

๑.  ระมัดระวังไม่ให้หนอน แมลงกัดกินทำให้เกิดบาดแผล

๒.  ระมัดระวังในการใช้อุปกรณ์พรวนดิน ปราบวัชพืช

ในปัจจุบันหลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจกับหน่อไม้ฝรั่งส่งออก ซึ่งอาจทำได้ในรูปของส่งหน่อสดหรือแช่แข็ง แนวโน้มในด้านการส่งออกทั้ง ๒ แบบ มีมาก การที่คุณภาพของผลผลิตจะดีขึ้นตามมาตรฐานของตลาดมีอายุการเก็บรักษานานพอควร ต้องปฏิบัติต่อผลผลิตอย่างถูกวิธีทุกขั้นตอน

เพื่อให้บรรลุตาม่วัตถุประสงค์ตามที่ต้องการจึงขอกล่าวถึงโรคหลังการเก็บเกี่ยวของหน่อไม้ฝรั่ง ซึ่งมีความสำคัญในการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งมีดังนี้

โรคเน่าเละ

สาเหตุเกิดจากเชื้อบักเตรี

ลักษณะอาการ โรคเน่าเละเป็นโรคที่สำคัญรุนแรงมากกับหน่อไม้ฝรั่งหลังการเก็บเกี่ยว อาการมักจะปรากฎที่ยอดหรือปลายหน่อ แต่อาจจะพบได้ทุก ๆ ส่วนที่เกิดบาดแผลเริ่มแรก เนื้อเยื่อพืชจะนิ่ม ฉ่ำช้ำและลื่น จะมีกลิ่นเหม็น

การแพร่ระบาด บักเตรีที่เป็นสาเหตุของโรคเน่าและอาศัยอยู่ในดินและน้ำทั่ว ๆ ไปพร้อมจะเข้าทำลายเมื่อหน่อไม้ฝรั่งมีบาดแผล ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมทั้งอุณหภูมิและความชื้น

การป้องกันกำจัด

๑.  ระมัดระวังเกี่ยวกับการปฏิบิตในการเก็บเกี่ยวและหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดบาดแผล

๒.  คัดเลือกเฉพาะหน่อที่สมบูรณ์และไม่มีบาดแผลจำหน่าย

๓. ทำการลดอุณหภูมิอย่างรวดเร็วหลังการเก็บเกี่ยว ๔ องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่า แล้วหลังจากนั้นจะเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ ๐-๒๐ องศาเซลเซียส

โรครากและโคนเน่า

สาเหตุเกิดจากเชื้อรา

ลักษณะอาการ อาการเน่ามักจะปรากฎบนยอดหน่อบริเวณกาบหุ้มตาหรือปลายหน่อบริเวณรอยตัดหรืออาจจะเกิดบนส่วนอื่น ๆ ของหน่อก็ได้ อาการเริ่มแรกจะพบเส้นใยเชื้อราสีขาวเป็นปุ๋ย ซึ่งอาจจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูอ่อน เป็นผลทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นฉ่ำน้ำ ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อราฟูซาเรียม เพราะบางชนิดอาจจะเน่าแห้ง ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาลเชื้อราที่ปกคลุมยอดหน่อในที่สุดจะทำให้เนื้อเยื่อพืชนิ่มและฉ่ำน้ำอาจจะมีเชื้อบักเตรีร่วมทำลายด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดกลิ่นเหม็น ถ้าแผลเกิดบริเวณลำต้น(ของหน่อ) แผลจะค่อนข้างยาว

การแพร่ระบาด เชื้อราที่อยู่ในดินจะติดมากับหน่อในระหว่างเก็บเกี่ยวและสามารถทำให้เกิดอาการเน่ากับหน่อไม้ฝรั่ง

การป้องกันกำจัด

๑.  ทำการลดอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว หลังการเก็บเกี่ยวที่อุณหภูมิ ๔ องศาเซลเซียสและหลังจากนั้นจะเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ ๐-๔ องศาเซลเซียส

๒.  ในขณะเก็บเกี่ยวหน่อไม้ฝรั่ง จนกระทั่งถึงวางตลาดยอดหน่อควรจะแห้งอยู่เสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงความชื้นที่จะเป็นตัวการสำคัญในการเจริญเติบโตของเชื้อนี้