กระท้อน:พันธุ์ของกระท้อน

พันธุ์ของกระท้อน

สำหรับพันธุ์กระท้อนที่เป็นพันธุ์ดีรสเด็ดสะระตี่จนเป็นที่นิยมของผู้บริโภคในขณะนี้ผมก็ได้ลองชิมมาแล้วจึงอยากจะขอแนะนำท่านผู้อ่านและผู้ที่สนใจอยากจะปลูกกระท้อนเป็นอาชีพก็ได้แก่พันธุ์

1. พันธุ์ทับทิม เป็นกระท้อนพันธุ์ดีที่ยอดฮิตติดตลาดมานมนานกาเล จนเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคอย่างกว้างขวางว่ามีรสชาติหวานแหลมและกลมกล่อม ติดผลค่อนข้างจะดกและเป็นพันธุ์เบาที่มีผลขายได้ก่อนพันธุ์อื่น ๆ แต่ขนาดผลไม่โตเท่าใดนัก  โดยเฉลี่ยประมาณ 4 ผล ต่อกิโลกรัม  จะขายได้ในราคากิโลกรัมละประมาณ 40 บาทขึ้นไปแต่ไม่เกิน 50 บาท  ส่วนผลที่เล็กกว่านี้ ราคาก็จะอยู่ในระดับกิโลกรัมละ 15 บาท – 20 บาท หรือ 30 บาท  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของผล ลักษณะของความนุ่ม ความปุย และเนื้อที่ฟูของกระท้อนพันธุ์นี้อยู่ในระดับปานกลาง  แต่ข้อได้เปรียบตรงที่ขายได้ง่ายเพราะราคาอยู่ในระดับชาวบ้าน ๆ ที่พอจะมีเงินจับจ่ายก็ซื้อได้ เศรษฐีก็ซื้อดี เรียกว่าเป็นกระท้อนที่ไม่เลือกชั้นวรรณะ เป็นผลไม้ราคาแพงที่คนกินไม่ได้ซื้ คนซื้อไม่ได้กิน  ซึ่งหมายความว่าคนซื้อ ๆ ไปฝากผู้หลักผู้ใหญ่  ซึ่งเป็นเจ้านายหรือหัวหน้างาน  เพื่อเอาอกเอาใจหรือประจบประแจง  เอาความดีความชอบใส่ตัว ก็ตามแต่จุดประสงค์ของแต่ละคน

2.  กระท้อนพันธุ์ปุยฝ้าย ผลค่อนข้างจะโต  น้ำหนักประมาณ 3 ผล ต่อกิโลกรัมหรือ 2 ผลต่อกิโลกรัมก็มี ความฟูและความปุยของเนื้อมีมากกว่าพันธุ์ทับทิม  แต่ความหวานจะไม่หวานแหลมค่อนข้างจะหวานแบบนุ่ม ๆ ลุ่มลึก ราคาที่ซื้อขายกันก็ตกราคากิโลกรัมละประมาณ 60 บาทขึ้นไปถึง 70 บาท หรือ 80 บาท ตามแต่ขนาดและความสวยของผิวว่าเหลืองนวลมากน้อยแค่ไหน

3.  พันธุ์นิ่มนวล ความหวานค่อนข้างจะจัดกว่าพันธุ์ปุยฝ้ายและกลมกล่อมนุ่มนวลไม่ปรูดปราดเหมือนพันธุ์ทับทิม  ขนาดของผลประมาณ 2-3 ผลต่อกิโลกรัม  ราคาที่ซื้อขายกันตกกิโลกรัมละ 60-70 บาทขึ้นไปแต่ไม่เกิน 100 บาท  ข้อดีของกระท้อนพันธุ์นี้คือเนื้อนุ่มเปลือกบาง  เนื้อฟูและปุยเนื้อที่เมล็ดค่อนข้างจะหนา

4.  พันธุ์ปุยไหม ขนาดของผลใกล้เคียงพันธุ์นิ่มนวล  และราคาซื้อขายก็ไม่แตกต่างกันมากนัก  ความหวาน ความปุยและฟูของเนื้อก็ใกล้เคียงกันแต่จะมีข้อดีตรงที่มี “กลิ่นหอม” ของกระท้อนมากกว่าพันธุ์อื่น

5.  พันธุ์ “เทพศิริ” ก็เป็นกระท้อนอีกพันธุ์หนึ่งที่น่าสนใจ ลักษณะเด่นคือมีเปลือกบาง เนื้อหนา เนื้อที่เมล็ดฟู น่ารับประทาน  รสชาติหวานจัดกว่าพันธุ์อื่น ๆ ยกเว้นพันธุ์ทับทิม  ขนาดของผลโดยเฉลี่ยประมาณ 2-3 ผลต่อกิโลกรัม  ราคาซื้อขายโดยทั่ว ๆ ไปกิโลกรัมละ 70 บาทขึ้นไป

6.  พันธุ์ “อีล่า” เป็นกระท้อนพันธุ์หนักผลโตออกผลล่าช้ากว่าพันธุ์อื่น ๆ ความหวานอยู่ในระดับปานกลางและความฟูของเนื้อค่อนข้างจะด้อยกว่าพันธุ์ต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว  แต่ได้เปรียบตรงที่ว่ามีโอกาสจะขายได้ทีหลังในขณะที่กระท้อนพันธุ์อื่น ๆ ขายไปหมดแล้ว ก็ทำให้ขายได้ราคาดีพอสมควร คือประมาณ 50 บาทขึ้นไป

ถ้าจะเปรียบเทียบกระท้อนทั้ง 6 พันธุ์ที่ติดตลาดอยู่ในขณะนี้กับผู้หญิงสาวในยุคปัจจุบันก็พอจะเปรียบได้ดังนี้

กระท้อนพันธุ์ทับทิม เปรียบเสมือนผู้หญิงสาวทั่ว ๆ ไปไม่ถึงกับสวยสะดุดตาเท่าใดนักแต่ชอบแต่งเนื้อแต่งตัวทันสมัย  สีเสื้อผ้าปรู๊ดปร๊าด ฉูดฉาด รูปร่างผิวพรรณก็ธรรมด๊าธรรมดา  แต่มีไฟเสน่หาค่อนข้างจะร้อนแรงสักหน่อย ทำให้บรรดาหนุ่ม ๆ และตาเฒ่าหัวงูทั้งหลายพากันหลงใหลงุ่นง่านน่าดูชม

กระท้อนพันธุ์ปุยฝ้าย เปรียบเสมือนสาวงามที่ผิวขาวผ่องสวยเรียบ ๆ กิริยามารยาทนุ่มนวล  การเจรจาไพเราะเพราะพริ้งแต่งเนื้อแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าและสีสันที่ค่อนข้างจะเรียบ ๆ แต่มีความเก๋ไก๋และมีความร้อนแรง แอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ภายในความเรียบละมุน

กระท้อนพันธุ์นิ่มนวล  พันธุ์เทพศิริ พันธุ์ปุยไหม ถ้าเปรียบสาวสวยละก็รูปร่างสูงโปร่งผิวขาวนวลน่ารักได้สัดส่วน  ถ้าหากเป็นการประกวดนางงามกรรมการจะตัดสินให้ใครแพ้ใครชนะนั้น ต้องคิดแล้วคิดอีกจะชนะก็แค่คะแนนเป็นจุดทศนิยมเท่านั้น  หรือถ้าหากเป็นม้าแข่งก็ชนะกันแค่ขนตาม้าเท่านั้น  ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ทั้ง 3 พันธุ์มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบกันเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้นขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีรสนิยมแบบไหนเท่านั้นเองแต่ที่แน่นอนคือความหวานนุ่มนวลที่ซ่อนเร้นความร้อนแรง ความกลมกล่อมของรสชาติเอาไว้นี่ซิน่าสนใจมาก

ส่วนพันธุ์อีล่า นั้นเปรียบเสมือนผู้หญิงที่มีรูปร่างค่อนข้างจะสูงใหญ่ผิวค่อนข้างจะคล้ำ  แต่ไม่ถึงกับขี้ริ้วขี้เหร่หรือพูดง่าย ๆ ก็คือเมื่อแต่งเนื้อแต่งตัวแล้วก็ยังสวยกว่าสาวชาวบ้านทั่ว ๆ ไปว่างั้นเถอะ  แต่มีช่วงจังหวะดีตรงที่เธอมีคู่แข่งขันน้อยในช่วงนั้นก็มีโอกาสที่จะได้เป็นนางงามกับเขาได้เหมือนกัน

กระท้อนทั้ง 6 พันธุ์ที่ผมได้เล่าแจ้งแถลงไขมาแล้วนั้นมีข้อดีข้อเสียของแต่ละพันธุ์อยู่บ้าง  ซึ่งสรุปแล้วก็เป็นกระท้อนที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในพื้นที่เดียวกันนี้เอง คือ ต.บางกร่าง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เป็นส่วนใหญ่  และยังมีกระท้อนพันธุ์อื่น ๆ อีกมากมายหลายพันธุ์ที่ยังไม่ได้มีการขยายพันธุ์หรือเผยแพร่ออกไป

ซึ่งน่าเสียดายมากหากพื้นที่ดังกล่าวจะแปรรูปเป็นบ้านจัดสรรแล้วพันธุ์กระท้อนที่ดี ๆ รสชาติอร่อย  ก็คงจะต้องสูญพันธุ์ไปพร้อมกับพื้นที่สีเขียวของจังหวัดนนทบุรีในอนาคตอันใกล้นี้

จึงถึงเวลาแล้วที่เจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัดนนทบุรีจะต้องออกสำรวจตรวจสอบคัดเลือกพันธุ์ไม้ผลที่ดีของจังหวัดนนทบุรี  แล้วนำมาขยายพันธุ์และเก็บรักษาพันธุ์เอาไว้พร้อมขยายพันธุ์ไปยังจังหวัดอื่น ๆ ที่มีอาชีพปลูกไม้ผล เช่น จังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี เป็นต้น

พันธุ์ไม้ผลเหล่านี้คือทรัพยากรธรรมชาติของคนในชาติไม่ควรที่จะให้สูญพันธุ์ไปอย่างง่ายดาย  เพราะเราไม่อาจจะสร้างพันธุ์ขึ้นมาใหม่ให้ดีเท่ากับพันธุ์เก่า ๆ ที่มีอยู่แล้ว  ซึ่งธรรมชาติได้ใช้เวลาสร้างสรรค์กว่า 200 ปีขึ้นไป “น่าที่จะมีโครงการธนาคารพันธุ์ไม้ผลของจังหวัดนนทบุรี” เอาไว้ให้เป็นสมบัติของลูกหลาน เหลน โหลนไทยต่อไปในอนาคต และยังคิดว่ายังคงจะไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้