การทำปุ๋ยหมักด้วยการเลี้ยงไส้เดือน

เทคนิคทางเลือก – คมสัน  หุตะแพทย์

เป็นที่ทราบดีกันอยู่แล้วว่า ไส้เดือนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์อย่างมากต่อการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ผืนดิน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ไส้เดือนเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญในการบ่งบอกว่าดินที่ใดดี ดินที่ใดไม่ดี ดินที่มีไส้เดือนอาศัยอยู่ จะมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าดินทั่ว ๆ ไป ถึง 5-10 เท่า

ความอุดมสมบูรณ์ของดินที่ไส้เดือนสร้างขึ้นมาจากขี้ของไส้เดือน ขี้หรือสิ่งที่ไส้เดือนขับถ่ายออกมาเป็นสิ่งที่ไส้เดือนกินเข้าไป แล้วถูกย่อยสลายด้วยเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ของไส้เดือนแล้วจึงขับถ่ายออกมา สิ่งที่ไส้เดือนกินเป็นอาหารก็คือ ดิน เศษซากอินทรีย์วัตถุต่าง ๆ สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆในดิน หรือแม้แต่เศษก้อนหิน เมื่อสิ่งเหล่านี้ถูกไส้เดือนกินเข้าไปแล้วถูกย่อยและถูกขับถ่ายออกมาจึงกลายเป็นดินและปุ๋ยที่มีคุณภาพดีเยี่ยม

เราสามารถประยุกต์ใช้เทคนิควิธีในการทำปุ๋ยหมัก โดยการเลี้ยงไส้เดือนในถังพลาสติกด้วยเศษพืชผักที่เหลือจากครัวหรือที่มีอยู่ในสวนหลังบ้าน ไส้เดือนจะกินเศษซากพืชผักเป็นอาหาร และขับถ่ายออกมาเป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดี ที่เราสามารถนำกลับไปใช้ในแปลงพืชผักได้เป็นอย่างดี

การหมักปุ๋ยด้วยไส้เดือนในถังพลาสติก

วิธีการทำปุ๋ยหมักด้วยการเลี้ยงไส้เดือน ทำได้ง่ายโดยการใช้ถังพลาสติกขนาดใหญ่ ภายในถังจะประกอบไปด้วย 3 ส่วนใหญ่คือ ส่วนล่างสุด เป็นส่วนรองรับน้ำ ส่วนที่สอง เป็นที่อาศัยของไส้เดือน และส่วนที่สาม เป็นอาหารของไส้เดือน

ส่วนล่างสุด ส่วนรองรับน้ำ ใช้เศษก้อนหินใส่ลงไปบริเวณก้นถัง เกลี่ยให้ทั่ว ให้สูงประมาณ 2-3 นิ้ว แล้วใช้แผ่นไม้ตัดเป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางพอดีกับก้นถัง เจาะรูหลาย ๆ รู แล้วนำมาวางทับลงบนก้อนหิน

ส่วนที่สอง ที่อาศัยของไส้เดือน ส่วนนี้ประกอบด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายดีแล้ว ราใบไม้ และเศษกระดาษหนังสือพิมพ์ ส่วนนี้สูงประมาณ 4-5 นิ้ว หรือมากกว่าขึ้นอยู่กับจำนวนของไส้เดือนแล้วโรยปิดทับด้วยดินแห้ง ๆ หนาประมาณ 1 นิ้ว ดินจะช่วยดูดซับความชื้นเอาไว้ ก่อนที่จะใส่ส่วนประกอบในส่วนนี้ให้ไส้เดือนลงไปก่อน วางไส้เดือนลงบนแผ่นไม้ จำนวนประมาณ 20-30 ตัว ถ้าเป็นไส้เดือนตัวใหญ่ 40-50 ตัว ถ้าเป็นไส้เดือนตัวเล็ก

ส่วนที่สาม อาหารของไส้เดือน ส่วนนี้คือส่วนที่เราจะใส่เศษพืชผัก เศษใบไม้ เศษฟาง หรือแม้แต่วัชพืช ในช่วงแรกส่วนนี้ควรมีความสูงประมาณ 3 นิ้ว แล้วโรยทับด้วยดินหนาประมาณ 1 นิ้ว แล้วใช้เสื่อหรือพรมหรือวัสดุหนา ๆ ปิดทับอีกที เสื่อหรือพรมนี้จะทำหน้าที่เก็บรักษาความชื้น และป้องกันแสงให้สภาพภายในมืด เพราะไส้เดือนไม่ชอบแสงสว่าง ไส้เดือนจะได้เลื้อยขึ้นมากินอาหารเศษพืชผักด้านบนของถัง

เศษซากพืชผักที่เป็นอาหารของไส้เดือน ไม่ควรใส่ไปทีละมาก ๆ เพราะจะเกิดความร้อนสูง ซึ่งเกิดจากการหมักของเศษพืชผัก ซึ่งไส้เดือนจะไม่ชอบ และจะตายถ้าอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส เมื่อเวลาผ่านไป 3-4 สัปดาห์ เศษพืชผักจะถูกไส้เดือนกินและขับถ่ายออกมาเป็นดินและปุ๋ย เราก็ค่อย ๆเติมเศษพืชผักสดหรือแห้งลงไปทีละน้อย ไส้เดือนก็จะค่อย ๆ ย่อยสลายเศษพืชผักเหล่านี้เป็นปุ๋ยจนเต็มถัง

หลักการที่สำคัญในการทำปุ๋ยหมักด้วยการเลี้ยงไส้เดือนก็คือ มีความชุ่มชื้อพอเพียง ไส้เดือนไม่ชอบน้ำขังและไม่ชอบแห้งแล้ง อุณหภูมิภายในอบอุ่นแต่ไม่ร้อนจนเกินไป  ไส้เดือนจะหยุดกิจกรรมและตาย ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียสและร้อนกว่า 40 องศาเซลเซียส

ที่สำคัญไส้เดือนต้องได้รับอาหารอย่างสม่ำเสมอ มันจึงจะขยายพันธุ์ ถ้าอยู่ในสภาพที่เหมาะสมไส้เดือนจะขยายพันธุ์และเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ปริมาณไส้เดือนที่เพิ่มขึ้นนี้จะช่วยทำให้การย่อยสลายเศษพืชผักได้เร็วขึ้น

เมื่อเศษพืชผักถูกย่อยสลายเป็นปุ๋ยจนเต็มถังแล้ว ก็ให้เทออกมากองไว้บนพื้นแข็ง ๆ เช่น พื้นปูน หลังจากเทออกมาแล้วรอสักครู่ให้ไส้เดือนเลื้อย เขาไปในกองปุ๋ยจึงค่อย ๆ ตักเอาปุ๋ยออกไปโดยเริ่มจากด้านนอกของกองปุ๋ย เมื่อถึงด้านในจึงค่อย ๆ เขี่ยแยกเอาไส้เดือนออกมา ก็จะได้ปุ๋ยหมักชั้นดีที่สามารถนำไปใช้ปรับปรุงบำรุงดินให้แก่แปลงพืชผักผลไม้ หรือเก็บใส่ถุงไว้ใช้ต่อไป

ส่วนน้ำที่อยู่ด้านล่างของถัง ก็เป็นปุ๋ยน้ำอย่างดีเช่นกัน สามารถนำไปเจือจางกับน้ำในอัตราส่วน 1 ต่อ 10 ใช้รดพืชผักผลไม้ ช่วยเพิ่มผลผลิตได้ดีเช่นเดียวกัน

ถ้าถังมีขนาดใหญ่ ปริมาณน้ำที่ก้นถังมีมาก เราอาจทำก๊อกไว้ที่ก้นถัง เพื่อปิดเปิดเอาปุ๋ยน้ำนี้ออกมาก่อนที่จะเทปุ๋ยหมักด้านบน

เมื่อแยกเอาปุ๋ยหมักและปุ๋ยน้ำออกไปจากถังแล้ว เราก็สามารถเริ่มการหมักปุ๋ยด้วยการใช้ไส้เดือนในครั้งต่อไปได้ใหม่ โดยการวางไส้เดือนลงบนแผ่นไม้ในถัง แล้วใส่ส่วนประกอบชั้นที่สองและชั้นที่สามตามลำดับ แต่คราวนี้จำนวนไส้เดือนจะเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม การผลิตปุ๋ยก็จะใช้เวลาสั้นลง

การหมักปุ๋ยด้วยไส้เดือนในแปลงดิน

เราสามารถทำปุ๋ยหมักด้วยการเลี้ยงไส้เดือนในแปลงดินโดยตรงได้ ถ้าเรามั่นใจว่าในแปลงดินมีปริมาณไส้เดือนที่มากพอ โดยการโรยเศษพืชผักสด เศษหญ้าเศษใบไม้ เศษฟาง ไปด้านบนของแปลงที่จะทำการเพาะปลูก โรยทับด้วยดินร่วนให้ทั่ว จากนั้นปิดทับด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ให้ทั่วแปลง กระดาษหนังสือพิมพ์นี้จะช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้น ป้องกันแสง และป้องกันวัชพืชไม่ให้เจริญเติบโต

ไส้เดือนที่อยู่ด้านล่างของแปลง จะเลื้อยขึ้นมากินอาหารที่เป็นเศษพืชผักที่ด้านบนของแปลงและขับถ่ายออก ภายใน 2-3 สัปดาห์ เศษวัสดุสดจะกลายเป็นดินและปุ๋ยคุณภาพดี หลังจากนั้นก็เริ่มทำการเพาะปลูกได้เลย โดยไม่ต้องเอากระดาษหนังสือพิมพ์ออก โดยการเจาะรู แล้วย้ายกล้ามาปลูกลงในรู พืชผักก็จะเจริญเติบโตงอกงาม

การทำปุ๋ยหมักด้วยการเลี้ยงไส้เดือนทั้งในถังพลาสติกและในแปลงดินจึงเป็นเทคนิคที่ดีอีกวิธีการหนึ่งในการผลิตปุ๋ยหมักที่เปลี่ยนเศษซากพืชผักผลไม้ที่เหลือจากครัวและสวนหลังบ้านให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีที่ใช้ในการปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อการปลูกพืชผักโดยไม่ใช้สารเคมี