กระทุ่มบก

(Kradembak)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Anthocephalus chinensis (Lam.) A.Rich.ex Walp.
ชื่อวงศ์ RUBIACEAE
ชื่ออื่น ตะกู ตะโกส้ม ตุ้มขี้หมู ตุ้มหลวง ทุ่มพราย
ถิ่นกำเนิด ประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-20 ม. ขนาดทรงพุ่ม 8-12 ม. ผลัดใบ ทรงพุ่มกลม กิ่งก้านเรียวเล็กลู่ลง ตายอดมีขนาดใหญ่ กลมและแบน ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อน หรือเทา เรียบ หรือแตกขนาดตื้นๆ ตามแนวยาวและมีรอยแผลของกิ่ง


ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่กว้างค่อนข้างกลมกว้าง 7.5-26 ซม. ยาว 20-40 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือเว้า ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบเกลี้ยงบางแต่ค่อนข้างเหนียว สีเขียวสด ก้านใบยาว 2-3 ซม. ใบอ่อนสีเขียวอมนํ้าตาล
ดอก สีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่นที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกขนาดเล็ก ไม่มีก้านดอก ช่อดอกห้อยลงยาว 4.5-6.5 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ติดกันเป็นหลอดสั้นๆ ปลายจักแหลม กลีบดอกติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก ปลายแฉกหยักมน เกสรเพศผู้ 5 อัน เส้นผ่านศูนย์กลางช่อดอก 4-5 ซม. ออกดอกเดือน พ.ค.-มิ.ย.
ผล ผลแห้งแตก เป็นผลรวมอัดกันเป็นทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 4-5 ซม. สีเขียวอมนํ้าตาล เมื่อสุกสีนํ้าตาล เมล็ดสีนํ้าตาลขนาดเล็ก 1 เมล็ดต่อผลย่อย ติดผลเดือน ก.ค.- ส.ค.ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบตามป่าดิบและป่าเบญจพรรณชุ่มชื้นใกล้แหล่งนํ้า
การใช้ประโยชน์ เนื้อไม้ ใช้ทำฟืน และทำเยื่อกระดาษ ไม้บาง ทำเป็นไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด พาร์ทิเคิลบอร์ด และใช้ในโรงงานทำไม้ขีดไฟ
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร เปลือก ต้มกินแก้ไข้ แก้ปวดมดลูก
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย