กระท้อน

(Santol)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Sandoricum koetjape (Burm.f) Merr.
ชื่อวงศ์ MELIACEAE
ชื่ออื่น ท้อน มะต้อง สะท้อน
ถิ่นกำเนิด มาลายู
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 15-30 ม. ขนาดทรงพุ่ม 6-8 ม. ผลัดใบระยะสั้น ทรงพุ่มกลมหรือรูปไข่ ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นสีน้ำตาลอมเทาค่อนข้างเรียบ หรือแตกเป็นสะเก็ดใหญ่ๆ


ใบ ใบประกอบมีใบย่อยสามใบ เรียงเวียนสลับ แกนกลางใบ ประกอบยาว 8-16 ซม.ใบย่อยที่ปลายรูปรีค่อนข้างกลมกว้าง 5-12 ซม. ยาว 10-20 ซม. ปลายใบแหลมโคนใบมนโคนใบของใบย่อยค่อนข้าง เบี้ยวเล็กน้อย ขอบใบเรียบเป็นคลื่นห่างๆ แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว และย่นเป็นลอนสีเขียวเข้มเป็นมันผิวใบด้านล่างมีขนปกคลุม ใบแก่ จะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม


ดอก สีเขียวอมเหลือง ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ซอกใบ ใกล้ปลายกิ่งช่อดอกห้อยยาว 4-16 ซม. ดอกย่อยจำนวนมาก กลีบเลี้ยง เชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอก 5 กลีบ รูปขอบขนานเกสรเพศผู้10 อันเส้นผ่านศูนย์กลางดอก 1-1.8 ซม. ออกดอกเดือน ม.ค.-มี.ค.
ผล ผลสดแบบมีเนื้อ ทรงกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลาง 5-10 ซม. สีเขียวมีขนปกคลุม เมื่อสุกสีเหลืองนวล เปลือกหนามีเนื้อนุ่มฉํ่าน้ำ เมล็ดมีเนื้อนุ่มเป็นปุยขาวห่อหุ้ม เมล็ดรูปรีหนา สีน้ำตาลอ่อน 2-5 เมล็ด ต่อผล ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ทาบกิ่งหรือติดตา ติดผลเดือน ก.พ.-พ.ค.
นิเวศวิทยา พบตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้นทางภาคใต้และปลูกเลี้ยง อยู่ทั่วไป
การใช้ประโยชน์ กระท้อนมีการนำมาใช้ประโยชน์หลายอย่าง นอกจากรับประทานผลสดแล้วยังมีการนำมาทำเป็นกระท้อนลอยแก้ว เนื้อติดเปลือกแปรรูปได้หลายอย่าง เช่น กวน แยม เยลลี่ เชื่อมแห้ง แช่อิ่ม ทรงต้นสวยให้ร่มเงาดี ใบแก่เปลี่ยนเป็นสีแดงก่อนร่วงดูงามตา ปลูกเป็นไม้ประดับได้ เนื้อไม้ใช้ก่อสร้างและทำเครื่องเรือนต่างๆ
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ใบสด นำมาต้มดื่มแก้ไข้เปลือกไม้ นำมาป่นทารักษากลาก เกลื้อน ราก ใช้แก้ท้องเดิน กล้ามเนื้อเกร็ง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ผล เป็นยาฝาดสมาน
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย