แตงกวาญี่ปุ่น(Japanese Cucumber)


ลักษณะทั่วไป
เป็นพืชอายุสั้น ต้องการแรงงานดูแบเอาใจใส่สูง เกษตรกรมือใหม่อาจทำการเพาะปลูกโดยมีการสูญเสียสูง ไม่เหมาะที่จะส่งเสริมให้ปลูกในฤดูร้อน ต้องคอยดูแลให้คำแนะนำแก่เกษตรกรอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เพาะปลูกได้ถูกวิธี
ข้อมูลการผลิต
พันธุ์ Spring Swallow
ฤดูปลูก ตลอดปี
ความสูง 600-800 เมตร
ความเป็นกรดด่างของดิน 5.5-6.5
ชนิดของดิน ร่วนปนทราย
ระยะปลูก (ต้นxแถว)    45×75 ซม.
จำนวนต้น (ต่อ 100 ตร.ม.)        3 ต้น/ตร.ม.
ความกว้างของแปลง 1 เมตร
ระยะห่างของแปลง 50 ซม.
ระยะเวลาที่เจริญเติบโตเต็มที่ 50-60 วัน
ข้อมูลต้นทุนและผลตอบแทน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)


หมายเหตุ ข้อมูลต้นทุน ผลตอบแทนและราคา เป็นข้อมูลในอดีตที่มีการเปลี่ยนแปลง
ข้อสังเกตเกี่ยวกับต้นทุนและผลตอบแทน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)
การผลิต
เหมาะกับฤดูหนาว ไม่ส่งเสริมให้ปลูกฤดูร้อน เว้นแต่เกษตรกรที่มีความชำนาญ เนื่องจากมีปัญหาโรคและศัตรูพืชมาก (ต้นเหลือง ใบจุดและไวรัส) การรดน้ำไม่สม่ำเสมอ จะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต การปลูกฤดูฝนประสบปัญหาเรื่องโรคราน้ำค้างและราแป้ง เพราะอากาศชื้น พืชต้องการความดูแลเอาใจใส่สูงเพื่อให้ได้ผลดี ผลผลิตของเกษตรกรมือใหม่กับเกษตรกรผู้มีประสบการณ์ต่างกันมากถึง 35-50% เป็นพืชอยู่ในลำดับท้ายที่จะส่งเสริมให้ปลูกฤดูร้อนและฤดูฝน เพราะให้ผลตอบแทนต่ำ เว้นแต่ราคาจะสูงขึ้นมากจนคุ้ม
ผลผลิต
ฤดูหนาว 200-300 กก./100 ตร.ม. (เป็นเกรด A ราว 50%) เกษตรกรที่มีความชำนาญ ดูแลดี และมีน้ำเพียงพอในฤดูร้อน อาจได้ผลถึง 150-250 กก. ในการผลิตฤดูร้อน ส่วนผลผลิตฤดูฝนจะสูงกว่านี้เล็กน้อยราว 110-130 กก.
ราคาขายของเกษตรกร
ราคาต่ำในฤดูหนาว (5-7 บาท) ผลผลิตฤดูร้อนได้เป็นเกรด A น้อยกว่า ทำให้ราคาเฉลี่ยลดลงไป 3-5 บาท ราคาในฤดูฝนค่อนข้างสูง 6-8 บาท/กก. ราคาที่กำหนดมักขึ้นกับอัตราการสูยเสียเมื่อขนส่งไปตลาดกรุงเทพฯ
ต้นทุนปัจจัยการผลิต
ค่ายากำจัดศัตรูพืชจะสูงกว่าในการปลูกฤดูร้อน และค่ายากำจัดเชื้อราจะสูงกว่าในการปลูกฤดูฝน ต้นทุนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรายได้ (ฤดูฝนและฤดูร้อน) ทำให้การผลิตเสี่ยงต่อการขาดทุน การจัดการไม่ดี หรือราคาตก
สำหรับเจ้าหน้าที่ส่งเสริม
ควรกระตุ้นให้เกษตรกรรีบทำค้างตั้งแต่ต้นระยะดูแลรักษา ถ้าชักช้าพืชผลอาจเสียหายและผลผลิตลดลง เกษตรกรมักละเลยที่จะเด็ดใบล่างทิ้ง ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันโรคราน้ำค้าง ควรแนะนำให้เกษตรกรทำการเก็บเกี่ยวทุกวัน เพราะผลแก่เร็ว ต้องคัดเกรดให้ถูกต้องอย่าบรรจุคละเกรด
การตลาด
ตลาดควรจะกว้างขึ้น ถ้ามีการแปรรูป แต่ปัจจุบันตลาดยังจำกัดเฉพาะผู้บริโภคบางประเภท การเสียหายของพืชผลเมื่อไปถึงตลาดกรุงเทพฯ ประมาณ 30-40% ส่วนใหญ่เป็นเพราะผลไม่ตรงและไม่ได้รูป ราคาผันแปรง่ายตามปริมาณออกสู่ตลาด ประมาณ 12-15 บาท/กก. ราคาสูงสุด พ.ค.-ก.ค. (ผลผลิตมีน้อย)
ข้อแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการเพาะปลูก
ศัตรูพืชและโรค
ศัตรูพืช
เพลี้ยไฟ และเพลี้ยอ่อน พบทุกระยะ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ใช้ พอส์ส เมซูโรล หรือ อโซดริน ป้องกันรักษา
แมลงวันผลไม้ (Fruit Fly) ทำลายตั้งแต่ระยะตัดดอกถึงเก็บเกี่ยว ใช้วิธีป้องกันแบบเบ็ดเสร็จ หรือใช้กับดัก Pheromone
ปลวก ทำลายทุกระยะ การป้องกันใช้ เคลทาไมท์ (Kelthamite) หรือสารละลาย ซัลเฟอร์ ส่วนการป้องกันแมลงทั่วๆ ไป และเชื้อไวรัสต่างๆ ใช้ยาฟูราดาน เมื่อเริ่มปลูก
โรค
โรคโคนเน่า (Foot Rot) โดยแมลงเป็นพาหะ ป้องกันการระบาดโดยใช้ยาฆ่าแมลง
ราแป้ง พบได้ทุกเวลา ป้องกันโดยใช้ เบนเลท อาฟูกาน สลับกับคาราเทน
ราน้ำค้าง พบช่วงความชื้นสูง ป้องกันแก้ไขโดยฉีดพ่น ไดเทนเอ็ม45 หรือสารที่มีตัวยาคล้ายคลึงกัน สัปดาห์ละครั้งหรือตามความจำเป็น ถ้ามีการระบาดมาก ใช้ ไรโดมิล MZ หรือ แอพรอน 35 ควบกับ ไดเทนเอ็ม 45
โรคเหี่ยว เกิดขึ้นเมื่อพืชเป็นโรครากเน่าหรือโคนเน่า ใช้ยากำจัดเชื้อรา ที่มีสารทองแดง (Copper) เช่น คูปราวิทย หรือ โคแมค ฉีดพ่นหรือราดโคนต้น เมื่อจำเป็น
โรคใบด่าง(Mosaic) เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมีแมลงเป็นพาหะ สังเกตจากบางส่วนของใบมีสีจางลง และผิวใบขรุขระ ป้องกันแก้ไขโดยใช้กำจัดแมลงพาหะ
ปัจจัยที่ต้องการ (ต่อพื้นที่ปลูก 1 ตร.ม.)


การใช้แรงงาน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)


*ข้อมูลแรงงานและระยะเวลาได้จากข้อมูลสนาม
ข้อควรปฏิบัติ
ช่วงการปลูก
ขุดพลิกดิน ตากแดดทิ้งไว้ 7 วัน ใส่ปูนขาว ปุ๋ยคอก ปุ๋ย 15-15-15 คลุกผสมลงในดินให้ทั่ว ขึ้นแปลงกว้าง 1 เมตร ให้ร่องระหว่างแปลง 50 ซม. ใช้จอบขุดหลุมปลูกลึก 10 ซม. ระยะห่างระหว่างหลุม 40×50 ซม. รองพื้นหลุมด้วย ฟูราดาน และโบแรกซ์ กลบดินให้เหลือ 3-5 ซม. จากปากหลุม หยอดทีละ 2 เมล็ด กลบหลุมแล้วรดน้ำ ถ้าเป็นฤดูร้อน ให้ใช้ฟางคลุมแปลงรักษาความชื้น
ช่วงการดูแลรักษา
เมื่อมีใบจริง 2 ใบ ฉีดพ่นยากำจัดแมลงป้องกันแมลงกัดกินใบอายุ 7-15 วันใส่ปุ๋ย 21-0-0 และ 46-0-0 อัตรา 15 กรัม/ต้น หลังการใส่ปุ๋ยครั้งแรก 15-20 วัน ใส่ปุ๋ย 46-0-0 และ 15-15-15 อัตรา 1:2 รวม 15 กรัม/ต้น ใส่ปุ๋ยครั้งสุดท้าย เมื่อเริ่มติดดอก โดยใช้ปุ๋ย 13-13-21 อัตรา 15 กรัม/ต้น การใส่ปุ๋ยใช้วิธีการทำร่องลึก 2 ซม. รอบต้นห่างจากต้น 10 ซม.ในครั้งแรก และห่างจากต้น 20 ซม. เมื่อใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 และ 3 กลบดินแล้วรดน้ำ ทำการกำจัดวัชพืช พร้อมกับการใส่ปุ๋ย
เมื่อต้นสูง 10 ซม. ทำค้างเป็นรูปตัวสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ด้วยไม้หรือไม้ไผ่ มัดรอบปลายไม้ให้สูง 180-200 ซม. ผูกตัดติดกับค้าง ใช้มือเด็ดยอดที่แตกระหว่างกิ่งล่าง 5 กิ่งและลำต้น
ฉีดพ่นสารเคมีทุก 5-7 วันแล้วแต่การระบาดของโรคและแมลง ผสมอาหารเสริมและธาตุอาหารฉีดพ่นพร้อมสารเคมี 2 ครั้งระหว่างช่วงการดูแลรักษา หรือบ่อยกว่านั้น ถ้าต้นแตกหรือหัก (อาการขาดธาตุโบรอน) เพื่อลดปัญหาโรคเข้าทำลาย ถ้าเป็นปัญหามากใช้ โบแรกซ์ 1 ช้อนแกง ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นบนใบ ถอนต้นที่ให้ลูกบิดงอทิ้งเสีย ช่วงแมลงวันผลไม้ระบาด ใช้กับดักหรือฉีดพ่นยาฆ่าแมลง
ข้อควรระวัง
เก็บผลที่เน่าเสีย หรือถูกแมลงทำลาย เอาไปทิ้งและทำลาย
ช่วงการเก็บเกี่ยว
เก็บเกี่ยวหลังดอกบาน 3-5 วัน เลือกเก็บผลที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ซม. และความยาว 10-15 ซม. เก็บวันเว้นวันและในวันเดียวกันกับที่จะขนส่ง ไม่ควรเก็บทิ้งข้ามคืน ห่อแตงกวาทีละผลแล้วบรรจุในกล่องพลาสติค (10-12 กก./กล่อง)
ข้อควรระวัง
ถ้าทิ้งช่วงเก็บเกี่ยวเกินกำหนด ผลผลิตจะโตเกินไปพยายามอย่าบรรจุผลผลิตเกรดต่างๆ คละอยู่ในกล่องเดียวกัน
ที่มา:ภาควิชาส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่