การทำนาบัว


การทำนาข้าวในพื้นที่ที่ลุ่มหลายแห่ง มักจะประสบปัญหาถูกน้ำท่วม ทำให้ได้รับความเสียหายอยู่เสมอๆ การทำนาข้าวจึงทำให้ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร หากเกษตรกรจะได้หันมาทำนาบัวจะมีความเหมาะสมดีกว่า ไม่ต้องเสี่ยงกับการถูกน้ำท่วม และการทำนาบัวยังง่ายกว่าการทำนาข้าว เพราะปลูกเพียงครั้งเดียวก็สามารถเก็บผลผลิตได้เรื่อยๆ ไม่ต้องลงทุนทุกปี นอกจากนั้นแล้วการทำนาบัวยังมีรายได้ดีกว่าการทำนาข้าวอีกด้วย
แหล่งการทำนาบัวที่ได้ผลดีในปัจจุบัน ได้แก่การทำนาบัวในท้องที่ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลกและในจังหวัดอยุธยา
ฤดูปลูกบัว
ควรเริ่มปลูกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม
การเลือกที่ดินปลูก
พื้นที่สำหรับทำนาบัว ควรเป็นพื้นที่สมำเสมอไม่ลุ่มๆ ดอน ๆ หรือมีจอมปลวก ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง ถ้าเป็นพื้นที่ไม่สมํ่าเสมอ ควรใช้รถเกลี่ย หรือไถปรับระดับ ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการให้น้ำ การเตรียมดินและบำรุงรักษา แต่ถ้าใช้พื้นที่ที่เป็นแปลงนาอยู่เดิม พื้นที่จะสม่ำเสมอดีอยู่แล้ว พื้นที่การทำนาบัวควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น ห้วย หนอง บึง สระ เป็นต้น
การเตรียมดิน
เมื่อเลือกสถานที่ได้แล้ว ยกคันดินโดยรอบให้สูงประมาณ 1 เมตร เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำได้ ถ้าต้องการจะเลี้ยงปลาในนาบัวด้วย จึงจำเป็นที่จะต้องยกคันดินให้สูงประมาณ 2 เมตรและกว้างประมาณ 3 เมตร ดังนั้นนาบัวแปลงหนึ่ง ๆ ควรมีเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 5 ไร่ เพื่อยกคันดิน ที่ดินที่ไม่สม่ำเสมอ อาจทำแปลงใหญ่ขนาด 30-100 ไร่ก็ได้ แต่เพื่อสะดวกในการให้น้ำและบำรุงรักษาเนื้อที่แปลงหนึ่งๆ ควรมีขนาด 20-25 ไร่ หลังจากยกคันดินแล้ว ไถดะตากดินทิ้งไว้ประมาณ 7-15 วัน แล้วไถแปรอีกครั้ง แล้วสูบเอาน้ำเข้าให้ระดับน้ำสูงจากพื้นประมาณ 15 เซ็นติเมตร ทิ้งไว้ 3-5 วัน ให้ต้นอ่อนตัวเพื่อปักดำบัวต่อไป


พันธุ์บัว
พันธุ์บัวที่นิยมปลูกในปัจจุบันได้แก่ บัวหลวง กลีบออกสีชมพู ส่วนพันธุ์กลีบดอกสีขาวไม่นิยมปลูก พันธุ์บัวถ้าแบ่งตามลักษณะหน้าฝักจะมี 2 ชนิด คือ ชนิดหน้านูน และชนิดหน้าตัด ซึ่งพันธุ์หน้านูนให้ผลผลิตดีกว่า แต่การจะเลือกไปปลูกทำได้ยาก ดังนั้นพันธุ์ที่เกษตรกรปลูก จึงมีทั้งพันธ์หน้านูนหน้าตัดรวมคละกันไป
การเตรียมพันธุ์เพื่อใช้ปลูก
พันธุ์บัวที่ใช้ปลูกส่วนใหญ่ขยายพันธุ์โดยใช้ไพล ไพลที่ใช้ทำพันธุ์มีประมาณ 2-3 ข้อ เกษตรกรผู้ขุดไพลบัวจำหน่ายจะมัดไพลบัวให้มีตาที่จะเจริญเติบโตเป็นต้นบัวจำนวน 3 ตา เกษตรกรส่วนใหญ่จะเรียกว่า 3 ทาง ซึ่งใช้ปักดำได้ 1 จับ
การดำและระยะปลูก
หลังจากเอาน้ำเข้าแปลงที่เตรียมดินเรียบร้อยแล้ว 3-5 วัน ดินจะอ่อนตัว เกษตรกรจะใช้ไม้หรือต้นพงปักเป็นระยะ เพื่อเป็นที่สังเกตในการปลูกบัว โดยใช้ระยะปลูก 3X3 เมตร ในกรณีดินดี ถ้าดินไม่ค่อยดีนักจะใช้ระยะปลูก 2X2 เมตร
การปักดำทำได้ 2 วิธี คือ
1. การปักดำโดยใช้ไม้คีบ ใช้ไม้ไผ่เหลา โตกว่าดอกนิดหน่อย หรือต้นพง ยาวประมาณ 30 เซ็นติเมตร คีบไพลบัวปักดำตามระยะให้ไพลบัวติดอยู่กับผิวดิน การปักดำใช้ไม้คีบนี้ ใช้ในกรณีที่มีน้ำไหล ทั้งนี้เพื่อป้องกันไพลบัวหลุดลอย
2. การปักดำโดยใช้ดินหมก คุ้ยดินให้เป็นหลุมลึกประมาณ 2-3 นิ้ว วางไพลบัวลงในหลุม แล้วใช้ดินกลบไพลบัว โดยเว้นตรงตาเอาไว้ ส่วนใหญ่เกษตรกรที่ทำนาบัว โดยยกคันดินใช้วิธีปลูกวิธีที่ 2 ในเนื้อที่ 1 ไร่ จะใช้ไพลบัวประมาณ 200-300 จับ
การให้น้ำและการดูแลรักษา
หลังจากปลูกบัวแล้ว ควรให้มีน้ำขังอยู่ในแปลงประมาณ 50 เซ็นติเมตรโดยตลอด ทั้งนี้เพื่อป้องกันหญ้าขึ้นในแปลงนาบัว ระดับน้ำไม่ควรให้ลึกเกิน 1 เมตร เพราะถ้ามีมากเกินไปจะทำให้ได้ผลผลิตต่ำ ในแปลงนาบัวควรเก็บ หญ้าหรือวัชพืชออกให้หมด ถ้ามีวัชพืชบัวจะไม่งาม
ศัตรูของบัวและการป้องกันและกำจัด
ศัตรูของบัวส่วนใหญ่ได้แก่หนอนกินใบซึ่งเกิดจากผีเสื้อกลางคืนทำให้ใบบัวฉีกขาดเป็นรู ศัตรูที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ เพลี้ยจั๊กจั่นจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน ทำให้ใบหงิกงุ้มลง ซึ่งบางครั้งทำให้ดอกบัวไม่สามารถโผล่พ้นใบขึ้นมาได้ทำให้ดอกได้รับความเสียหาย ดังนั้นจึงควรฉีดยาเซฟวิน 35%หรือยามาลาไธออนทุก 15 วัน หรืออย่างน้อยเดือนละครั้ง ในแปลงที่เลี้ยงปลาด้วย ควรใช้แสงตะเกียงล่อในตอนกลางคืน
การเก็บเกี่ยว
เมื่อปลูกบัวแล้วประมาณ 3 เดือน ก็จะเริ่มมีฝักแก่ ให้เก็บได้ และเก็บกิติดต่อกันไปได้นาน 3 เดือน หลังจากนั้น บัวจะเริ่มโทรม ฝักบัวที่แก่เก็บเกี่ยวได้นั้นเมล็ดจะมีสีคล้ำและคลอน เกษตรกรที่ปลูกบัวจะใช้เรือต่อเข้าแปลงมาเด็ดบัวใส่ถุงผ้าดิบเมื่อเก็บถุงแล้วจะนำไปใส่ในเรือ ทำให้ประหยัดเวลาในการเดินได้มาก ฝักบัวแก่เมื่อเก็บแล้วจะรวบไว้ในลานดิน ใช้ไม้ทุบเมล็ดแก่จะร่วงหล่นออกจากฝักโดยง่าย นำเมล็ดไปตากแดดให้แห้งสนิท ใช้เวลาประมาณ 3 วัน เมื่อแห้งดีแล้วใช้ตะแกรงร่อนเอาเมล็ดลีบเมล็ดเสียออกให้หมด ในแปลงนาบัวควรเก็บเมล็ดฝักแก่ทุก 7 วัน ผลผลิตเมล็ดบัวแห้งจะได้ไร่ละประมาณ 10-12 ถัง หรือประมาณ 120-144 กิโลกรัม
การดูผลรักษาหลังจากต้นบัวโทรม
หลังการเก็บฝักบัวได้ประมาณ 3 เดือน ต้นบัวจะเริ่มโทรม ซึ่งจะตรงกับประมาณเดือนพฤศจิกายน ให้ระบายน้ำออกจากแปลงปลูกบัวให้แห้ง เมื่อดินแห้งพอที่จะใช้รถแทรกเตอร์ใหญ่จะไถได้ ให้ไถดะให้ลึก หลังจากไถแล้วให้ไขน้ำเข้านาบัวให้ท่วมขี้ไถ เพื่อป้องกันหญ้าขึ้น ต้นบัวใหญ่จะงอกขึ้นมาพ้น นาใช้เวลาประมาณ 3 วัน สาเหตุที่ต้องทำการไถเพื่อที่จะทำให้ดินโปร่งขึ้น และรากบัวชั้นบนๆ ซึ่งเป็นรากขนาดเล็ก จะลดจำนวนลง ถ้าหากไม่มีการไถบัวจะขึ้นแน่นมากจะทำให้บัวมีฝักขนาดเล็กมาก ผลผลิตในปีที่ 2 นี้ จะได้ผลมากกว่าปีแรกและฝักบัวจะแก่เก็บได้พร้อมกัน เกษตรกรที่จะเลี้ยงปลาในบัวจะเริ่มปล่อยปลาตะเพียนในแปลงนาบัวในปีที่ 2 นี้ ส่วนปีแรกจะยังไม่ปล่อยปลา เพราะปลูกบัวใหม่ยังมีไพลจำนวนน้อยอยู่
การขุดไพลทำพันธุ์และจำหน่ายพันธุ์
เมื่อบัวเริ่มโทรมให้ฉีดยาเคมีให้บัวแตกใหม่เมื่อบัวงามดีแล้ว จึงระบายน้ำออกให้แห้ง เหตุที่ต้องบำรุงให้บัวแตกใบใหม่และงามก็เพื่อได้ไพลมีขนาดใหญ่ และแข็งแรงเมื่อดินแห้งจนแตกระแหง ใช้เสียมขนาดใหญ่งัดดินตามระแหงที่ดินแตกออกเป็นก้อนๆ เมื่อพบไพลบัวก็ขุดมาจำหน่ายได้ ซึ่งจะตรงกับระยะเวลาประมาณ เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์