กล้วยพืชเศรษฐกิจในครัวเรือนที่ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ

กล้วยพืชเศรษฐกิจในครัวเรือนที่ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ

สมมาตร  จันทร์สีแดง

ข้อมูล ฝ่ายข้อมูลนิตยสารอาชีพชาวเกษตร

กล้วยสาระพัดประโยชน์

คนไทยเราส่วนมากมักจะมองข้ามความสำคัญของกล้วยไปว่าเป็นพืชที่ปลูกง่าย ๆ มีอยู่ดาษดื่นหากินได้ตลอดเวลา จนกระทั่งมีคำพูดที่ติดปากในการทำงานที่ง่าย ๆ หรือแก้ปัญหาได้อย่างสะดวกสบายว่า

“ของกล้วย กล้วย ง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปากซะอีก” เนื่องจากการปลูกกล้วยในสมัยก่อนนั้นไม่ได้รับความสนใจอะไรมากนัก  ปลูกทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ กันไว้ตามหัวไร่ปลายนา หรือปลูกในพื่นที่ว่าง ๆ ที่ไม่รู้ว่าจะปลูกพืชอะไร  ถึงเวลาก็ตัดเครือมากิน ตัดใบตองมาใช้สอยหรือตัดต้นเอามาสับเป็นอาหารให้หมูกิน  การดูแลรักษาก็ไม่ได้เอาใจใส่อะไรมากนัก  แต่ในบางครั้งกล้วยสุกขายไม่ได้ราคาคุ้มกับค่าแบกหามก็ปล่อยให้สุกคาต้น  เป็นอาหารของนก หนู กระรอก กระแต โดยไม่ได้หันมาดูแลเอาใจใส่มากนัก  กล้วยจึงถูกมองว่าเป็นพืชที่ปลูกง่าย โตง่าย ปลูกทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ปล่อยให้เทวดาเลี้ยง แต่มาถึงยุคปัจจุบันนี้ กล้วยกลับกลายเป็นอาหารที่มีราคาค่างวดแพงขึ้นจนจดไม่ลง ดังจะเห็นได้ว่ากล้วยหอมหวีหนึ่งราคาจะไม่ต่ำกว่า 20 บาท กล้วยไข่หวีหนึ่ง 5-10 บาท กล้วน้ำว้าที่เคยขายในราคาหวีละ 1-2 บาท นั้น ได้ถีบตัวปาขึ้นไปถึงหวีละ 10-20 บาทแล้ว

เมื่อดูราคาแล้วทำให้ฉุกคิดขึ้นมาว่าเวลานี้กล้วยไม่ใช่อาหารพื้น ๆ สำหรับคนยากจนอีกต่อไปเสียแล้ว กล้วยน้ำว้า ลูกหนึ่งราคาไม่ต่ำกว่า 1 บาท โอกาสที่คนจนจะหาซื้อมาเลี้ยงลูกอย่างสมัยก่อนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เสียแล้ว

นอกจากกล้วยจะมีราคาแพงจนแตะไม่ติดแล้ว  ทางภาครัฐก็มองเห็นว่ากล้วยนั้นมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  เนื่องจากกล้วยเป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน  นับตั้งแต่รากจนกระทั่งถึงใบ  อีกทั้งยังช่วยฟอกอากาศรักษาความสมดุลของหน้าดินอีกด้วย

ขณะนี้ทั้งหน่วยงานของรัฐ โรงเรียนต่าง ๆ ก็หันมาสนใจปลูกกล้วยเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น  โดยเฉพาะโรงเรียนในเขต กทม. หลายแห่งได้เริ่มโครงการนี้ไปบ้างแล้ว  แต่จะต่อเนื่องหรือบรรลุเป้าหมายได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไรนั้น  เห็นจะต้องคอยติดตามความเคลื่อนไหวกันต่อไป เพราะส่วนใหญ่แล้วหน่วยงานของรัฐมักจะนิยมทำงานกันแบบไฟไหม้ฟาง วูบวาบ ฟู่ฟ่า เพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าวก็เลิกราไป  ซึ่งถ้าหากเราย้อนรอยไปหาอดีตเมื่อ 20 ปีก่อนในยุคสมัยที่ “พลาสติก” ยังไม่ได้เข้ามามีบทบาทมากนัก  กล้วยจะเป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้สารพัดอย่าง  โดยเริ่มต้นตั้งแต่รากกล้วย หัวกล้วย ใช้เป็นสมุนไพร  ต้นกล้วยนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์  กาบกล้วยนำมาฉีกเป็นเส้นยาวตากให้แห้งนำมาผักมัดสิ่งของ  ไส้ในของต้นนำมาประกอบอาหารเป็นผักจิ้มน้ำพริก แกงจืด แกงส้ม แกงเลียง ฯลฯ ผลกล้วยนอกเหนือจากการกินสุกแล้วยังใช้ปิ้ง ทอดทำขนมหวานนานาชนิดได้สารพัดอย่าง ปลีกล้วยก็นำมาประกอบอาหารได้แทนผัก ผักสดกินแกล้มกับแกง หรือก๋วยเตี๋ยวผัดไทย ขนมจีนน้ำพริก ใบกล้วยหรือใบตองนำมาใช้เป็นวัสดุสำหรับห่อสิ่งของได้สารพัดตั้งแต่ใบสดใช้ห่อขนม นมเนย ใบแห้งใช้ห่อกระท้อน ห่อผลไม้ต่าง ๆ ให้นวลสวยงาม ทำกระทงใบตองแห้ง นอกจากนี้ใบตองยังใช้ทำบายสี เย็บแบบทำกระทง (สำหรับลอยกระทงหรือใส่ขนมหวาน ฯลฯ)

ซึ่งในปัจจุบันนี้เป็นยุคไฮเทคที่พลาสติกเข้ามามีบทบาททดแทนใบกล้วยหรือใบตองมานานกว่า 30 ปี  ทำให้เกิดปัญหามลภาวะเป็นพิษเนื่องมาจากพลาสติกนั้นไม่สามารถย่อยสลายหรือเน่าเปื่อยได้ก็ทับถมอยู่ในก้นแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างน้อยก็หนาถึง 3 เมตร และนับวันก็จะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น  มีผลให้แม่น้ำตื้นเขิน  ท่อระบายน้ำตีบตัน กากขยะพลาสติกติดใบจักรเรือเดินสมุทรทำให้ต้องสูญเสียเงินทองและต้องใช้เวลาแก้ไขหลายวันทีเดียว และนับวันปัญหาก็จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และเมื่อถึงจุดวิกฤตก็เห็นทีจะต้องหวนกลับมาใช้ใบตองหรือใบกล้วยกันอีก

พันธุ์กล้วยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

กล้วยเป็นพืชที่ให้ประโยชน์ได้หลายประการ  มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตและขนบธรรมเนียมประเพณีของคนไทยมาตั้งแต่โบราณ  ในประเทศไทยมีกล้วยหลายชนิด  ซึ่งส่วนใหญ่จะเจริญเติบโตได้ดีในทุกภาค กล้วยให้คุณประโยชน์ทั้งในด้านโภชนาการและการใช้สอยต่าง ๆ เป็นอย่างมาก กล้วยให้คุณค่าทางอาหารสูง  ให้ผลผลิตเพื่อบริโภคได้ทั้งปีไม่จำกัดฤดูกาล  ตกผลเร็วเมื่อเทียบกับไม้ผลชนิดอื่น

ทุกฝ่ายต่างก็ยอมรับถึงคุณค่าของกล้วยและหลายหน่วยงานรวมทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เร่งรัดส่งเสริมให้ประชาชนเห็นคุณค่าของกล้วย  และให้มีการปลูกกล้วยกันอย่างแพร่หลาย  แต่ก็ยังประสบปัญหาพันธุ์กล้วยยังขาดแคลน เพราะส่วนใหญ่เราใช้พันธุ์จากหน่อของต้นแม่  ซึ่งมีจำนวนจำกัดและมีข้อเสียอยู่หลายประการ เช่น มีเชื้อโรคติดกับหน่อ  การขยายหน่อทำได้ช้าไม่ทันการ อายุ ขนาด และคุณภาพของหน่อมีความแตกต่างไม่ได้มาตรฐาน มีปัญหาในการขนส่ง และไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน  จึงเห็นได้ว่าปัญหาเรื่องหน่อกล้วยเป็นตัวจำกัดสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาการปลูกกล้วยของประเทศไทยเป็นอย่างมาก

ขณะนี้  สถาบันเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อเกษตรกรรม กรมส่งเสริมการเกษตร ได้พัฒนาการผลิต และขยายพันธุ์กล้วยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อทดแทนการใช้หน่อในระดับที่สามารถส่งเสริมสู่เกษตรกรได้แล้ว  การขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะช่วยให้เราสามารถผลิตพันธุ์กล้วยได้ในปริมาณสูงในเวลาอันรวดเร็วและพันธุ์กล้วยที่ได้จะมีคุณภาพดี

พันธุ์กล้วยที่กรมส่งเสริมการเกษตรสามารถผลิตได้และมีแผนในการผลิตจากขบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ  ในช่วงนี้มี 8 พันธุ์ ดังนี้คือ

1.  กล้วยหอมพันธุ์ส่งเสริม 36 เป็นพันธุ์กล้วยหอมเขียวต่างประเทศ  มีคุณลักษณะที่ดีคือ  มีเครือใหญ่ให้ผลดก ผลผลิตสูง ลำต้นค่อนข้างเตี้ย ต้านทานลมได้ดี เหมาะในการปลูกเป็นการค้าเพื่อส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ  แต่มีคุณสมบัติที่คนไทยไม่ค่อยชอบ  คือ ผลสุกมีสีเขียว  ซึ่งอาจจะแก้ไขได้โดยการบ่มที่อุณหภูมิต่ำ (ประมาณ 22 องศาเซลเซียส) ก็จะได้ผลสุก มีสีทองและการบ่มที่มีอุณหภูมิต่ำเช่นนี้จะให้รสชาติที่ดีด้วย  คือจะหอมหวาน เนื้อเหนียวดีกว่าการบ่มให้สุกที่อุณหภูมิปกติ

ด้วยคุณสมบัติที่เป็นกล้วยสุกเขียว  จึงยังไม่แนะนำให้ปลูกเพื่อการจำหน่ายภายในประเทศ หากจะปลูกในปริมาณมากก็ต้องตกลงกับผู้รับซื้อเพื่อส่งต่างประเทศให้แน่นอน สำหรับการปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือนควรปลูกครอบครัวละ 1-2 ต้น จะเป็นการดี เพราะเป็นกล้วยที่มีคุณลักษณะอื่น ๆ ดีอยู่แล้ว

กล้วยพันธุ์นี้กรมส่งเสริมการเกษตรตั้งชื่อเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเจริญพระชนมายุ 36 พรรษา

2.  กล้วยน้ำว้าพันธุ์ส่งเสริม 36 มีลักษณะต้นอ้วนเตี้ย  ต้านทานลมได้ดีเครือใหญ่ ผลดก ผลมีลักษณะงามอ้วนป้อม รสชาติดี พันธุ์นี้กรมส่งเสริมการเกษตรตั้งชื่อเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจริญพระชนมายุ 36 พรรษา

3.  กล้วยหอมทอง เป็นพันธุ์ที่คัดจากล้วยหอมทองทั่วไปของบ้านเรา  โดยเลือกต้นแม่ที่มีคุณลักษณะดีของจังหวัดปทุมธานี

4.  กล้วยน้ำว้า เป็นพันธุ์ที่คัดจากกล้วยน้ำว้าทั่วไปของบ้านเรา  โดยเลือกต้นแม่ที่มีคุณลักษณะดีของจังหวัดเพชรบุรี

5.  กล้วยหักมุก เป็นพันธุ์ที่คัดจากกล้วยหักมุกทั่วไปของบ้านเรา  โดยเลือกต้นแม่ที่มีคุณลักษณะดีของจังหวัดเพชรบุรี

6.  กล้วยเล็บมือนาง เป็นพันธุ์ที่คัดจากกล้วยเล็บมือนางจากต้นแม่ที่มีคุณลักษณะดีของจังหวัดชุมพร

7.  กล้วยไข่ เป็นพันธุ์ที่คัดจากกล้วยไข่จากต้นแม่ที่มีคุณลักษณะดีของจังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดชลบุรี

8.  กล้วยหอมพันธุ์แกรนเนน ได้รับแม่พันธุ์จากภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มีคุณลักษณะใกล้เคียงกับกล้วยหอมพันธุ์ส่งเสริม 36

กรมส่งเสริมการเกษตร  จะผลิตพันธุ์กล้วยทั้ง 8 ชนิด ข้างต้นด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อเป็นการส่งเสริมการปลูกกล้วยให้แพร่หลายต่อไป  โดยเน้นการปลูกเพื่อสิ่งแวดล้อมและการบริโภคในครัวเรือน เรือนละ 1 ต้น

หลักเกณฑ์การแจ้งความจำนงรับพันธุ์กล้วยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

1.  ผู้แจ้งความจำนงต้องกรอกแบบฟอร์มนี้และตัดส่งทางไปรษณีย์ถึงสถาบันเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อเกษตรกรรมภายใน 30 วัน หลังจากวันรับใบแจ้งความจำนง  พร้อมสอดแสตมป์ดวงละ 1 บาท 2 ดวง  เพื่อสถาบันฯ จะได้จัดส่งเอกสารพร้อมแจ้งวันเวลาและสถานที่ให้ท่านไปรับพันธุ์กล้วย

2.  เนื่องจากสถาบัน ฯ ต้องผลิตพันธุ์กล้วยเป็นงวดตามจำนวนที่แจ้งความจำนง ดังนั้นผู้จองจะได้รับพันธุ์กล้วยประมาณ 5 เดือนไปแล้ว

3.  เนื่องจากเป็นการแจกเพื่อบริโภคในครัวเรือน  จึงกำหนดแจกให้ครอบครัวละ 1 ต้น

4.  หมายเลขด้านบนขวามือของแบบฟอร์มจะเป็นหมายเลขประจำตัวถาวรของท่านที่จะใช้ติดต่อและร่วมกิจกรรมอื่น ๆ กับสถาบันฯ ในโอกาสต่อไป ดังนั้นจึงขอได้โปรดจดหมายเลขเก็บไว้เพื่อกันลืม

5.  ให้จ่าหน้าซองถึง สถาบันเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อเกษตรกรรมกรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร เกษตรกลางบางเขน ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กท 10900 โทร.5792131,2614661-3

เลขที่

ใบแจ้งความจำนง

ขอรับพันธุ์กล้วยจากการเพาะเลี้ยง

เนื้อเยื่อ

(ประเภทรายบุคคล)

สถาบันเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเกษตรกรรม

กรมส่งเสริมการเกษตร

1.  ชื่อ นาย นาง นางสาว……………………………………..

นามสกุล…………………………..อายุ………………….ปี

2.  ที่อยู่ที่ติดต่อได้เลขที่………………….หมู่………………..

ตำบล……………………..อำเภอ……………………………

จังหวัด………………………………………………………….

3.  ชื่อพันธุ์กล้วยที่ขอรับ  คือ

พันธุ์…………………………………………จำนวน  1  ต้น

4.  สถานที่ปลูก หมู่…………………ตำบล…………………..

อำเภอ………………………จังหวัด………………………..

5.  ผู้แจ้งความจำนงจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การ

แจ้งความจำนงทุกประการ

ลงชื่อ…………………………………………………….

ผู้แจ้งความจำนง

คำแนะนำในการปลูกกล้วยของกรมส่งเสริมการเกษตร

กล้วยเป็นพืชเมืองร้อนชนิดหนึ่ง ถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีด้วยกันหลายสิบชนิดที่รู้จักกันดีและปลูกแพร่หลายในบ้านเรา ได้แก่ กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม และกล้วยไข่  โดยเฉพาะกล้วยหอมทอง หอมเขียว และหอมค่อม  ได้รับความนิยมจากต่างประเทศมาก

กล้วยมีประโยชน์มากมาย  โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้า  ใช้ประโยชน์ได้ดีเกือบทุกส่วน กล้วยสุกนอกจากใช้รับประทานเป็นผลไม้โดยตรงแล้วยังสามารถทำแห้ง  ทำของหวาน กลั่นเป็นสุรา หรือเครื่องดื่ม และทำน้ำส้มสายชูได้  กล้วยทุกชนิดมีคุณค่าอาหารใกล้เคียงกัน  แต่ถ้าเปรียบกับผลไม้ชนิดอื่น ๆ ในปริมาณเท่ากันแล้ว  กล้วยจะมีคุณค่าอาหารสูงกว่า  นอกจากผลแล้ว  ส่วนอื่น ๆ เช่น กาบกล้วยใช้ควั่นเชือก ใบตองสดและแห้งใช้ห่อของ  มวนบุหรี่  ตลอดถึงห่อหุ้มกิ่งตอน  ห่อหุ้มผลไม้บางชนิดเพื่อบ่มผิว และป้องกันแมลงได้ดี  ปลีใช้เป็นอาหาร  หยวกกล้วยนอกจากเป็นอาหารของคนแล้ว ยังเป็นอาหารหมูได้ดีด้วย

สภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม

กล้วยเป็นพืชที่ปลูกง่าย  ขึ้นได้ทั่วไป กล้วยชอบอากาศร้อนชื้น  โดยเฉพาะในบริเวณที่มีดินฟ้าอากาศคงที  จะสามารถเจริญเติบโตติดต่อกันไป และตกเครือตลอดทั้งปี

การปลูกกล้วยในที่ที่มีลมแรง  จะทำให้ใบกล้วยฉีกขาดออกเป็นริ้ว  แต่ถ้าไม่เกิดมีลมแรงมากนักก็ยังไม่ถือว่าเป็นปัญหา  เพราะใบที่ฉีกขาดจากกันก็ยังทำหน้าที่เช่นใบฝอยได้  ยกเว้นในที่ลมแรงจัดหรือมีลมพายุพัดผ่านควรหลีกเลี่ยงการทำสวนกล้วยขนาดใหญ่ เพราะพายุแรงอาจทำให้ลำกล้วย  โดยเฉพาะลำกล้วยที่ออกเครือแล้วหักกลางต้นหรือโค่นลงทั้งต้น  เป็นการเสียหายต่อผลผลิตได้  สำหรับเรื่องของดิน  กล้วยต้องการดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ร่วนซุย หรือค่อนข้างไปทางดินเหนียวที่สามารถอุ้มน้ำได้ดี  เพราะกล้วยเป็นพืชจำพวกฉ่ำน้ำ และมีใบมาก  จึงต้องการน้ำและความชุ่มชื้นสูง  ดังนั้นพื้นที่ที่มีฝนตกประมาณ 50-100 นิ้วต่อปีจะปลูกกล้วยได้ดี แต่อย่างไรก็ตามกล้วยก็ไม่ชอบดินที่มีน้ำขัง  ความเป็นกรดเป็นด่างของดินที่เหมาะสม คืออยู่ระหว่าง 6-7 อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการปลูกกล้วยประมาณ 30-40 องศาเซลเซียส  แต่ถ้าอุณหภูมิต่ำเกินไปหรือมีอากาศหนาวเย็นติดต่อกันนานจะทำให้การเจริญเติบโตช้าลงการออกปลีจะเนิ่นนานออกไป

ฤดูปลูก

การปลูกกล้วยควรปลูกในระยะต้นฤดูฝนคือในราว ๆ เดือนเมษายน-พฤษภาคม เพราะกล้วยต้องการความร้อน  และความชุ่มชื้นในตอนแรก  และต้องการความแห้งแล้งในตอนที่กล้วยจะแก่  การปลูกในระยะต้นฤดูฝนนี้  จะช่วยให้กล้วยตั้งตัวได้เร็ว หลังจากปลูก 1 เดือน จะมียอดอ่อนโผล่เหนือพื้นดิน แต่อย่างไรก็ตามบริเวณที่มีน้ำเพียงพอตลอดปีจะเริ่มปลูกกล้วยเมื่อใดก็ได้

การคัดเลือกพันธุ์ปลูก

ส่วนขยายพันธุ์กล้วย

ส่วนต่าง ๆ จากต้นกล้วยที่สามารถใช้ขยายพันธุ์ได้มีดังนี้

1.  หน่ออ่อน เป็นหน่อที่มีอายุน้อยมาก ยังไม่มีใบ

2.  หน่อใบแคบ เป็นหน่อที่มีใบบ้างแต่เป็นใบเรียวเล็ก ชาวสวนเรียกว่า หน่อดาบ

3.  หน่อใบกว้าง เป็นหน่อที่มีใบบ้างเป็นใบโตกว้าง คล้ายใบจริง  ส่วนมากเป็นหน่อที่เกิดขึ้นจากตาของเหง้าที่อยู่ใกล้ผิวดิน

4.  เหง้า เป็นเหง้าหน่อที่โตแล้ว  แต่ยังไม่ตกผล  ตัดยอดหรือลำต้นออก แล้วจึงใช้ปลูก

5.  ตา เหง้าของหน่อที่ตกผลแล้วหรือยังไม่ตกผล  ถ้ามีขนาดใหญ่พอ และมีอยู่หลายตาก็สามารถตัดเป็นชิ้น ๆ ให้แต่ละชิ้นมีตาที่ยังไม่ผลิตอยู่ 1-2 ตา แต่ละชิ้นก็สามารถใช้เป็นหน่อพันธุ์ได้สะดวกกว่าอย่างอื่น  การเลือกหน่อควรเลือกหน่อจากต้นที่แข็งแรง  ไม่เป็นโรคและไม่มีแมลงรบกวน  โดยเฉพาะโรคตายพราย และหนอนกอ หน่อที่ควรเลือกควรเป็นหน่อใบแคบที่เกิดชิดโคนต้นแม่ มีลักษณะอวบ สมบูรณ์  ซึ่งจะเป็นต้นกล้วยที่แข็งแรงให้ผลผลิตที่ดีต่อไป  ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ หน่อที่แข็งแรง ควรจะมีเหง้าอยู่ใต้ดินรากลึก  ส่วนหน่อที่เหง้าโผล่ลอยอยู่บนผิวดินนั้น เป็นหน่อที่ไม่แข็งแรง  ดังนั้น ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ควรหลีกเลี่ยงหน่อเหล่านี้  เมื่อเลือกหน่อที่ดีได้แล้วในการแยกหน่อออกจากต้นแม่  ควรกระทำด้วยความระมัดระวังอย่าให้ชอกช้ำเวลาขุดหน่อไม่ควรโยกหน่อให้กระเทือนจะเป็นอันตราย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้วยหอมทองและกล้วยไข่ ควรระวังให้มาก  เมื่อขุดหน่อขึ้นมาแล้วใช้มีดปาดรากออกให้เกลี้ยง  เพื่อต้องการให้มีรากใหม่แตกออกมาแทนรากเก่าซึ่งจะทำให้แข็งแรง  หน่อที่ได้ถ้ามีใบมากเกินไป  หรือมีใบเสียหายก็ควรทำการตัดแต่งเอาใบที่เสียหายหรือมากเกินไปออก  บางครั้งถ้าหน่อสูงเกินไปก็สามารถจะเฉือนทอนลำต้นลงได้  แต่ควรกระทำก่อนแยกหน่อออกจากต้นแม่  การตัดหรือเฉือนยอดลำของหน่อนี้ยังทำให้โคนหน่ออวบใหญ่ขึ้น  เนื่องจากอาหารจากเหง้าไม่ต้องเลี้ยงยอดและสร้างใบ  จึงสะสมและสร้างโคนให้อวบใหญ่ขึ้น  หน่อที่แยกออกจากต้นแม่นี้สามารถนำไปปลูกได้ทันที  แต่ถ้ายังไม่พร้อมที่จะปลูกควรนำมาไว้ในที่ร่มและชื้นไว้ก่อนได้ การปลูกโดยเฉือนเหง้าออกเป็นส่วน ๆ มาปลูกนั้นไม่นิยมปฏิบัติกัน  ยกเว้นในกรณีที่หาหน่อกล้วยยาก

การปลูก

การเตรียมแปลงปลูก

ในพื้นที่ที่มีหญ้ารก ควรทำการดายหญ้าออกเสียก่อน  ก่อนการปลูกประมาณ 10 วัน ควรฟันดิน  กลับดินให้ทั่วเพื่อปราบวัชพืชและทำให้ดินร่วนโปร่ง  เหมาะแก่การปลูกยิ่งขึ้น  สำหรับบริเวณที่มีน้ำท่วมหากจำเป็นควรยกร่องเสียก่อน

ระยะปลูก

ระยะปลูกกล้วยมีความสำคัญอย่างมาก ถ้าปลูกใกล้กันเกินไปจะทำให้เกิดร่มเงามากหน่อที่จะแตกขึ้นมาใหม่จะไม่แข็งแรงเท่าที่ควร  เพราะได้รับแสงไม่เพียงพอ  ดังนั้นการกำหนดระยะปลูกควรคำนึงถึงแสงแดด ความสมบูรณ์ของดิน และชนิดของพันธุ์กล้วยด้วย

การปลูกกล้วยบนที่ราบโดยทั่ว ๆ ไป ควรกะระยะระหว่างแถวให้ห่างกัน 5 เมตร ระหว่างต้น 5 เมตร ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง ไร่หนึ่ง ๆ จะปลูกได้ 64 หน่อ  สำหรับการทำสวนแบบยกร่อง เช่น แถบภาคกลาง ชาวสวนนิยมใช้ระยะปลูกค่อนข้างถี่ คือ ห่างกันเพียง 2.5-3.0 เมตร หรือประมาณ 6 ศอก เท่านั้น  ที่เว้นระยะปลูกถี่เช่นนี้  เพราะจะมีการปลูกใหม่ทุกปี  โดยไม่ปล่อยให้หน่อจากต้นเก่าเติบโตซ้ำที่เดิม

วิธีปลูก  การปลูกกล้วยทำได้ดังนี้  คือ

1.  การปลูกบนพื้นที่ราบ หลังจากปราบวัชพืชหมดแล้ว ขุดดินตลอดทั้งสวนตากดินไว้ราว 5-7 วัน หลังจากนั้นจึงขุดหลุมขนาดความกว้างยาวลึกด้านละ 50 เซนติเมตร กองดินชั้นบนไว้ทางหนึ่ง ดินชั้นล่างไว้อีกทางหนึ่ง เสร็จแล้วให้ใส่ดินชั้นบนลงไปก่อน  พร้อมทั้งใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้วลงไปด้วย  เพื่อช่วยให้ดินร่วนซุยยิ่งขึ้น  คลุกเคล้าให้เข้ากันดีแล้วจึงวางหน่อกล้วยที่เตรียมไว้ลงปลูกตรงกลางหลุม  โดยให้ส่วนยอดสูงกว่าระดับดินประมาณ 4 นิ้ว  ส่วนตาจะอยู่ลึกในดินประมาณ 1 ฟุต  ถ้าต้องการให้กล้วยออกปลีไปในทิศทางเดียวกัน ควรหันรอยแผลที่เกิดจากการแยกหน่อออกจากต้นแม่ไว้ในทิศทางเดียวกันทุกหลุมที่ปลูก  กล้วยจะแทงปลีออกมาในทิศทางตรงกันข้ามกับรอยแผล เมื่อวางหน่อกล้วยเรียบร้อยแล้ว ให้เกลี่ยดินล่างใส่ลงไปให้เต็มหลุมและอัดให้แน่น

การปลูกในฤดูฝนควรพูนดินกลบโคนต้นให้สูงไว้  เพื่อป้องกันน้ำขัง  ส่วนการปลูกในฤดูอื่น ๆ ไม่ควรพูนดินกลบโคนให้สูงนักเพราะไม่ต้องการให้น้ำไหลออกไป

2.  การปลูกแบบยกร่อง วิธีนี้มักใช้กันมากในการปลูกกล้วยแถบภาคกลาง  โดยเฉพาะกล้วยหอม โดยปลูกบนริมสันร่องทั้ง 2 ข้าง ตรงกลางเว้นไว้เป็นทางเดิน ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 3 เมตร ที่ใช้ระยะปลูกถี่เช่นนี้เพราะจะมีการปลูกใหม่ทุกปี  โดยไม่ปล่อยให้หน่อจากต้นเก่าเติบโตซ้ำที่เดิม สำหรับวิธีการวางหน่อให้วางเอาด้านที่เป็นรอยแผลที่เกิดจากการแยกหน่อหันไปทางร่องน้ำเพื่อให้ปลีกล้วยที่จะแทงออกมานั้นอยู่ในทิศทางตรงกันข้ามซึ่งจะเป็นด้านร่องทางเดินจึงทำให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยว

การให้น้ำ

กล้วยเป็นพืชที่มีใบใหญ่ ลำต้นอวบน้ำ ต้องการน้ำมากตลอดปีมากกว่าพืชอื่น โดยเฉพาะในฤดูแล้งซึ่งขาดน้ำ  และเนื่องจากรากที่ใช้หาอาหารส่วนใหญ่แผ่กระจายอยู่ใกล้กับผิวหน้าดิน  จึงไม่ควรปล่อยให้ผิวหน้าดินแห้งเป็นอันขาด  ถ้าผิวหน้าดินแห้งแล้ว  จะทำให้ผลผลิตลดต่ำลงอย่างมากทีเดียว

ในบ้านเราส่วนมากดินมีความชุ่มชื้นสูงดีอยู่แล้ว จึงมักไม่ค่อยมีปัญหาและโดยเฉพาะบางแห่งนิยมปลูกกล้วยแบบยกร่องแล้วปล่อยน้ำไปตามร่องระหว่างแถวปลูกอย่างช้า ๆ เพื่อให้น้ำซึมผ่านผิวดินลงไปถึงดินล่าง  แล้วยังทำให้บริเวณรอบ ๆ ต้นเย็นและชุ่มชื้นอีกด้วย

การใส่ปุ๋ย

การใส่ปุ๋ยมีผลต่อการเจริญเติบโตของกล้วยมาก  กล่าวคือจะช่วยให้ลำต้นอวบแข็งแรง ตกเครือเร็วและได้ผลโต การเจริญเติบโตของกล้วยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือระยะที่ 1  เริ่มนับตั้งแต่ต้นกล้วยตั้งตัวหลังการปลูก  ระยะนี้เป็นเวลาที่กล้วยต้องการอาหารมาก เครือหนึ่ง ๆ จะมีกล้วยกี่ผลนั้นอยู่ที่ความสมบูรณ์ของดินในระยะนี้  ระยะที่ 2 อยู่ระหว่างหลังตั้งตัวได้จนถึงก่อนตกเครือเล็กน้อย ระยะนี้กล้วยไม่ใช้อาหารมาก อาหารต่าง ๆ จะถูกใช้โดยหน่อที่เริ่มแตกขึ้นมา ระยะที่ 3  เป็นระยะจากตกเครือจนกล้วยแก่เป็นระยะที่กล้วยต้องการอาหารมากเหมือนกัน เพื่อเอาไปบำรุงผลให้โตขึ้น ดังนั้น ต้นกล้วยจึงต้องมีอาหารสำรองอยู่มาก ๆ จึงจะสามารถให้กล้วยเครือโต ๆ ได้

จากระยะการเจริญเติบโตดังกล่าว การใส่ปุ๋ยจึงควรใส่ครั้งแรก 1 อาทิตย์ หลังจากปลูก ครั้งที่ 2 ใส่หลังจากครั้งแรก 1 เดือน และครั้งที่ 3 ใส่หลังจากครั้งที่ 2 ประมาณ 1 เดือน ก็เป็นอันเพียงพอ ปุ๋ยที่ใช้จะเป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักก็ได้  หรืออาจจะใช้ปุ๋ยเคมีชนิดที่ใช้กับไม้ผลทั่วไป เช่น สูตร 15-15-15,13-13-21 ฯลฯ ให้ใส่ต้นละ 1กิโลกรัม  โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง เมื่อกล้วยมีอายุได้ 3 เดือน และ 5 เดือน ตามลำดับ

การกำจัดวัชพืช

การกำจัดวัชพืชเป็นสิ่งจำเป็นต่อการปลูกกล้วยมาก  โดยเฉพาะวัชพืชใบแคบจะแย่งอาหารเก่ง ทำให้กล้วยได้รับอาหารไม่เต็มที่  การเจริญเติบโตจะไม่ดี  แต่ในการกำจัดวัชพืชโดยวิธีการพรวนดิน  ไม่สมควรกระทำเพราะรากกล้วยมีระบบการแผ่กระจายอยู่ใกล้กับผิวดินมาก  จึงควรเลี่ยงมาใช้วิธีการถากถางจะดีกว่า  ในการปลูกกล้วยเป็นสวนใหญ่  หากมีการปลูกพืชแซมในระหว่างแถว หรือพืชคลุมดินตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเขียว ถั่วนุ่น คาลาโปโกเนียม  เป็นพืชคลุมดิน ระหว่างแถวกล้วยแล้วนอกจากจะช่วยลดปัญหาเรื่องวัชพืชแล้ว ยังเป็นการบำรุงดินอีกทางหนึ่งด้วย

การตัดแต่งหน่อกล้วย

เมื่อปลูกกล้วยได้ประมาณ 5-6 เดือนหน่อใหม่จะเกิดขึ้นมาก่อนหน้าที่กล้วยจะตกเครือเล็กน้อย  ควรเลือกหน่อไว้เพียง 2 หน่อแรกก็พอ  เพื่อแทนต้นแม่เดิม หน่อที่เลือกควรอยู่ตรงข้ามกันของลำต้นเดิม หน่อพวกนี้มีรากลึกและแข็งแรง ถือว่าดีที่สุด ส่วนหน่อที่เกิดมาทีหลัง เรียกว่า “หน่อตาม” ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นมา  จะทำให้กล้วยเครือเล็กลงจึงควรทำลายเสีย

การทำลายหน่อกล้วย  สามารถกระทำได้โดยใช้มีดคว้านลำไส้ตรงกลางต้นออกแล้วหยอดน้ำมันก๊าดประมาณครึ่งช้อนชาลงไปจะทำลายหน่อนั้นได้  แต่หน่อที่เล็กมากยังไม่มีใบ  ปุ่มเจริญยังอยู่ใต้ดิน  น้ำมันก๊าดลงไปไม่ถึงอาจทำลายไม่หมด หรืออาจใช้วิธีขุดหน่อออก ซึ่งควรกระทำเฉพาะตอนที่กล้วยยังไม่ตกเครือเท่านั้น เพราะถ้ากล้วยตกเครือแล้วจะทำให้กล้วย “งัน” ผลกล้วยจะเล็กลงได้

สำหรับการปลูกกล้วยหอมในที่ลุ่มแบบยกร่อง  ระดับน้ำใต้ดินอยู่ตื้นควรจะแยกหน่อไปปลูกที่ใหม่ในปีที่ 2 คือ เอาผลเพียงครั้งเดียวต่อการปลูก 1 ครั้ง แล้วย้ายหน่อเยื้องไปปลูกใกล้ ๆ กัน หรือในแปลงใหม่ ต่อเมื่อปีที่ 3 จึงค่อยกลับมาปลูกที่เดิมหรือหลุมเดิม สลับปีเว้นปีเช่นนี้ส่วนในที่ดินอุดมสมบูรณ์อาจจะไว้หน่อรอเก็บเป็นรุ่นที่ 2 ได้อีกครั้ง  ก็ควรจะต้องรื้อหลุมปลูกใหม่เช่นกัน เพราะในที่ลุ่มเช่นนี้หน่อจากหลุมเดิมมักไม่แข็งแรง ยกเว้นจะขุดหลุม เตรียมดินใส่ปุ๋ย ปลูกใหม่ในพื้นที่เดิมนั้น แต่ที่ดินที่ปลูกบนพื้นที่ราบโดยไม่ต้องยกร่องสามารถไว้หน่อ 1-2 หน่อ  แทนต้นเดิมไปเรื่อย ๆ ติดต่อกันไปได้หลายปี  ทั้งนี้สุดแล้วแต่ความอุดมสมบูรณ์ของดิน

นอกจากการดูแลรักษาต่าง ๆดังกล่าวแล้ว ในสวนควรตัดแต่งกิ่งเอาใบกล้วยที่แห้งเหลืองหรือเป็นโรคออกให้หมด เว้นไว้ต้นละไม่น้อยกว่า 7-8 ใบ และเมื่อเครือจวนแก่เก็บไว้เพียง 4-5 ใบ ก็พอ

การค้ำกล้วย

เครือกล้วยที่หนัก อาจดึงลำต้นให้โค้งงอจนถึงขั้นเป็นอันตรายแก่ลำต้น  อาจถูกลมพัดทำให้เครือ และก้านเครือหักได้ ด้วยเหตุนี้จึงควรค้ำก้านเครือด้วยไม้เนื้ออ่อนที่เป็นง่าม  ในสวนขนาดใหญ่ควรมีไม้ค้ำจำนวนมากเตรียมไว้ให้พร้อม  และถ้าหากมีการปลูกไม้เป็นแนวกันลมไว้ก่อน จะตัดกิ่งมาทำไม้ค้ำก็ได้

โรคและแมลงศัตรูกล้วยที่สำคัญ

โรคกล้วย

1.  โรคตายพราย  เกิดจากเชื้อรา  มักจะเป็นกับกล้วยที่มีอายุ 4-5 เดือนขึ้นไป โดยจะเห็นทางสีเหลืองอ่อนตามก้านใบของใบล่างหรือใบแก่ก่อน  ต่อมาปลายใบหรือขอบใบจะเริ่มเหลือง และขยายออกไปอย่างรวดเร็วจนเหลืองทั่วไป  ใบอ่อนจะมีอาการเหลืองไหม้  หรือตายนึ่งและบิดเป็นคลื่นใบกล้วยจะหักพับบริเวณโคนก้านใบ ใบยอดจะเหลืองตั้งตรงเขียวอยู่ในระยะแรก ต่อมาก็ตายไปเช่นกัน กล้วยที่ติดเครือแล้วจะเหี่ยวผลลีบเล็กไม่สม่ำเสมอ  หรือแก่ก่อนกำหนดเนื้อฟ่ามชืด  บางกรณีใบกล้วยจะหักพับที่โคนใบโดยไม่แสดงอาการใบเหลือง หรือเหลืองเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  ถ้าตัดลำต้นตามขวางจะพบว่าเนื้อในของกาบใบบางส่วนเป็นสีน้ำตาลแดงและอาจมีเส้นใยของเชื้อราให้เห็นบ้าง

การป้องกันและกำจัด

1. โรคนี้เป็นมากกับกล้วยน้ำว้า และกล้วยหอมทอง ควรปลูกกล้วยไข่หรือกล้วยหักมุกแทน

2.  ในพื้นที่ปลูกอย่าให้มีน้ำขังแฉะ เพราะจะทำให้กล้วยเจริญได้ไม่เต็มที่ ทำให้อ่อนแอเป็นโรคง่าย  โดยเฉพาะดินที่เป็นกรด จะต้องใช้ปูนขาวปรับสภาพดินให้เป็นกลางเสียก่อน

3.  ตัดทำลายต้นที่เป็นโรคด้วยการเผาทิ้ง

4.  ใส่ปุ๋ยที่มีแร่ธาติฟอสฟอรัสและโปแตสเซี่ยมสูง  และไม่ควรใส่ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนมาก

5.  คัดเลือกหน่อพันธุ์กล้วยจากแหล่งที่ไม่มีโรคนี้ หรืออย่างน้อยจากกอที่ไม่เป็นโรค

2.  โรคเหี่ยวของกล้วย เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะพบอาการเหี่ยวบนใบอ่อน ๆ ของกล้วย และมีอาการหักตรงก้านใบ อาการเหี่ยวจะระบาดอย่างรวดเร็ว หน่อกล้วยที่กำลังจะแตกยอดมีสีดำ ยอดบิดและแคระแกร็นและจะตายในที่สุด  แสดงอาการคล้ายโรคตายพราย  แต่เมื่อตัดดูลักษณะภายในลำต้นจะเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลแดงพบบริเวณไส้กลางลำต้นและจะขยายไปยังกาบ ก้านใบและไปยังเครือกล้วย ผลหน่อ ตากล้วยจะเหลืองและตายในที่สุด ภายในจะพบเนื้อเยื่อเน่าตายเป็นช่องว่าง  เมื่อตัดกล้วยอ่อนที่เป็นโรคแช่ในน้ำจะพบเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุเป็นน้ำขุ่น ๆ ไหลออกมา ผลจะเน่าดำ

การป้องกันและกำจัด ใช้หน่อกล้วยที่ไม่มีโรคทำพันธุ์ ระวังไม่ให้เกิดแผลกับลำต้นกล้วย แช่หน่อกล้วยที่ถูกตัดแต่งในน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนปลูก

3.  โรคใบจุดของกล้วย เกิดจากเชื้อหลายชนิด  แต่ละชนิดแสดงอาการบนใบแตกต่างกัน ดังนี้

3.1  ลักษณะอาการเป็นขีดสีน้ำตาลแดงสั้น ๆ ขนานไปกับเส้นใบ บางครั้งกระจายไปทั่วทั้งใบและขยายไปทางกว้าง ทำให้เกิดอาการใบจุดและแผลลามติดต่อกันทำให้เกิดอาการใบไหม้  โดยมากเกิดจากริมใบเข้าไป แผลมีสีน้ำตาลอ่อน ขอบแผลสีน้ำตาลเข้ม พบทุกระยะการเจริญเติบโต  โดยมากเป็นกับกล้วยน้ำว้า ทำให้จำนวนหวีน้อยลง ขนาดผลเล็กลง

การป้องกันและจำกัด ตัดใบกล้วยที่เป็นโรคนำไปเผาไฟทิ้งและฉีดพ่นด้วยสารเคมีค็อปเปอร์ อ๊อกซีคลอไรดื ผสมสารจับใบฉีดพ่น 2-3 ครั้งต่อเดือน  หรือใช้สารเคมีแมนโคเซบ หรือเบนโนมิลผสมไวท์ออยล์ฉีดพ่น

3.2  ลักษณะอาการใบจุดรูปไข่สีน้ำตาล มักเกิดกับกล้วยไข่ บนใบจะเห็นผลมีลักษณะรูปไข่สีน้ำตาล ตรงกลางแผลสีน้ำตาลอ่อนปนเทา ถัดเข้ามามีเส้นวงสีน้ำตาลเข้ม  และมีวงสีเหลืองล้อมรอบแผลอีกชั้นหนึ่ง  การแผ่ขยายของแผลจะเป็นไปตามความยาวของเส้นใบ

การป้องกันและกำจัด ตัดใบที่เป็นโรคออกจากแปลงแล้วเผาทำลายทิ้ง  และฉีดพ่นไปจนถึงต้นแก่ภายหลังตัดเครือแล้ว  ตัวหนอน เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะเข้าเป็นดักแด้จนเป็นตัวแก่  จะออกมาอยู่นอกเหล้าแถวโคนต้นในระดับชิดถึงดิน  หรือต่ำกว่าเล็กน้อย  หรือรอผสมพันธุ์กันต่อไป

การป้องกันและกำจัด  ทำความสะอาดสวน อย่าปล่อยให้รกรุงรัง โดยเฉพาะเศษชิ้นส่วนของลำต้นกล้วย กาบกล้วย ซึ่งเน่าเปื่อยชื้นแฉะแถวโคนต้น เป็นที่วางไข่ของตัวเมีย หรืออาจใช้วิธีตัดต้นกล้วยเป็นท่อน ๆ วางสุมเป็นจุด ๆ ในสวน เพื่อล่อให้แมลงมาวางไข่ ประมาณ 7 วันต่อครั้ง  ให้เปิดตรวจดู ในเวลากลางวัน  ถ้าพบตัวอ่อนหรือตัวแก่ให้ทำลายโดยการใช้สารฆ่าแมลง เช่น เฮ็พตาคลอร์ผสมตามสูตรที่ระบในสลากยาราดส่วนโคนต้นและบริเวณดินรอบโคนต้น สำหรับหน่อพันธุ์ควรเลือกหน่อที่แข็งแรงไม่มีโรคแมลงติดอยู่และแช่ในน้ำยาดีลดริน 25% ในอัตราส่วนผสมคือ น้ำยา 1 ส่วนต่อน้ำ 50 ส่วน แล้วแช่หน่อพันธุ์ทิ้งไว้ 1 คืน ก่อนนำไปปลูก

2.  ด้วงงวงไชต้น  ด้วงงวงไชกาบกล้วย ด้วงชนิดนี้เป็นศัตรูร้ายแรงพอ ๆ กับด้วยงวงไชเหง้า ตัวหนอนจะไชทำลายต้นที่อยู่เหนือพื้นดินขึ้นไปถึงประมาณกลางต้น  โดยไชต้นเป็นรูแล้วชอนเข้าไปถึงไส้กลางต้นมองเห็นข้างนอกเป็นรอยต้นพรุนไปทั่ว  มักชอบทำลายต้นกล้วยที่โตแล้ว หรือใกล้จะออกปลี หรือกำลังตกเครืออยู่ จะทำให้เครือหักพับกลางต้นหรือเหี่ยวเฉายืนตายด้วยสารเคมีแมนโคเซบ หรือแคปแทน

3.3  ลักษณะอาการใบจุดกลมรี ทั้งขนาดเล็ก-ใหญ่ แผลมีสีน้ำตาล ขอบแผลสีน้ำตาลเข้มล้อมรอบด้วยบริเวณสีเหลืองตรงกลางแผลมีส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อราสีดำเกิดเรียงเป็นวงมักเป็นกับกล้วยน้ำว้า

การป้องกันและกำจัด ให้ตัดใบกล้วยที่เหี่ยวแห้งคาต้นไปเผาไฟทิ้งและฉีดพ่นด้วยสารเคมีแมนโคเซบ

4.  โรคยอดม้วน เกิดจากเชื้อไวรัสพาหะนำเชื้อ คือ เพลี้ย เชื้อโรคจะแพร่กระจายติดไปกับหน่อหรือส่วนขยายพันธุ์ต่าง ๆ อาการที่พบคือในระยะแรก ๆ จะปรากฎราอยขีดสีเขียว และจุดเล็ก ๆ ตามเส้นใบและก้านใบ ใบถัด ๆ ไป จะมีขนาดเล็กลง สีเหลืองใบม้วนที่ปลาย  เมื่อโรคนี้ระบาดมากขึ้นต้นกล้วยจะแคระแกร็น ใบขึ้นรวมกันเป็นกระจุก ดอกและปลีของต้นที่เป็นโรคจะเจริญเติบโตอย่างช้า ๆ เมื่อเกือบจะโผล่จะพองโตขึ้นบางคราวเมื่อโผล่ออกมาที่ยอด ทำให้ยอดปริ เครือเล็ก จนใช้ประโยชน์ไม่ได้ ถ้าต้นกล้วยเป็นโรคทุก ๆ หน่อที่เกิดมาก็จะเป็นโรคด้วย

การป้องกันและกำจัด ทำลายส่วนต่าง ๆ ของต้นที่เป็นโรค  หรือกอที่สงสัยจะเป็นโรค  โดยสังเกตจากอาการดังกล่าวข้างต้น

แมลงศัตรูกล้วย

แมลงศัตรูกล้วยที่สำคัญ  ได้แก่

1.  ด้วงงวงไชเหง้า ด้วงชนิดนี้ในระยะที่เป็นหนอนทำความเสียหายแก่ต้นกล้วยมากที่สุด  ตัวแต่ก็ทำความเสียหายเหมือนกันแต่น้อยกว่า  ตัวหนอนเจาะกัดกินไชชอนอยู่ภายในเหง้ากล้วยซึ่งโดยมากกินอยู่ใต้ระดับดินโคนต้น  ซึ่งไม่สามารถมองเห็นการทำลายหรือร่องรอยได้ชัด  การทำลายของหนอนทำให้ระบบการส่งน้ำและอาหารจากพื้นดินขึ้นไปเลี้ยงลำต้นขาดตอนชะงักไปเมื่อเป็นมาก ๆ หรือแม้มีหนอนเพียง 5 ตัว ในเหง้าหนึ่ง ๆ เท่านั้น เหง้าจะถูกไชชอนลำต้นจะเน่าเหม็นล้มตายไปในที่สุด  ด้วงชนิดนี้พบทำลายกล้วยทุกระยะ  ตั้งแต่หน่อ

การป้องกันและกำจัด เช่นเดียวกับด้วงงวงไชเหง้า

3.  หนอนม้วนใบ เป็นศัตรูสำคัญรองจากด้วง 2 ชนิด ดังกล่าวแล้ว  โดยตัวหนอนจะกัดกินใบจากริม แหว่งเข้ามาเป็นทางยาวและม้วนตัวอยู่จนกระทั่งเข้าดักแด้  และมีแป้งขาว ๆ หุ้มตัวด้วย  ถ้าถูกหนอนทำลายมาก ๆ จะทำให้ใบขาดวิ่นใช้ประโยชน์ไม่ได้

การป้องกันและกำจัด จับตัวหนอนมาทำลายทิ้ง  หรือโดยการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงจำพวกเมทธิลพาราไธออน เช่น พาราเทล ที.เอ็น.ฟอส พาราท้อป ฯลฯ  โดยใช้ตามอัตราส่วนที่แจ้งในฉลากยา และควรผสมสารจับใบลงไปด้วย

4.  ตั๊กแตนผี ทั้งตัวอ่อนและตัวแก่ชอบกัดกินใบ

การป้องกันและกำจัด เช่นเดียวกับหนอนม้วนใบ

5.  หนอนกระทู้ ชอบกัดกินใบตองอ่อนที่ยังไม่คลี่ หรือคลี่แล้วใหม่ ๆ โดยจะกัดเป็นรอยแหว่งไปตามขอบใบเป็นทาง รอยกัดแทะตรงกลางใบที่ทะลุเป็นรูกลม ๆ โตตามขนาดและวัยของหนอน ใบกล้วยที่ออกใหม่ หรือหน่อกล้วยโคนต้นหรือหน่อที่นำมาปลูกพอใบใหม่แตกมักจะมีหนอนกระทู้ตัวเล็ก ๆ เข้าแทะใต้ผิว เมื่อตัวหนอนโตแล้วก็สามารถกินได้ทั้งบนใบและใต้ใบ

การป้องกันและกำจัด เช่นเดียวกับหนอนม้วนใบ

6.  หนอนร่าน มีพิษตามตัว ถูกเข้าจะคัน กัดกินใบขณะที่กำลังจะกลายจากสีตองอ่อนเป็นสีเขียวแก่ คือ มีสีจัดขึ้น นอกจากกินใบกล้วยแล้ว ยังพบว่ากินใบมะพร้าวอีกด้วย

การป้องกันและกำจัด เช่นเดียวกับหนอนม้วนใบ

7.  มวนร่างแห ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบกล้วย ใบตองตรงที่มวนพวกนี้อาศัยอยู่สีจะไม่เขียวสดคือจะค่อย ๆ เหี่ยวเหลืองซีดและที่สุดก็จะแห้งเป็นแห่ง ๆ ไป ถ้าตรวจดูด้านใต้ใบจะเห็นเป็นจุดดำ ๆ ทั่ว ๆ ไป นั่นคือมูลของมวนที่ถ่ายออกมาติดอยู่ และมีคราบของตัวอ่อนลอกทิ้งไว้

การป้องกันและกำจัด เช่นเดียวกับด้วงงวงไชกาบกล้วย

8.  ด้วงเต่าแดง ตัวแก่ชอบกัดกินใบตองยอดอ่อนที่ยังม้วนกลมอยู่ ยังไม่คลี่ออกหรือคลี่ออกแล้วใหม่ ๆ ยังไม่เขียว ทำให้ใบมีรอยตำหนิเป็นรูปสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ทะลุบ้างไม่ทะลุบ้างทั่วทั้งใบ  เห็นได้ชัดเมื่อคลี่ออกตอนเขียวจัดแล้ว

การป้องกันและกำจัด รักษาความสะอาดสวนกล้วย อย่าให้เป็นที่อาศัยของแมลงได้ และอาจจะใช้เฮ็พตาคลอร์ผสมน้ำตามอัตราส่วนที่แจ้งไว้ในฉลากพ่นที่ยอดกล้วยหรือตามใบตองอ่อนให้ทั่ว

9.  หนอนปลอก จะกัดแทะใบหรือเส้นใยเอามาทำปลอกหุ้มตัว ตัวเล็กพบกัดกินบนใบตอง โดยมีปลอกหุ้มตัวชี้ไปข้างหลัง พอโตขึ้นก็จะทำปลอกใหญ่ขึ้นมักเกาะห้อยท้ายปลอกลง ชอบกัดกินอยู่ใต้ใบ

การป้องกันและกำจัด เช่นเดียวกับด้วงเต่าแดง

10.  แมลงวันผลไม้ บางแห่งเรียก “แมลงวันทอง” เป็นแมลงศัตรูของผลไม้ที่มีความสำคัญในการผลิตผลไม้เป็นการค้า  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เพราะจะทำความเสียหายกับผลไม้ที่เริ่มสุก  โดยตัวเมียชอบวางไข่ที่ผลกล้วยที่ใกล้สุก หรือมีรอยแผล หนอนที่ออกจากไข่จะไชชอนเนื้อกล้วย ให้เกิดความเสียหายเน่าเหม็น ช่วงเวลาที่ระบาดมากได้แก่ราวเดือน เมษยน-มิถุนายน ของทุกปี

การป้องกันและกำจัด ใช้เหยื่อพิษ ซึ่งเป็นสารเคมีผสม ประกอบด้วยสารเคมีที่มีชื่อทางการค้าว่า “นาสิมาน” จำนวน 200 ซี.ซี. ผสมกับมาลาไธออน 83% จำนวน 70 ซี.ซี. และน้ำ 5 ลิตร อาจผสมสารจับใบเล็กน้อยฉีดพ่นในช่วงเช้า  ด้านที่มีร่มเงา และฉีดพ่นที่ใบแก่ ห้ามฉีดพ่นที่ใบอ่อนและยอดอ่อน ให้ฉีดพ่นต้นละ 50-100 ซี.ซี.

ข้อแนะนำเพิ่มเติม ในการใช้เหยื่อพิษนี้  ควรมีการสำรวจปริมาณการระบาดของแมลงวันทองในสวนเสียก่อน  โดยใช้กับดักใส่สารล่อเมทธิล ยูจินอบ(Methyl eugenol) แล้วตรวจนับทุก ๆ 7 วัน ถ้าพบปริมาณแมลงวันทองประมาณ 10 ตัว/กับดักอัน ให้ฉีดพ่นเหยื่อพิษ(นาสิมาน+มาลาไธออน+น้ำ) 7 วัน/ครั้ง แต่ถ้าพบปริมาณแมลงวันทองมากกว่านี้  ให้ฉีดพ่นทุก ๆ 4-5 วัน ในฤดูฝนควรผสมสารจับใบลงไปด้วย  จำนวน 5-10 ซี.ซี.

การให้ผล

โดยทั่วไปแล้ว  กล้วยมักจะออกปลีเมื่ออายุราว 8 เดือน ถึง 1 ปี นับแต่วันปลูกกล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม ต่างก็ออกปลีในระยะใกล้เคียงกันเมื่อปลูกไว้ในท้องที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินเหมือน ๆ กัน และหน่อที่ปลูกมีขนาดเท่า ๆ กัน โดยกล้วยไข่มักจะออกเครือก่อน ตามด้วยกล้วยน้ำว้าและกล้วยหอมออกล่าที่สุด ก่อนที่กล้วยจะแทงปลีจะสังเกตเห็นว่ากล้วยจะแทงใบ ซึ่งมีลักษณะต่างกับใบปกติของกล้วย  คือ มีขนาดเล็กกว่า และมักจะชี้ตรงขึ้นท้องฟ้า เราเรียกว่า “ใบธง” เพื่อเป็นสัญญาณว่ากล้วยจะออกปลี  ซึ่งปลีจะโผล่พ้นตายอดแล้วจะเริ่มทยอยบานให้เห็นดอกกล้ว(หวีกล้วย) ไล่เวียนลงมา  ซึ่งจะเจริญเติบโตเป็นหวีกล้วยต่อไป  ในที่สุดปลีจะบานถึงดอกกล้วยหรือหวีกล้วยซึ่งมีขนาดเล็กไม่สมบูรณ์อยู่ส่วนปลายของปลี ซึ่งเราเรียกว่า หวีตีนเต่า ซึ่งทั้งหมดนี้จะใช้เวลาประมาณ 10-17 วัน หลังจากตกปลี เมื่อถึงระยะนี้แล้วควรที่จะตัดปลีออก  เพื่อให้ความเจริญเติบโตแก่หวีกล้วยได้อย่างเต็มที่ และจนถึงระยะที่จะตัดไปใช้บริโภค  หรือส่งจำหน่ายได้

กล้วยเครือหนึ่ง ๆ จะมีหวีสมบูรณ์ประมาณ 4-6 หวี ๆ ละ 10-16 ผล เฉลี่ยแล้วในเครือหนึ่ง ๆ มี 70 ผล ดังนั้น ในเนื้อที่ 1 ไร่ ถ้าปลูก 64 ต้น จะได้กล้วยประมาณ 4,480 ผล

การปลูกกล้วยหอมนั้น หลังจากเก็บเครือแล้ว ชาวสวนจะรือสวนทิ้งและนำหน่อย้ายไปปลูกในพื้นที่ใหม่มากกว่าจะปลูกซ้ำในพื้นที่เดิม เพราะผลผลิตจะลดลง ไม่ดีเหมือนกับปลูกในพื้นที่ใหม่  ซึ่งพื้นที่เดิมจะใช้ปลูกพืชล้มลุกชนิดอื่นหมุนเวียน  ในปีต่อไปจึงจะกลับมาปลูกกล้วยหอมใหม่  สำหรับกล้วยน้ำว้านั้น  สวนที่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีจะมีอายุยืนนาน หลังจากเก็บเครือจากต้นแม่แล้วเกษตรกรก็จะเลี้ยงหน่อที่แข็งแรงขึ้นทดแทนจนกว่าจะเห็นว่ากอกล้วยเริ่มโทรมและผลผลิตไม่คุ้มค่าการดูแลรักษาแล้ว  จึงจะรื้อสวนปลูกใหม่

การเก็บเกี่ยว

ระยะการเก็บเกี่ยวของกล้วยนั้นแตกต่างกันตามชนิดของกล้วยและวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ว่า ใช้บริโภคภายในประเทศหรือส่งขายยังต่างประเทศ กล่าวคือ กล้วยน้ำว้าใช้บริโภคภายในประเทศ กล้วยไข่ใช้บริโภคภายในประเทศ และส่งขายยังต่างประเทศบ้างเล็กน้อย  ส่วนกล้วยหอมนั้นใช้ทั้งบริโภคภายในประเทศ และส่งขายไปยังต่างประเทศปีละจำนวนมากในการตัดเครือกล้วยเพื่อส่งขายบริโภคภายในประเทศให้รอจนถึงผลกล้วยในส่วนรวมของเครือมีลักษณะค่อนข้างกลมถึงกลมเหลี่ยม  ผลเริ่มลีบ  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผลกล้วยโตเต็มที่แล้ว เช่นในกรณีของกล้วยหอมจะประมาณ 110 วัน  หลังจากปลีโผล่พ้นยอดออกมา จึงค่อยตัดลงมา  และถ้าทิ้งไว้ในสภาพอากาศปกติจะเริ่มสุกและเปลี่ยนสีภายใน 4-7 วัน ถ้าหากมีความจำเป็นต้องขนส่งไปในระยะทางไกล หรือต้องการให้สุกช้ากว่านี้ ก็ตัดเครือกล้วยให้อ่อนหรือเร็วกว่านี้ได้อีก  ส่วนกล้วยไข่และกล้วยน้ำว้าจะใช้เวลาน้อยกว่ากล้วยหอม ส่วนการตัดกล้วยเพื่อส่งไปขายยังต่างประเทศ  ซึ่งได้แก่กล้วยหอมนั้น ควรตัดเมื่อเครือมีอายุประมาณ 90 วันหลังจากปลีโผล่พ้นยอดออกมา คือ ในขณะที่ผลกล้วยยังคงมีเหลี่ยมอยู่ประมาณ 80% จะช่วยยืดระยะเวลาการสุกของกล้วยได้นาน  พอที่จะขนส่งไปสู่ตลาดในต่างประเทศ ซึ่งประเทศเหล่านี้มักจะรับเฉพาะกล้วยหอมที่ยังมีสภาพเขียวอยู่เท่านั้น

เมื่อลงมือเก็บเกี่ยว  โดยเฉพาะกล้วยหอม  งานขั้นแรกคือควรเก็บไม้ค้ำเครือกล้วยที่ใช้ค้ำอยู่ออกให้หมด  การตัดเครือกล้วยลงมาต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง อย่าให้หวีกล้วยชอกช้ำเพราะจะทำให้เกิดรอยตำหนิเมื่อกล้วยสุก  ในกรณีต้นกล้วยสูงอาจใช้วิธีฟันลำกล้วยให้ลึกพอที่ลำต้นกล้วยจะค่อยเอนโน้มมาในทิศทางของผู้รับ  ซึ่งถ้าหากคนเดียวกระทำไม่สะดวกก็ควรใช้ 2 คน เพื่อให้ได้เครือที่สมบูรณ์ไม่มีรอยช้ำเมื่อตัดเครือกล้วยลงมาได้แล้ว  ให้รีบนำเครือกล้วยตั้งปลายเครือขึ้นข้างบน ให้รอยตัดอยู่ข้างล่าง เพื่อมิให้ยางกล้วยไหลย้อนลงเปรอะเปื้อนหวีกล้วย  กัดผิวกล้วยให้เสียเป็นตำหนิได้  จากนั้นก็ลำเลียงด้วยความระมัดระวังอย่าให้กระทบกระเทือน หรือเปรอะเปือนน้ำยางไปยังโรงเรือนเพื่อชำแหละและเข้าขบวนการหลังการเก็บเกี่ยว ก่อนที่จะนำไปสู่ตลาดขายต่อไป

การบ่มกล้วย

ตามธรรมดากล้วยที่จะขายเพื่อบริโภคภายในประเทศนั้น เราจะเก็บเมื่อกล้วยแก่เต็มที่ ดังนั้น หลังจากเก็บมาไว้ในอุณหภูมิห้องหรือสภาพอากาศปกติ กล้วยจะเริ่มสุกเปลี่ยนสี ในเวลาประมาณ 4-7 วัน  ซึ่งพอเพียงกับการขนส่งและขายในตลาดต่างประเทศ  ซึ่งถ้าหากจะต้องการให้สุกเร็วกว่านี้และมีการสุกสม่ำเสมอทั่วถึงกัน เราจึงนิยมใช้วิธีการบ่มกล้วย  ซึ่งจะสุกเร็วขึ้นใช้เวลาประมาณ 2 วัน  โดยใช้สารเคมีที่มีชื่อว่าแคลเซี่ยมคาร์ไบด์  หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ถ่านแก๊ซ” ทุบเป็นก้อนเล็ก ๆ ห่อด้วยใบตอง หรือกระดาษ ซุกไว้ในภาชนะที่บรรจุกล้วยไว้แล้วปิดให้มิดชิด  ตั้งทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง  เมื่อถ่านก๊าซได้รับความชื้นจากผลกล้วยจะปล่อยก๊าซอะเซททีลีนออกมามีผลเร่งให้กล้วยสุกไวและสม่ำเสมอขึ้น

สำหรับการส่งกล้วยไปขายยังต่างประเทศ มักใช้วิธีกะระยะเวลาในการตัดกล้วยให้ได้ขนาดที่กล้วยจะสามารถถูกขนส่งไปถึงปลายทางและเพื่อระยะเวลาสำหรับวางขายให้สุกทันพอดี

ปลูกกล้วยพันธุ์อะไรดี

ถ้าหากท่านเกษตรกรสนใจที่จะปลูกกล้วยเป็นอาชีพรองหรือ อาชีพเสริมก็ขอให้หันมาพิจารณากันให้ดีเสียก่อนว่าควรจะปลูกกล้วยพันธุ์อะไรดีจึงจะเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งในขั้นต้นนี้เรายังไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องมุ่งไปยังตลาดต่างประเทศหรือเมืองนอกเมืองนากันหรอก  เอากันแค่ง่าย ๆ ว่าตลาดในท้องถิ่นของท่านนิยมบริโภคกล้วยชนิดใดก็พอแล้ว

1.  กล้วยไข่ แหล่งที่นิยมปลูกกันมาก ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก ตาก สุโขทัย เพชรบุรี ชลบุรี ปัจจุบันกล้วยไข่ก็มีการส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศกันบ้างแล้ว  แต่จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข  ขั้นตอนการผลิตการปลูก  เพื่อเน้นให้มีคุณภาพมาตรฐานของตลาดต่างประเทศกันต่อไป

2.  กล้วยหอม ที่นิยมปลูกกันมากได้แก่ กล้วยหอมทอง  ซึ่งเหมาะแก่การบริโภคภายในประเทศมากกว่าที่จะส่งออกไปขายต่างประเทศทั้งนี้เนื่องจากกล้วยหอมของไทยนั้นมีข้อเสียคือเปลือกบางเนื้อเหลวเน่าเสียง่าย ไม่เหมาะที่จะขนส่งไปต่างประเทศและวางแผงขายในระยะเวลานาน ๆ ซึ่งต่างกับพันธุ์กล้วยหอมทองไต้หวันและฟิลิปปินส์  ซึ่งมีเปลือกหนา เนื้อเหนียว ไม่เน่าเสียง่าย ถึงเปลือกจะแลดูช้ำดำ แต่เนื้อกล้วยก็ยังผ่องเหนียวหนึบกินอร่อยกว่ากล้วยหอมทองบ้านเราอย่างเทียบกันไม่ติดเลยจึงเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ  สำหรับพื้นที่การปลูกกล้วยหอมนั้นนิยมปลูกกันทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะพื้นที่ในจังหวัดที่ใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ ได้แก่ ปทุมธานี นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี นนทบุรี  เป็นต้น  สำหรับการส่งออกไปยังต่างประเทศนั้นยังไม่ขยับไปถึงไหน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศผู้ผลิตรายอื่น ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน อเมริกาใต้

ปัจจุบันนี้กรมส่งเสริมการเกษตรก็ได้พยายามที่จะพัฒนาพันธุ์กล้วยหอมซึ่งนำพันธุ์มาจากต่างประเทศ  ให้เกษตรกรทดลองปลูกเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะถ้าหากเกษตรกรสนใจจะปลูกเป็นการค้าก็ควรจะติดต่อกับผู้ซื้อโดยตรงเพื่อที่จะได้ทราบราคารับซื้อตลอดจนขั้นตอนในการผลิต เพื่อการส่งออกโดยเฉพาะ

สำหรับราคากล้วยหอมที่จำหน่ายกันอยู่ในปัจจุบันนี้นั้นหวีหนึ่งราคาไม่ต่ำกว่า 25-30 บาท คิดเฉลี่ยแล้วผลหนึ่งราคาไม่ต่ำกว่า 2-3 บาท นับได้ว่าเป็นกล้วยที่ยังทำรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนกล้วยได้เป็นอย่างดีทีเดียว

นอกจากนี้ในปัจจุบันพื้นที่การเกษตรในจังหวัดรอบ ๆ กรุงเทพฯ ได้ถูกแปรเปลี่ยนรูปโฉมไปเป็นตึกแถวบ้านจัดสรรมากขึ้นทุกปีมีผลทำให้พื้นที่การปลูกกล้วยหอมลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ปริมาณกล้วยหอมที่จะส่งเข้าป้อนตลาดก็ไม่มากจนล้นตลาดอย่างเช่นสมัยก่อน  ถึงแม้ว่าจะมีกล้วยหอมจากต่างจังหวัดเข้าสู่ตลาดกรุงเทพฯ บ้างก็ตามแต่ก็มีขีดจำกัดในเรื่องของการขนส่ง ทั้งนี้เนื่องจากกล้วยหอมทองมีข้อเสียคือเปลือกบางชอกช้ำได้ง่าย ถ้าหากเปลือกมีรอยช้ำดำคล้ำแล้วนอกจากจะทำให้ผิวสีของเปลือกไม่สวยแล้วเนื้อยังเป็นรอยช้ำดำไม่น่ารับประทาน

3.  กล้วยเล็บมือนาง เป็นกล้วยพันธุ์เก่าแก่ที่นิยมปลูกกันมากทางภาคใต้ของประเทศไทย  ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปเป็นกล้วยที่ปลูกง่ายโรคแมลงศัตรูพืชรบกวนน้อยมีกลิ่นและรสชาติหอมหวาน ส่วนมากเกษตรกรนิยมปลูกเอาไว้เป็นพืชแซมข้างบ้านมากกว่าที่จะปลูกกันเป็นล่ำเป็นสันเป็นไร่  ปัจจุบันมีการส่งเข้ามาขายในตลาดกรุงเทพฯ บ้างเช่นกันแต่มีปริมาณไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับกล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า

4.  กล้วยหักมุก เป็นกล้วยที่ปลูกกันมากในพื้นที่แถบอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ชลบุรี นิยมนำมาทำเป็นกล้วยหักมุกเผา กล้วยเชื่อมและกล้วยฉาบเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นการตลาดจึงอยู่ในวงจำกัดเท่านั้น

5.  กล้วยน้ำว้า เป็นกล้วยที่สามารถยึดครองตลาดและมีส่วนแบ่งการตลาดได้มากกว่ากล้วยพันธุ์อื่นทั้งหมด ทั้งนี้เพราะกล้วยน้ำว้านั้นใช้ประโยชน์ได้สาระพัดอย่างมากกว่ากล้วยชนิดอื่น ๆ เริ่มต้นตั้งแต่ใบใช้ในการห่อขนม เย็บกระทง  ทำบายสี ห่อดอกไม้ ฯลฯ และมีคุณภาพดีเป็นพิเศษ คือทางเหนียว(ใบเหนียว) ไม่กรอบหรือแตกง่ายอย่างเช่นทางกล้วยไข่(ใบกล้วย) ทางกล้วยหอม(ใบกล้วย)

ส่วนผลนั้นนอกจากจะกินเป็นกล้วยสุกซึ่งเป็นกล้วยที่มีคุณค่าทางด้านโภชนาการสูงและนิยมกินกันในกลุ่มบุคคลทุกระดับชั้นแล้วยังสามารถนำมาแปรรูปได้หลายอย่างเช่น กล้วยทอด กล้วยบวดชี กล้วยแขก กล้วยเชื่อม กล้วยตาก กล้วยฉาบ กล้วยกวน ขนมกล้วย สรุปแล้วกล้วยน้ำว้าสามารถแปรรูปได้มากกว่ากล้วยชนิดอื่น

กล้วยน้ำว้าจึงเป็นกล้วยที่ปลูกกันมากที่สุดในประเทศไทยเพราะสามารถขายได้ทั้งใบและก็ผล เกษตรส่วนมากนิยมปลูกเป็นพืชแซมและเป็นพืชเสริมตามที่ว่างเปล่าริมสวน ริมนา คันบ่อปลา คันร่องสวน หรือปลูกเป็นสวนกล้วยก็มีซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งรายได้หลักและรายได้เสริมและมีรายได้แทบทุกวัน

นอกจากนี้รัฐบาลก็กำลังส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยหันมาสนใจปลูกกล้วยกันเอาไว้บ้านละกอสองกอเพื่อช่วยลดมลภาวะอันเนื่องมาจากควันพิษ และตัดใบเอามาใช้สอยทดแทนการใช้ถุงพลาสติกที่นับวันจะก่อปัญหาทวีคูณขึ้นทุกวันทั้งนี้เพราะว่าถุงพลาสติกนั้นย่อยสลายได้ยากทำให้แม่น้ำ คู คลองตื้นเขิน และท่อระบายน้ำอุดตัน