การดูแลรักษาต้นกุหลาบ

1. การปลิดดอก ไม่ว่าจะปลูกกุหลาบจากต้นที่ขยายพันธุ์โดยวิธีตัดชำ วิธีตอนกิ่ง หรือวิธีติดตาก็ตาม จะต้องมีการเลี้ยงต้นให้โตได้ขนาดเสียก่อน จึงจะทำการตัดดอกได้ มิฉะนั้นต้นจะไม่โตเท่าที่ควรหรือว่าจะต้องใช้เวลาเลี้ยงดูนานกว่าปกติ ต้นจึงจะได้ขนาดมาตรฐานที่ทำการตัดดอกได้ การปลิดดอก เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้ต้นโตเร็วหรือไม่ต้องใช้เวลาในการเลี้ยงดูต้นพืชนาน ปัญหามีอยู่ว่าจะใช้เวลาเลี้ยงต้นนานสักเท่าใด หรือจะต้องเลี้ยงต้นให้มีขนาดโตแค่ไหน จึงจะทำการตัดดอกได้ เรื่องนี้ต้องแล้วแต่ประเภทของต้นที่นำมาปลูกดังนี้

พวกที่ปลูกจากกิ่งตอนหรือกิ่งตัดชำ จะใช้เวลาเลี้ยงดูประมาณ 3 เดือน หรือ 2 ช่วงของการออกดอกนับตั้งแต่การตัดชำ หลังจากนั้นก็จะเริ่มทำการตัดดอกส่งตลาด แต่ดอกที่ตัดในระยะนี้เป็นดอกขนาดเล็ก เพราะต้องตัดก้านสั้นเพื่อเอาใบไว้เลี้ยงต้นที่จะให้โตต่อไป การปฏิบัติดังนี้ก็อาจคิดว่าเป็นผลดี เพราะอย่างน้อยก็จะได้เงินมาช่วยในการเลี้ยงดูสวนทางหนึ่ง แต่มีข้อเสียที่ว่า ต้นกุหลาบจะเจริญน้อยลงอีกประมาณ 1 ช่วงการเจริญ (1 ช่วงการเจริญใช้เวลาประมาณ 30 วัน นับแต่ตัดกิ่งถึงออกดอก หรือ 45 วัน ถึงดอกบาน) โดยการปลิดดอกออกขณะดอกยังเล็ก ซึ่งถ้าจะเทียบ 1 ช่วงการเจริญโตได้ 1 ฟุต ก็หมายความว่าแทนที่ต้นจะโตได้ 3 ฟุต โดยการปลิดดอกขณะที่ดอกยังเล็กอยู่ แต่ถ้าปฏิบัติแบบชาวสวนจะโตได้เพียง 2 ฟุตเท่านั้น ดังนั้น จึงทำให้ต้องใช้เวลาเลี้ยงต้นเป็นเวลานานกว่า จะโตได้ขนาดมาตรฐาน สำหรับการปฏิบัติที่ เหมาะสมนั้นควรจะทำการปลิดดอกอย่างน้อย 4 ช่วงของการเจริญหรือใช้เวลาเลี้ยงต้นประมาณ 4 เดือน จึงจะทำให้ต้นโตได้ขนาดมาตรฐาน และแข็งแรงพอที่จะทำการตัดดอกโดยที่ต้นไม่ทรุดโทรมง่าย

พวกที่ปลูกจากต้นที่ขยายพันธุ์โดยวิธีติดตา โดยเฉพาะจากต้นที่เลี้ยงต้นตอจนมีระบบรากแข็งแรงพอก่อนที่จะบังคับตา สำหรับต้นติดตาแบบนี้อาจทำการปลิดดอกเพียงครั้งเดียวคือ หลังจากที่ได้ทำการติดตาแล้ว และได้เลี้ยงต้น ตอให้มีระบบรากแข็งแรงพอแล้ว ฉะนั้นเมื่อถึงฤดูที่ต้นกุหลาบเจริญได้ดีที่สุดก็จะบังคับตาให้แตกยอด หลังจากบังคับตาได้ 1 เดือน ยอดที่เจริญขึ้นมาก็จะเริ่มออกดอกและเมื่อดอกโตเท่าขนาดเมล็ดถั่วเขียวก็จะทำการปลิดดอกออกทันที ยอดที่ปลิดดอกออกแล้วจะเริ่มแตกยอดใหม่ ซึ่งจะมียอดที่แตกอยู่หลายยอด แต่ยอดที่ปล่อยให้เจริญนั้นเป็นยอดจากโคนใบที่มีใบย่อย 5 ใบ และเป็นยอดที่ตรงที่สุด คือเมื่อแตกแล้วจะมองดูเหมือนกับเป็นกิ่งเดียวกับกิ่งเดิมที่แตกจากตา ยอดลักษณะนี้จะเจริญได้กิ่งยาวและเมื่อดอกเริ่มบานสามารถที่จะตัดดอกใช้ได้ทันที ซึ่งจะใช้เวลาในการเลี้ยงยอดนับตั้งแต่บังคับตาจนถึงตัดดอกได้ประมาณ 2 ½  เดือน

2. การรดน้ำ การรดน้ำเป็นเทคนิคอย่างหนึ่ง ในการที่จะเลี้ยงดูต้นกุหลาบให้แข็งแรง ต้นไม้ทรุดโทรมง่าย และมีอายุการให้ผลยืนนาน แม้ว่ากุหลาบจะเป็นพืชที่ชอบน้ำ ซึ่งหมายความว่าเมื่อรดน้ำมาก ๆ กุหลาบจะเจริญงอกงามดีก็ตาม แต่การรดน้ำมากจนดินปลูกอิ่มตัว หรือหน้าดินเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในดินเหนียวจัด เช่นในบริเวณภาคกลาง ผลเสียที่ตามมา คือ รากกุหลาบในระดับลึก ๆ จะขาดอากาศ และไม่สามารถเจริญได้ แต่การที่ต้นกุหลาบยังเจริญงอกงามขึ้นได้นั้น ก็เป็นผลจากรากที่อยู่ ตื้นๆใกล้ระดับผิวดิน ซึ่งได้รับอากาศเพียงพอเท่านั้น นั่นก็หมายความว่าต้นกุหลาบที่รดน้ำจนหน้าดินเปียกแฉะอยู่เสมอ ๆ ดังที่ชาวสวนกุหลาบปฏิบัติกันทั่ว ๆ ไปนั้น ก็เท่ากับเลี้ยงดูให้กุหลาบมีระบบรากตื้น การที่ต้นพืชมีระบบรากต้นนี้ มีผลเสียอยู่หลายประการ เช่น ต้นมักล้มเอนไปมาไม่เป็นระเบียบ ระบบรากมักเสียหายง่ายเมื่อมีลมโยกหรือเมื่อทำการพรวนหน้าดิน ต้นเหี่ยวเฉาง่ายเมื่ออากาศแห้งและร้อนจัด ต้นทรุดโทรมไว ซึ่งหมายถึงไม่ค่อยแตกยอดหรือแตกแต่ยอดเล็ก ๆ ดอกไม่ได้ขนาด ต้นมักตายง่ายเมื่อทำการตัดแต่งกิ่งหนัก ๆ และประการสุดท้ายก็คือ อายุการให้ผลสั้น ดังนั้นการที่จะเลี้ยงกุหลาบให้แข็งแรงนั้น มิใช่หมายถึงเลี้ยงให้ต้นตอนบนที่มองเห็นได้เจริญเติบโตเท่านั้น จะต้องเลี้ยงให้รากที่อยู่ใต้ผิวดินซึ่งไม่อาจมองเห็นเจริญเติบโตได้ดีด้วย นั่นคือเลี้ยงให้มีรากลึก รากแผ่กว้างและรากมีขนาดโตเช่นเดียวกับต้นที่อยู่ทางส่วนบน ด้วยเหตุนี้ การรดน้ำ จึงต้องมีหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง ซึ่งมีข้อควรปฏิบัติง่าย ๆ ดังนี้

1. จะต้องรดให้ดินบริเวณโคนต้นชุ่มโดยทั่วถึง แต่อย่ารดจนน้ำขังหรือหน้าดินบริเวณโคนต้นเปียกแฉะอยู่เป็นเวลานานหลาย ๆ วัน เพราะนอกจากจะทำให้ต้นพืชขาดอากาศแล้ว ยังทำให้ดินปลูกมีฤทธิ์กรดมากขึ้น เป็นผลให้

ต้นพืชไม่เจริญและเลี้ยงดูยากขึ้น ฉะนั้นแปลงปลูกกุหลาบจึงต้องเตรียมเรื่องการระบายน้ำไว้เป็นอย่างดี ก่อนที่จะทำการปลูก ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเสียหายจากการรดน้ำมากเกินควร และเพื่อให้ต้นพืชมีโอกาสได้รับน้ำเต็มที่โดย ไม่ต้องกังวล ในเรื่องรากเน่าหรือดินเป็นกรดจัดเกินไป

2. รดน้ำให้ซึมลึกตลอดความยาวของราก ซึ่งหมายถึงรดให้น้ำลึกประมาณ 16-18 นิ้ว หรืออย่างน้อยไม่ควรน้อยกว่า 12 นิ้ว

3. รดให้เว้น หรือไม่รดทุกวัน แต่จะเว้นรดเพื่อให้หน้าดินมีโอกาสแห้ง อากาศสามารถที่จะกระจายไปถึงรากในระดับลึก ๆ ได้ พร้อมกันนั้นก็จะเป็นการฝึกให้รากเจริญไปหาความชื้นในระดับลึกลงเรื่อย ๆ ซึ่งในขณะที่เลี้ยงต้น ก่อนที่จะถึงขนาดตัดดอก หรือในการเลี้ยงต้นตอก่อน การบังคับตา เป็นระยะที่เหมาะในการฝึกให้รากเจริญไปหาความชื้นในระดับลึก ๆ ดังกล่าว

เนื่องจากดินปลูกมีสภาพแตกต่างกันไป ตามชนิดของดินซึ่งดินแต่ละชนิดจะสามารถอุ้มน้ำไว้ได้มากน้อยแตกต่างกัน ฉะนั้น ช่วงเวลาที่ทำการรดน้ำแต่ละครั้งจึงมีความถี่ห่างต่างกันไปด้วย และเพื่อให้เป็นแนวในการพิจารณาช่วงเวลาการรดน้ำ จึงใคร่ขอเสนอหลักปฏิบัติในการรดน้ำดังนี้

ดินทรายรด            4-10 วันต่อครั้ง

ดินร่วนรด             8-15 วันต่อครั้ง

ดินเหนียวรด         15 – 30 วันต่อครั้ง

อย่างไรก็ตามช่วงเวลาในการรดน้ำ ควรจะพิจารณาขนาดของต้นพืชและสภาพแวดล้อมที่ทำให้ดินเสียน้ำได้เร็วประกอบด้วย เช่น ความชื้นในอากาศต่ำ แดดจัด และลมแรง ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ดินแห้งไวขึ้น และถ้าต้นพืชยังมี ขนาดเล็ก รากยังไม่หยั่งลึก ช่วงเวลาการรดน้ำก็ต้องถี่ขึ้น ดังนั้นจึงต้องสังเกตสภาพของต้นพืชที่แสดงออกประกอบการพิจารณาด้วยเหมือนกัน เช่นอาการที่คอดอกอ่อนหรือพับ หรือใบเหี่ยวติดต่อกัน 2-3 วัน ก็เเสดงว่าถึงเวลาที่จะต้องทำการรดน้ำคราวต่อไปได้แล้ว

3. การใส่ปุ๋ย

ปุ๋ย ตามความหมายทั่ว ๆ ไปหมายถึง “สิ่งใดก็ตามที่ใส่ลงไปในดิน (ดินปลูก) แล้วสามารถให้ธาตุอาหารที่จำเป็นแก่ต้นพืช” ได้

จากการศึกษาพบว่า ธาตุอาหารที่จำเป็น แก่ต้นพืชได้แก่ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส ปอแตสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก โปรอน แมงกานีส ทองแดง โมลิบดินัม สังกะสี คลอรีน และซัลเฟอร์

ในจำนวนธาตุทั้งหมดเหล่านี้ แบ่งออกได้ เป็น 2 พวก

1. ธาตุหลัก ได้แก่ธาตุ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และปอแตสเซี่ยม ซึ่งเป็นธาตุที่ต้นพืชใช้มาก ดังนั้น ในการปลูกพืชเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงจึงต้องใส่ธาตุทั้งสามนี้ให้พอ

2. ธาตุรอง ได้แก่ธาตุอื่น ๆ นอกเหนือจากธาตุทั้งสามดังกล่าวเป็นธาตุที่ต้นพืชใช้น้อยแต่จำเป็นต้องใช้ โดยปกติมักจะไม่ใส่ธาตุเหล่านี้ ให้กับต้นพืช เพราะถือว่าดินปลูกโดยทั่วไปมีธาตุเหล่านี้อยู่มากพอ นอกจากต้นบางแห่งอาจ ขาดธาตุหนึ่งธาตุใดไป หรือต้นพืชที่ปลูกต้องการธาตุหนึ่งธาตุใดมากเป็นพิเศษก็อาจใส่เพิ่มให้บ้าง เท่าที่พบเห็นในบ้านเราพบว่าธาตุที่ต้นพืชมักขาดเสมอ ๆ ได้แก่ธาตุแคลเซี่ยม ธาตุเหล็ก ธาตุแมกนีเซี่ยม และธาตุโบรอน ส่วน ธาตุอื่น ๆ ยังไม่เคยเห็นเด่นชัด

ในจำนวนธาตุสามอย่างคือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโปแตสเซี่ยม ซึ่งจำเป็นต้องใส่ให้กับต้นพืชนั้น โดยทั่วไปจะมีอยู่ทั้งในรูปที่เป็นสารอินทรีย์ (ได้จากพืชและสัตว์) และสารอนินทรีย์ (ไม่ได้จากพืชและสัตว์) ธาตุอาหารที่มีอยู่ในรูปของอินทรีย์เรียกว่า “ปุ๋ยอินทรีย์” ซึ่งเป็นสารที่สลายตัวช้า คือต้องใช้เวลานานพอสมควร ต้นพืชจึงจะได้ธาตุอาหารจากสารเหล่านั้น แต่มีข้อดีที่ว่าต้นพืชใช้ได้นาน ไม่ต้องใส่บ่อย ๆ และนอกเหนือจากจะให้ธาตุอาหารหลักแล้ว ยังอาจให้ธาตุอาหารรองติดมาด้วย และยิ่งกว่านั้นอาจให้ฮอร์โมนพืช รวมทั้งไวตามินที่จำเป็นในการเจริญของรากพืชอีกด้วย สำหรับปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้กันอยู่ทั่ว ๆ ไปได้แก่กีบและเขาสัตว์หรือเลือดแห้ง (ให้ธาตุไนโตรเจน 13 เปอร์เซ็นต์), ปลาหมัก กระดูกดิบ (ให้ธาตุ ไนโตรเจน 5 เปอร์เซ็นต์ และฟอสฟอรัส 25 เปอร์เซ็นต์) ขี้เถ้าจากกาบหรือขุยมะพร้าวให้ปอแตสเซี่ยม และขี้เถ้าแกลบให้ปอแตสเซียม เป็นต้น ส่วนปุ๋ยของสัตว์ชนิดอื่น และปุ๋ยหมัก ก็ถือว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์เหมือนกัน แต่มักมีเนื้อธาตุอาหารต่ำ ส่วนใหญ่มักจะใส่เพื่อต้องการอินทรีย์วัตถุมากกว่าเนื้อปุ๋ยที่ต้องการจะได้

ส่วนปุ๋ยอนินทรีย์ หรือเรียกกันทั่ว ๆ ไปว่าปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์นั้นเป็นปุ๋ยที่ได้จากธรรมชาติหรือทำขึ้นจากผลพลอยได้ของโรงงานอุตสาหกรรมบางชนิด โดยปกติปุ๋ยเหล่านี้จะมีเนื้อของธาตุอาหารที่เป็นปุ๋ยอยู่ในเนื้อปุ๋ยสูงกว่าปุ๋ยอินทรีย์มาก เช่นปุ๋ยแอมโมเนี่ยมซัลเฟต มีเนื้อไนโตรเจนอยู่ราว 21 เปอร์เซ็นต์ ปุ๋ยยูเรียมีไนโตรเจนอยู่ราว 45 เปอร์เซ็นต์ ปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟตมีฟอสฟอรัสอยู่ 20 เปอร์เซ็นต์ ปุ๋ยดับเบิลซูปเปอร์ฟอสเฟต มีฟอสฟอรัสอยู่ 40 เปอร์เซ็นต์ ปุ๋ยมิวเรทออฟปอแตสหรือปอแตสเซียมคลอไรด์ มีปอแตสเซียมอยู่ 60 เปอร์เซ็นต์ และปุ๋ยปอแตสเซียมซัลเฟตมีปอแตสเซียมอยู่ 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น

การใช้ปุ๋ยทั้ง 2 ประเภท คือปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีมักจะใช้ในลักษณะต่างกัน ปุ๋ยอินทรีย์มักจะใช้แบบปุ๋ยรองก้นหลุมหรือมิฉะนั้นก็ใช้หว่านแล้วพรวนดินกลบ ซึ่งในปีหนึ่งๆ จะใช้ เพียง 1-2 ครั้ง โดยเฉพาะในระยะที่เริ่มฤดูการเจริญเติบโต สำหรับกุหลาบได้แก่ระยะต้นฤดู ฝนและต้นฤดูหนาว ส่วนปุ๋ยเคมีใช้เป็นปุ๋ยเร่งต้องใช้บ่อย ๆ และควรใช้ให้สอดคล้องกับช่วงการเจริญ หรือช่วงการออกดอกแต่ละครั้ง ช่วงการออกดอกของกุหลาบครั้งหนึ่ง ๆ ใช้เวลาราว 6 สัปดาห์ ซึ่งก็หมายความว่าต้องใส่ปุ๋ยเคมี 6 สัปดาห์ต่อครั้ง และควรจะใส่ในระยะที่ต้นกุหลาบต้องการใช้คือระยะที่ตาเริ่มเจริญเป็นยอดใหม่เท่านั้น

การใส่ปุ๋ยเคมีโดยทั่วไป อาจจะใส่แบบปุ๋ยเดี่ยว คือเมื่อต้นพืชต้องการปุ๋ยชนิดใดไปสร้าง ส่วนใดก็จะใส่ปุ๋ยชนิดนั้น ๆ เช่นเมื่อต้นพืชเริ่มเจริญ หรือแตกยอดอ่อน ซึ่งต้องการไนโตรเจนสูง ก็จะใส่ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารไนโตรเจน เช่นใส่ แอมโมเนียมซัลเฟตหรือยูเรีย, หรือเมื่อต้นพืชเริ่มจะออกดอกซึ่งเป็นระยะที่ต้องการฟอสฟอรัสสูง ก็จะใส่ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัส เช่นใส่ซุปเปอร์ฟอสเฟตหรือดับเบิลซุปเปอร์ฟอสเฟต หรือว่าเมื่อดอกเริ่มจะแย้มซึ่งต้องการปอแตสเซี่ยมไป ช่วยทำให้สีจัดขึ้น กลีบหนาขึ้นและคอดอกแข็งขึ้น ก็จะใส่ปุ๋ยที่มีปอแตสเซียม เช่นใส่ปอแตสเซี่ยมซัลเฟต เป็นต้น (ไม่ควรใส่ปอแตสเซี่ยมคลอไรด์หรือมิวเรทออฟปอแตส เพราะกุหลาบไม่ชอบปุ๋ยที่มีคลอรีนเป็นส่วนประกอบ)

แต่ปัจจุบัน ปุ๋ยเดี่ยวมักจะซื้อหายาก และไม่สะดวกในการใช้ ดังนั้นจึงนิยมใส่ปุ๋ยในรูปของปุ๋ยผสม แต่การใช้ปุ๋ยในรูปของปุ๋ยผสมจะต้องเลือกสัดส่วนของธาตุอาหารในปุ๋ย หรือที่เรียกว่ากันว่าสูตรปุ๋ยที่เหมาะสำหรับพืชแต่ละชนิด สำหรับกุหลาบ สูตรปุ๋ยที่แนะนำให้ใช้กันทั่ว ๆ ไปมีอยู่ 3 สูตรคือ สูตร 5-10-5, 4-12-4 และ 6-12-4 สำหรับปุ๋ยสูตรหลังคือ 6-12-4 มักใช้เป็นปุ๋ยเร่งในต้นฤดูการเจริญ เช่น ต้นฤดูฝนและต้นฤดูหนาว ส่วนอีก 2 สูตรใช้ใส่ในโอกาสทั่ว ๆ ไป และระยะเวลาในการใส่ นั้นก็คือเมื่อตาเริ่มแตกยอดอ่อน