กะหล่ำปม(Kohlabri)


ลักษณะทั่วไป
เป็นพืชใช้กินหัว เกษตรกรจัดว่าเป็นพืชที่มีความเสี่ยงและอ่อนไหวเกี่ยวกับราคา (เช่นเดียวกับการปลูกกะหล่ำปลีแดง) เช่น ถ้าคาดว่าราคาดีจะปลูกกันมากจนผลผลิตล้นตลาดทำให้ราคาตกต่ำ เป็นต้น เมื่อปลูกแล้วเห็นว่าราคาอาจตกต่ำ เกษตรกรก็จะละทิ้งพืชหันไปเอาใจใส่ดูแลพืชอื่นแทน มีปัญหาโรคและศัตรูพืชหลายอย่าง ซึ่งต้องใช้สารเคมีป้องกัน อายุพืชยาวปานกลาง ปัจจุบันมีปัญหาด้านตลาดซึ่งค่อนข้างแคบ
ข้อมูลการผลิต
พันธุ์ Early White Vienna, Early Purple Vienna
ฤดูปลูก ตลอดปี
ความสูง ทุกระดับความสูง
ความเป็นกรดด่างของดิน 5.5-6.5
ชนิดของดิน ร่วนปนทรายและร่วนปนเหนียว
ระยะปลูก(ต้นxแถว)    25×30 ซม.
ความลึก 5-10 ซม.
จำนวนต้น 15 ต้น/ตร.ม.
ความกว้างของแปลง 1 เมตร
ระยะห่างของแปลง 50 ซม.
การเตรียมกล้า
ระยะปลูก(ต้นxแถว)    5×10 ซม.
ความลึก 1-3 ซม.
จำนวนต้น 150 ต้น/ตร.ม. (กล้าเสีย 25%) เพียงพอสำหรับการย้ายปลูกในพื้นที่ 10 ตร.ม.
ความกว้างของแปลงกล้า 1 เมตร
ระยะเวลาที่เจริญเติบโตเต็มที่ 80-90 วัน (รวมระยะเวลาเพาะกล้า)
ข้อมูลต้นทุนและผลตอบแทน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)


หมายเหตุ ข้อมูลต้นทุน ผลตอบแทนและราคา เป็นข้อมูลในอดีตที่มีการเปลี่ยนแปลง
ข้อสังเกตเกี่ยวกับต้นทุนผลตอบแทน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)
การผลิต
เกษตรกรมักทำการปลูกและรอเก็บเกี่ยวเมื่อคิดว่าจะได้ราคาดี (เช่นเดียวกับพืชกะหล่ำปลีแดงและเฟนเนล) ผลผลิตจะดีกว่าในการปลูกฤดูหนาว ไม่ควรส่งเสริมให้ปลูกในฤดูร้อน เพราะเป็นพืชไม่ทนแล้ง ผลผลิตต่ำ คุณภาพไม่ดี และมีปัญหาเรื่องแมลงเข้าทำลาย เนื่องจากปริมาณผลิตและราคาค่อนข้างแปรปรวน ควรเป็นพืชส่งเสริมอันดับ สำรอง เท่านั้น
ผลผลิต
ฤดูหนาว 100-140 กก. เป็นเกรด A ระหว่าง 70-80% ต่ำกว่าเล็กน้อยในการปลูกฤดูฝน ซึ่งเป็นเกรด A ประมาณ 60-70%
ราคาขายของเกษตรกร
ราคาแปรปรวนค่อนข้างมาก คาดคะเนไม่ได้ แต่ราคามักจะดีกว่าในฤดูฝน เพราะปริมาณผลผลิตน้อยกว่าในฤดูหนาว
ต้นทุนปัจจัยการผลิต
ต้นทุนต่ำ ค่ายาสารเคมีสูงกว่าเล็กน้อยในฤดูฝน
ผลตอบแทน
ไม่คุ้มที่จะส่งเสริมให้ปลูกในฤดูร้อน การปลูกฤดูฝนให้ผลดีที่สุด ถ้าดูแลเอาใจใส่ดี
สำหรับเจ้าหน้าที่ส่งเสริม
เกษตรกร อ่อนไวต่อราคามาก ทำให้ราคาผันผวนตามการตัดสินใจปลูกและเก็บเกี่ยวของเกษตรกรเอง ควรกระตุ้นให้เกษตรกรพยายามปฏิบัติดูแลรักษาให้ครบถ้วนทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิตคงที่แน่นอน ควรใช้เนื้อที่ปลูกเพียงเล็กน้อย เพราะตลาดมีขีดจำกัด
การตลาด
ตลาดยังแคบ การสูญเสียผลิตผลระหว่างขนส่งไปกรุงเทพฯ ต่ำ (30%) ราคาในตลาดกรุงเทพฯ ประมาณ 12-15 บาท/กก. แต่แนวโน้มราคาไม่แน่นอน ยังไม่มีตลาดเอกชนรองรับโดยเฉพาะ ศักยภาพในการขยายตลาดยังต่ำ
ข้อแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการเพาะปลูก
ศัตรูพืชและโรค
ศัตรูพืช
หนอนใย(Diamond Black Moth) พบช่วงฤดูร้อนเข้าฤดูฝน จะกัดกินใบ ป้องกันโดยใช้ แบคโทสปิน หรือ ธูรีไซด์ สลับกับสารสังเคราะห์ ไพรีทรอย (Synthetic Pyrethroid) เมื่อมีการระบาด
เพลี้ยอ่อน (Aphids) พบมากช่วงฤดูร้อน กัดกินน้ำเลี้ยง ป้องกันแก้ไขโดยใช้ อโซดริน, แลนเนท หรือ ทามารอน เมื่อมีการระบาดทุก 5-7 วัน
หมัดกระโดด (Jumping Flea) พบตลอดปี โดยกัดกินใบ ป้องกันแก้ไขโดยใช้เซฟวิน 85ม แลนเนท หรือทามารอน เมื่อมีการระบาด
เต่าทอง (Golden Beetle) พบในปลายฤดูฝนและหนาว โดยกัดกินใบ ป้องกันแก้ไขโดยใช้ เซฟวิน 85, แลนเนท หรือ ทามารอน เมื่อมีการระบาด
หนอนกระทู้ดำ (Black Cut Worm) พบช่วงปลายฤดูหนาว ทำลายต้นกล้าในระยะย้ายปลูก ป้องกันแก้ไข โดยใช้แลนเนท, นุวาครอน หรือ ลอร์สแบน ละลายน้ำราดโคนต้น
หนู พบได้ตลอดปี โดยกัดกินส่วนหัว ใช้เหยื่อพิษทำลายโดยเฉพาะในฤดูร้อน
โรค
โรคเน่าดำ (Black Rot) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย พบในฤดูฝน ทำลายส่วนใบเกิดแผลเป็นรูปตัว V ป้องกันแก้ไขโดยฉีดพ่นสารประกอบ ทองแดง (Copper) เช่น คูปราวิท หรือโคแมค
โรคเน่าเละ (Soft Rot) พบในฤดูฝน ทำให้ส่วนหัวเน่า ป้องกันแก้ไขโดยใช้ โคแมค
อื่นๆ
การขาดธาตุโบรอนในดิน ทำให้หัวพืชแตกและต้นไม่เจริญเติบโต ป้องกันแก้ไขโดยใช้ โบแรกซ์ รองพื้นเมื่อปลูก
ปัจจัยที่ต้องการ(ต่อพื้นที่ปลูก 1 ตร.ม.)


การใช้แรงงาน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)


*ข้อมูลแรงงานและระยะเวลาได้จากข้อมูลสนาม
ข้อควรปฏิบัติ
ช่วงการเตรียมกล้า
ขุดพลิกดินตากแดด 7 วัน แล้วใส่ปูนขาว ขี้ไก่ ปุ๋ยสูตร 0-4-0 และ 15-15-15 คลุกผสมในดิน ขึ้นแปลงกว้าง 1 เมตร ปรับหน้าแปลงให้เรียบ โดยให้ร่องแปลงห่างกัน 50 ซม. ขีดร่องลึก 1-2 ซม.ขวางแปลง ระยะห่างระหว่างร่อง 10 ซม. หยอดเมล็ดห่างกัน 2 ซม. กลบดินแล้วรดน้ำ ใช้ โคแมค และ เซฟวิน 85 ผสมน้ำรดป้องกันแมลงและเชื้อรา คลุมแปลงด้วยตาข่ายสีฟ้าเพื่อป้องกันแดดและฝนตกกระแทกและคอยดูแลให้แปลงชุ่มชื้น เมื่อมีปัญหาโรคโคนเน่า(Damping Off) ใช้เซฟวิน 85 และ โคแมค เวลาย้ายกล้า ใช้เครื่องมือขุดกล้าโดยให้ดินติดราก
ข้อควรระวัง
1. ช่วงอายุกล้า 5-7 วันมักเกิดโรคโคนเน่า
2. หมัดกระโดด มักกัดกินใบ
ช่วงการปลูก
ขุดพลิกดินตากแดดทิ้งไว้ 7 วัน เก็บหญ้าและวัชพืชออกจากแปลง ขึ้นแปลงกว้าง 1 เมตร ใส่ปุ๋ย 15-15-15 ปูนขาว ปุ๋ยขี้ไก่และโบแรกซ์ อัตรา 1 กรัม/ตร.ม. ผสมคลุกเคล้าในดินให้ทั่ว ปรับหน้าแปลงให้เรียบ ทำหลุมปลูกลึก 6-8 ซม. ระยะ 25 ซม. ระหว่างต้นและระหว่างแถว 30 ซม. ใช้ยาฆ่าแมลงถ้ามีปัญหาหนอนกระทู้ดำ (ในฤดูร้อน) แล้วรดน้ำ
ช่วงการดูแลรักษา
ปลูกซ่อมต้นที่ตายหลังย้ายปลูก 7 วัน ประมาณ 7-10 วัน หลังย้ายปลูก ใส่ปุ๋ยครั้งแรก ใช้ 46-0-0 และ 15-15-15 อัตราส่วน 1:2 ราว 25-30 กรัม/ต้น ใส่ปุ๋ยครั้งที่สอง หลังจากครั้งแรก 15 วัน ใช้ปุ๋ย 13-13-21 ราว 25-30 กรัม/ต้น การใส่ปุ๋ยใช้วิธีขีดร่องรอบต้นลึก 2-3 ซม. โรยปุ๋ยลงร่อง กลบดินแล้วรดน้ำ ทำการกำจัดวัชพืชพร้อมกับการใส่ปุ๋ยทุกครั้ง เมื่อพืชแสดงอาการอ่อนแอหรือขาดธาตุอาหาร ฉีดพ่น โทนา หรือโบแรกซ์ ทุก 15 วัน ฉีดพ่นสารเคมีถ้ามีปัญหาโรคและแมลง รดน้ำทุก 2-3 วัน
ข้อควรระวัง
1. การปลูกถี่เกินไป จะทำให้หัวไม่เจริญเติบโต
2. การขาดธาตุโบรอน จะทำให้หัวปริแตก มีรอยกระที่ผิว ควรใส่โบแรกซ์
ช่วงการเก็บเกี่ยว
เก็บเกี่ยวเมื่ออายุพืชได้ 50-60 วัน หัวได้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 7-8 ซม. ใช้มือถอนแล้วตัดแต่งใบเหลือความยาว 5 ซม. ในฤดูฝนถ้าหัวมีดินติดมา ให้ล้างทำความสะอาด ผึ่งให้แห้งก่อนบรรจุ ทำการเก็บเกี่ยววันก่อนที่จะทำการบรรจุ เก็บสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ถ้าพืชแก่เกินไป หัวจะเป็นเสี้ยน คุณภาพต่ำ
ที่มา:ภาควิชาส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่