กะหล่ำปลี:มีสารต้านการก่อโรคมะเร็งและวิตามินซีสูง


กะหล่ำปลี(Cabbage)

คะนึง  ใกล้กลาง

ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม

ทุกวันนี้มองหรือหันหน้าไปทางไหน อาหารการกินพืชพวกธัญพืชต่าง ๆ หลายชนิดกำลังถูกทำให้มีความซับซ้อนทางพันธุกรรมมากขึ้น โดยเอายีน อะไรใส่เข้าไปให้มั่วไปหมด เช่น เอายีน ของแบคทีเรียที่มีความสามารถฆ่าหนอนให้ตายได้ ใส่เข้าไปในพืชให้พืชชนิดนั้น ๆ สามารถป้องกันตัวเองจากการถูกหนอนทำลายและสามารถโต้ตอบได้ คือเมื่อหนอนกินพืชชนิดนั้นเข้าไปก็จะตายได้ ซึ่งพืชพันธุ์ต่าง ๆ ที่กำลังเป็นข่าวอยู่ทุกวันนนี้คือ ฝ้ายบีที ข้าวโพดบีที ถั่วเหลืองหรือแม้กระทั่งข้าวหอมมะลิของไทยก็กำลังถูกนำไปตัดต่อใส่ยีน เพื่อให้ป้องกันหรือมีความต้านทานต่อศัตรูพืชชนิดต่าง ๆ ซึ่งเป็นการมองเพียงเฉพาะหน้ามองเพียงประโยชน์ด้านเดียวไม่คำนึงถึงโทษหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

นี่เป็นเรื่องของความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์เราเลยทีเดียว ที่พืชประเภทอาหารที่กำลังถูกจัดการให้เกิดความซับซ้อนในเรื่องต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อการบริโภคและสุขภาพของมนุษย์หรือแม้กระทั่งการทำให้เมล็ดพืชสามารถทำลายตัวเอง ไม่สามารถนำไปเพาะปลูกได้ ถ้าไม่ได้ซื้อจากบริษัทที่ครอบครองความเป็นเจ้าของพันธุ์พืชชนิดนั้น ๆ นี่เป็นวิธีที่ทำให้มนุษย์ทุกคนต้องตกอยู่ภายใต้บทบาทเทคโนโลยีของพวกเขาหวังผลประโยชน์เข้ากลุ่มของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์หรือพืชพันธุ์ธรรมชาติที่จะถูกทำลายเกิดการสูญเสียความสมดุลทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต และอาจเกิดเผ่าพันธุ์แปลก ๆ ขึ้นได้ในอนาคต อาจมีพืชออกลูกเป็นหมู เป็นเป็ด สาดเซ ยุ่งละทีนี้

ขึ้นหัวเรื่องว่า กะหล่ำปลี ได้กล่าวเสียยืดยาวเรื่องผลที่จะเกิดขึ้นของพันธุ์พืชธรรมชาติที่กำลังถูกคุกคาม ส่งผลกระทบโดยมนุษย์ที่ฉกฉวยโอกาส เพื่อประโยชน์ของตัวเองจากการพัฒนาเทคโนโลยีของมนุษย์ที่พวกเขากำลังมองเพียงด้านเดียว แม้แต่พันธุ์กะหล่ำปลีที่กำลังจะพูดถึงอยู่นี้ก็ยังต้องพึ่งพาจากบริษัทค้าเมล็ดพันธุ์ เกษตรกรไม่สามารถเก็บไว้ทำพันธุ์ได้นี่คือ ผลกระทบที่เกษตรกรได้พบเห็นอยู่เป็นประจำทำให้ขาดการนึกถึงผลเสียที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรเอง เช่น ต้องเพิ่มต้นทุนจากการซื้อเมล็ดพันธุ์ ซื้อปุ๋ยเคมี ซื้อยาป้องกันกำจัดโรคและแมลง เกษตรกรหากขาดการคิดแบบพึ่งตนเอง ก็จะทำให้ต้องตกเป็นเหยื่อจากวิธีการโฆษณาที่มีอย่างหลากหลายทุกวันนี้ เกษตรกรควรหันมาคิดหาวิธีการลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการทำการเกษตร ในปัจจุบันหันมาพึ่งพาหรือช่วยเหลือระหว่างเกษตรกรด้วยกันเอง ผลประโยชน์ที่จะตกกับเกษตรกรจะมีมากขึ้นเกิดการแลกเปลี่ยนเทคนิค วิธีการกระบวนการผลิต การผลิตพืชผักต่าง ๆ ก็จะมีความปลอดภัยเกิดผลดีต่อเกษตรกร และผู้บริโภครวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

กะหล่ำปลี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Brassica olcracea L อยู่ในตระกูล Cruciferae เชื่อว่าทุกคนคงเคยรับประทานและรู้จักรสชาติของผักกะหล่ำปลีได้ดี มีประโยชน์ต่อผู้ที่รับประทานเป็นประจำ ด้านการให้คุณค่าทางอาหารสูง สามารถรับประทานได้ทั้งสุกและดิบ มีวิตามินซีสูงและยังมีสารต้านการก่อโรคมะเร็ง  ซึ่งโดยส่วนมากคนทั่วไปนิยมบริโภคเป็นผักสด เพราะวิตามินซีที่มีมากในผักกะหล่ำปลีจะสูญเสียไป ถ้าหากถูกความร้อน กะหล่ำปลีมีอยู่หลายชนิดคือ กะหล่ำปลีเขียว กะหล่ำปลีแดงหรือม่วง และกะหล่ำปีใบย่น มีอายุการเก็บเกี่ยวพันธุ์หนัก 90-120 วัน พันธุ์กลาง อายุ 80-90 วัน พันธุ์เบาอายุ 60-70 วัน บ้านเรานิยมปลูกพันธุ์เบามากที่สุด เพราะต้องการอากาศที่ไม่หนาวมาก ผักกะหล่ำปลี ชอบอากาศอบอุ่นถึงหนาว ถ้าอากาศร้อนอบอ้าว ใบจะเหยียดยาวไม่จับปลี ชอบดินเหนียวที่มีการระบายน้ำที่ดี ระยะเวลาเพาะปลูกควรปลูกช่วงประมาณเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์  ซึ่งในเมืองไทยจะเป็นฤดูหนาวจะทำให้ลดการดูแลรักษาและผักกะหล่ำปลีจะเจริญเติบโตได้ดี

การปลูก

แนะนำให้เป็นการปลูกเพื่อรับประทานในครัวเรือน เป็นงานอดิเรก ลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว สำหรับผู้คนในเมืองอาจจะมีปัญหาเนื่องจากมีพื้นที่น้อยก็สามารถปลูกไว้ในที่ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตัวเอง เช่น เพาะปลูกในกระถาง ปลูกไว้หลังครัว หลังบ้าน เป็นสวนหย่อมเล็ก ๆ เก๋ไปอีกแบบหนึ่งเหลือจากบริโภคยังสามารถขายได้รายได้ของครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย จึงแนะนำวิธีการเพาะปลูกและดูแลรักษาอย่างง่าย ๆ เกษตรกรเองที่ทำอาชีพปลูกผักก็สามารถนำไปประยุกต์ และปรับเปลี่ยนมาเพาะปลูกผักแบบปลอดสารเคมีได้ดังนี้

1.  เตรียมแปลงเพาะกล้าและเตรียมแปลงปลูกให้ใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก รองเป็นปุ๋ยพื้นผสมคลุกเคล้าลงไปในดิน อัตราส่วน 2 กิโลกรัม/ตารางเมตร นำเศษฟางข้าวคลุมแปลงเพื่อลดความร้อนจากแสงแดด ขนาดของแปลงเพาะกล้าประมาณ 1-2 ตารางเมตร และแปลงปลูกควรมีขนาดกล้า 1.5-2 เมตร ยาว 4-5 เมตร

2.  หว่านเมล็ดพันธุ์ผักลงบนแปลงเพาะ เมื่อเมล็ดงอกแล้วและใบเลี้ยงโตเต็มที่จึงจัดการกำจัดวัชพืชในแปลงเพาะเป็นการกระตุ้นให้ต้นกล้าเจริญงอกงามดี และเมื่อต้นกล้าโตพอสมควรจึงทำการย้ายกล้าลงปลูกในแปลงปลูกที่เตรียมไว้ การย้ายปลูกจะทำให้ระบบรากของพืชแข็งแรงการเจริญเติบโตเร็ว

3.  ก่อนการย้ายปลูกควรทำเป็นหลุมเล็ก ๆ ให้ระหว่างต้นระหว่างแถวห่างกันประมาณ 30 ซม. ใส่ปุ๋ยรองพื้นก้นหลุมพวกปุ๋ยคอกปุ๋ยหมัก เพื่อช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ต้นกล้าผัก ทำให้เจริญเติบโตดี เมื่อปลูกต้นกล้าผักเรียบร้อยแล้วควรรดน้ำตามทันที การรดน้ำ ควรสังเกตดินแห้งหรือแฉะเกินไปหรือเปล่า แต่โดยปกติจะรดน้ำวันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น)

การใส่ปุ๋ย

ใส่ในตอนของการเตรียมแปลงและรองก้นหลุมก่อนย้ายปลูก แล้วควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักชีวภาพอีกครั้งแรกเมื่อผักมีอายุได้ 20-30 วัน หลังการย้ายปลูกครั้งที่ 2 เมื่อในขณะที่เริ่มมีการจับปลี(การห่อใบ) ครั้งที่ 3 เมื่อผักมีการจับปลีดีและการเจริญเติบโตดี อัตราในการใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักชีวภาพให้ใส่ครั้งละประมาณ 1 กำมือต่อต้น การใส่ปุ๋ยทุกครั้งต้องพรวนดินกลบรดน้ำตามทุกครั้งและในช่วงของการเจริญเติบโตของผักกะหล่ำปลี ควรมีการให้ปุ๋ยน้ำเพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตเป็นปุ๋ยน้ำทางใบให้ด้วยสูตรปุ๋ยน้ำ

โรคและแมลง

โดยทั่วไปจะพบโรคโคนเน่าและหนอนเจาะกัดกินใบ ควรหมั่นตรวจดูแปลง เมื่อพบการทำลายของหนอนหรือแมลงควรฉีดพ่นป้องกันกำจัดด้วยสมุนไพรจำพวกสารสกัดจากสะเดา ส่วนโรคโคนเน่า ถ้ามีการใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพอย่างต่อเนื่อง จะช่วยลดการระบาดของโรคโคนเน่าได้เป็นอย่างดี

การเก็บเกี่ยว

ควรเก็บเกี่ยวตามอายุของพันธุ์ที่ปลูกหรือเมื่อผักกะหล่ำปลีมีขนาดพอสมควร เพราะถ้าหากเก็บช้าเกินไป ปลีจะแตกและเก็บเร็วไป ปลีก็อาจจะแข็งอยู่มีรสชาติไม่ดี ในกรณีที่จะตัดเพื่อส่งตลาดการตัดใช้มีดตัดให้มีใบนอกติดมาด้วย เพื่อลดการกระแทกทำให้ผักช้ำได้