กระเจี๊ยบ:ปลูกได้ผลดีในฤดูหนาว

กระเจี๊ยบเป็นผักกินฝักที่มีผู้ปลูกและรับประทานกันทั่วไป เดิมทีเป็นผักพื้นเมืองของอาฟริกาเหนือ ส่วนในเมืองไทยจะมีการปลูกมาตั้งแต่สมัยใดไม่ปรากฎ กระเจี๊ยบเป็นผักที่ปลูกง่าย รสชาติดี พอสมควร ให้ผลเร็ว และปลูกได้ทุกฤดู จึงเหมาะที่จะปลูกเป็นผักสวนครัวไว้รับประทานเอง หรือจะปลูกเพื่อจำหน่ายก็ย่อมทำได้ถ้ามีตลาดรองรับ

ลักษณะทั่วไปของกระเจี๊ยบคือ ใบกว้างเป็นแฉกคล้ายใบละหุ่งแต่ก้านสั้นกว่า มีขนตามใบต้นและฝัก ฝักของกระเจี๊ยบมีลักษณะยาวแหลม เส้นรอบวงของ ฝักเป็นเหลี่ยม ๆ 5 เหลี่ยม มีเมล็ดอยู่ข้างใน 5 แถว ผิวนอกสีเขียวเปลือกหนา เนื้อในลื่นเป็นเมือก ฝักขนาดปานกลางยาว 6-8 นิ้ว ฝักกระเจี๊ยบนี้มีรสหวาน กรอบ แต่เป็นเมือกทำให้มีบางคนชอบ และบางคนไม่ชอบเป็นพิเศษ เพราะอาจจะรังเกียจ ตรงที่เป็นเมือกลื่น ๆ แต่ถ้าพูดถึงคุณค่าทางอาหารแล้ว กระเจี๊ยบก็มีคุณค่าไม่แพ้ ผักอื่น ๆ อีกหลายชนิด

พันธุ์

กระเจี๊ยบที่ปลูกกันอยู่ในบ้านเรามีทั้งพันธุ์พื้นเมือง และพันธุ์จากต่าง ประเทศ มีทั้งชนิดฝักสั้น ฝักยาว ต้นเตี้ย ต้นสูง

พันธุ์พื้นเมือง พันธุ์นี้ลำต้นค่อนข้างสูง มีขนมาก เมือกมาก ฝักมีสีม่วงอ่อน ๆ และสีเขียว

พันธุ์ตางประเทศ พันธุ์ที่มาจากต่างประเทศส่วนมากจะมีลำต้นเตี้ย ฝักดก มีขนน้อยและเมือกน้อย

กระเจี๊ยบ สามารถปลูกได้ในดินทุกชนิด แต่ต้องระบายนํ้าได้สะดวก และปลูกได้ทุกฤดูโดยเฉพาะในฤดูหนาว จะได้ผลดียิ่งขึ้น

การปลูก

เตรียมแปลงขนาดกว้างประมาณ 1 เมตร ความยาวแล้วแต่สะดวก จะปลูกกระเจี๊ยบได้ 2 แถว หลังจากย่อยดินในแปลงพร้อมทั้งใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก คลุกเคล้าลงไปในดินแล้ว ทำการขุดให้ลึกประมาณ 4 นิ้ว กว้าง 8 นิ้ว ให้ระยะห่าง ระหว่างหลุม 2 ฟุต ระยะห่างระหว่างแถว 3 ฟุต หยอดเมล็ดกระเจี๊ยบลงไป หลุมละ 4-5 เมล็ดแล้วเอาดินกลบให้หนาประมาณ 1 นิ้ว กดดินเบา ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดลอยขึ้นข้างบนในเวลารดนํ้า เมื่อเมล็ดงอกมาได้ประมาณ 4-5 วัน ก็เลือกต้นที่แข็งแรงไว้หลุมละ 2 ต้นก็พอ

การให้น้ำ

กระเจี๊ยบเป็นผักที่แข็งแรงและทนทานแต่ถ้ารดนํ้ามากเกินไปต้นจะชะงักงัน ใบห่อย่นไม่เติบโต เวลารดนํ้าควรสังเกตแค่เพียงให้น้ำซึมลงในดินทันที อย่าให้น้ำมากจนขังอยู่ในแปลง จะรดน้ำวัน 3 ครั้ง เช้า-เย็น หรือวันละครั้งก็ได้แล้วแต่ความสะดวก

การใส่ปุ๋ย

การใส่ปุ๋ยให้กระเจี๊ยบแบ่งเป็น 2 ระยะคือ ระยะแรก ใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต โดยวิธีโรยรอบ ๆ โคนต้นประมาณ 1 ช้อนพูน แล้วพรวนดินกลบ ใส่เมื่อกระเจี๊ยบอายุได้ 7 — 10 วัน

ระยะที่สอง ใส่ปุ๋ยคอกหลุมละ 1 กอบใหญ่ ผสมกับปุ๋ยสูตร 5-10-5 หนึ่งช้อนพูน หรือจะใช้ปุ๋ยคอก 4 กก.ผสมกับปุ๋ย 5-10-5 ช้อนพูน คลุกเคล้าให้เข้ากันดี แล้วใส่ไปในระหว่างอัตรา 4 กก.ต่อเนื้อที่ 1 ตารางเมตรก็ได้ ใส่เมื่อกระเจี๊ยบอายุได้ 27-30 วัน

การใส่ปุ๋ยควรระวังอย่าให้ปุ๋ยถูกกระเจี๊ยบโดยตรง และก่อนใส่ปุ๋ยควรเว้น การรดนํ้าตอนเย็นไว้ก่อนหนึ่งวัน เมื่อใส่ปุ๋ยในวันรุ่งขึ้นแล้วจึงทำการพรวนดินกลบ ไว้ตอนเช้า พอตกเย็นจึงรดนํ้า

การเก็บเกี่ยว

ผลกระเจี๊ยบจะโตเร็วมาก เมื่อดอกกระเจี๊ยบบานเป็นส่วนมากแล้วมักจะมีฝักโตได้ขนาดพอที่จะเก็บได้ ขนาดของฝักที่ควรเก็บคือไม่แก่ ยังเป็นฝักอ่อนอยู่ สีเขียวสด ยอดของฝักยังกรอบอยู่ ถ้าเอามือหักดูจะเปราะง่าย ถ้าปล่อยให้ฝักกระเจี๊ยบโตเกินไป เปลือกจะเป็นเสี้ยน รสชาติไม่ดี และสังเกตได้ว่ายอดจะเหนียวหักไม่ขาดออกจากกันและสีก็จางลง

วิธีเก็บควรใช้มีดตัดฝัก ไม่ควรดึงหรือบิดจากต้นด้วยมือ

การเก็บฝักไว้ทำพันธุ์

ถ้าจะเก็บฝักไว้ทำพันธุ์ ควรเลือกต้นที่ติดฝักงาม ฝักดก แล้วเก็บเอาฝัก ที่ไม่ค่อยงามออกไปรับประทาน เหลือไว้แต่ฝักที่สมบูรณ์จำนวนพอสมควรแล้วทิ้งไว้กับต้นจนแก่เต็มที่คือฝักแห้ง สีนํ้าตาลมีรอยแตกตามพูของฝักเป็นทางสีขาว แล้ว จึงเก็บเอามาตากแดด ไม่ควรเก็บฝักไว้กับต้นนานจนฝักแตกเอง เพราะเมล็ดจะร่วง หล่นหมด

เมื่อตากฝักกระเจี๊ยบแก่จนแห้งดีแล้ว ก็เก็บเอาเมล็ดมาตากแดดให้แห้งอีกครั้งหนึ่งแล้วเก็บใส่กระป๋องหรือขวดโหลปิดผนึกให้แน่น เก็บไว้ใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ ได้ต่อไป แต่ไม่ควรเก็บเมล็ดไว้นานเกินกว่า 1 ปี เพราะเปอร์เซ็นต์ความงอกจะลดลง

โรคและแมลงศัตรู

กระเจี๊ยบเป็นพืชที่ไม่ค่อยมีโรคแมลงรบกวน จะว่าเป็นพืชที่โชคดีก็คง จะเป็นเพราะมีเพียงโรคเน่าคอดิน (Damping off) ชี่งมักจะเกิดเมื่อต้นยังเล็กอยู่ คือตั้งแต่เริ่มงอกจนอายุ 15 วัน จึงควรระวังอย่ารดนํ้าให้โชก และแมลงที่มารบกวน ก็มีเพียงจิ้งหรีดที่ชอบกัดกินต้น และเพลี้ยกินยอดและใบ สำหรับเพลี้ยนั้นใช้โล่ติ๊น ผสมน้ำยาฉุนกลั่นฉีดกำจัดได้