การตั้งรกรากของเชื้อในพืช

(Colonization of infected plants)
เชื้อเมื่อผ่านผนังเซลเข้าสู่พืซ มิได้หมายความว่าเชื้อนั้นทำให้พืชเป็นโรคได้แล้ว เพราะถ้าพืชมีความต้านทานต่อการเข้าทำลายเชื้อก็จะหยุดชงัก เจริญต่อไปไม่ได้ เชื้อจะต้องเจริญเพื่อตั้งรกรากในเนื้อเยื่อพืช ใช้อาหารจากพืช ซึ่งกระทบกระเทือนต่อการ metabolism ของพืชตามปกติ โดยที่พืชเริ่มมีปฏิกริยาตอบโต้การเข้าทำลายของเชื้อและโครงสร้างต่างๆ ของพืชไม่ทำงาน มีอาการ necrosis เกิดขึ้นในลักษณะ ต่างๆ การตั้งรกรากของเชื้อมีดังนี้
1. การเจริญและทวีจำนวนของเชื้อ
เชื้อราที่เป็นเส้นใยจะเจริญเพิ่มจำนวนหลังจากเข้าสู่ภายในพืชแล้ว โดยการเจริญออกทางปลายของเส้นใย และอาจแตกกิ่งสร้าง haustorium ขึ้นตรงส่วนที่แก่กว่าของเส้นใยทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ การเจริญจะใช้สารประกอบต่างๆ เช่น น้ำตาล amino acid และ cofactor สำหรับการเจริญของเชื้อ ซึ่งได้จากการสลายตัวของส่วนประกอบของเซลพืช เช่น โปรตีน เยื่อหุ้ม cellulose และ pectin
การเจริญของเส้นใยที่ปลาย เกิดขึ้นโดย dictyosome (D) ในบริเวณใกล้ปลายเส้นใย สร้าง vesicle (V) ด้วยการโป่งออกที่ปลาย แล้วหลุดออกเคลื่อนไปสู่ปลายเส้นใย โดยไปเรียงรวมกันเป็นเยื่อหุ้ม protoplast ในการเจริญยืดออกไปของเส้นใบ การเจริญนี้เกิดขึ้นในระหว่างเซล และ/หรือ ในเซลพืช
การเจริญของบักเตรีและมายโคพลาสมา ก็โดยการแบ่งเซลจากหนึ่งเป็นสอง และโดยการแตกตาตามลำดับ
2. การเคลื่อนย้ายหรือเจริญลุกลามในพืช
เชื้อราจะเจริญไปสู่เซลข้างเคียง โดยการเจริญผ่านผนังเซล มีวิธีการเช่นเดียวกับการแทงผ่านจากภายนอกสู่ภายในพืช แต่เชื้อจะสร้าง vesicle แทน appressorium และ infection hypha แทน penetration hypha และ/หรือโดยเชื้อสร้างเอนไซม์และสารพิษไปย่อยโครงสร้างส่วนประกอบของเซล ก่อนเจริญลุกลามไป
เชื้อบักเตรีจะเจริญลุกลามไปสู่เซลอื่นๆ โดยการสร้างเอนไซม์และสารพิษเช่นเดียวกับในรายละเอียดของการแทงผ่านที่เกี่ยวข้อง
เชื้อวิสาและมายโคพลาสมาจะเคลื่อนย้ายไปสู่เซลข้างเคียง โดยผ่านทาง plasmodesmata ของผนังเซล


ภาพการเจริญของเส้นใยของเชื้อรา A) กิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นที่บริเวณปลายของเส้นใย และ B) เป็นไดอาแกรมประกอบการอธิบาย โดยสารต่างๆ เคลื่อนย้ายด้วยการพองของ endoplamic reticulum (ER) ออกเป็น vesicle (V1) แล้วไปรวมกันที่ dictyosome (D) ด้านที่อยู่ใกล้ต่อมา dictyosome สร้าง vesicle ใหม่ (V2) หลุดออกทางปลายของด้านที่อยู่ตรงข้าม (pinched off) V2 จะไปเรียงตัว และขยายใหญ่ขึ้นรวมกับเยื่อหุ้มผนังเซลที่ปลายของเส้นใย (HT) ที่มา : Grov et al., 1970
ส่วนการเคลื่อนย้ายของเชื้อโดยผ่านทางกลุ่มท่อลำเลียงนั้นเกิดได้กับเชื้อทุกประเภท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ อันจะทำให้เชื้อสามารถกระจายได้ทั่วต้น และทำให้พืชมีอาการทั่วต้น ซึ่งเป็นลักษณะของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อวิสาและมายโคพลาสมา โรคเหี่ยวที่เกิดจากราและบักเตรี เป็นต้น
ที่มา:ไพโรจน์  จ๋วงพานิช