การตัดแต่งกุหลาบ

การตัดแต่งกิ่งตามความหมายสั้น ๆ ที่พอจะเข้าใจได้นั้นหมายถึง “การตัดกิ่งที่ไม่ต้องการออก เหลือไว้แต่กิ่งที่ต้องการ”

ความจำเป็นในการตัดแต่งกิ่งกุหลาบ

เมื่อปลูกกุหลาบในตอนแรก ๆ นั้น จะพบว่ากุหลาบเจริญได้งอกงามดี คือต้นมีขนาดโตขึ้น มีใบมากมีดอกดกและดอกมีขนาดโต แต่เมื่อปลูกไปได้สัก 6 เดือน ถึง 1 ปี ก็จะพบว่ากุหลาบไม่มีสภาพดังกล่าวเสียแล้ว กลับมีสภาพตรงกันข้าม คือไม่เจริญเติบโต ต้นไม่มีใบหรือมีใบแต่ตอนยอด ๆ ดอกมีจำนวนลดลง ขนาดดอกเล็กลงเห็นได้ชัด ต้นสูงชะลูดหรือล้มเกะกะไม่เป็นระเบียบ เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านก็คงจะคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้กุหลาบที่ปลูกอยู่นั้นกลับเหมือนสภาพที่ปลูกตอนแรก ๆ ผู้ปลูกส่วนใหญ่มักตัดสินใจด้วยวิธีง่าย ๆ คือซื้อมาปลูกใหม่ ซึ่งวิธีการนี้ถ้าปลูกกุหลาบเพียงไม่กี่ต้นก็อาจทำได้ แต่ถ้าปลูกกุหลาบตัดดอกเป็นการค้า ซึ่งมีกุหลาบเป็นจำนวนร้อย ๆ ต้นหรือ พันต้น วิธีที่จะซื้อมาปลูกใหม่ทุก ๆ 6 เดือน หรือ 1 ปีนั้น คงจะเป็นวิธีที่ไม่อาจทำได้เป็นแน่ วิธีที่ดีที่สุดซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในหมู่นักปลูกกุหลาบทั่วโลกก็คือ “การตัดแต่งกิ่ง”

วัตถุประสงค์ในการตัดแต่งกิ่ง

ในการตัดแต่งกิ่งกุหลาบ มีวัตถุประสงค์อยู่ 4 ประการด้วยกัน คือ

1. เพื่อขจัดโรคและแมลงให้หมดไปหรือมีจำนวนน้อยลง

ในการปลูกกุหลาบนั้น ย่อมจะมีโรคและแมลงหลายชนิดเป็นศัตรูรบกวนอยู่เสมอ โรคและแมลงเหล่านั้น จะเกาะกินและอาศัยต้นกุหลาบเป็นที่หลบซ่อนและขยายพันธุ์อยู่เรื่อย ๆ ถึงแม้เราจะได้ฉีดยาป้องกันตามวิธีการที่ถูกต้องแล้วก็ตาม โรคและแมลงเหล่านั้นก็ยังไม่หมดไปได้โดยง่าย การตัดแต่งเท่านั้นที่จะช่วยกำจัดโรคและแมลงต่าง ๆ ได้มาก โดยเฉพาะโรคทางใบและแมลงปากดูดบางชนิด เช่นเพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย และไรแดงซึ่งเป็นศัตรูสำคัญของกุหลาบ

2. เพื่อปรับปรุงรูปร่างของทรงต้นให้ดีขึ้น

เมื่อปลูกกุหลาบ จะพบว่าต้นกุหลาบที่ท่านปลูกอยู่นั้น มีทรงต้นไม่เหมาะสมขึ้นทุกที เป็นต้นว่า ต้นสูงชะลูด ต้นล้มเอนเกะกะ หรือว่าแตกกิ่งรกรุงรัง ทำให้ไม่น่าชมและยากในการปฏิบัติรักษา การแก้ที่ถูกต้องก็คือต้องทำการตัดแต่งกิ่งเสียใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ทรงพุ่มดีขึ้น กิ่งไม่สูงชะลูดหรือล้มเอนดังกล่าว

3. ช่วยให้เกิดกิ่งกระโดงจากโคนต้น

การตัดแต่งกิ่ง มักจะตัดกิ่งแขนงที่ไม่ต้องการออก ทำให้โคนต้นโปร่งและได้รับแสงแดดมากขึ้น และเพื่อทำการตัดกิ่งให้สั้นลง ดังนั้นกิ่งที่แตกใหม่จึงแตกอยู่ในระดับต่ำ ๆ จากโคนต้น กิ่งที่แตกจากโคนต้นนี้มักมีขนาดโต และ เป็นกิ่งที่จะให้ดอกดก ดอกมีคุณภาพดี และจะเป็นกิ่งที่ใช้แทนกิ่งแก่ที่ถูกตัดออกไป ซึ่งจะทำให้ต้นกลับสดใสขึ้นและผลผลิตสูงขึ้น และดอกก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย

4. ช่วยให้การแต่งดินในแปลงทำได้สะดวกขึ้น

เมื่อปลูกกุหลาบครบปี จะทราบว่าดินในแปลงปลูกจับตัวกันแน่น ซึ่งจะทำให้การดูดซึมน้ำที่รดช้าลง และรากได้รับอากาศในดินน้อย โดยเฉพาะเมื่อปลูกในท้องที่ที่เป็นดินเหนียว ดังนั้นจึงควรที่จะได้มีการแต่งหน้าดินในแปลงปลูกเสียครั้งหนึ่งก่อนที่ท่านจะได้เติมปุ๋ยคอก หรือวัตถุคลุมดินเพิ่มเติมลงไปใหม่ ระยะเวลาที่เหมาะที่จะทำการแต่งดินได้สะดวกก็คือ ระยะที่ตัดแต่งกิ่งนั่นเอง

ฤดูการตัดแต่ง

สำหรับฤดูการตัดแต่งกุหลาบนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพของดินฟ้าอากาศในแต่ละท้องที่ แต่ในการพิจารณาทั่ว ๆ ไปนั้น ควรถือฤดูในการเจริญเติบโตของต้นพืชเป็นเกณฑ์

ถึงแม้กุหลาบที่ปลูกกันอยู่ในบ้านเราจะไม่มีฤดูการเจริญหรือฤดูการพักตัวที่แท้จริงเหมือนอย่างประเทศเมืองหนาวทั่วไป แต่การประพฤติตัวของต้นพืชก็จะมีเกิดขึ้นบ้างตามฤดูกาลที่สภาพธรรมชาติเกิดขึ้น คือถ้าฤดูกาลใดเหมาะในการเจริญ ต้นพืชก็จะเจริญเติบโตมาก ถ้าฤดูใดไม่เหมาะต้นพืชก็จะเจริญเติบโตน้อยหรือหยุดเจริญ ประกอบกับศัตรูภายนอก ได้แก่โรค และไรแดง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้การเจริญของต้นพืชในฤดูกาลต่าง ๆ แตกต่างกันไป ถ้าจะกล่าวโดยสรุปก็คือ กุหลาบจะเจริญงอกงามหรือเลี้ยงดูง่ายในบางฤดู และจะไม่เจริญหรือเลี้ยงดูยากในบางฤดู ฤดูที่เลี้ยงกุหลาบไม่งามนั้นก็เหมือนกับฤดูฟักตัวของกุหลาบนั้นเอง และฤดูที่เลี้ยงกุหลาบได้งามก็คือฤดูของการเจริญเติบโต ซึ่งฤดูกาลทั้งสองนี้จะเกี่ยวข้องกับการตัดแต่งกิ่งอย่างมาก

ถ้าเราจะแบ่งฤดูของการเจริญเติบโต และฤดูการฟักตัวของกุหลาบในบ้านเรา โดยเฉพาะในภาคกลาง ในรอบ 1 ปี ก็พอจะแบ่งออกได้ เป็น 4 ฤดูกาล คือ

1. ฤดูการเจริญเติบโตครั้งที่ 1 (ต้นฤดูฝน) เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึง สิงหาคม หรือ เป็นเวลา 4 เดือน

2. ฤดูฟักตัวครั้งที่ 1 (ปลายฤดูฝน) เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม หรือเป็นเวลา 2 เดือน

3. ฤดูการเจริญเติบโตครั้งที่ 2 (ฤดูหนาว) เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึง กุมภาพันธ์ หรือ เป็นเวลา 4 เดือน

4. ฤดูฟักตัวครั้งที่ 2 (ฤดูร้อน) เริ่มตั้งแต่ เดือนมีนาคม ถึง เมษายน หรือเป็นเวลา 2 เดือน

เหตุผลที่แบ่งการเจริญของกุหลาบออกเป็น 4 ฤดูกาลเช่นนี้ก็ด้วยได้สังเกตดูการเจริญเติบโตของต้นพืชอันเป็นผลมาจากสภาพธรรมชาติที่เปลี่ยนไปในฤดูกาลต่าง ๆ ประกอบกับศัตรูที่เกิดขึ้นกับต้นพืชเป็นเกณฑ์ ดังเช่นในฤดูกาล เจริญเติบโตครั้งแรกซึ่งจะตรงกับต้นฤดูฝน ในฤดูนี้ต้นพืชเริ่มได้รับน้ำเต็มที่อุณหภูมิของอากาศต่ำลง ความชื้นของอากาศสูงขึ้น ประกอบกับโรคและแมลงที่เป็นศัตรูสำคัญมีน้อย ต้นพืชจึงมีโอกาสได้เจริญเติบโตอย่างเต็มที่ เราจึงสามารถเลี้ยงกุหลาบให้งอกงามได้ง่ายในฤดูนี้ พอถึงเดือนกันยายน ฝนเริ่มตกหนัก ดินขาดอากาศ ในดินจนบางที่มีน้ำขังแช่รากอยู่เป็นเวลานาน ๆ ประกอบกับอากาศมีความชื้นสูงทำให้โรคใบจุด (black spot) และโรคราสนิม (rust) ระบาดได้รวดเร็ว ในปลายฤดูนี้จะเห็นว่าต้นกุหลาบใบร่วงหมด หรือเหลือใบแต่ตอนยอด ๆ และจะไม่ค่อยแตกยอดหรือกิ่งอ่อนเหมือนฤดูอื่น กิ่งที่ใบร่วง ตา (bud) มักฟักตัว จนถึงต้นฤดูการเจริญครั้งที่ 2 ซึ่งจะเป็นฤดูหนาว ในระยะนี้ ดินปลูกมีโอกาสแห้ง มีอากาศในดินเพิ่มขึ้น อากาศมีอุณหภูมิต่ำลง ตาที่เคยพักตัวก็จะเริ่มเจริญเป็นกิ่งใหม่จนกระทั่งถึงฤดูพักตัวครั้งที่ 2 ซึ่งความชื้นของอากาศจะลดน้อยลง อุณหภูมิสูงขึ้นจนถึงร้อนจัด ประกอบมีศัตรูที่สำคัญคือ ไรแดง ซึ่งมักจะขยายพันธุ์ได้รวดเร็วในฤดูนี้ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ใบร่วงและต้นพืชไม่เจริญ จนกระทั่งถึงฤดูการเจริญใหม่ คือต้นฤดูฝน กล่าวโดยสรุปก็คือ การปลูกกุหลาบในเมืองไทยนั้นจะปลูกได้งาม 8 เดือน คือ 4 เดือนจะเป็นต้นฤดูฝน และอีก 4 เดือนเป็นฤดูหนาว ส่วนฤดูที่ปลูกยากมี 4 เดือนคือ ฤดูร้อน 2 เดือน และปลายฤดูฝนอีก 2 เดือน

การตัดแต่งกิ่งกุหลาบ ควรทำการตัดแต่ง เมื่อเริ่มดูการเจริญเติบโต ขณะที่ตา (bud) เริ่มแตกยอดใหม่ และอย่างน้อยควรจะทำปีละ 2 ครั้ง คือต้นฤดูฝนและต้นฤดูหนาว

อย่างไรก็ตาม การตัดแต่งกิ่งมิใช่จะจำกัดอยู่เพียง 2 ครั้งเท่านั้น แต่ควรจะทำทุกๆระยะ ของช่วงการเจริญ และก็ไม่ควรจะถือว่าการตัดแต่งกิ่งนั้นจะต้องทำการตัดกิ่งตามแบบอย่างการตัดแต่งเท่านั้น ความจริงการกระทำบางอย่าง เช่น การตัดดอก การปลิดหรือทำลายตาที่ไม่ต้องการ การเลี้ยงกิ่งกระโดงและการทำลายกิ่งซักเกอร์ (sucker) ก็ควรถือว่าเป็นการตัดแต่งด้วย

วิธีการในการตัดแต่งกิ่ง

หลักในการตัดแต่งกิ่ง

ในการตัดแต่งกิ่งพืชนั้น มีหลักในการปฏิบัติอยู่ 9 ประการด้วยกันที่ผู้ทำการตัดแต่งจะพึงยึดคำนึงถึง สำหรับในการตัดแต่งกิ่งกุหลาบ ก็ถือหลักการในการตัดแต่งกิ่งพืชทั่วไป แต่ก็ต้องพยายามดัดแปลงมาใช้ในการตัดแต่งกิ่งกุหลาบแต่ละชนิด ซึ่งอาจจะมีข้อแตกต่างกันไปเล็กน้อย หลักในการตัดแต่งกิ่งมีดังนี้ คือ

1. ตัดกิ่งตายออก ได้แก่ กิ่งที่แห้งตาย ซึ่งมีสีดำหรือสีน้ำตาล ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นกิ่งในพุ่มและกิ่งแขนง

2. ตัดกิ่งที่เป็นโรคหรือถูกแมลงทำลายออก เช่นกิ่งที่เป็นโรคหนามดำ (anthracnose) กิ่งที่มีเพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอยเกาะกิน และในการตัดจะต้องตัดให้หมดเนื้อไม้ที่เป็นโรคหรือหมดส่วนที่แมลงเกาะกันอยู่ด้วย

3. ตัดกิ่งไขว้ออก กิ่งไขว้คือกิ่งที่เจริญเข้าทรงพุ่ม รวมทั้งกิ่งที่เลื้อยไปคลุมหรือเกะกะต้นอื่น ในการตัดกิ่งที่เอนไปเกะกะต้นอื่นนั้น การที่จะตัดมากหรือน้อยย่อมขึ้นกับระยะปลูกและนิสัยในการเจริญของกุหลาบพันธุ์นั้น ๆ ด้วย

4. ตัดกิ่งซักเกอร์ (sucker) ออก ในกรณีที่ต้นกุหลาบที่ปลูกนั้นขยายพันธุ์โดยวิธีติดตาซึ่งจะต้องมีต้นตอ ก็มักจะมีกิ่งที่แตกมาจากต้นตออยู่เสมอ ๆ จึงต้องทำการตัดออกให้หมด

5. ตัดกิ่งที่ทำให้กิ่งล้มเอนไม่มีระเบียบ หรือทำให้ต้นเกะกะซึ่งทำให้ไม่สะดวกในการดูแลรักษาและปฏิบัติงานในสวน

6. ตัดกิ่งแก่ที่ไม่ต้องการออก ในกรณีที่มีกิ่งที่เจริญมาจากโคนต้น ซึ่งจะเป็นกิ่งที่สมบูรณ์ ก็ควรจะตัดกิ่งแก่ที่อยู่ใกล้เคียงออก เพื่อให้กิ่งที่แตกใหม่มีโอกาสเจริญได้เต็มที่ และใช้เป็นกิ่งแทนกิ่งแก่ที่ตัดออก อันจะเป็นการทำให้ต้นพืชแก่ช้าลง

7. ตัดกิ่งให้สั้นลงตามความต้องการ แต่การที่จะตัดให้สั้นมากน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับพันธุ์ สภาพของต้นพืช และลักษณะอากาศในแต่ละท้องที่

8. ในการตัดกิ่งตามข้อ 7 นั้น ควรจะได้ตัดกิ่งให้เฉียงขึ้นทำมุม 45° ทุกกิ่ง เหลือปลายกิ่ง เหนือตาที่แข็งแรงราว 1/4 นิ้ว ควรตัดเฉียงทางด้านนอก และจะต้องให้กรรไกรหรือมีดคม ๆ ตัด

9. รอยแผลที่ตัดทุก ๆ กิ่ง ที่มีขนาดโตกว่าดินสอดำจะต้องทาด้วยยางมะตอย สีน้ำมัน น้ำมันดิน หรือปูนแดงอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อป้องกันปลายกิ่งแห้งตายอันเกิดจากการทำลายของเชื้อรา และการทำลายของหนอนเจาะลำต้น

การตัดแต่งกิ่งกุหลาบที่ปลูกอยู่ในบ้านเรานั้น เนื่องจากต้นพืชมีการสะสมอาหารได้น้อย เพราะต้นพืชไม่มีเวลาในการพักตัวอย่างแท้จริง ดังนั้นการตัดแต่งกิ่งจึงต้องพิจารณาถึงอาหารที่สะสมอยู่ในต้นเป็นสำคัญ โดยต้องพยายามตัดกิ่งให้เหลืออาหารไว้ไนต้นให้มากที่สุด แต่ก็ต้องพยายามตัดกิ่งที่ไม่จำเป็นออกให้มาก ๆ เพื่อจะได้ดูแลรักษาโรคแมลงได้ง่ายขึ้น วิธีที่ถือปฏิบัติก็คือ

1. ถ้าเป็นกิ่งแก่ที่ไม่ค่อยมีใบปกติมักจะเป็นกิ่งที่มีอายุ 8-12 เดือนขึ้นไป จะทำการตัดกิ่งให้เหลือราว 12″ – 24″ โดยตัดกิ่งโตให้เหลือยาว ส่วนกิ่งที่เล็กกว่าก็ตัดให้เหลือน้อยลงตามส่วนและจะตัดให้เหลือกิ่งที่ต้องการไว้เพียง 3-5 กิ่ง

2. ถ้าเป็นกิ่งที่มีอายุน้อย การตัดจะทำแบบตัดกิ่งแก่ไม่ได้เพราะต้นพืชไม่มีอาหารสะสมเพียงพอ ดังนั้นจึงต้องเลือกกิ่งใดกิ่งหนึ่งหรือสองกิ่งที่มีใบสมบูรณ์ คือมีใบมากกว่ากิ่งอื่น ๆ เป็นกิ่งสำหรับเลี้ยงต้นและสร้างอาหาร ส่วน กิ่งอื่น ๆ ที่เหลือก็จะตัดให้สั้นตามวิธีที่ 1

การตัดดอก

การตัดดอกก็ควรถือเป็นการตัดแต่งไปในตัวด้วย ผู้ตัดควรจะได้พิจารณาเสียก่อนว่า ต้นที่จะตัดดอกนั้นอยู่ในสภาพที่จะตัดดอกได้หรือไม่ หรือจะตัดดอกได้ยาว-สั้นแค่ไหน ทั้งนี้เพราะการตัดดอกย่อมจะตัดใบไปด้วย ถ้าตัดดอกยาวเกินไป ใบที่มีอยู่บนก้านดอกก็จะติดไปมาก ทำให้ต้นพืชไม่มีใบที่จะปรุงอาหารมาใช้ในการแต่งกิ่งก้านใหม่ให้แข็งแรงได้กว่าเดิม ทำให้ต้นโทรมเร็ว หรือมีอายุในการให้ผลผลิตสั้นเข้า กิ่งที่แตกมีขนาดเล็ก ขนาดดอกเล็กลง ก้านดอกสั้นและบางกิ่งอาจไม่ให้ดอกเลย

วิธีที่ควรถือปฏิบัติก็คือ “ควรตัดให้เหลือ ใบที่สมบูรณ์ (ใบที่มีใบย่อย 5 ใบ) อย่างน้อย 2 ชุด” จึงจะทำให้การเจริญของกิ่งที่แตกใหม่เป็นไปตามปกติได้

อนึ่ง ต้นพืชที่ปลูกใหม่ หรือยังมีอายุน้อย ไม่ควรตัดดอก วิธีที่ควรปฏิบัติก็คือ “ควรปลิด หรือเด็ดดอกในขณะที่ยังมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียวออกเสีย” จึงจะทำให้ต้นที่ปลูกโตเร็วและแตกกิ่งที่แข็งแรงเร็วขึ้น

สำหรับกิ่งที่มีดอกขนาดเล็ก หรือดอกที่ยังไม่ได้ขนาดหรือดอกไม่สมบูรณ์ซึ่งยังใช้ดอกไม่ได้ ควรจะตัดดอกทิ้งเสีย อย่าปล่อยไว้จนกระทั่งดอกเหี่ยวโรย เพราะดอกเหล่านี้นอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้ว ยังดึงอาหารจากต้นมาใช้และมักเป็นเหตุให้เกิดโรคแห้งตายจากปลายก้านดอกขึ้นได้ จึงไม่ควรปล่อยทิ้งไว้อย่างยิ่ง การตัดดอกทิ้งควรจะตัดชิดใบคู่แรก เพื่อให้ต้นมีใบมาก ๆ แต่ถ้าต้นมีใบมากพอแล้วก็ควรตัดให้ถึงใบที่มีใบย่อย 5 ใบ