การกำจัดวัชพืชในแปลงกุหลาบ

วัชพืชเป็นศัตรูสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำความเสียหายให้แก่พืชผลที่เราปลูก คำว่าวัชพืชนี้หมายถึงพืชชนิดอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากพืช ที่เราต้องการจะปลูก แม้พืชนั้นจะเป็นประโยชน์ก็ตาม พอจะแบ่งวัชพืชที่พบเห็นขึ้นอยู่ในแปลงกุหลาบทั่ว ๆ ไปได้เป็น 2 พวกคือ

1. วัชพืชถาวร หมายถึง วัชพืชที่เจริญงอกงามเป็นประจำ ซึ่งจะอาศัยการแพร่ขยาย โดยใช้หน่อ ไหล หัว ราก เหง้า และต้น ได้แก่ หญ้าชันกาด หญ้าคา แห้วหมู หญ้าแพรก หญ้าขน หญ้าไทร ผักเป็ด และต้อยติ่ง เป็นต้น

2. วัชพืชล้มลุก ได้แก่วัชพืชที่เกิดขึ้นจากเมล็ด ซึ่งเมื่อต้นแก่ ต้นก็จะแห้งตายไป และจะมีเมล็ดที่ร่วงหล่นงอกทยอยกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด วัชพืชพวกนี้ได้แก่ พรมพระอินทร์ (ชนิดแดงและเขียว) ผักเบี้ย ผักโขมหิน น้ำนมภารสีห์ กะเพ็ง ตัวยางและขจรจบ ฯลฯ

ความเสียหายของต้นกุหลาบที่เกิดจากการทำลายของวัชพืช พอจะประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นในแปลงปลูกกุหลาบ อันเนื่องมาจากวัชพืชได้ดังนี้

1.  แย่งอาหารที่มีอยู่ในดินหรือที่ให้แก่ต้นพืชที่เราปลูก ทำให้ต้นพืชมีอาหารไม่เพียงพอ

2.  แย่งแสงแดดต้นพืชที่ปลูก โดยที่วัชพืชต่าง ๆ ทั้งที่เป็นชนิดถาวรและล้มลุก มีความแข็งแรงและเจริญเติบโตเร็ว ฉะนั้นถ้าทิ้งไว้ โดยไม่คอยกำจัด หรือกำจัดไม่ทัน วัชพืชเหล่านั้นก็จะขึ้นแซงหรือขึ้นข่มต้นกุหลาบที่ปลูก โดยเฉพาะกิ่งที่อยู่ต่ำ ๆ บริเวณโคนต้น ทำให้ต้นกุหลาบไม่แตกกิ่งก้าน หรืออาจทิ้งกิ่งแห้งตายไปในที่สุด

3. ทำให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย เนื่องจากกุหลาบมีโรคเป็นประจำอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าวัชพืชขึ้นหนาแน่น ทำให้การถ่ายเทอากาศใน แปลงไม่สะดวก เมื่อเวลาฝนตกหรือรดน้ำ น้ำจะค้างอยู่บนใบนานพอที่เชื้อโรค โดยเฉพาะโรคใบจุดจะเจริญเข้าไปในใบได้ ฉะนั้นสภาพเช่นนี้ จึงมักพบโรคใบจุดระบาดอยู่เสมอ ๆ

การป้องกันและกำจัดวัชพืชที่ขึ้นในแปลงกุหลาบ

1. โดยการใช้เครื่องมือกล ได้แก่การใช้เครื่องมือบางอย่างในการกำจัด หรือควบคุมการเจริญของวัชพืชมิให้แพร่ขยายไปกว้างขวาง เท่าที่ปฏิบัติกันทั่ว ๆ ไป ใช้กันอยู่ 2 แบบ คือ

1.1 โดยวิธีการเขตกรรม เช่นใช้รถไถ ใช้จอบฟันหรือพรวนดินตากให้แห้ง โดยเฉพาะในระยะที่มีโอกาสจะตากดินได้ดี เช่นในฤดูแล้ง เป็นต้น

1.2 โดยวิธีใช้คนเก็บ อาจทำก่อนหรือหลังการปลูกต้นพืชก็ได้ ในกรณีที่ทำก่อนการปลูกต้นพืช ก็อาจทำไปพร้อม ๆ กับการเขตกรรมโดยวิธีที่ 1.1 ก็ได้ เช่นขณะที่ได้หรือฟันดินก็จะทำการเก็บวัชพืชไปด้วยในตัว

2. โดยการใช้สารเคมี ซึ่งหมายถืงการใช้ยากำจัดวัชพืชทำการฉีดพ่น ซึ่งอาจจะทำก่อนหรือหลังการปลูกพืชแล้ว และก็สามารถจะใช้ได้ทั้งวัชพืชถาวรและวัชพืชล้มลุก สำหรับวัชพืชถาวรควรทำก่อนที่จะเตรียมดินปลูกต้นพืช ทั้งนี้เพราะยากำจัดวัชพืชจะมีผลตกค้างในดิน ซึ่งจะมีผลกับต้นพืชที่ทำการปลูกด้วย แม้จะเป็นยาที่ไม่เป็นพิษหรือมีพิษน้อยกับพืชที่ปลูกก็ตาม และหลังจากฉีดพ่นด้วยยากำจัดวัชพืชแล้ว ควรจะทิ้งดินไว้ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะทำการเตรียมดินและลงปลูกพืชหลัก จนกว่าจะแน่ใจว่าผลตกค้างของยานั้นหมดไปแล้วเท่านั้น สำหรับยากำจัดวัชพืชที่มีใช้กันแพร่หลายทั่วไป ซึ่งสามารถจะนำมาใช้เกี่ยวกับการปลูกกุหลาบตัดออกได้ พอจะแบ่งออกได้เป็น 2 พวก

2.1 พวกที่ใช้ฉีดพ่นหลังจากที่ต้นวัชพืชเกิดเป็นต้นและเจริญงอกงามแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กับวัชพืชถาวรก่อนที่จะเตรียมดินปลูก สำหรับยาประเภทนี้ยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

ก. ยากำจัดวัชพืชประเภทใบแคบ ซึ่งได้แก่วัชพืชพวกหญ้าคา หญ้าขน หญ้าชันกาด หญ้าแพรกและหญ้าไทร ส่วนใหญ่ใช้ยาที่มีชื่อเรียกว่า ตาลาปอน ซึ่งจะใช้ยาในอัตรา 2 กก.ต่อไร่ ทำการฉีดพ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 2-3 สัปดาห์ สำหรับยาชนิดนี้จะได้ผลดีเมื่อดินมีความชื้นสูง ต้นวัชพืชอยู่ในระยะการเจริญ หรือแตกใบอ่อนเท่านั้น ควรให้มีเวลาที่ยาจะซึมเข้าทางใบอย่างน้อย 4 ชม. หลังการฉีดพ่น

ข. ยากำจัดวัชพืชประเภทใบกว้าง ซึ่งใช้กำจัดผักเป็ดหรือต้อยติ่ง ดังกล่าวข้างต้น หรืออาจรวมทั้งวัชพืชล้มลุกที่ขึ้นปะปนอยู่ด้วย เช่นผักโขม ผักเบี้ย ฯลฯ รวมทั้งแห้วหมู ซึ่งเป็นวัชพืชใบแคบ ที่ใช้กำจัดด้วยยาชนิด เดียวกับวัชพืชใบกว้างได้ สำหรับยาที่ใช้เป็นยาประเภทฮอร์โมนคือ 2-4 ดี (2-4 D) หรือ ยาที่ใช้กำจัดวัชพืชในนาข้าวทั่ว ๆ ไป ซึ่งมีขายในชื่อการค้าหลายชื่อ เช่น 2, 4-ดี เฮ็ดโดนัล เอ็ม 85 เดดฮอร์โมน เป็นต้น อัตราส่วนการใช้จะมีบอกอยู่ในสลากการใช้ของชื่อยาแต่ละชื่อ ตามความเข้มข้นของตัวยาที่มีอยู่ในชื่อยาชนิด นั้น ๆ

2.2 พวกที่ใช้ฉีดพ่นหลังจากที่ได้ปลูกพืชแล้ว ความมุ่งหมายส่วนใหญ่ใช้กำจัดวัชพืชล้มลุกที่ขึ้นจากเมล็ด ก่อนที่เมล็ดวัชพืชนั้น ๆ จะงอก ฉะนั้นหลังจากที่ปลูกกุหลาบลงแปลงแล้วและก่อนที่จะคลุมวัตถุคลุมหน้าดิน ควร ฉีดพ่นด้วยยาประเภทนี้ทันที ควรฉีดขณะหน้าดินยังชื้นอยู่ หรืออาจรดน้ำเสียก่อนแล้วจึงฉีดก็ได้ สำหรับผลการคุ้มกันคือ ยาชนิดนี้จะทำให้เมล็ดวัชพืชไม่งอกเป็นเวลา 2-3 เดือน แต่ผลที่ได้รับจะมากน้อยแล้วแต่ชนิดของพืชด้วย พวกดินทรายหรือค่อนข้างทรายจะได้ผลดีกว่าพวกดินเหนียว

สำหรับยาที่ใช้ในแปลงกุหลาบ เท่าที่ทดลองได้ผลกับแปลงปลูกกุหลาบที่ไร่ฝึกนิสิต ปากช่องมีอยู่ 2 ชนิด คือ

1. ไดยูรอน (Diuron) ใช้ในอัตรา ½ -2 ปอนด์ ของเนื้อสารบริสุทธิ์ต่อพื้นที่ฉีดพ่น 2 ½  ไร่ (หรือ 267.85-357.14 กรัมต่อ 1 ไร่)

2. ซิมมาซีน (Simayine) ใช้ในอัตรา 1 ½ ปอนด์ของเนื้อสารบริสุทธิ์ ต่อพื้นที่ฉีดพ่น 2 ½  ไร่ (หรือ 267.85 กรัม ต่อไร่)

ในการกำจัดวัชพืชนี้ เนื่องจากมีวัชพืชหลายชนิดทั้งที่ปราบง่ายและยาก ขึ้นอยู่ทั่ว ๆ ไป ดังนั้น จึงควรใช้วิธีการกำจัดแบบต่าง ๆ ร่วมกันไป โดยผู้ใช้ต้องพิจารณาว่า วิธีการใดจะได้ผลดีกว่ากันโดยที่ลงทุนน้อยที่สุด