การตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก

กองวัตถุมีพิษการเกษตร  กรมวิชาการเกษตร

การตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารมีพิษตกค้างของวัตถุมีพิษในผลิตผลการเกษตร อยู่ในความรับผิดชอบของกองวัตถุมีพิษการเกษตร(สาขาวิจัยวัตถุมีพิษ) มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๘ และได้มีการพัฒนาระบบการให้บริการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารมีพิษตกค้างในผลิตผลการเกษตรให้สามารถให้บริการแก่ภาครัฐบาลและเอกชนได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็นต้นมากองวัตถุมีพิษการเกษตรได้เริ่มงานวิจัยเพื่อสนับสนุนการผลิตเพื่อการส่งออกดังนี้

๑.  วิจัยเกี่ยวกับการสลายตัวของวัตถุมีพิษที่ใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพื่อการเก็บรักษาในโกดังและโรงเก็บสินค้าการเกษตรเพื่อการส่งออก

๒.  หาข้อมูลและติดตามผลการใช้วัตถุมีพิษทั้งชนิดอนินทรีย์ ได้แก่ พวกธาตุโลหะหนักที่เป็นพิษต่างๆ เช่น สารหนู ปรอท ตะกั่ว และแคดเมี่ยม เป็นต้น และสารมีพิษที่ใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ในประเทศทั้งหมด ซึ่งครอบคลุมถึงสารที่ใช้ป้องกันกำจัดแมลง โรคพืช และวัชพืช

จากงานวิจัยดังกล่าวนี้ ทำให้สามารถพัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารมีพิษตกค้างในผลิตผลเกษตรกรรมได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว เพื่อรองรับการปฏิบัติภาระกิจ การให้บริการตรวจวิเคราะห์ และออกใบรับรองผลิตผลเกษตรกรรมส่งออกแก่ภาครัฐบาล และเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ กองวัตถุมีพิษการเกษตร กรมวิชาการเกษตรได้เริ่มให้บริการแก่ภาครัฐบาลและเอกชน ในการตรวจวิเคราะห์และออกใบรับรองผลิตผลเกษตรส่งออกเป็นต้นมา

ขั้นตอนการให้บริการ

การให้บริการตรวจวิเคราะห์และออกใบรับรองผลิตผลการเกษตร เพื่อการส่งออกดำเนินการเป็นขั้นตอนดังต่อไปนี้

๑.  ผู้ส่งออกทำการสุ่มเก็บตัวอย่าง ส่งมาให้กองวัตถุมีพิษการเกษตร พร้อมทั้งระบุความประสงค์ที่จะให้ตรวจวิเคราะห์สารพิษจำนวนกี่ชนิด สินค้าส่งไปประเทศใด ปริมาณเท่าไร เพื่อจะได้ออกใบรับรองได้ถูกต้อง

๒.  เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารมีพิษตกค้างตามที่ระบุมาในจดหมาย นำส่งตัวอย่างและจะรายงานผล พร้อมทั้งออกใบรับรองปริมาณสารมีพิษตกค้างภายในเวลา ๕-๗ วัน หลังจากรับตัวอย่างแล้ว

สารมีพิษที่ให้บริการตรวจวิเคราะห์ ได้แก่

๒.๑ สินค้าเกษตรที่ส่งไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จะตรวจวิเคราะห์ สารหนู ปรอท ฟอสไฟด์ ไซยาไนด์ และมาลาไธออน

๒.๒ สินค้าเกษตรที่ส่งไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา จะตรวจวิเคราะห์วัตถุมีพิษชนิดออร์แกนโนคลอรีน ได้แก่ บีเอชซี ดีดีที ดีลดริน เอนดริน เฮพตาคลอร์ และ เฮพตาคลอร์ เอพพอกไซด์

๒.๓ สินค้าเกษตรที่ส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น จะตรวจวิเคราะห์วัตถุมีพิษ กลุ่มคาร์บาเมท เช่น เมโธมิล คาร์โบฟูแรน และไพรีทรอยด์บางชนิด รวมทั้งวัตถุมีพิษในกลุ่มออร์แกนโนคลอรีน ดังที่ได้กล่าวแล้วในข้อ ๒.๒

๒.๔  สินค้าเกษตรที่ส่งไปยังประเทศแถบยุโรปและเอเซียกลาง(ซีเรีย ซาอุดิอาระเบีย) จะตรวจวิเคราะห์สารพิษกลุ่มออร์แกนโนคลอรีน และสารพิษชนิดรมควัน เช่น อีดีบี เมทธิลโบรไมค์ เป็นต้น

๓.  การแจ้งผลการตรวจวิเคราะห์ผู้ส่งออกอาจจะมารับรายงานผลและใบรับรองด้วยตนเองหรือให้แจ้งทางไปรษณีย์

๔.  ค่าบริการตรวจวิเคราะห์และออกใบรับรองสำหรับผู้ส่งออก(เอกชน)ประมาณ ๕๐๐-๑,๕๐๐ บาท ต่อตัวอย่าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนของวัตถุมีพิษที่ต้องการให้วิเคราะห์

รายละเอียดในการตรวจวิเคราะห์และให้บริการในการออกใบรับรองสำหรับผู้สนใจโปรดติดต่อได้ที่

กองวัตถุมีพิษการเกษตร

กรมวิชาการเกษตร

กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐

โทรศัพท์ ๕๗๙๓๕๗๘