แค็คตัส

ในการปลูกไม้ดอกไม้ประดับนั้น ถ้าหากขาดพวกแค็คตัสไปแล้ว ก็ดูจะไม่สมบูรณ์ไป ดังนั้นจึงควรได้นำเรื่องพันธุ์ไม้ในวงศ์แค็คตัสมากล่าวไว้บ้างพอสังเขป ทั้งนี้ก็เนื่องจากพันธุ์ไม้ในวงศ์แค็คตัสหรือ Family Cactaceae นี้

เป็นพันธุ์ไม้วงศ์ใหญ่วงศ์หนึ่งซึ่งรวมกันเข้าด้วยกันถึง 140 สกุล (genera) และประมาณ 2000 ชนิด (species) จึงไม่อาจจะกล่าวให้ได้มากพอ ในที่นี้ ก่อนอื่นเมื่อกล่าวถึงแค็คตัสแล้วมักจะได้กล่าวถึงพวก (Succulents) รวมไปด้วย จึงขออธิบายคำว่าแค็คตัสและพืชอวบน้ำให้เข้าใจ ขั้นแรกเสียก่อนว่า คำว่า Succulent plants หรือพันธุ์ไม้พวก Succulents นั้น หมายถึงพันธุ์ไม้ที่อวบน้ำ โดยที่มีใบหนา ลำต้นอวบไปด้วยน้ำแทบจะไม่มีเนื้อไม้เลย ส่วนต่าง ๆ ของลำต้น ใบ ประกอบไปด้วยน้ำเป็นส่วนมาก เพราะไม้พวกนี้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในระยะเวลาที่ขาดแคลนน้ำจากภายนอกไว้ได้ดี ดังนั้นพันธุ์ไม้พวก Succulents ส่วนใหญ่จึงมักมีกำเนิดและถิ่นฐานขึ้นอยู่ในที่แห้งแล้งในระยะเวลานานของปีเมื่อถึงฤดูฝนมีน้ำพันธุ์ไม้พวกนี้ก็จะดูดน้ำและกักเก็บไว้ในลำต้น เพื่อใช้ในระยะเวลาหรือในฤดูที่แห้งแล้งไม่มีน้ำภายนอก และลักษณะของพันธุ์ไม้พวก Succulents นี้ ก็มักมีผิวหนา เพื่อป้องกันการระเหยน้ำออกจากต้น อีกด้วย ดังนั้นพวกพันธุ์ไม้ที่เรียกว่า Succulents นี้ จึงอาจเป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์ใด ๆ ก็ได้ที่ลักษณะลำต้นใบอวบน้ำ กักเก็บน้ำไว้ได้โดยที่ไม่ระเหยน้ำออกจากลำต้นไปได้ง่าย ๆ แม้จะขึ้นอยู่กลางทะเลทรายที่ร้อนระอุและภายนอกไม่มีน้ำเลยก็ตาม ดังนั้นพวกพันธุ์ไม้ในวงศ์แค็คตัสหรือพันธุ์ไม้ใน Family Cactaceae ก็เป็นพันธุ์ไม้ที่เรียกว่า Succulent plants เหมือนกัน และยังมีพันธุ์ไม้อื่นๆในวงศ์อื่น ๆ อีกมากที่รวมอยู่ในพวก Succulent plants แต่ไม่ใช่เป็นพวกแค็คตัส เพราะบางชนิดบางสกุลมีลักษณะเหมือนพวกแค็คตัสมาก เช่น พวกโป๊ยเซียน (Eu­phorbia mihi) พญาไร้ใบ (E. pulcherrima), สลัดไต (E. grandicorris) ซึ่งอยู่ในสกุล Euphorbia หรือ Family Euphorbiaceae

พวกว่านศรนารายณ์ (Yucca alorifolia พวก Aloe และพวก Sansevieria ก็เป็นพวก Succulent plants เหมือนกันแต่อยู่ใน Family Liliaceae พวก Agave ต่าง ๆ ก็เป็น Succulent plants ที่อยู่ใน Family Amaryllidaceae พวกโคมญี่ปุ่น (Kalanchoe daigremountianum) พวกต้นตีนตุ๊กแก (Kalanchoe verticilata) และพวกรวงข้าว (Sedum morganianum) ก็เป็นพวก Succulent ทั้งนั้น แต่อยู่ใน Family Crassulaceae บางชนิดมีลักษณะคล้ายหรือใกล้เคียงกับพวกแค็คตัสมากที่สุด เช่น stapelia nobilis แต่ก็อยู่ใน Family Asclepiadaceae หรือ Milk-weed Family แต่ ก็เป็นพวก Succulents ด้วย

คนไทยบางคนเข้าใจว่าพวกแค็คตัสหรือพวกกระบองเพชรและสลัดไตเป็นอีกพวกหนึ่ง โดยแบ่งพันธุ์ไม้สองพวกนี้ออก โดยถือว่าถ้าเป็นสลัดไตต้องมียางสีขาวเหมือนน้ำนม ถ้าเป็นกระบองเพชรแล้วไม่มียางเหมือนสลัดไต ทั้ง สองพวกมีหนามเหมือนกัน

แค็คตัสหรือพันธุ์ไม้ในวงศ์ Cactaceae นั้น เป็นพันธุ์ไม้พวก Succulents ที่ทนทานต่อดินฟ้าอากาศที่แห้งแล้ง แม้แต่ดินเลว ๆ แห้งแล้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่ว ๆ ไป เช่น อาฟริกา อเมริกาตอนใต้ เม็กซิโก ชิลี เปรู อาเยนตินา และย่านเอเซียทั่วไป มีลักษณะรูปร่างแตกต่างกันมากมายหลายชนิด ลักษณะลำต้นกลม แบน เหลี่ยม ส่วนมากไม่ค่อยมีใบเหมือนใบไม้ธรรมดา แต่มีหนามหรือปุ่มที่แปรสภาพมาจากใบ เพื่อลดพื้นที่ในการระเหยน้ำออกจากต้นให้น้อย ลง หนามมีลักษณะยาวตรงแหลมยาวโค้ง หรือเป็นฝอยเล็ก ๆ จนกลายเป็นขน หรือเส้นไหมเล็ก ๆ ถ้าจะมีใบแล้วส่วนมากใบจะมีลักษณะแบนและหนาอวบน้ำ เป็นพันธุ์ไม้ที่มีมีอายุยืน (Perennial) บางชนิดมีดอกที่ใหญ่สวยงาม มีกลิ่นหอม บางชนิดมีดอกบานตอนกลางวัน แต่บางชนิดมีดอกบานตอนกลางคืนเท่านั้น ดอกส่วนมากมีหนามหรือมีขนหรือมีปุ่มเป็นต่อมที่กลีบดอกหรือก้านดอกด้วย ดอกส่วนมากเป็นดอกสมบูรณ์เพศ (bisexual) มีทั้งดอกเดี่ยวและ ออกดอกเป็นพวงรังไข่อยู่ใต้ดอก (inferior ovary) มีรังไข่เดียว (one-celled) ผลมักมีหนาม และมีเนื้อที่ส่วนมากรับประทานได้ ส่วนมากผลสีแดงม่วงและชมพู

ลักษณะและขนาดของลำต้นแค็คตัสแตกต่างกันแล้วแต่สกุลและชนิดและพันธุ์บางชนิดต้นเล็ก บางชนิดต้นสูงมากกว่า 20 ฟุต ต้นที่สูง ๆ และมีอายุมาก ภายในลำต้นจะมีโครงสร้างคล้ายไม้เนื้อแข็งอื่น ๆ เหมือนกัน บางชนิดมีลักษณะทรงต้นและสีสันต่าง ๆ กัน จึงทำให้นำมาปลูกเป็นไม้กระถาง และปลูกเป็นไม้ประดับลงดินกลางแจ้งได้ดี การปลูกพันธุ์ไม้พวกแค็คตัสนั้น ไม่ต้องการความเอาใจใส่มากนัก โดยเฉพาะการให้น้ำและดินปลูกปุ๋ย ซึ่งต่างกับพันธุ์ไม้ดอกประดับอื่น ๆ ที่ต้องเอาใจใส่มากในเรื่องการคอยให้น้ำเป็นประจำ การให้ปุ๋ยและดินปลูก ไม้กระถางจึงมีบางคนกล่าวว่าคนที่เล่นพันธุ์ ไม้พวกแค็คตัสนั้นเป็นคนขี้เกียจ หรือแค็คตัสเป็นพันธุ์ไม้ของคนขี้เกียจ

พันธุ์แค็คตัส

แค็คตัสมีมากมายหลายสกุล หลายชนิด และหลายพันธุ์ ถ้าหากเล่นไปแล้วก็เพลิดเพลินมากขึ้น จะต้องหามาเลี้ยงให้มีแปลก ๆ ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ทำให้หลงใหลได้ง่าย ๆ เช่นเดียวกับกล้วยไม้ กุหลาบ และพันธุ์ไม้วงศ์ใหญ่ ๆ ที่มี พันธุ์มากมายหลายชนิด ในเมืองไทยนั้นมีผู้นิยมเล่นแค็คตัสกันอยู่มากพอสมควร ส่วนมากได้สั่งพันธุ์เข้ามาจากต่างประเทศ และนำมาปลูก ขยายพันธุ์แลกเปลี่ยนกันไปรายหนึ่ง ๆ จะมีแค็คตัสอย่างน้อย ๆ ก็ 100 กว่าชนิดขึ้นไป พันธุ์ที่เกิดจากสกุลใหญ่ ๆ ของพวกแค็คตัสก็มีสกุล Cephaloce reus, Pachy cereus, Peptoce- reus, Lemaireo cereus, Nyceuto cereus, Acanthocereus, Borzicactus, Epithelamiha Chamacereus, Astrophytum, Obregonia, Opuntia

เฉพาะสกุล Opuntia สกุลเดียวก็มีถึงอย่างน้อย 300 ชนิด (Species) แล้ว ดังนั้นถ้าจะให้กล่าวถึงพันธุ์ (vavieties) ของมันอีกแล้วก็คงจะลำบาก ในที่นี้จึงจะขอกล่าวแค่เฉพาะบางสกุล พอให้เข้าใจและเป็นแนวทางเบื้องต้นเท่านั้น

ลักษณะพันธุ์ของแค็คตัสอาจแบ่งได้ง่าย ๆ ตามสกุลของมันอาจแบ่งออกตามลักษณะลำต้น ตามสกุลต่อไปนี้คือ

1. พวกที่มีลำต้นและใบแบนแบบใบเสมา (Flat-stem) มีสกุล Opuntia, Zygocactus, Epiplyllum, Homalocephala

2. พวกที่มีลำต้นเป็นหัวกลม ๆ แบบไห (Globular-stem) มีสกุล Thelocactus, Mam- millaria, Acanthocalycium Ferocactus, As­trophytum

3. พวกที่มีกิ่งก้านคล้ายต้นไม้ทั่ว ๆ ไป (Branching-stern) มีสกุลต่าง ๆ คือ Napalea, Nopalxochia, Myrtillocactus Cereus, Pachy- cereus

4. พวกที่มีต้นเป็นกระจุกหรือต้นเล็ก ๆ เหมาะสำหรับปลูกในกระถาง (Small cacti) มีสกุล Coryphantha, Neobesseya, Chamae- cereus, Echinopsis, Ariocarpus, Hamatocac- tus

5. พวกที่เป็นเถาเลื้อยไต่ตามต้นไม้ กำแพง (Climbingcacti) มีสกุล Echinocactus, Lo- phoereus, Cephalocereus, Harrisia, Erio- cerius, Cornegiea, Trichocereus, Orescerreus, Espostoa, Lemaireocereus

การปลูกและการขยายพันธุ์

แค็คตัสไม่ต้องการดินดีที่มีอาหารพืชสมบูรณ์มากนักเหมือนพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับอื่น ๆ ต้องการดินที่มีการระบายน้ำดีจริง ๆ การปลูกแค็คตัสในกระถางนั้นได้มีผู้ใช้ดินปลูกโดยมีส่วนผสมต่าง ๆ ของดินหลายอย่างต่าง ๆ กัน เช่น ใช้ดินร่วนทราย ใบไม้ผุ ถ่านไม้ เศษอิฐ เผาหัก หรือบางคนใช้ส่วนผสมของดินร่วน ทราย กรวดเล็ก ๆ ในไม้ผุในอัตราส่วนต่าง ๆ กัน บางคนก็เติมปูนขาวลงไปด้วย อัตราส่วนผสมของดินที่ใช้ปลูกแค็คตัสทั่ว ๆ ไปนั้น อาจใช้ดินร่วนทราย 4 ส่วน ผสมด้วยทรายหยาบ 2 ส่วน ใบไม้ผุ 1 ส่วน และถ่านหุงข้าวที่ร้อนเป็นก้อนเล็ก ๆ อีก 2 ส่วน อาจเติมอิฐหักอีก 1 ส่วน รวมเป็น 10 ส่วน เข้าด้วยกันก็ได้

วิธีปลูก

เลือกกระถางให้ได้ขนาดพอเหมาะกับต้นแค็คตัสที่จะนำมาปลูก วางเศษกระถางแตกปิดรูก้นกระถาง อย่าปิดให้สนิทนักเพราะต้องการให้ระบายน้ำดีด้วย ใส่เศษอิฐเผาหักหรือกรวดขนาดให้พอเหมาะกับกระถางลงไป 3/4 ของความลึกของกระถาง แล้วจึงใส่ดินปลูกที่ผสมไว้ดีแล้วลงไป นำต้นแค็คตัสวางลงในดินปลูก และค่อยกลบดินปลูกโคนต้นแค็คตัส เหลือขอบกระถางไว้ให้สูง 1/4 ของปากขอบกระถาง แล้วใช้อิฐหักขนาดเล็ก ๆ โรยปิดหน้าดินปลูกให้ต่ำกว่าขอบปากกระถางเล็กน้อย

ข้อควรระวังในการปลูกแค็คตัสก็คือวางต้นแค็คตัสให้ได้ลักษณะงาม โดยเฉพาะแค็คตัสที่เป็นลำต้นขึ้นตรงเพียงลำเดียว ควรให้ต้นตรง และอยู่กลางกระถางจริง ๆ อย่าให้เบี้ยวหรือเอียง จะทำให้เสียทรงเวลาโตขึ้น เช่น พวกที่มี หัวกลมก็เหมือนกัน ถ้าปลูกครั้งแรกไม่ตรงพอแล้ว จะทำให้หัวกลมไม่ได้ส่วนสัด จึงต้องพิจารณาและทำให้ดีเสียในตอนแรกปลูกนี้

การให้น้ำแค็คตัสนั้นข้อสำคัญให้พิจารณา ที่เครื่องปลูกต้องให้เครื่องปลูกแห้งและต้องการน้ำจริง ๆ จึงให้น้ำ ไม่ควรให้น้ำทุก ๆ วันเหมือนพันธุ์ไม้อื่นๆ ตามธรรมดาทั่ว ๆ ไปแล้ว 4-5 วัน จึงให้น้ำครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะต้นที่ปลูกใหม่ ๆ หรือเปลี่ยนกระถางใหม่ ๆ นั้นไม่ควรรดน้ำในตอนแรก ควรทิ้งไว้ให้เครื่องปลูกแห้งดีแล้วจึงรดน้ำ แค็คตัสบางชนิดที่ชอบแสงแดดจัดเมื่อปลูกใหม่ ๆ รดน้ำแล้วให้ตั้งให้ถูกแดดทันที การรดน้ำน้อยแก่แค็คตัสนั้นไม่เป็นอันตราย เลย แต่การให้น้ำมากเกินไปแก่แค็คตัสนั้นมีอันตรายมาก โดยเฉพาะเมืองไทยมีฝนตกมาก ดังนั้นในฤดูฝนจึงควรเก็บแค็คตัสเข้าร่ม อย่าให้ถูกฝนมากจะทำให้เน่าตายได้ หรือหลังคาเรือนที่ปลูกควรมีแผ่นพลาสติคคลุมกันฝนไว้ด้วย เมื่อหมดฤดูฝนก็เอาออกได้ง่าย ๆ

ส่วนการขยายพันธุ์พวกแค็คตัสนั้น ส่วนใหญ่ใช้วิธีปักชำส่วนต่าง ๆ ของแค็คตัส ใบ กิ่ง ต้น หรือบางชนิดแม้แต่ดอกก็นำมาปักชำขยายพันธุ์ได้ด้วย หรือใช้หน่อที่แตกใหม่โดยปลิด หรือตัดแยกออกมา จะแตกรากได้รวดเร็วใน กระบะทรายหรือทรายปนดินร่วนก็ได้ ในการตัดส่วนต่าง ๆ ของแค็คตัสมาชำนั้น บางครั้งอาจทิ้งไว้สักพักหนึ่งให้รอยแผลที่ตัดออกแห้งบ้างเล็กน้อยจึงนำไปปักชำ แต่บางชนิดอาจใช้ใบทั้งใบหรือใช้ส่วนต่าง ๆ ของแค็คตัสวางลง บนกระบะทรายเท่านั้น ไม่ตองปักลงไปให้ลึกในเนื้อวัสดุปักชำ จะงอกได้ดีกว่าปักลึกลงไป ครั้งแรกรดน้ำในกระบะชำเพียงเล็กน้อย ดูการระบายน้ำให้ดี มิฉะนั้นส่วนที่นำมาปักชำจะเน่าตายหมด แต่บางชนิดที่มีเนื้อไม้แข็งแรงภายใน นำมาปักชำลงในเนื้อวัสดุปักชำ (media) ก็จะงอกรากได้ดีกว่าวางลงบนกระบะปักชำเฉย ๆ และจากการขยายพันธุ์โดยการปักชำส่วนต่าง ๆ ของแคคตัสแล้ว แค็คตัสยังมีผลมีเมล็ดที่นำไปขยายพันธุ์เพาะให้ขึ้นเป็นต้นใหม่ได้ ด้วยง่าย ๆ การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดนั้นก็ต้องคอยให้แค็ฅตัสมีดอกและเป็นผลแก่สุกเสียก่อน จึงนำเมล็ดมาเพาะได้ โดยหว่านเมล็ดลงในกระถาง หรือกระบะที่ใช้ดินร่วนผสมกับทราย หรือมีพวกใบไม้ผุผสมด้วยเล็กน้อย แล้วกลบเมล็ดบาง ๆ ด้วยดินร่วนทรายใช้กระจกแก้วใสปิดปากกระถางเพาะหรือปิดกระบะเพาะ เพื่อให้มีความชื้นสูงและมีอุณหภูมิสูงในไม่ช้าก็จะงอกเป็น ต้น เมื่อยังเป็นต้นเล็ก ๆ อยู่เพิ่งงอกจากเมล็ดนั้น ต้องเก็บไว้ในที่ร่มไม่ให้ถูกแสงแดดโดยตรง และระวังในเรื่องการรดน้ำให้มาก จนต้นอ่อนโตพอ จึงแยกออกชำในกระบะชำให้ห่างกันต้นละ 1 นิ้ว เมื่อต้นโตแข็งแรงพอแล้ว จึงแยกออกปลูกในกระถางขนาด 1-2 นิ้ว

การต่อกิ่งแค็คตัส

ในการปลูกพันธุ์ไม้พวกแค็คตัสนั้น มีการขยายพันธุ์โดยวิธีต่อกิ่ง (grafting) แบบพันธุ์อื่น ๆ ได้เหมือนกัน เพราะแค็คตัสบางพันธุ์ บางชนิดก็ต้องการขึ้นอยู่บนต้นตอ (stock) ของพันธุ์อื่น ๆ เหมือนกัน ทั้งนี้เพราะแค็คตัสบางพันธุ์ไม้สามารถแตกราก หรือมีความทนทานได้ดีกับดินและสภาพแวดล้อมที่มันขึ้นอยู่ เช่น ในดินที่มีโรครา มีไส้เดือนฝอย (nematode) และมีสภาพอื่น ๆ ในดินที่ทำให้แค็คตัสพันธุ์อื่น ๆ ที่เจริญเติบโตได้ดี มีรากมาก หากินเก่ง ดูดน้ำดูดอาหารได้ดีกว่า เป็นต้นตอเลี้ยงแค็คตัส พันธุ์ที่ไม่สามารถสู้สิ่งแวดล้อมนั้น ๆ ได้ เช่น เดียวกับพันธุ์ไม้อื่น ๆ ทั่วไปที่ต้องการมีการขยายพันธุ์โดยการติดตา ต่อกิ่ง แค็คตัสบางชนิดจะมีลำต้นตอนอยู่ติดกับพื้นดินกว่าอยู่เสมอ ๆ ก็จำเป็นต้องใช้ต่อกิ่งกับต้นตอที่ขึ้นได้ดี การแก้ปัญหาเท่าที่โคนต้นของพันธุ์นั้นได้ นอกจากนี้ในการปลูกแค็คตัสเป็นไม้ประดับนั้น การต่อกิ่งยังช่วยทำให้เกิดความสวยงามน่าดูและแปลกตาอีกด้วย โดยเฉพาะแค็คตัสที่มีลักษณะต้นยาว ห้อยลงดิน เช่นพวก Aporocactus (Cereus) Flagelliformis, Zygocactus (Epiphyllum) truncatum เหล่านี้ ถ้าได้น้ำต่อเข้ากับแค็คตัสที่มีทรงสูง เช่น Pereskia aculeath ซึ่งใช้เป็นต้นตอ (stock) จะทำให้แลดูงดงามมากขึ้น ต้นตอที่ใช้นั้นอาจขยายพันธุ์มาได้จากการปักชำ การเพาะเมล็ดก็ได้ ข้อสำคัญคือให้ได้ขนาดโตพอจะใช้เป็นต้นตอได้ดี มีรากเจริญได้ดีแล้วจริงๆหรือใช้พวก Opuntia เป็นต้นตอก็ได้ การต่อกิ่งหรือต่อต้นแค็คตัสนั้น ก็แล้วแต่ชนิดของแคคตัสที่จะต่อเข้าด้วยกัน ถ้าต้นตอมีลักษณะกลมและต้นที่ตัดมาต่อนั้น (Scion) กลมด้วย หรือมีขนาดเท่ากันด้วยก็ง่ายเข้า โดยใช้มีดคม ๆ ตัดตามขวางต้นตอ และตัดโคนต้น หรือโคนกิ่งของต้นที่จะนำมาต่อเช่นเดียวกับรอยตัดของต้นตอ แล้วก็วางลงบนต้นตอให้แผลรอยตัดทับกันสนิทก็ใช้ได้ เพื่อให้แผลติดกันสนิท ไม่เคลื่อนที่แล้ว อาจใช้ไม้กลัดหรือหนามของแค็คตัสกลัดหรือแทงให้แคคตัสทั้ง 2 ส่วนติดกันแน่น หรือจะใช้เชือกมัดให้ติดกันก็ได้ ถ้าหากใช้เชือกมัด ต้องป้องกันรอยเชือกที่อาจจะทำให้ต้นแค็คตัสชอกช้ำเป็นรอยเสียความงดงามไปด้วย โดยใช้สำลีรองตรงรอยที่จะถูกเชือกมัด การใช้เชือกมัดอาจมัดโยงลงมายึดกับขอบกระถางด้วยก็ได้ ถ้าหากต่อกิ่งแคคตัสต้นเล็ก ๆ แล้วอาจใช้ครอบแก้วครอบเสียก็ได้ โดยไม่ต้องใช้เชือกมัด การเอาครอบแก้วครอบจะกันลมพัดโยก หรืออะไรไปถูกให้แผลรอยต่อกันเคลื่อนได้ และยังทำให้กิ่งที่นำมาต่อ (Scion) มีความชื้นไม่เหี่ยวแห้งไปเสียก่อนที่จะติดกับต้นตอได้ด้วย

ถ้าหากต้นตอเป็นรูปแบนเช่นใบเสมา หรือต้นตอเป็นรูป 3-6 เหลี่ยมแล้ว อาจใช้มีดผ่าตรงมุมของต้น หรือมีดแทงลงตรงขอบของส่วนแบน แล้วตัดต้นที่จะนำมาต่อ (Scion) โดยตัดโคนกิ่งเป็นรูปลีบแทงลงไปในรอยแผลของต้นตอที่ทำไว้ก่อนก็ได้ หรืออาจใช้วิธีต่อโดยตัดแผลรูปปากฉลามด้วยกันทั้งสองขางก็ได้ การต่อกิ่งแค็คตัสง่ายกว่าการต่อกิ่งพันธุ์ไม้อื่น ๆ มาก ทดลองทำดู 2-3 ครั้ง ก็ทำได้สำเร็จง่ายๆในโอกาสต่อไป

การดูแลรักษาต้นแค็คตัสที่ต่อกิ่งไว้แล้ว ก็คือนำเก็บไว้ไนที่ร่มก่อน ระวังอย่ารดน้ำให้โคนรอยแผลที่ต่อไว้นั้น และอย่าให้ต้นที่ต่อไว้นั้นได้รับความกระทบกระเทือนอันเป็นเหตุที่จะทำให้รอยต่อนั้นเคลื่อนที่ได้ ทำให้รอยแผลประสานกันไม่สนิท หรือต่อกันไม่ติดเลยก็ได้ ถ้าต่อโดยปราณีตและดีแล้ว เมื่อครบหนึ่งอาทิตย์ แผลที่ต่อกันก็จะติดกันแน่นและเชื่อมต่อกันได้สนิท เมื่อปรากฎว่าต่อกันได้สนิทดีแล้ว จึงนำไปตั้งไว้กลางแจ้ง จนส่วนที่นำมาติดนั้น ดูดน้ำดูดอาหารจากต้นตอได้แล้ว จึงนำไปตั้งไว้กลางแจ้งที่เดิมและปฏิบัติรักษาเช่นเคย เชือกหรือไม้กลัดที่ผูกหรือมัดไว้ให้ทั้งสองต้นต่อกันได้ ก็แกะหรือแก้เอาออกเสียในภายหลัง เมื่อติดหรือต่อกันได้ดีแล้ว หลังจากนั้นถ้าหากที่ต้นตอมีหน่อหรือแขนง หรือกิ่งแตกออกมาก็ควรตัดทิ้งเสีย เพื่อให้กิ่งที่นำมาต่อนั้นสมบูรณ์เจริญเติบโตได้เต็มที่ต่อไป

ส่วนการดูแลรักษาอื่น ๆ ก็คงไม่มีอะไรแตกต่างกับพันธุ์ไม้อื่น ๆ มากนัก ในการป้องกันแมลงรบกวนนั้นนาน ๆ อาจฉีดยาฆ่าแมลงพวกเพลี้ยหรือพวกแมลงอื่น ๆ บ้างถ้าหากว่าสังเกตเห็นดินหรือเครื่องปลูกชื้นมากสงสัยจะมีราขึ้น ก็ฉีดยาพวกกันเชื้อราให้บ้าง เช่น มีตะไคร่น้ำขึ้นที่กระถาง ก็ทำความสะอาดกระถางเอาตะไคร่น้ำออกเสีย หรือปรากฎว่าอิฐป่นที่โรยอยู่หน้าเครื่องปลูกในกระถางมีตะไคร่น้ำเต็ม ทำให้จับกันเป็นแผ่นแข็งแน่น เวลารดน้ำซึมลงไปได้ยาก ก็ควรรื้ออิฐป่นเหล่านั้นออกแล้วเปลี่ยนอิฐป่นใหม่เสียก็ได้