กล้วยหอมทองปลอดสารพิษเจาะตลาดญี่ปุ่น

กล้วยหอมทอง เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพในการส่งออก โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัท แพนแปซิฟิคฟู้ด คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นำเข้ากล้วยหอมทองของประเทศไทย และให้สหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด เป็นผู้ดำเนินการด้านการผลิตและส่งออก โดยส่งไปยังประเทศญี่ปุ่นครั้งแรก เมื่อ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙ จำนวน ๖ ตัน/สัปดาห์

ต่อมาเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๒ ชุมนุมสหกรณ์ผู้บริโภคชุโตเคน ประเทศญี่ปุ่น หรือชุมนุมสหกรณ์ผู้บริโภคในปัจจุบันเดินทางมาเจรจาและได้ตกลงรับซื้อกล้วยหอมทองจาก สหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด โดยตรง มาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยส่งเฉลี่ยสัปดาห์ละ ๘ ตัน

ล่าสุด นายสมชาย  ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยถึงปริมาณการส่งออกกล้วยหอมทองของไทยไปจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่นว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘-๒๕๕๐ รวมมูลค่าการส่งออกกล้วยหอมของสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด ๑,๐๙๘.๘๙ ตัน มูลค่า ๑๕.๑๕ ล้านบาท สหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด ปริมาณ ๑,๔๐๑.๘๓ ตัน มูลค่า ๓๕.๐๔ ล้านบาท รวมสหกรณ์ทั้งสองแห่งมีมูลค่าส่งออกสูงถึง ๒,๕๐๐.๗๒ ตัน มูลค่าสูงถึง ๕๐.๑๙ ล้านบาท ในส่วนของราคากล้วยหอมทองในการส่งออก จะขึ้นอยู่กับอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา ณ ที่ทำการสหกรณ์ โดยสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด จะส่งกล้วยหอมทองให้กับบริษัท แพนแปซิฟิคฟู้ด คอร์ปอเรชั่น จำกัด ๑๕ บาท/กก. และสหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด ส่งให้สหกรณ์ผู้บริโภคโตโต้ ประเทศญี่ปุ่น ๒๕ บาท/กก.

ส่วนราคากล้วยหอมทองที่สหกรณ์รับซื้อจากสมาชิกราคา ณ สวนของสมาชิกสหกรณ์ โดยสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด รับซื้อ ๑๐.๕๐บาท/กก. สหกรณ์การเกษตรท่ายาง รับซื้อจากสมาชิก ๑๒ บาท/กก. ซึ่งนับได้ว่าคุณภาพกล้วยหอมทองที่สหกรณ์รับซื้อจากสมาชิก จำนวน ๑๐๐ กก. สามารถคัดแยกออกเป็นกล้วยหอมในเกรดส่งออกร้อยละ ๗๐-๗๕ ส่วนกล้วยหอมทองที่ตกเกรดหรือไม่ได้มาตรฐานการส่งออก ร้อยละ ๒๕-๓๐ ทางสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด จะขายให้กับพ่อค้าในจังหวัดราชบุรีในราคาประมาณ ๓-๔ บาท/กก. สหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด จะขายให้กับโรงงานแปรรูป และดรงแรมในกรุงเทพฯ ตลอดถึงห้างค้าปลีก ประมาณ ๖-๗ บาท/กก.

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เนื่องจากขณะนี้การดำเนินงาน ในการส่งออกกล้วยหอมทองประสบความสำเร็จ ดังนั้นกรมส่งเสริมสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้เร่งดำเนินการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนสหกรณ์การเกษตรที่มีความพร้อมและศักยภาพให้มีการพัฒนาด้านการผลิตเพิ่มมากขึ้นเพื่อก้าวสู่เวทีโลกทั้งด้านวิชาการ การผลิต การแปรรูป การตลาด และเงินทุน โดยใชประสบการณ์ของสหกรณ์ที่ประสบความสำเร็จแล้วมาเป็นแม่แบบ ทั้งนี้เพื่อพัฒนาขบวนการสหกรณ์ต่าง ๆ อันจะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและแรงงานของประเทศในอนาคต

ส่วนพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกคือ ต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่มีลมแรง ถ้ามีลมแรงความเร็วประมาณ ๔๐-๕๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะทำให้เกิดความเสียหายบริเวณโคนต้นกล้วยได้ ถ้าความเร็วลมตั้งแต่ ๙๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป จะทำให้ต้นกล้วยหักล้มลงทันที ดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำที่สามารถนำมาใช้การได้ในกรณีฝนทิ้งช่วง หรือกรณีฝนตกมากเกินไป ต้องมีทางระบายน้ำได้ด้วย อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตไม่ควรต่ำกว่า ๑๕ องศาเซลเซียส และไม่ควรสูงกว่า ๓๕ องศาเซลเซียส ใช้พันธุ์พื้นเมืองในการเพาะปลูก ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตที่สูง มีรสชาติอร่อยหอมหวาน และผลโต

โดยสมาชิกได้ใช้หน่อในการขยายพันธุ์ ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนพันธุ์ระหว่างเกษตรกรด้วยกัน หรือซื้อขายหน่อพันธุ์ในอัตราหน่อละ ๓-๔ บาท ปลูกแบบไถเป็นร่อง โดยการใช้รถไถหรือแรงงานคน ทำเป็นร่องกว้างประมาณ ๕๐-๑๐๐ ซม. มีความลึกประมาณ ๓๐-๕๐ ซม. ระยะห่างระหว่างท้องร่องของแต่ละแถว ๒ เมตร การปลูกจะนำหน่อกล้วยปลูกในท้องร่อง ระยะห่างระหว่างต้นและระหว่างแถว ๒x๒ เมตร