การชะล้างพังทลายของดินและวิธีการอนุรักษ์ดิน


เหตุใดจึงมีปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน
การชะล้างของดินและการแก้ไขในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่กอ่ให้เกิดปัญหาสำคัญแก่เกษตรกรบนที่สูง เนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากเพาะปลูกบนพื้นที่ซึ่งเป็นที่ลาดชัน ทั้งนี้หากไม่มีมาตรการควบคุมการชะล้างพังทลายของดินแล้ว พืชผลที่ได้จากผืนดินแปลงเดียวต่อเนื่องกันสัก 5-10 ปีนั้นก็จะลดลงไปอย่างมาก เนื่องจากหน้าดินซึ่งมีธาตุอาหารสมบูรณ์ถูกชะล้างไป เมื่อผืนดินมีความอุดมสมบูรณ์ลดน้อยลงเกษตรกรจำนวนไม่น้อยก็ละทิ้งแปลงปลูกพืชนั้น และหาแปลงอื่นที่อุดมสมบูรณ์เพื่อปลูกพืชต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็คือการบุกลำลายป่ามากขึ้นไปอีก
โดยเฉลี่ยแล้วในแต่ละปี ในช่วงที่ฝนตกหนักบนพื้นที่สูง ที่ลาดชันที่ไม่มี ต้นไม้และพืชปกคลุมจะมีการสูญเสียหน้าดินไป 1-2 ซม. ซึ่งหากคิดเป็นพื้นที่ 1 ไร่ ก็คือ มีหน้าดินที่มีคุณค่าถูกชะล้างไปประมาณ 20-30 ต้น การปลูกพืชผักต้องการระดับหน้าดินที่ลึก (10-20 ซม.) ทั้งนี้เพื่อจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี การชะล้างพังทลายของดินที่เกิดจากฝนตกหนักนี้ สามารถทำให้หน้าดินเหลือน้อยลงไปอย่างมากในเวลาไม่นานนัก ถ้าหากไม่มีมาตรการอนุรักษ์ดินที่เหมาะสม
สาเหตุของการชะล้างพังทลายของดิน
การชะล้างพังทลายของดินเกิดจาก 2 กระบวนการใหญ่ๆ คือ
1. เกิดจากฝนตกหนัก
2. เกิดจากน้ำที่เอ่อล้น
-เมื่อมีฝนตกหนักก็จะไปกระทบผิวดินที่ไม่มีอะไรปกคลุม ก็จะไปทำให้เม็ดดินใหญ่แตกกระจายเป็นเม็ดเล็กเม็ดน้อย
-ปริมาณน้ำฝนเมื่อรวมกันเข้าก็จะไหลลงมาตามที่ลาดเขา และนำเอาเมล็ดดินเหล่านั้นเอ่อล้นลงสู่ที่ต่ำ
-ความเร็วของการเอ่อล้นนี้ ขึ้นอยู่กับความลาดชันของภูเขา และขึ้นอยู่กับสภาพการมีพืชหรือต้นไม้ปกคลุมที่ดิน ถ้าพื้นที่ลาดชันมากและมีระยะไกล ก็จะทำให้การเอ่อล้นของน้ำเป็นไปอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการสูญเสียหน้าดินก็มีมาก
-เมื่อเริ่มหน้าฝนในช่วงระยะ 8 สัปดาห์แรกเป็นช่วงที่มีการสูญเสียหน้าดินบนที่สูงเกิดขึ้นมาก ทั้งนี้เนื่องจากช่วงนั้นยังไม่ค่อยมีหญ้าหรือพืชขึ้นปกคลุมผิวดิน และบางโอกาสฝนก็ตกหนักมาก
จะแก้ปัญหาการชะล้างพังทลายของดินในการปลูกพืชผักได้อย่างไร
มีมาตรการซึ่งไม่ยากนักที่เกษตรกรพอจะแก้ปัญหาข้อนี้ได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมควรได้คำนึงถึงและแนะนำเกษตรกรคือ
(1)  การคลุมดิน เป็นวิธีหนึ่งที่ง่ายที่สุดเลย ได้ผลดีมากในการที่ลดภาวะจากฝนตกหนักและกระทบผืนดินโดยคลุมแปลงผัก (MULCH) ด้วยการใช้อินทรีย์วัตถุที่จะหาได้ เช่น
-ใช้ฟางข้าวหรือเศษพืชผลต่างๆ
-ใช้ต้นข้าวโพด
-ใช้การตัดหญ้า หรือถอนหญ้ามาคลุมดิน
-ใช้ใบไม้หรือเศษพืชอื่นๆ
การคลุมดินนี้ จะป้องกันดินไม่ให้ดินถูกเม็ดฝนกระทบแรงเกินไป จะลดการไหลลงสู่ที่ต่ำของน้ำ (เนื่องจากน้ำที่ไหลตามลงมาที่ลาดชันนี้ จะต้องผ่านสิ่งกีดขวางที่ใช้คลุมดินอยู่) ในประการต่อมาก็ช่วยทำให้น้ำฝนซึมลงไปในดินได้ดีขึ้น อีกประการหนึ่ง จะลดการคายน้ำลงไปได้ทั้งยังทำให้ความชุ่มชื้นของดินมีความสม่ำเสมอ และในประการสำคัญก็คือการคลุมดินช่วยให้ดินมีอินทรีย์วัตถุที่มีคุณค่าที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตของพืช การใช้วัสดุคลุมดินน่าจะเป็นสิ่งที่เกษตรกรทำได้โดยง่ายและได้ผลอย่างคุ้มค่า ทั้งนี้เนื่องจากวัสดุดังกล่าวข้างต้น สามารถจะหาได้ในท้องถิ่นนั้นเอง ดังนั้นนักส่งเสริมจึงควรจงใจและแนะนำให้เกษตรกรที่ปลูกพืชบนที่ลาดชันมีการคลุมดินให้กับพืชเหล่านั้น โดยเฉพาะในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของฤดูฝน วัสดุที่ใช้คลุมดินเหล่านี้จะมีอย่างมากมาย ถ้าหากเกษตรกรไม่เผาเศษพืชต่างๆ ที่ปลูกในฤดูก่อนหน้านั้น
(2) ผู้ปลูกผักส่วนใหญ่ก็ปลูกผักอยู่บนแปลง ซึ่งการที่ขึ้นแปลงเพื่อปลูกผักนี้ ก็ลดการเอ่อล้นของน้ำอยู่แล้ว แต่ขอให้ขึ้นแปลงอย่างถูกต้อง คือทำตามแนวขวางทางลาดชัน หรือให้เฉียงขวางไว้บ้าง เพื่อให้น้ำค่อยๆ ไหลลงสู่ที่ต่ำ การที่น้ำไหลลงสู่ที่ลาดชันโดยตรงเช่นนี้ ในหลายๆ กรณีควรป้องกันโดยการปลูกหญ้า ปลูกต้นไม้ หรือปล่อยให้วัชพืชขึ้น เพื่อกันร่องน้ำเล็กๆ มิให้เกิดการชะล้างเป็นแผ่นใหญ่ แต่ประเด็นสำคัญอย่างมากก็คือ จะต้องไม่ขึ้นแปลงปลูกพืช ตามแนวลาดชันของพื้นที่
(3) การปลูกพืชเป็นแถบ โดยปลูกพืชผักหลายอย่างเป็นแถบร่วมกับการปลูกพืชไร่ (ถั่วต่างๆ ข้าว ข้าวโพด) จะช่วยปกคลุมดินบางส่วน และลดอัตราการไหลของน้ำลง ถ้ามีการเก็บเกี่ยวพืชใดพืชหนึ่งออกไป ก็ยังมีพืชอื่นเหลืออยู่ในแปลง ซึ่งจะป้องกันแรงที่จะชะล้างดินออกไป พืชตระกูลถั่วที่ปลูกหมุนเวียน ยังช่วยลดการสะสมของเชื้อโรคที่สะสมทำลายพืชผักบางชนิด ช่วยตรึงไนโตรเจน และให้วัสดุคลุมดินที่มีประโยชน์ ดังนั้นนักส่งเสริมจึงควรสนับสนุนเกษตรกรให้ปลูกพืชไร่และพืชผักเป็นแถบเพื่อการอนุรักษ์ดิน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน
(4) การใช้สิ่งขวางกั้นอย่างง่ายๆ ทั้งนี้โดยการถอนหญ้าหรือตัดหญ้าตามคอนทัวรีให้เป็นแถบ เพื่อลดอัตราการไหลของน้ำให้ช้าลง เกษตรกรมักจะกองหญ้าที่ถอนไว้เป็นกองๆ อยู่บ้างแล้ว ถ้าเจ้าหน้าที่ส่งเสริมจะมีการสาธิตเทคนิคในเรื่องนี้ให้ดีขึ้นก็จะช่วยการอนุรักษ์ดินได้ดีมาก
วิธีการต่อไปนี้ค่อนข้างจะมีความซับซ้อนมากขึ้น การแนะนำและสาธิตของนักส่งเสริมต้องกระทำอย่างใกล้ชิดคือ
(5) การปลูกพืชเป็นแถบเพื่อเป็นแนวกั้น วิธีนี้ใช้การปลูกพืชยืนต้นและพืชล้มลุกต่างๆ (เช่น หญ้าหรือต้นไม้ตระกูลถั่วต่างๆ เป็นแถบๆ ขวางทางลาดชันเป็นระยะๆ ลงมาตามทางลาดชันนั้น การทำเช่นนี้มีข้อดีหลายประการคือ
-จะทำให้มีแนวกั้นน้ำแบบกึ่งถาวรเกิดขึ้น
-ทำให้มีวัสดุคลุมดินแก่พืช ผัก (ขึ้นอยู่กับพันธุ์พืชที่ใช้ปลูก)
-ทำให้มีการปลูกพืชอย่างหมุนเวียน
-ใช้แรงงานของเกษตรกรในการดำเนินการ และบำรุงรักษาน้อยกว่าวิธีการอนุรักษ์ที่ทำแบบถาวร
-พืชยืนต้นช่วยป้องกันรักษาดิน (ช่วยป้องกันการชะล้างจากการกระแทกของฝนโดยตรงและช่วยให้วัสดุคลุมดินอีกส่วนหนึ่งด้วย) โดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูฝนซึ่งมีการชะล้างพังทลายของดินเกิดขึ้นมากที่สุด
การทำแนวระดับหรือเส้นดอนทัวร์อาจทำได้ง่ายๆ โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า เอ-เฟรม หรือใส่น้ำไปในท่อพลาสติก ส่วนพืชที่เหมาะสมที่จะปลูกตามแนวระดับ(ขวางทางลาดชัน) ได้แก่
-หญ้าที่ปลูกเป็นแถบ มีหญ้าเชทเทอเรีย (Seteria) หญ้าคองโก (Congo) ตะไคร้ หญ้าบาเฮีย (Bahia)
-พืชตระกูลถั่วที่เป็นต้นมี กระถินยักษ์ ถั่วมะแระ ต้นแค
การที่จะแนะนำให้ปลูกพืชชนิดใดขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่นั้น ความต้องการของเกษตรกร และเมล็ดพันธุ์พืชที่จะหาได้ หญ้าคองโก และหญ้าเชทเทอเรีย สามารถใช้คลุมดินและเป็นอาหารสัตว์ ตะไคร้สามารถตัดขายได้ ไม้ยืนต้น เช่น กระถินยักษ์ และถั่วมะแฮะ สามารถใช้เป็นฟืนและเป็นวัสดุคลุมดินได้เป็นอย่างดี ส่วนไม้ผล (เช่น กาแฟ แอปเปิ้ล พีช) สามารถจะปลูกระหว่างแถบที่กั้นเหล่านี้ และยังเป็นพืชที่ให้รายได้ในอนาคตด้วย การส่งเสริมให้ปลูกพืชรายได้เหล่านี้ ในระหว่างแถบต่างๆ ดังกล่าว จะช่วยให้เกษตรกรสนใจเพราะทำรายได้แก่เกษตรกร มิฉะนั้นเกษตรกรคงยากที่จะสนใจ
วิธีการอนุรักษ์ดินวิธีนี้ จะช่วยให้การทำการเกษตรของเกษตรกรมีความมั่นคงมากกว่าวิธีการแบบเดิมที่ทำอยู่ แต่วิธีดังกล่าวก็ต้องอาศัยความตั้งใจแน่วแน่ของเกษตรกรที่จะปลูกพืชและดูแลรักษาให้เติบโตอย่างสม่ำเสมอ (ต้องการทั้งแรงงานและเงินทุนด้วย) เมื่อเป็นเช่นนี้โครงการที่จะช่วยเกษตรกรจึงต้องเข้าไปช่วยและสนับสนุนในสิ่งที่จำเป็น เช่น การให้พันธุ์พืช วัสดุที่จำเป็นตลอดจนคำแนะนำส่งเสริมต่างๆ
อีกวิธีหนึ่งเป็นการดำเนินการแบบถาวร  ซึ่งต้องมีโครงการให้ความสนับสนุนในการดำเนินงานและเป็นวิธีการที่ยาก ที่เกษตรกรดำเนินการได้โดยลำพัง คือ
(6) การสร้างเครื่องกั้นแบบถาวร ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลดีมากในการป้องกันการชะล้างในหลายๆ กรณี แต่ก็ต้องมีการให้ความสนับสนุนอย่างจริงจังและแน่วแน่จากโครงการด้วยทักษะในการดำเนินงานก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพราะแนวกั้นทางลาดชันที่สร้างขึ้น จะต้องได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ก็ใช้แรงงานมาก ทั้งอาจต้องใช้เครื่องจักรกลเข้าช่วยด้วยวิธีการในข้อนี้ได้แก่
-แนวกั้นที่เป็นดิน (Contour bunds) และช่องน้ำริมเขาขวางทางลาดชัน
-การทำขั้นบันไดหรือ bench terraces เช่น ขั้นบันไดแบบมีร่องน้ำระบายน้ำ (irrigated terrace) แนวขั้นบันไดแบบไม่สมบูรณ์ หรือแนวขั้นบันไดแบบเป็นซองเฉพาะต้น (intermittent or convertible terraces) และแนวขั้นบันไดแบบแคบสำหรับไม้ผล (orchard terraces)
การสร้างแนวขั้นบันไดเป็นวิธีการหนึ่งที่เหมาะสมที่สุด ในการสร้างระบบการเกษตรที่ถาวรบนที่สูงขึ้นมา อย่างไรก็ดีสภาพดินบางแห่งก็ไม่เหมาะสม (เช่นระดับความลึกหรือชนิดของดิน) และการสร้างก็ต้องใช้แรงงานมากเมื่อเทียบกับการใช้แนวกั้นแบบที่ใช้พืชปลูกเป็นแถบ ซึ่งใช้ปัจจัยการลงทุนทั้งของเกษตรกรและของโครงการไม่มากนัก
ที่มา:ภาควิชาส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่