การช่วยผสมเกสรดอกมะม่วงเพื่อการติดผลที่ดีขึ้น

ดอกมะม่วงหลังจากที่เริ่มแทงช่อดอกจนถึงเริ่มบานจะใช้เวลาประมาณ 14 วัน  และช่วงดอกบานจนหมดช่อใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน ระยะเวลาในการผสมเกสรของดอกมะม่วงส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเช้า ประมาณ 06.00-08.00 น. ซึ่งสังเกตได้จากในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีแมลงเข้าตอมที่ช่อดอกมาก  แต่พอสายมากกว่านี้จำนวนแมลงจะลดลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะถ้ามีแดดหรือลมแรง  แมลงทีช่วยในการผสมเกสรมะม่วงที่สำคัญคือ ผึ้ง รองลงมาคือ แมลงวันหัวเขียว  ดังนั้น  ถ้ามีแมลงเหล่านี้มาก็จะช่วยในการผสมเกสรของมะม่วงได้ดีขึ้น  เราสามารถช่วยได้โดยการเลี้ยงแมลงวันในสวนมะม่วง  โดยการนำปุ๋ยคอกใหม่ ๆ มากองไว้ในสวนในช่วงที่ต้นมะม่วงเริ่มแทงช่อดอก  โดยกองไว้หลาย ๆ จุด รดน้ำให้ชื้น  เพื่อให้แมลงวันมาไข่บนกองปุ๋ยคอก  และจะฟักตัวในเวลาต่อมาหรืออาจใช้ขี้หมูซึ่งมีหนอนแมลงวันอยู่แล้ว  ซึ่งจะเป็นตัวแก่พอดีในช่วงที่ดอกมะม่วงเริ่มบาน  แมลงวันเหล่านี้จะไปตอมที่ดอกมะม่วง  เป็นการช่วยผสมเกสรให้กับดอกมะม่วงเป็นอย่างดี ทำให้มะม่วงมีการติดผลมากขึ้น

ระยะดอกมะม่วงบานควรงดการพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลงทุกชนิด

ตามที่ได้กล่าวมาในครั้งก่อนแล้วว่า  ดอกมะม่วงจะเริ่มบานหลังจากที่แทงช่อดอกมาได้ประมาณ 14 วัน และระยะเวลาในการบานจนหมดทั้งช่อประมาณ 15-20 วัน  ซึ่งในระยะนี้เป็นระยะที่มีแมลงเข้าผสมเกสร  จึงไม่ควรมีการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลงใด ๆ ทั้งสิ้น  เพราะจะเป็นอันตรายต่อแมลงที่มีประโยชน์ช่วยผสมเกสรมะม่วงในช่วงดังกล่าว  และในขณะเดียวกันตัวยาก็อาจจะแห้งติดกับปลายยอดเกสรตัวเมีย  ซึ่งจะกันไม่ให้ละอองเกสรตัวผู้เข้าไปผสมกับไข่ในรังไข่ สำหรับในบางส่วนที่มีการระบาดของแมลงที่เข้าทำลายช่อดอกมะม่วง  ก็ควรกำหนดวันในการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงคือ ตั้งแต่เริ่มแทงช่อดอก แต่ไม่เกินวันที่ 14 ของการแทงช่อดอก  เมื่อเลยวันที่ 14 ไปแล้วควรงดการฉีดพ่นสารเคมีทุกชนิด  ถ้ามีการระบาดมาก ๆ ให้ฉีดพ่นสารเคมีพวกไพรีทรอย (เป็นสารที่สลายตัวเร็ว) ได้อีกครั้งเดียว  และจะเริ่มฉีดใหม่อีกหลังจากที่มะม่วงติดผลอ่อนแล้ว  ในบางสวนที่มีการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงมาก และไม่กำหนดวันฉีดพ่นยาที่ถูกต้องทำให้แมลงเข้าผสมเกสรน้อยเป็นผลให้มะม่วงไม่ติดผล หรือบางแห่งผลมะม่วงเจริญขึ้นมาโดยไม่ได้รับการผสม  ทำให้ผลที่ได้มีขนาดเล็กและไม่มีเมล็ด  เรียกว่ามะม่วงกะเทย

การป้องกันกำจัดเพลี้ยจั๊กจั่น

เมื่อถึงฤดูกาลออกช่อมะม่วงในแต่ละปี มักจะมีการระบาดของเพลี้ยจั๊กจั่นเกิดขึ้นอยู่เสมอ  บางครั้งอาจพบว่ามีการระบาดก่อนที่มะม่วงจะแทงช่อดอก 1-2 เดือน ก็มีเพลี้ยจั๊กจั่นทั้งตัวอ่อนและตัวแก่  จะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ช่อดอกมะม่วง  ทำให้ดอกมะม่วงขาดน้ำเลี้ยงไม่สามารถเจริญต่อไปเป็นผลมะม่วงได้  ดอกจะร่วงหล่นไปในที่สุด  และขณะเดียวกันเพลี้ยจั๊กจั่นก็จะขับถ่ายออกมาเป็นของเหลวมีรสหวาน  ซึ่งเป็นอาหารที่เชื้อราดำที่มีอยู่ในบรรยากาศชอบมาก  มักจะพบการระบาดของราดำเกิดขึ้นควบคู่กันไปกับเพลี้ยจั๊กจั่นเสมอ  โดยเฉพาะตอนเช้า ถ้ามีหมอกลงจัด ทำให้ราดำระบาดมากยิ่งขึ้น  ทำให้ช่อดอกมะม่วงและใบมะม่วงมีละอองสีดำปกคลุมโดยทั่วไป

ปีไหนที่มีการระบาดของเพลี้ยจั๊กจั่นและราดำมาก มะม่วงมักจะติดผลน้อย  วิธีการป้องกันกำจัดทำได้โดย  ฉีดพ่นสารเคมีประเภทดูดซึม เช่น โมโนโครโตฟอส หรือสารคาร์บาเมท ทุก 7-10 วัน เมื่อมีการระบาด แต่จะต้องหยุดพ่นในช่วงดอกบาน เมื่อติดผลขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว  แล้วจึงค่อยพ่นใหม่อีก  เมื่อปราบเพลี้ยจั๊กจั่นแล้วราดำก็จะหมดไปด้วยเช่นกัน

สงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้จากเกษตรตำบลหรือเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน