การควบคุมคุณภาพมะม่วงส่งออก

การศึกษาวิธีการป้องกันโรคผลเน่าและควบคุมคุณภาพของมะม่วงเพื่อการส่งออก

การส่งมะม่วงไปต่างประเทศในปัจจุบันยังคงมีปัญหาเรื่องการเน่าเสียของผลิตผลภายหลังการเก็บเกี่ยว  ทั้งนี้เนื่องจากการป้องกันกำจัดโรคในแปลงปลูกโดยการใช้สารเคมีเพียงอย่างเดียวไม่สามารถคุ้มครองผลผลิตให้ปลอดจากการเน่าเสียภายหลังการเก็บเกี่ยวได้ ประกอบกับผู้นำเข้าหลายประเทศมีความเข้มงวดในเรื่องการใช้สารเคมีกับผลิตผลสดภายหลังการเก็บเกี่ยว  ดังนั้นการป้องกันกำจัดโรคผลเน่าของมะม่วงโดยวิธีผสมผสานในแปลงปลูก และภายหลังการเก็บเกี่ยวจึงมีความจำเป็นเพื่อให้มะม่วงมีคุณภาพดี ปราศจากการเน่าเสีย และเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ การทดลองในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวของการใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวร่วมกับการห่อผลมะม่วงในแปลงปลูก  และการใช้ความร้อนเช่น การจุ่มน้ำร้อน และการอบไอน้ำภายหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อควบุคมโรคเน่าภายหลังการเก็บเกี่ยวและควบคุมคุณภาพของมะม่วงเพื่อส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ  ซึ่งสรุปผลการทดลองได้ดังนี้

–        ทำการทดลองกับมะม่วงพันธุ์หนังกลางวันและน้ำดอกไม้ที่สวนเกษตรกร จ.ฉะเชิงเทรา ราชบุรี และลำพูน พบว่าสภาพสวนมะม่วงและการปฏิบัติดูแลรักษาในแปลงปลูกมีความสำคัญต่อการเกิดโรคผลเน่าภายหลังการเก็บเกี่ยวของมะม่วงเป็นอย่างมาก จากการทดลองกับมะม่วงพันธุ์หนังกลางวันที่ จ.ราชบุรีพบว่า มะม่วงจากสวนที่ปลูกแบบยกร่องจะมีการเน่าเสียภายหลังการเก็บเกี่ยวมากกว่ามะม่วงจากสวนที่ปลูกสภาพไร่ แม้ว่าจะมีการพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชในช่วง 1 เดือนก่อนเก็บเกี่ยว

–        การห่อผลมะม่วงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดการเกิดโรคภายหลังการเก็บเกี่ยวลงได้  จากการทดลองที่ จ.ลำพูน พบว่า มะม่วงที่ห่อผลแม้ว่าจะไม่นำมาผ่านการจุ่มสารป้องกันกำจัดโรคพืช  ภายหลังการเก็บเกี่ยวจะมีการเน่าเสียในระดับใกล้เคียงกับมะม่วงที่ไม่ได้ห่อผลแต่นำมาจุ่มสารป้องกันกำจัดโรคพืช  นอกจากนี้มะม่วงที่ได้รับการห่อผลจะมีผิวสวย และปราศจากริ้วรอยบนผล  ต่างจากมะม่วงที่ไม่ได้ห่อผลอย่างเห็นได้ชัด  โดยเฉพาะมะม่วงทางภาคเหนือที่มักจะเจอพายุลมแรงในช่วงระหว่างการเจริญเติบโตของผล

–        การใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชในแปลงปลูก มีความจำเป็นเพื่อลดปริมาณของเชื้อสาเหตุของโรคที่จะติดไปกับผล  การทดลองที่ฉะเชิงเทรา พบว่า มะม่วงพันธุ์หนังกลางวันที่ได้รับการพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชเบนโนมิล (benomyl) อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เพียงอย่างเดียวจำนวน 7 ครั้ง (โดยพ่นเมื่อผลมีอายุประมาณ 20 วัน – 1 เดือน ในช่วงเดือนแรกพ่น 2 สัปดาห์ต่อครั้งและในเดือนต่อมาสัปดาห์ละครั้งรวม 7 ครั้ง) จะให้ผลในการลดการเกิดโรคภายหลังการเก็บเกี่ยวมากกว่า การพ่นสารแมนโคเซฟ (mancozeb) อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร สลับกับฟลูซิลาโซล (flosilazole) อัตรา 5 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร และการพ่นโพรพิเนบ (propineb) อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร สลับกับเบนโนมิล

–        เปรียบเทียบการพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชร่วมกับการห่อผลกับมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ที่ จ.ราชบุรี พบว่ามะม่วงที่ได้รับการพ่นสารโพรพิเนบสลับกับเบนโนมิล จำนวน 4 ครั้ง โดยพ่นโพรพิเนบก่อนห่อผลจะเกิดโรคภายหลังการเก็บเกี่ยวน้อยกว่าการไม่ห่อผล ซึ่งได้รับการพ่นสารโพรพิเนบและเบนโนมิลเพิ่มอีกอย่างละ 1 ครั้ง สำหรับมะม่วงที่มีการพ่นสารเบนโนมิลจำนวน 5 ครั้ง และสารโพรพิเนบ 1 ครั้ง การห่อผลและไม่ห่อผลไม่ให้ความแตกต่างในด้านการเกิดโรค

–        การปฏิบัติภายหลังการเก็บเกี่ยวโดยการจุ่มผลมะม่วงในน้ำร้อนอุณหภูมิ 46 องศาเซลเซียสนาน 45-47 นาที ทั้งโดยลำพัง และร่วมกับการอบไอน้ำ ไม่มีผลในการลดการเกิดโรคเน่าเสียภายหลังการเก็บเกี่ยว และในบางกรณีพบว่าทำให้เกิดการเน่าเสียรุนแรงมากขึ้นด้วย

–        การผสมสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น เบนโนมิล และไธอาเบนดาโซล (thiabendazole) ลงในน้ำร้อน จะช่วยลดการเน่าเสียได้ดีขึ้น

–        โรคภายหลังการเก็บเกี่ยวจากการทดลองในครั้งนี้  ส่วนใหญ่จะเป็นโรคแอนแทรคโนส สำหรับแหล่งปลูกมะม่วง จ.ราชบุรี  จะพบอาการโรคขั้วผลเน่า และโรคผลเน่าจากเชื้ออื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรคแอนแทรคโนสในปริมาณมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเก็บรักษาไว้เป็นเวลานาน 4-5 สัปดาห์

–        การจุ่มผลมะม่วงในน้ำร้อนเป็นเวลานานที่อุณหภูมิ 46 องศาเซลเซียส มีแนวโน้มจะทำให้เกิดอาการของโรครุนแรงขึ้น การให้น้ำร้อนอุณหภูมิสูง ระยะเวลาสั้น และผสมสารป้องกันกำจัดโรคพืชอาจจะช่วยลดการเกิดโรคได้ดีกว่า

วัลภา ธีรภาวะ  ณรงค์ทองธรรมชาติ  และสุชาติ  วิจิตรานนท์

กลุ่มงานวิจัยโรคพืชผลิตผลเกษตร กองโรคพืชและจุลชีววิทยา