กระพี้จั่น

(Kra Pe Jun)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Millettia brandisiana Kurz
ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE – PAPILIOMOIDEAE
ชื่ออื่น กระพี้ ปีจั๋น ซ้พง
ถิ่นกำเนิด พม่า
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 15-20 ม. ขนาดทรงพุ่ม 5-8 ม. ผลัดใบ ทรงพุ่มรูปร่ม โปร่ง แตกกิ่งห้อยย้อย ยอดและดอกอ่อนสีน้ำตาลแดง มีขนละเอียด เปลือกสีน้ำตาลอมเทา แตกไม่เป็นระเบียบ หลุดล่อนเป็นชิ้นขนาดเล็ก


ใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ แกนกลางใบประกอบยาว 14-18 ซม. มีใบประกอบย่อย 11-17 ใบ เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง 2-3.5 ซม. ยาว 4.5-8 ซม. ปลายใบมนทู่ และหยักเว้าเล็กน้อย โคนใบมนกลมหรือสอบเป็นรูปลิ่มกว้างๆ ขอบใบเรียบ แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว สีเขียวเข้มอมเทา ผิวใบด้านล่างสีเขียวนวล มีขนละเอียดที่เส้นแขนงใบ
ดอก สีชมพูอมม่วงหรือม่วงอมขาวมีแต้มสีเหลืองตรงกลาง ออกเป็นช่อ แบบช่อกระจะแยกแขนงที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง มีดอก พร้อมกับการผลิใบใหม่ ช่อดอกห้อยลงยาว 10-20 ซม. ดอกย่อย รูปดอกถั่วจำนวนมาก ยาวประมาณ 1 ซม. กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน เป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น 5 แฉก สีน้ำตาลเข้ม กลีบดอก 5 กลีบ บางและอ่อน เกสรเพศผู้ 10 อัน แยกออกเป็นสองกลุ่มๆ ละ 5 อัน ออกดอกเดือน ก.พ.-เม.ย.
ผล ผลแห้ง เป็นฝักทรงแบน กว้าง 2-2.5 ซม. ยาว 5-8 ซม. รูปรี แกมรูปขอบขนาน ปลายฝักแหลมหรือมน โคนฝักแคบ ขอบเป็นสัน สีเขียวอ่อน เมื่อสุกสีนาตาล เมล็ดรูปไต สีน้ำตาลเข้ม 1-2 เมล็ด ติดผล เดือน มี.ค.-พ.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบตามป่าเบญจพรรณทั่วไปและป่ากิ่งโล่งแจ้ง
การใช้ประโยชน์ ไม้ทำเยื่อกระดาษ ด้ามเครื่องมือของเล่นเด็ก ทำดอกไม้ประดิษฐ์ ยอดอ่อน นำมาประกอบอาหาร เช่น แกง ยำ
หมายเหตุ ต้นไม้ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย