เบบี้แครอท(Baby Carrot)


ลักษณะทั่วไป
อายุพืชสั้น ใช้ปลูกในพื้นที่ขนาดเล็กได้ ให้ผลตอบแทนเร็วและรายได้ดี ถ้าเอาใจใส่ดูแลดี
ข้อมูลการผลิต
พันธุ์ Mini Express, Amsterdam
ฤดูปลูก ตลอดปี
ระดับความสูง    600-1300 เมตร
ความเป็นกรดด่างของดิน 5.5-6.5
ชนิดของดิน ร่วนปนทราย
ระยะปลูก(ต้นxแถว)    1×10 ซม. ก่อนการถอนแยก
3×10 ซม. หลังการถอนแยก
ควาลึก 1-1.5 ซม.
จำนวนต้น 300 ต้น/ตร.ม.
ความกว้างของแปลง 1 เมตร
ระยะห่างของแปลง 50 ซม.
ข้อมูลต้นทุนและผลตอบแทน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)


หมายเหตุ ข้อมูลต้นทุน ผลตอบแทนและราคา เป็นข้อมูลในอดีตที่มีการเปลี่ยนแปลง
ข้อสังเกตเกี่ยวกับต้นทุนผลตอบแทน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)
การผลิต
ให้ผลผลิตระดับสม่ำเสมอในการปลูกฤดูร้อน สำหรับผลผลิตฤดูฝนค่อนข้างแปรปรวน ซึ่งถ้าฝนชุกเกินไป หัวที่ลงใหม่จะแตกปริ เปิดโอกาสให้เชื้อราในดินเข้าทำลายต้นได้ โดยทั่วไประดับผลผลิตขึ้นอยู่กับการจัดการพืช ควรเอาใจใส่เป็นพิเศษต่อการเตรียมเมล็ดปลูก และการถอนแยกพืชตอบสนองดีกับปุ๋ยขี้ไก่
ผลผลิต
ฤดูร้อน 140-160 กก. (ถ้าผู้ปลูกดูแลดีพอประมาณ) เป็นเกรด A ระหว่าง 50-60% ฤดูฝน 60-80 กก./พื้นที่ปลูก 100 ตร.ม. ส่วนใหญ่จะเป็นเกรด B (40-50%)
ราขาขายของเกษตรกร
ประมาณ 21-25 บาท/กก. ในฤดูร้อนและฤดูหนาว 24-26 บาท/กก. ในฤดูฝน (ขึ้นอยู่กับคุณภาพซึ่งปริมาณฝนเป็นตัวกำหนด)
ต้นทุนปัจจัยการผลิต
ไม่ต้องใช้สารเคมีหรือใช้น้อยมากในการปลูกฤดูร้อน ต้นทุนส่วนใหญ่เป็นค่าเมล็ดพันธุ์ ดังนั้นต้องเอาใจใส่มากในการเตรียมเมล็ดปลูก เพื่อให้สูญเสียน้อยที่สุด
สำหรับเจ้าหน้าที่ส่งเสริม
เป็นพืชผักที่มีเมล็ดขนาดเล็ก ในการหยอดเมล็ดแต่ละครั้ง ควรหยอดให้ห่างพอสมควรเพื่อลดการสิ้นเปลืองเมล็ดและเสียเวลาในการถอนแยกภายหลัง การเตรียมแปลงควรยกแปลงให้สูง และคุณภาพของหัวขึ้นอยู่กับการเตรียมดินให้ลึกเพียงพอที่หัวจะเจริญเติบโต และขึ้นกับการถอนแยกเอาต้นอ่อนแอทิ้ง การเตรียมแปลงไม่ลึกพอ ขั้วหัวจะเป็นสีเขียว เนื่องจากได้รับแสงแดด การล้างผลผลิต ไม่ควรขัดหรือถูแรงเกินไป จะทำให้ผิวถลอก คุณภาพไม่ดี
ข้อแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการเพาะปลูก
ศัตรูพืชและโรค
ศัตรูพืช
ปลวก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เปิดใหม่ ควบคุมกำจัดโดยใช้ยา ลอร์สแบน (Lorsban) หรือ คูมิฟอส
เพลี้ยอ่อน ดูรายละเอียดจากพืช เทอร์นิพ ให้ใช้ยา แลนเนท หรือ อโซดริน
เสี้ยนดิน (Dorylus orientalis) ดูรายละเอียดจากพืชแรดิช ป้องกันโดยราดยา ลอร์สแบน เมื่อทำการปลูก
หนอนกระทู้ดำ (Black Cut Worm) เข้าทำลายระยะใกล้เจริญเติบโตเต็มที่พบได้ตลอดปี (รายละเอียดดูพืช เทอร์นพ และแรดิช)
โรค
โรคใบจุด  พบเกิดจากเชื้อรา Cercospora sp. และ Alternania sp. พบในฤดูฝนและอาจระบาดมากในช่วงดูแลรักษา ป้องกันแก้ไขโดยใช้โลนาโคล หรือ แอนทราโคล หรือไดเทนเอ็ม 45 ถ้าเป็นช่วงฝนตก ให้ผสมสารจับใบ
โรคหัวเน่า  พบในฤดูฝนใกล้ระยะเวลาเก็บเกี่ยว แต่ไม่เสียหายรุนแรงนัก ให้ถอนต้นที่เป็นโรคทิ้งและทำลาย
ปัจจัยที่ต้องการ(ต่อพื้นที่ปลูก 1 ตร.ม.)


การใช้แรงงาน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)


*ข้อมูลแรงงานและระยะเวลาได้จากข้อมูลสนาม
*การหยอดเมล็ด และการถอนแยก ต้องการความเอาใจใส่เป็นพิเศษ
ข้อควรปฏิบัติ
ช่วงการปลูก
กำจัดวัชพืชและขุดพลิกดินตากแดดไว้ 7 วันขึ้นแปลงกว้าง 1 เมตร คลุกปูนขาว ปุ๋ยหมักและปุ๋ย 15-15-15 ลงในดิน ปรับหน้าแปลงให้เรียบ ขีดร่องหยอดเมล็ดลึก 1 ซม. ห่างกัน 10 ซม. หยอดเมล็ดระยะห่างกัน 1 ซม. กลบเมล็ดแล้วรดน้ำ ใช้ลอร์สแบนผสมน้ำรดเหนือแปลงเพื่อป้องกันมด
ข้อควรระวัง
1. เตรียมแปลงให้ดินลึกและละเอียด เพื่อให้พืชลงหัวได้ดี
2. ถ้าหยอดเมล็ดถี่เกินไปต้องถอนแยกทิ้ง ทำให้สิ้นเปลืองเมล็ด
3. ให้น้ำหลังหยอดเมล็ดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เมล็ดงอกสม่ำเสมอ ส่วนเมื่อฝนตกหนักไป เมล็ดอาจถูกชะออกไป
4. ถ้ามีแมลงขนย้ายเมล็ดในแปลง จะทำให้การงอกไม่สม่ำเสมอ
5. เลือกใช้ปุ๋ยหมักแทนปุ๋ยคอก เพราะปุ๋ยคอกทำให้หัวมีรากมากไปเสียคุณภาพ
ช่วงดูแลรักษา
เมล็ดเริ่มงอกหลังหยอดได้ 5-10 วันหลังปลูก ถอนแยกเหลือระยะห่างระหว่างต้น 3 ซม. หลังถอนแยก ใส่ปุ๋ย 15-15-15 พร้อมกำจัดวัชพืช หลังการใส่ปุ๋ยครั้งแรก 15-20 วัน ใส่ปุ๋ยครั้งที่สองใช้สูตร 13-13-21 โรยในร่องที่ทำลึก 2-3 ซม. ระหว่างแถวปลูก เสร็จแล้วทำการกลบดินรดน้ำควรให้สม่ำเสมอทุกวัน จนกว่าเมล็ดงอก และลดลงเหลือ 2 วัน/ครั้ง หรือเมื่อดินขาดความชื้น
ข้อควรระวัง
1. ถ้าฝนตกหนักเกินไปช่วงเมล็ดงอก น้ำฝนจะชะแปลง ทำให้ดินกลบต้นอ่อนตาย
2. ต้องกลบโคนต้นให้ดี พ้นจากแสงแดด มิฉะนั้น หัวจะมีสีเขียวไม่ได้คุณภาพ
3. ถอนแยกให้ได้ระยะเหมาะสม หัวจึงโตได้ขนาดสม่ำเสมอกัน
4. หลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ย ยูเรีย ในฤดูฝน เพราะพืชจะสร้างใบมากกว่า ทำให้หัวไม่เจริญเติบโต
ช่วงเก็บเกี่ยว
ทยอยเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุพืช 60-90 วัน ใช้วิธีขุดต้นที่ได้ขนาดหัวตามตลาดต้องการ คือส่วนขั้วหัวมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ซม. และหัวยาวไม่เกิน 8 ซม. ในฤดูฝน ถ้ามีดินติดหัว ล้างเฉพาะส่วนหัว ระวังอย่าให้ใบเปียก ผึ่งในที่ร่มให้แห้ง ตัดใบเหลือความยาว 10 ซม. แล้วบรรจุลงเข่งลำไย สำหรับในฤดูร้อน ไม่จำเป็นต้องตัดใบทิ้ง ทำการคัดขนาดและคุณภาพตามเกรด (หัวได้รูปร่างตรง ความยาว ผิวสวย)
ข้อควรระวัง
1. ถ้าใช้วิธีถอน อาจทำให้ขั้วขาดจากหัว ควรใช้วิธีขุดและระวังอย่าให้หัวเบบี้แครอท มีแผลถลอก
2. ผึ่งให้แห้งก่อนบรรจุ ถ้าเปียกจะเกิดเน่าเสียระหว่างขนส่งไปตลาด ไม่ควรให้ถูกแสงแดดจัด ผลิตผลจะเหี่ยวเสียคุณภาพ
3. ทำการคัดเกรดก่อนบรรจุขนส่งให้เรียบร้อย
ที่มา: ภาควิชาส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่