กล้วยไม้:กล้วยไม้ดิน

จิตราพรรณ  พิลึก

ภาควิชาพืชสวน

คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์

กล้วยไม้ดินเป็นกล้วยไม้ป่าประเภทหนึ่งที่พบขึ้นบริเวณพื้นดิน  บางชนิดพบขึ้นอยู่ใต้ร่มไม้  บางชนิดพบในทุ่งหญ้า ดอกมีหลายสี เช่น ขาว เหลือง เขียว ม่วง ม่วงแดง บางชนิดมีสีน้ำตาล  ในฤดูแล้งจะทิ้งใบเหลือหัวฝังอยู่ใต้ดิน ซึ่งมีลักษณะร่วนซุยผสมกับใบไม้ผุ เมื่อได้รับความชุ่มชื้น มีฝนตกลงมาจะผลิดอกหรือช่อดอกพร้อมใบ ปลูกเลี้ยงง่าย ต้นมีลักษณะที่จะใช้เป็นไม้กระถาง

กล้วยไม้ดินได้รับความนิยมในต่างประเทศ

ในประเทศเขตกึ่งหนาวหรือเขตหนาวจะพบกล้วยไม้ป่าส่วนมากเป็นกล้วยไม้ดิน เขาจึงคุ้นเคยกับการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เหล่านี้ นิยมนำมาปลูกเป็นกล้วยไม้กระถางประดับบ้านในตลาดต้นไม้มีการนำหัวกล้วยไม้ดินหลายชนิดมาวางขายในกลุ่มไม้หัว  จากรายงานการส่งออกต้นกล้วยไม้ของด่านกักกันพืช กรมวิชาการเกษตรพบว่ามีการส่งออกต้นกล้วยไม้ดินจำนวนมาก สกุลที่ส่งออกมากที่สุดคือ Habenaria (เช่น ลิ้นมังกร) ส่งออกในปี พ.ศ.2533 จำนวน 64,625 หัว ปี 2534 รวม 134,400 หัว และอีก 66,604 หัวในปี 2535 รองลงมาคือสกุลคาลันเธ (Catanthe) ส่งออกในปี 2533-35 จำนวน 38,992 หัว, 30,366  หัว และ 17,255 หัว ตามลำดับ  สกุลอื่นๆ นอกจากนี้เช่นเอื้องดินใบหมาก (Spathoglottis) ว่านอึ่ง (Eulophia) เอื้องพร้าว (Phaius) รวมแล้วปีละหลายพันหัว กล้วยไม้เหล่านี้เกือบทั้งหมดเก็บจากป่าและส่วนใหญ่ส่งไปประเทศญี่ปุ่น

การอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ป่าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สถาบันวิจัยและพัฒนา แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ทุนวิจัยในการรวบรวมและขยายพันธุ์ในสภาพปลอดเชื้อตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปัจจุบันได้รวบรวมต้น และนำฝักมาเพาะเมล็ดได้มากกว่า 100 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นกล้วยไม้ดิน 21 ชนิด

กล้วยไม้ดินเป็นที่รู้จักกันตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2460

จอมพลสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิจ  ได้ทรงกล่าวถึงกล้วยไม้ดินต้นหนึ่งในสกุล Eulophia ในหนังสือตำราเล่นกล้วยไม้หน้า 192-193 ที่พิมพ์ในปี พ.ศ. 2460 ว่า

“…อนึ่งกล้วยไม้ดินชนิดหนึ่งในจังหวัดปทุมธานีนี้เองมีมาก ชาวบ้านในท้องถิ่นจะเรียกอย่างไรหาทราบไม่  แต่ในกรุงนี้มีนามเก่าว่า “ราชาวดี” นั้นก็คือกล้วยไม้สกุลออยโลเฟียนี้เอง”

ต้นกล้วยไม้ดินในสกุลยูโลเฟีย (Eulophia) ในเมืองไทยพบเพียง 12 ชนิด ที่รู้จักกันแพร่หลายมีเพียงไม่กี่ชนิด

เอื้องราชาวดี (Eulophia dufossei)

พบตามโคนต้นไม้ในป่าละเมาะที่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เป็นป่าโปร่งมีแสงแดดส่องถึงในช่วงเช้าและบ่าย ในช่วงฤดูฝนมีน้ำไหลบ่ามาท่วมบริเวณนั้น มีหัวฝังดินอยู่ตื้น ๆ พบรวมกลุ่มใหญ่มีประมาณ 30-40 หัว ชาวบ้านเรียกว่า “เอื้องตะขาบ” เพราะมีหัวแบนเรียงต่อ ๆ กัน มีรากอยู่ใต้หัวคล้ายตะขาบยักษ์  นอกจากนั้นยังพบที่บ้านเดิ่น อ.ลาดยาว ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ใกล้กับวัดหลวงพ่อจ้อย ที่มีชื่อเสียงในจังหวัด นครสวรรค์

เอื้องราชาวดีมีดอกหลายสีตั้งแต่เหลืองถึงม่วงแดง  ดอกกว้างประมาณ 3 ซม. กลีบในกว้างและแผ่บานออก จึงดูสวยงามกว่าเอื้องดิน ช่อดอกอาจยาวถึง 96 ซม. ดอกบานในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ และอาจพบบานเลยไปถึงเดือนเมษายน ชาวบ้านแถบ อ.สามโคกจะตัดช่อดอกมาบูชาพระ ปัจจุบันหายากเนื่องจากถูกไถที่เหลือพื้นที่ป่าละเมาะน้อยเต็มที นับว่าเป็นต้นกล้วยไม้คู่เมืองปทุมธานีที่สวยงามต้นหนึ่งและปลูกเลี้ยงให้ออกดอกง่ายในแถบภาคกลาง

เอื้องบุษราคัม (Eulophia flava)

เป็นกล้วยไม้ดินที่มีความสวยงามมากที่สุด และหายากที่สุด มีรายงานว่าพบแถบอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว และจังหวัดเพชรบูรณ์ ข้าพเจ้าไปเห็นดอกกำลังบานสะพรั่งที่มณฑลไหหลำ ประเทศจีน ในช่วงปลายเดือนเมษายน เขาปลูกยกร่องแบบปลูกผัก ช่อดอกตั้งตรงสูง 1-2 เมตร มีดอกเรียงวนรอบช่อ 30-50 ดอก ดอกสีเหลืองสด ดอกกว้าง 4.5-5 ซม. ดอกบานทน 20-30 วัน และเหมือนโชคช่วย  ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ดร.กฤษณ์  มงคลปัญญา อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เก็บฝักจาก จ.เชียงรายมามอบให้ ต่อจากนั้นอีก 2 ปี ก็ได้รับมาอีก 3 ฝัก นำมาทดลองเพาะเมล็ดในสภาพปลอดเชื้อ พบว่าเมล็ดงอกได้ดีมาก งอกเป็นก้อนกลมสีขาวขุ่นขนาด 0.1-0.2 ม.ม. หลังเพาะเพียง 1 เดือนและพัฒนาเป็นต้นอ่อนที่มีหัวเล็ก ๆ ที่สามารถเอาออกปลูกในเรือนได้หลังเพาะนาน 6 เดือน  ต้นอ่อนนี้ปลูกให้รอดตายได้โดยฝังหัวและรากลงในเครื่องปลูกที่ใช้ทรายผสมขี้เถ้าแกลบในอัตรา 1:1

เอื้องบุษราคัมนี้จะออกดอกประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม  จากนั้นจึงผลิตใบสีเขียวยาว 100-120 ซม. ต้นละ 3-4 ใบ พอหมดฝน ใบจะแห้งเหลือแต่หัวฝังอยู่ในดิน หัวมีลักษณะรูปไข่ค่อนข้างแบน กว้าง 5-5.5 ซม. ยาว 6-8.5 ซม. หนา 3.5-4.5 ซม. มักพบเป็นกอโดยหัวเรียงต่อกันเป็นแถวยาวมี 6-7 หัว ฝังตื้น ๆ อยู่ใต้ผิวดิน

ว่านช้างผสมโขลงหรือว่านสาวหลง

ต้นกล้วยไม้ดินยูโลเฟียชนิดนี้พบวางอยู่ในร้านขายว่าน เจ้าของร้านโฆษณาสรรพคุณว่าดีมากในทางเมตตามหานิยม มีหัวสีเขียวอยู่เหนือดิน หัวมีลักษณะคล้ายรูปไข่ สูงไม่เกิน 10 ซม. มีใบประมาณ 5 ใบ ใบคล้ายหญ้ายาว 30 ซม. กว้าง 1 ซม. ช่อดอกยาว 30-40 ซม. ไม่มีแขนงช่อ ดอกสีเขียวขนาดเล็กกว้างประมาณ 0.4 ซม. ยาว 1.4 ซม. เมื่อเข้าฤดูแล้งจะทิ้งใบและช่อดอกออกจากตาที่โคนลำต้นนี้ชื่อ Eulophia andamanensis (ชื่อเดิม Eulophia keithii) เมื่อปี พ.ศ.2536 ข้าพเจ้าไปเที่ยวตลาดน้ำที่ดำเนินสะดวก  พบขึ้นเป็นกอใหญ่ ๆ อยู่แถบริมตลิ่ง  คนแถวนั้นเล่าว่าพบทั่ว ๆ ไปและขึ้นเป็นวัชพืช ถอนต้นวางทิ้งก็ไม่ตาย ต้องโยนลงน้ำไป แต่คงไม่ตายอีก เพราะลอยไปติดริมตลิ่งก็งอกต้นได้ใหม่

ในไทยพบอีกชนิดหนึ่งซึ่งคล้ายกัน แต่หัวมีขนาดใหญ่กว่า ปลายเรียวสูง 15-25 ซม. ช่อยาวกว่าและแตกแขนงช่อหลายแขนง ช่อยาวประมาณ 80 ซม. ดอกสีเขียวเหมือนกันแต่แผ่นปากมีสีชมพูเรื่อ ๆ และมีหนามสั้น ๆ เป็นกระจุกที่กลางแผ่นปาก ชาวบ้านเรียกต้นนี้ว่า “เขาควาย” ชื่อ Eulophia graminea

ว่านดิน (Eulophia speafabilis หรือชื่อเดิม E. nuda)

พบในป่าทางภาคเหนือและภาคอิสาน มีหัวอยู่ใต้ดิน หัวกว้างประมาณ 3 ซม. มี 3-4 ใบ ช่อดอกยาวประมาณ 27 ซม. ก้านช่อยาว 15 ซม. มีดอกในช่อ 15-18 ดอก ดอกมีหลายสี พบตั้งแต่ชนิดที่มีดอกสีเหลือง เขียวอมเหลือง ปากสีขาว ดอกสีม่วงอ่อนถึงม่วงแดงเข้ม ดอกกว้างประมาณ 2 ซม. กลีบในทั้งคู่พุ่งมาด้านหน้า ดอกบานช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน เป็นกล้วยไม้ดินที่มีดอกสวย สีสะดุดตาชนิดหนึ่ง

ว่านอึ่ง (Eulophia herbacea)

หัวมีลักษณะคล้ายตัวอึ่งอ่างหมอบอยู่ กว้างประมาณ 3 ซม. ช่อดอกยาวประมาณ 30 ซม. ช่อตั้งตรง มีดอก 10-12 ดอก/ช่อ ดอกกว้าง 3-3.5 ซม. กลีบนอกสีเขียว กลีบในสีขาว ปากสีขาว บานในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม  ถึงแม้ว่าจะมีสีเขียวแต่มีกลิ่นหอมมาก  พบในแถบจังหวัดกำแพงเพชร  เพชรบุรี  นครราชสีมา และปราจีนบุรี

การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ดิน

ปลูกเลี้ยงในดินผสมที่ค่อนข้างโปร่ง และไม่อุ้มน้ำจนแฉะ ส่วนผสมประกอบด้วยใบไม้ผุหรือปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยที่หมักจากชานอ้อย ผสมกับขี้เถ้าแกลบ ทราย กาบมะพร้าวสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ถ่านก้อนเล็ก ๆ เลือกใช้ตามที่จะหาได้ ไม่จำเป็นต้องครบตามนี้ เมื่อผสมเสร็จแล้วรดน้ำ สังเกตว่าน้ำซึมผ่านได้เร็ว ไม่แฉะ ถือเป็นใช้ได้ ถ้าผสมปุ๋ยมีเปลือก (ปุ๋ยละลายช้า) ลงไปสัก 1 ช้อนชา จะดีมาก

หลังจากปลูกต้นที่มีหัวลงในกระถางแล้ววางไว้ใต้ร่มไม้ ให้แสงส่องถึงในช่วงเช้าหรือบ่าย หรือวางในเรือนให้แสง 30-50℅ รดน้ำทุกวัน ถ้าผสมปุ๋ยมีเปลือก (ปุ๋ยละลายช้า) ซึ่งค่อย ๆ ละลายสารอาหารออกมาให้ต้นไม้ได้รับแล้ว ไม่จำเป็นต้องรดปุ๋ยทางใบอีก  หลังจากต้นทิ้งใบหมดแล้วยกกระถางเก็บไว้ในสวนที่ไม่ต้องรดน้ำ ทิ้งไว้จนได้รับน้ำฝนก็จะผลิช่อดอกออกมา  ถ้าจะเลี้ยงให้งามก่อนถึงฤดูฝนควรเปลี่ยนเครื่องปลูกใหม่และให้ผสมเครื่องปลูกเดิม่ลงไปประมาณ ¼ ต้นจะมีการเจริญเติบโตดีมาก

การขยายพันธุ์

เมื่อต้นกล้วยไม้ดินเกิดหลายหัวในกอ  แยกแต่หัวออกปลูกลงกระถาง ถ้าหัวขนาดใหญ่สามารถแยกแต่ละหัวได้ ถ้าหัวขนาดเล็กควรแยกไป 2 หัว/กอ

กล้วยไม้ดินหลังจากดอกบานจะติดฝักได้ง่าย เก็บฝักมาเพาะเมล็ดในสภาพปลอดเชื้อ เมล็ดสามารถงอกได้ดีในอาหารแข็งสูตร Vacin & Went