กล๊อกซีเนีย

กล๊อกซีเนีย

กล๊อกซีเนีย เป็นไม้กระถางที่มีดอกและใบงดงามมาก การเลี้ยงดูต้องทำอย่างระมัดระวังมาตั้งแต่ต้นเพื่อให้ได้ใบที่สดสะอาด ไม่มีรอยรบกวนจากโรคและแมลง หรือชํ้าเสียหายจากการให้น้ำและการจัดแสงไม่ถูกต้อง ลักษณะของกล๊อกซีเนียที่ดีนั้น การจัดเรียงของใบและดอกต้องได้สัดส่วนกัน ใบ ต้องกางผึ่งออกปรกขอบกระถางดอกต้องชูขึ้นเหนือต้นและใบด้วยก้านดอกที่ยาวและแข็งแรงไม่อ่อนเอน ดอกต้องมีสีสด เนื้อกลีบดะเอียดเหมือนกำมะหยี่ บางต้นมีลักษณะพิเศษคือปลายกลีบหยักพลิ้วเป็นคลื่นถี่ๆ สวยงามมาก จำนวนดอกรุ่นแรกต่อต้นเมื่อปลูกจากเมล็ดจะมีตั้งแต่ 2-15 ดอกและบานนานเป็นเดือน การคัดเลือกสายต้นจึงจะทำให้ได้ลักษณะตามต้องการเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป

ปัญหาที่พบในการปลูกกล๊อกซีเนียมีหลายอย่าง เช่น

-แสง

-เครื่องปลูก

-การให้น้ำ

-การให้ปุ๋ย

ทั้ง 4 ปัจจัยนี้มีความสำคัญเท่าๆ กัน ถ้าสามารถจัดการกับปัจจัยเหล่านื้ได้ถูกต้องก็จะทำให้สามารถปลูกกล้อกซีเนียได้งามดี

แสง เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะกล๊อกซีเนียเป็นไม้ในร่ม แสงมีความเข้มสูงเกินไปจะเป็นอันตราย เท่าที่ทดลองดูพบว่า การปลูกกล๊อกซีเนียเป็นจำนวนมากจำเป็นต้องมีโรงเรือน ซึ่งจะทำหน้าที่บังแดด ลม และฝน โรงเรือนนั้นควรบังร่มทางด้านบนให้ได้แสงเท่าๆ กันตลอดทั้งโรง ถ้าปลูกเลี้ยงในที่บังแสงข้างใดข้างหนึ่ง เช่น วางตามใต้ชายคาบ้าน ต้นจะเอนออกหาด้านที่มีแสงสว่าง ปล้องจะยาวยืดขึ้น ต้นไม่กะทัดรัด เมื่อมีดอกก้านดอกก็จะยาวและอ่อนตามด้วยทำให้เสียลักษณะของไม้กระถางที่ดี

โรงเรือนที่ใช้มีไม้ไผ่ผ่าซีก วางหงายตีเป็นระแนงแล้วใช้ผ้าพลาสติกแบบที่ทำถุงปุ๋ยสีฟ้ากรองแสงอีกชั้น ด้านข้างใช้ผ้าดิบกรองแสงแดด ดังนั้น กล๊อกซีเนียที่ปลูกในโรงเรือนจะไม่ได้รับแสงแดด โดยตรงเลย ถ้าได้รับแสงแดดโดยตรงใบจะไม่สวย

การวางกระถางอย่าวางให้แน่นจนใบซ้อนหรือเหลื่อมกัน ควรวางให้ห่างกันเล็กน้อยเพื่อลมจะได้พัดผ่านบ้างทำให้ไม่เน่าง่าย

เมื่อสร้างโรงเรือนแล้ว จัดแสงให้ถูกต้องนั้นอาจพิจารณาได้จากใบคือถ้าแสงมากเกินไป ปลายใบจะแห้งหรือไหม้ ถ้าจับดูใบจะสาก แห้ง สีใบออกเหลือง ต้นให้ดอกเร็วผิดปกติ และได้ดอกเล็ก ไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร

ถ้าแสงน้อยเกินไป ใบจะมีสีเขียวจัด บริเวณยอดสีเขียวคลํ้า เนื้อใบอ่อนนิ่ม ขอบใบจะลู่ลงดูไม่แข็งแรง ถ้าจัดแสงได้ถูกต้องใบจะมีสีเขียวสด ใบเต่งดูแข็งแรงกางออกปรกขอบกระถาง อนึ่งในโรงเรือนที่ปลูก ควรมีการถ่ายเทอากาศดีด้วย แต่ไม่ใช่มีลมโกรกแรงเกินไป

เครื่องปลูก ศาสตราจารย์สมเพียร เกษมทรัพย์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ใช้ทราย:ใบก้ามปู:ขุยมะพร้าว ในอัตราส่วน 1:1:1

ในต่างประเทศแนะนำให้ใช้เครื่องปลูกที่มีลักษณะเบาและร่วนซุย (light porous potting mix) หรือดินร่วนปนทรายคลุกกับปุ๋ยสำเร็จ

ทำให้ได้แนวความคิดว่า กล๊อกซีเนียชอบเครื่องปลูกที่อมความชื้นได้มาก แต่ในขณะเดียวกันจะต้องร่วนและโปร่งมาก มีอินทรียวัตถุบ้าง จึงได้ผสมเครื่องปลูกขึ้น 2 อย่างคือ

เครื่องปลูกที่ 1 ใช้ดินร่วน:ทราย:ขุยมะพร้าว ในอัตราส่วน 1:1:1 เครื่องปลูกที่ 2 ใช้เปลือกถั่วป่น:ทราย:ขุยมะพร้าว ในอัตราส่วน 1:1:1

จากการทดลองพบว่า เครื่องปลูกที่ 2 คือ เปลือกถั่วป่น:ทราย:ขุยมะพร้าว 1:1:1 ใช้ได้ดีมาก การใช้ดินร่วนผสมในเครื่องปลูกที่ 1 ในอัตราส่วนที่ใช้นั้นจะทำให้เครื่องปลูกแฉะและแน่น มีผลให้ต้นโตช้ากว่าใบโดยเฉพาะตรงยอดมีสีคลํ้า การที่ต้นโตช้าทำให้ออกดอกช้า บางกระถางมีตะไคร่ขึ้นในเครื่องปลูกด้วย

การให้น้ำ

กล๊อกซีเนียต้องการความชื้นในเครื่องปลูกสูงมาก ผิวหน้าของเครื่องปลูกควรชื้นอยู่เสมอ ถ้าปล่อยให้เครื่องปลูกแห้งขอบใบจะเหี่ยว ใบตก ดูไม่สดใส ถ้ามีดอกก้านดอกจะอ่อน ดอกเหี่ยวเร็วมาก ถ้ารดน้ำให้จะฟื้นตัวใน 2-3 ชั่วโมง

ควรใช้กานํ้าที่มีพวย หยอดให้เฉพาะตรงบริเวณโคนต้นทุกวัน ไม่ควรปล่อยให้นํ้าค้างตามยอดและใบเพราะอาจทำให้เน่าเป็นวงและลามไป การให้น้ำอาจให้เฉพาะโคนต้นทุกวัน เท่าที่เคยทดลองดู การให้น้ำที่เป็นฝอยละเอียดจากบัวรดนํ้าให้ถูกทั้งต้นและใบในตอนเช้า แล้วปล่อยให้เหือดแห้งไปจากใบภายในเวลาสายของวันนั้น โดยไม่ปล่อยให้ค้างเป็นหยดตามยอดและใบจะช่วยให้ใบมีสีเขียวสดสะอาด ดูเต่งและแข็งแรงดี หรือจะใช้เครื่องฉีดนํ้าเป็นละอองฝอยจับใบก็ได้ ใน 1 อาทิตย์ถ้ามีการรดนํ้าถูกใบโดยวิธีนี้สัก 1-2 ครั้งสลับกับการรดเฉพาะโคนต้นทุกวันจะทำให้ต้นงามดีมาก ข้อสำคัญ คืออย่าปล่อยให้นํ้าหยดค้างบนใบเป็นเวลานานเพราะโอกาสจะเน่าและเป็นโรคมีมาก น่าเสียดายถ้าใบมีตำหนิเป็นรอยไหม้หรือเน่า

ถ้าอากาศไม่ร้อนและแห้งนัก อาจให้น้ำวันละครั้งในตอนเช้า แต่ถ้าเป็นฤดูร้อนการรดนํ้าจะช่วยบรรเทาความร้อนและแห้งของอากาศ จึงจำเป็นต้องรดทั้งเช้าและเย็น บางวันต้องให้ในตอนบ่ายอีกครั้ง มิฉะนั้นกล๊อกซีเนียจะเหี่ยวไม่น่าดูเลย

การให้ปุ๋ย

เนื่องจากเครื่องปลูกไม่มีดิน ไม่มีแหล่งที่มาของธาตุอาหารเลย จึงขอแนะนำให้ใช้ปุ๋ยที่มีธาตุ และธาตุอาหารรองและเสริมครบ 16 ธาตุ เท่าที่ได้ใช้ปุ๋ยเกล็ดของเชลล์สูตร 15-30-15 พร้อมธาตุอาหารรองและเสริมละลายนํ้ารดให้เฉพาะโคนต้นอาทิตย์ละครั้ง ปรากฎว่าใช้ได้ผลเป็นที่พอใจ

อุณหภูมิ

กล๊อกซีเนียปลูกได้ทุกฤดูกาล แต่ถ้าจะให้ผลดีควรปลูกโดยกะให้ออกดอกในฤดูหนาว ดอกที่ได้จะมีสีสดขนาดใหญ่กว่าที่ปลูกในฤดูอื่นและบานได้นานวัน ลักษณะของดอกงามมากกว่าฤดูอื่นๆ เนื่องจากกล๊อกซีเนียโตช้ามาก อาจเพาะตั้งแต่เดือนกันยายนจะเริ่มให้ดอกในเดือนธันวาคม และบานไปถึงเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีอากาศเย็นโดยตลอด

ถ้าดอกบานในฤดูร้อน ดอกจะมีสีอ่อนกว่า ขนาดดอกเล็กและเหี่ยวเร็วมาก ช่วงการบานสั้น ทั้งต้นและดอกงามไม่เท่าที่ควร ถ้าหลีกเลี่ยงได้ควรปลูกโดยกะให้ดอกบานในฤดูอื่น แม้ในฤดูฝนก็ยังดี กว่า เพราะกล๊อกชีเนียต้องเลี้ยงในโรงเรือนที่บังทั้งแดดและฝนอยู่แล้ว ปัญหาเรื่องการถูกฝนจึงไม่มี

การขยายพันธุ์

ทำได้หลายวิธีคือ การใช้เมล็ด การชำใบ และการใช้หัวปลูก

1. การเพาะเมล็ด เพาะในกล่องพลาสติกสี่เหลี่ยมเจาะรูที่กันให้ระบายน้ำ กล่องตื้นเพียงครึ่งนิ้วถึงหนึ่งนิ้วก็พอ เพราะเมล็ดกลีอกซีเนียเล็กมาก มีจำนวน 27,500 เมล็ดต่อ 1 กรัม เครื่องปลูกใช้ทรายกับขุยมะพร้าวในอัตราส่วน 1: 1 คลุกให้เข้ากันดี เกลี่ยให้เรียบแล้วใช้ไม้ขีดเป็นร่องแล้วหว่านเมล็ด พยายามหว่านให้เมล็ดกระจายจากอัน มิฉะนั้น จะขึ้นเป็นกระจุก ไม่ต้องกลบเมล็ดเพราะกล๊อกซีเนียต้องการแสงในการงอก แล้วให้น้ำจากข้างล่าง อย่าปล่อยให้เครื่องปลูกแห้ง ดูแลให้กระบะเพาะชื้นอยู่เสมอ เมล็ดจะงอกภายใน 12-14 วัน เมื่ออายุ 1 เดือน วัดปลายใบถึงอีกปลายของคู่ใบจะมีความยาวเพียง 1/8 นิ้วก็แยกต้นเดียวมาปลูกในกระถาง 3 นิ้ว อายุสัก 8-9 อาทิตย์มีปลายใบจรดขอบกระถางก็ย้ายครั้งสุดท้ายมาใส่กระถางขนาด 5 นิ้ว แล้วปล่อยให้ออกดอกในกระถางนั้นเลย

2. การชำใบ ใช้แผ่นใบและก้านใบที่ไม่อ่อนไม่แก่เกินไป นำมาชำในเครื่องปลูก จะเกิดหัวเล็กๆ ขึ้นที่โคนใบ แล้วเกิดต้นและรากใหม่จากหัวเล็กนี้ แผ่นใบจะเหี่ยวและสลายตัวไป นำต้นอ่อนที่ได้ไปปลูก

อาจใช้ใบตัดตามขวาง 2-3 ท่อน จะได้หัวเล็กๆ เกิดขึ้นที่ฐานใบ แล้วได้ต้นและรากใหม่ หรืออีกวิธีหนึ่ง กรีดเส้นกลางใบออกทิ้งแล้วนำใบไปชำ จะได้หัวตรงบริเวณเส้น vein ตัดกับเส้นกลางใบ วิธีทั้งสองนี้ใช้เมื่อต้องการขยายพันธุ์เป็นจำนวนมาก

3. การใช้หัวปลูก เมื่อต้นออกดอกชุดที่ 2 แล้ว จะเริ่มโทรม ระยะนี้งดการให้ปุ๋ยและน้ำ แล้วขุดหัวขึ้น ล้างและนำมาผึ่งในภาชนะโปร่งๆ ประมาณ 4-6 อาทิตย์จะเริ่มแตกหน่อนำหัวที่แตกหน่อมาปลูก โดยใส่เครื่องปลูกกลบหัวบางๆ และใส่เครื่องปลูกได้ตามต้นที่สูงขึ้น ประมาณ 3-4 เดือนจะให้ดอก ดอกที่ได้จากการปลูกด้วยหัวจะมีคุณภาพดีกว่า มีจำนวนดอกมากกว่าเมื่อปลูกจากเมล็ด

บางครั้งหัวจะแตกยอดมากกว่า 1 ยอด อาจแบ่งหัวเป็นชิ้นๆ ให้แต่ละชิ้นติด 1 ยอด หรือถ้าไม่ต้องการจำนวนต้นมากก็เด็ดยอดที่เกิน 1ออกเสียเหลือไว้ยอดเดียว มิฉะนั้นต้นจะต้องเลี้ยงหลายยอด ทำให้ใบมีขนาดเล็กลงและออกดอกเป็นจำนวนมาก แต่ดอกจะเล็ก ก้านจะสั้นเบียดกันแน่นทั้งดอกและใบดูเป็นพุ่ม ไม่งามเหมือนเลี้ยงเพียงยอดเดียว

แมลง กัดใบและดอกได้แก่ หนอน ตั๊กแตน

ไรแดง ดูดนํ้าเลี้ยงจากใบและดอกอ่อน เป็นปัญหาในเวลาที่อากาศร้อนและแห้งมาก อีกชนิดหนึ่งที่ดูดนํ้าเลี้ยงจากใบคือ Cyclamen mites มีขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นต้อง ส่องดูใบด้วยกล้องจุลทรรศน์จึงจะเห็น ศัตรูชนิดนี้ทำให้ใบมีสีม่วงคลํ้า ขอบใบลู่ลง ขนเล็กๆ ที่ปกคลุม ใบขาดวิ่นเส้นกลางใบหักเป็นช่วงๆ การปราบใช้เคลเธน (Kelthane) หรือให้น้ำเป็นละอองฝอยจับใบให้ชื้นเพราะมันชอบอากาศแห้ง Cyclamen mites ไม่ทำลายดอก แต่ทำให้ใบผิดปกติ และต้นออกดอกน้อยลง

โรค ก. Ringspot virus อาการเกิดเป็นรอยด่างสีเหลืองเป็นวงซ้อนกันบนใบ เกิดได้ทั้งยอดอ่อนและใบแก่ ไม่มีทางแก้นอกจากเผาทิ้งทำลายเสียและฉีดยาฆ่าแมลงที่จะเป็นพาหะนำเชื้อไปติดต้นอื่น ถ้ายังเก็บไว้แล้วปล่อยให้ออกดอก ดอกจะบิดเบี้ยวผิดปกติเห็นได้ชัด

ข. โรคเน่า ลำต้นเน่า ถ้าใช้มือดึงจะขาดเป็นชิ้นๆ บางทีเน่าที่โคน บางทีเน่าที่ข้อ อาการเริ่มแรกคือ ต้นและใบเหี่ยวทั้งๆ ที่รดน้ำ เนื่องจากท่อนำท่ออาหารขาดช่วง ถ้าพบอาการนี้รีบเผาทิ้งเสีย และไม่นำใบหรือหัวไปขยายพันธุ์ สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

อาการผิดปกติอื่น ๆ ที่ไมใช่โรคและแมลงเป็นสาเหตุ

ก. ปลายใบแห้ง แล้วลามขึ้นมาจนถึงโคนใบ เป็นเพราะอากาศร้อนเกินไป

ข. ใบที่พาดขอบกระทางเน่า เคยเห็นผู้ปลูกบางคนใช้กระดาษฟอยล์หุ้มขอบกระถางเพื่อให้บริเวณนั้นสะอาด ใบจะมีโอกาสติดเชื้อโรคน้อยลง

ค. ต้นออกดอกมากเกินไป คือออกดอกเป็นกระจุกมากกว่า 30 ดอกในคราวเดียวกัน ดอกไม่ยอมบานเพราะต้นแม่ต้องเลี้ยงดอกอ่อนหลายดอก พบในกล๊อกซีเนียที่มีใบออกคราวละ 3 ใบ ทางแก้คือ เด็ดดอกอ่อนออกเสียบ้าง ดอกที่ไม่ยอมบานจึงจะยืดก้านดอกออก และชูดอกขึ้นเหนือลำต้นแล้วบานเป็นปกติ

ง. กลีบดอกมีสีเขียวปน มักพบในพวกดอกซ้อนมากกว่าดอกชั้นเดียว โดยเฉพาะสีม่วงและสีขาว ลักษณะนี้เข้าใจว่าเป็นกรรมพันธุ์ และเป็นลักษณะที่ไม่ดีต้องตัดทิ้ง

ลักษณะของกล๊อกซีเนียที่ดี

1. การจัดเรียงของใบมีระเบียบ มีปล้องสั้น ทำให้ได้ต้นกะทัดรัด ปกติกล๊อกซีเนียจะออกใบเป็นคู่ขวางกันไปเรื่อยๆ แต่มีบางต้นที่มีลักษณะพิเศษ คือ ออกทีละ 3 ใบ ทำให้ได้ใบปรกกระถางได้งามกว่า แต่เนื่องจากต้นต้องเลี้ยงใบมากกว่าพวกที่ออกทีละ 2 ใบ ทำให้การออกดอกช้ากว่า

2. ใบต้องแข็งแรง สด สะอาด ไม่มีรอยถูกทำลายด้วยโรค แมลงหรือแสงแดดจัด

3. ดอกต้องมีก้านยาว ตรง แข็งแรง ชูขึ้นเหนือกลุ่มใบ

4. การจัดเรียงของดอกต้องเป็นกลุ่มสวยงาม ได้สัดส่วนกับกระถาง

5. ดอกต้องมีสีสด และเนื้อกลีบเป็นกำมะหยี่

6. การที่ปลายกลีบพลิ้วเป็นคลื่นถี่ๆ จะทำให้ดูสวยงามกว่าดอกที่มีปลายกลีบเรียบ

6. จำนวนดอกที่บานแต่ละครั้งควรมีไม่น้อยกว่า 5 ดอก และดอกต้องบานได้นานวัน จำนวนดอกที่ได้จากการเพาะเมล็ดอาจมีน้อย บางครั้งบานเพียง 2 ดอก แต่ถ้าเก็บหัวแล้วปลูกใหม่ จำนวนดอกจะมากขึ้นเอง