กรีดยางหน้าฝนระวังโรคหน้ากรีด

การกรีดยางเพื่อให้สะดวกต่อการกรีด และยังคงรักษาความสะอาดของถ้วยรองรับน้ำยางนั้นควรคำนึงถึงระดับความเอียงของรอยกรีดและความคมของมีดที่ใช้กรีด ซึ่งต้องคมอยู่เสมอเวลากรีดยาง ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการกรีดยางมากที่สุดคือ ช่วง 06.00-08.00 น.

เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่สามารถมองเห็นต้นยางได้อย่างชัดเจนและได้ปริมาณน้ำยางใกล้เคียงกับการกรีดยางในตอนเช้ามืด แต่การกรีดยางในช่วงเวลา 01.00-04.00 น. จะให้ปริมาณยางมากกว่าการกรีดยางในตอนเช้าอยู่ร้อยละ 4-5 ซึ่งเป็นช่วงที่ได้ปริมาณน้ำยางมากที่สุดด้วย แต่การกรีดยางในตอนเช้ามืดมีข้อเสีย คือ ง่ายต่อการกรีดบาดเยื่อเจริญส่งผลให้เกิดโรคหน้ายางทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองและไม่มีความปลอดภัยจากสัตว์ร้ายหรือโจรผู้ร้าย

การหยุดพักกรีด ในฤดูแล้ง ใบไม้ผลัดใบหรือฤดูที่มีการผลิใบใหม่ จะหยุดพักการกรีดยางเนื่องจากมีผลต่อการเจริญเติบโตของใบและต้นยางการกรีดยางในขณะที่ต้นยางเปียกจะทำให้เกิดโรคเส้นดำหรือเปลือกเน่าได้ การเพิ่มจำนวนกรีด สามารถเพิ่มจำนวนวันกรีดได้โดย การเพิ่มวันกรีด สามารถกรีดในช่วงผลัดใบ แต่จะได้น้ำยางในปริมาณน้อย ไม่ควรเร่งน้ำยางโดยใช้สารเคมี ควรกรีดเท่าที่จำเป็นและในช่วงฤดูผลิใบต้องไม่มีการกรีดอีก

การกรีดยางชดเชย วันกรีดที่เสียไปในฤดูฝนสามารถกรีดทดแทนได้แต่ไม่ควรเกินกว่า 2 วัน ในรอยกรีดแปลงเดิม และสามารถกรีดสายในช่วงเวลา 06.00-08.00 น. หากเกิดฝนตกทั้งคืนการกรีดสาย เมื่อต้นยางเปียกหรือเกิดฝนตกสามารถกรีดหลังเวลาปกติโดยการกรีดสาย ซึ่งจะกรีดในช่วงเช้าหรือเย็นแต่ในช่วงอากาศร้อนจัดไม่ควรทำการกรีด

อย่างไรก็ตามล่าสุด นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร แจ้งเตือนเกษตรกรชาวสวนยางพาราในการกรีดยางในช่วงหน้าฝนว่า ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคมของทุกปีจะเป็นช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะเดือนสิงหาคม-กันยายน จะมีปริมาณฝนตกมาก ทำให้สวนยางมีความชื้นสูง อาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหน้ายาง ในต้นยางที่เปิดกรีดแล้วได้ ดังนั้นเกษตรกรชาวสวนยางจึงควรตระหนักในการดูแลรักษาสวนยางที่เปิดกรีดแล้วในช่วงที่ฝนตกชุกมากกว่าในช่วงฤดูกาลอื่น ๆ

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรที่กรีดยางพาราในช่วงหน้าฝนด้วยว่า ไม่ควรกรีดยางในวันที่มีฝนตก เพราะจะทำให้น้ำยางที่ได้เสียหายเพราะน้ำฝนอาจจะตกลงไปผสมกับน้ำยางได้ และเป็นที่มาของโรคที่เกิดกับหน้ากรีดของต้นยางในช่วงหน้าฝน ซึ่งมีหลายโรคที่สำคัญๆ ได้แก่ โรคเส้นดำ และโรคเปลือกเน่า

“การกรีดยางในช่วงฤดูฝน ไม่ควรกรีดหักโหม ควรกรีดครึ่งต้น วันเว้นวัน และเกษตรกรควรใช้ยาเมตาแลคซิล ทาหน้ากรีดทุกครั้งหลังกรีดยาง เพื่อป้องกันโรคจากเชื้อรา ดูแลรักษาสวนยางให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อับชื้น ในกรณีสวนยางไม่ได้รับการบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ เกษตรกรชาวสวนยางควรใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมตามอายุและลักษณะของดินของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ควรกำจัดวัชพืชทุกครั้งก่อนการใส่ปุ๋ย เพื่อให้ต้นยางได้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ต้นยางได้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ต้นยางแข็งแรงสามารถต้านทานโรคที่จะเกิดจากหน้ายางกรีดได้ ช่วยให้กรีดได้นานหลายปี และมีรายได้อย่างสม่ำเสมอ”