กระเจียว:พืชที่นิยมทำเป็นไม้กระถางไม้ตัดดอกและไม้ประดับแปลง

เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตประเทศอินโดจีน เช่น พม่า เขมร ลาว เวียดนาม และไทย สำหรับในประเทศไทยนั้น  สามารถพบเห็นกระเจียวได้ในป่าชื้นธรรมชาติเกือบทุกภาค แต่แหล่งที่พบมากคือ ภาคอีสานและภาคเหนือ ประโยชน์ของกระเจียวใช้เป็นพืชสมุนไพรและเป็นไม้ดอกไม้ประดับ  แต่เนื่องจากกระเจียวมีความหลากหลายในลักษณะและสีสันของดอกจึงทำให้กระเจียวบางชนิดกลายเป็นพืชที่นิยมทำเป็นไม้กระถาง ไม้ตัดดอก และไม้ประดับแปลงของตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ  ปริมาณการส่งออกของหัวพันธุ์กระเจียวเพิ่มขึ้นจากประมาณ 2 แสนหัวในปี 2536 เป็นประมาณ 2 ล้านหัวในปี 2537 และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกปี

กระเจียวที่มีการส่งหัวพันธุ์ไปต่างประเทศมากที่สุดคือ ปทุมมา รองลงมาคือ บัวลาย กระเจียวสีส้ม และกระเจียวดอกขาว ตลาดต่างประเทศที่สำคัญคือ ญี่ปุ่น จากการศึกษาครั้งนี้สามารถสรุปได้ดังนี้

1.  สามารถรวบรวมพันธุ์กระเจียวได้จำนวน 12 ชนิดได้แก่ กระเจียวเชียงราย กระเจียวดอกขาว กระเจียวใต้ดอกยาว กระเจียวสีส้ม (Curcuma roscoena-orange), บัวลาย (C.parviflora-violet), เทพรำลึก (C.parviflora-white), บัวชั้น (C.roscoena-pink), กระเจียวปราจีนบุรี (C.alismatifolia-pink), กระเจียวขาวดอกใหญ่ (C.parviflora-white giant), ปทุมมา (C.alismatifolia), กระเจียวศรีสะเกษ และกระเจียวแดงดอกกลม

2.  กระเจียวเหล่านี้ได้แก่ บัวลาย เทพรำลึก และกระเจียวดอกขาว มีลักษณะลำต้นค่อนข้างเตี้ย และมีก้านช่อดอกยาวพอสมควร เหมาะที่จะให้เป็นไม้กระถางหรือไม้ประดับ

3.  กระเจียวที่มีศักยภาพในการใช้ตัดดอกเป็นการค้า ได้แก่ ปทุมมา กระเจียวสีส้ม กระเจียวขาวดอกใหญ่ และบัวชั้น

4.  กระเจียวเป็นไม้หัวล้มลุกประเภทยืนต้นที่มีการเจริญเติบโต และออกดอกในช่วงฤดูฝนแล้วพักตัวในช่วงฤดูหนาวและฤดูแล้ง จะเริ่มงอกใหม่อีกครั้งเมื่อถึงฤดูฝนของปีถัดไป  การให้แสงไฟในตอนค่ำในช่วงเดือนตุลาคมไปแล้วจะสามารถทำให้กระเจียวเจริญเติบโตและออกดอกในช่วงฤดูหนาวได้

5.  การปลูกกระเจียวบางชนิดเพื่อตัดดอกจำหน่าย เช่น ปทุมมาในช่วงต้นฤดูฝนจะทำให้ดอกได้เร็วกว่า และมีช่วงการให้ดอกได้นานกว่าการปลูกในช่วงกลางฤดูฝน

6.  การปรับปรุงพันธุ์กระเจียวพบว่า ความแปรปรวนทางพันธุกรรมของสีดอกกระเจียวในแต่ละชนิดที่นำมาศึกษาพันธุ์มีน้อยมาก กล่าวคือ ไม่พบสีของดอกที่แปลกใหม่ไปจากเดิมเนื่องจากละอองเกสรของกระเจียวนี้มีขนาดเล็กและเกาะกันเป็นก้อนเมื่อแตกจากอับละอองเกสร  ลักษณะเช่นนี้จึงไม่สามารถปลิวไปตามลมได้  การผสมเกสรตามธรรมชาติจึงจำเป็นต้องอาศัยแมลงเป็นตัวกลางในการนำละอองเกสร แมลงเท่าที่พบในแปลงได้แก่ แมลงวัน แมลงภู่ และแมลงตับเต่า ตามลำดับ  ช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการผสมพันธุ์ด้วยมือคือ ตอนเช้าตรู่ เนื่องจากเป็นช่วงที่ปลายท่อเกสรตัวเมียมีน้ำหวาน และละอองเกสรแตกจากอับละอองเกสร อย่างไรก็ตามการติดเมล็ดของกระเจียวบางชนิด เช่น กระเจียวเชียงราย กระเจียวใต้ดอกขาว และบัวชั้นจะสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับการเกิดเมล็ดของปทุมมา ไม่ว่าจะเป็นในสภาพธรรมชาติ หรือผสมพันธุ์ด้วยมือแล้ว ข้อมูลการติดเมล็ดของกระเจียว แต่ละชนิดจะมีประโยชน์ในการคัดเลือกต้นพ่อแม่พันธุ์สำหรับการผสมพันธุ์ต่อไป