ข้อแนะนำในการทำไร่ในระยะเริ่มแรก

ในระยะเวลา 4-5 ปี ล่วงมาจนถึงปัจจุบันนี้ประชาชนสนใจในการปลูกพืชทำสวนผลไม้ หรือทำพืชไร่มากขึ้นเป็นลำดับ และการปฏิบัติการทำไร่ หรือทำสวน หรือไม้ผลที่ปลูกแล้วในระยะต้นคือ ในระยะ 1-2 ปี เมื่อแรกปลูกก็มีข้อแตกต่างกันไป บางสวนบางไร่ก็ทำได้เรียบร้อยดี บางสวนบางไร่ไม่ค่อยจะเรียบร้อยนัก บางสวนปฏิบัติไม่ถูกต้อง บางไร่ปลูกแล้วไม่งอกงามน่าดูและตายเสียมากในระหว่างฤดูฝนและฤดูแล้ง  ทั้งนี้พอสรุปได้ว่ามีความตั้งใจที่จะทำให้ดีด้วยกันทุกรายแต่บางคนขาดความรู้ไปบ้างบางคนมีบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ไร่และสวนอยู่จังหวัดใกล้เคียงไม่ได้อยู่ดูแลเอง ปล่อยแค่ลูกจ้างทำกันไปตามลำพังนานๆ เจ้าของจึงจะไปสั่งงานสักครั้งหนึ่ง งานที่สั่งไว้กับคนงานก็ไม่เป็นไปตามความต้องการ เมื่อเป็นดังนี้ จึงทำให้ต้นไม้ต้องตาย ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ตายแล้วปลูก ปลูกแล้วตายต้องลงทุนลงแรง ค่าพันธุ์พืชไม่รู้จักสิ้นสุด ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเกินควร บางรายหมดเงินไปแล้วเรือนหมื่นก็ยังไม่ได้ผลตอบแทนเลย บางคนแม้จะมีเงินมากพอทุ่มเทลงไปได้ก็ตาม แต่ในด้านจิตใจนั้นวันหนึ่งอาจจะเกิดความท้อแท้ใจได้ ฉะนั้นจึงขอเก็บเอาข้อบกพร่องในที่ข้อดีและเสียหายบางประการมาแนะนำ เพื่อเป็นทางปฏิบัติแก่ไม้ในไร่ในสวนในระยะเริ่มปลูกเก็บปีแรกให้ดีขึ้น ซึ่งทุกคนพอทำได้ดังต่อไปนี้
1. เรื่องคนงาน เท่าที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า บางคนบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ ไปทำสวนต่างจังหวัด เช่น เป็นชลบุรีบ้าง สัตหีบบ้าง มวกเหล็กบ้าง ปากช่องบ้าง เป็นต้น หลายๆ วัน จึงไปตรวจงานและสั่งงานสักครั้งหนึ่ง ไม่มีเวลาที่จะอยู่ประจำควบคุมคนงานด้วยตนเองได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แน่นอนเหลือเกิน งานต่างๆ จะเอาดีไม่ได้ ตามธรรมดาคนงานหายากเหลือเกินที่จะทำงานให้ถูกใจนายจ้าง และรักงานของนายจ้าง ได้จ้างให้งานไม่คุ้มกับเงินที่เสียไปจนเกิดปัญหาขึ้นว่า เมื่อฐานะการทำสวนเป็นเช่นนี้เราควรจะแก้ไขอย่างไร จึงจะได้งานคุ้มกับเงิน ทางที่ดีขอแนะนำให้หาหัวหน้างาน หรือญาติพี่น้องที่พอไว้วางใจได้สักคนหนึ่งแนะนำอบรมให้รู้จักใช้แรงงาน อบรมให้รู้จักใช้แรงงาน อบรมให้รู้ในตัวการนั้นๆ มอบหมายให้เป็นหัวหน้าดูแลงานแทน งานอาจจะดีขึ้น อีกประการหนึ่งไม่ควรจ้างคนงานไว้ประจำมากคนนัก ควรใช้แรงงานระดมเป็นครั้งคราว กล่าวคือในบางท้องที่อาจหาคนงานได้ไม่ยากนักวันไหนเจ้าของสวนไปที่สวน ก็หาจ้างแรงงานรายวันจากบุคคลภายนอกเข้าไปปฏิบัติงานและควบคุมเอง คนงาน 10 คน ทำงานภายใน 2-3 วัน อาจได้งานมากกว่าและดีกว่า การจ้างคนงานประจำไว้ 10 คน แล้วไม่ได้อยู่ดูแลเอง ตลอดเดือนเช่นนี้ เป็นต้น
2. พันธุ์ไม้ที่นำมาปลูก เช่นส้มเขียวหวาน บางคนซื้อกิ่งตัด กิ่งตัดคือกิ่งที่ตอนออกรากดีแล้วตัดไปปลูกเลยไม่ต้องชำ ความจริงนั้น พืชจำพวกส้มจะปลูกกิ่งตัดก็ได้แต่ก่อนจะลงหลุมปลูก ควรคัดเลือกแต่กิ่งที่มีรากดีและแข็งแรง กิ่งที่ไม่อ่อนไม่แก่เกินไป ตัดกิ่งเล็กและใบของกิ่งนั้นออกเสีย ตามควร เพราะในขณะแรกปลูกรากยังไม่มีกำลังพอที่จะดูดน้ำ และหาอาหารมาเลี้ยงลำต้น เมื่อปล่อยกิ่งเล็กและใบไว้มากๆ ก็พากันช่วยคายน้ำออกจากใบทำให้แห้งและตาย ถ้าได้แต่งกิ่งดังกล่าวแล้ว ก่อนปลูกและได้รักษาให้ดีจะมีส่วนตายไม่เกิน 10% เท่าที่ได้พบ บางคนได้กิ่งตอนไปแล้วก็ปลูกเลยโดยไม่ตัดไม่แต่ง ในที่สุดตายไปตั้งครึ่งตั้งค่อน บางต้นเหลือตาย มีอายุ 1 ปีเศษแล้วก็ไม่เจริญเพราะเป็นกิ่งแก่ ฉะนั้นถ้าจะให้ดีควรจะชำกิ่งไว้ในที่ร่มสัก 5-7 เดือน แล้วย้ายปลูก เลือกแต่ต้นที่เจริญแข็งแรง และมีหลักปักประจำต้น ผูกมัดให้แข็งแรงพออย่าให้ลมพัดโยกไหวได้
3. ฤดูปลูก การปลูกต้นไม้นี้ แม้จะไม่ต้องเพ่งเล็ง ถึงฤดูปลูกมากเกินไป เช่นพืชไร่ก็ตาม แต่ควรจะปลูกต้นฤดู หรือกลางฤดูฝน ให้ต้นไม้ได้รับฝนตลอดฤดูสัก 3-5 เดือนจะทำให้ต้นไม้เจริญงอกงามและแข็งแรง พอจะต่อสู้กับความแห้งแล้งในฤดูแล้งต่อไป ไม่ควรปลูกปลายฤดูฝน จวน ๆ จะหมดฝนเลยเป็นอันขาด จะทำให้ตายเสียในฤดูแล้งเป็นส่วนมากหรือตายหมด หากได้กิ่งพันธุ์ไปจะเป็นกิ่งตัดหรือกิ่งตอนก็ตาม ถ้าปลูกไม่ทันตามเวลาดังกล่าว ควรจะชำแล้วเก็บเลี้ยงรักษาไว้ในเรือนชำก่อนแล้วค่อยปลูกต้นฤดูฝนในปีต่อไปจะดีกว่า
4. ควรปลูกพืชบังร่ม ต้นไม้อ่อนแรกปลูกนี้ไม่ผิดอะไรกับเด็กอ่อนแรกเกิด จำเป็นต้องมีผู้คุ้มกันอันตรายต่างๆ โดยเฉพาะต้นไม้อ่อนแรกปลูกในระยะ 1-2 ปี ต้องมีต้นไม้อื่นบังร่มบังแดดในฤดูแล้งให้เพียงพอ แม้จะมีรดน้ำให้ได้ในฤดูแล้ง ก็ควรจะมีร่มอีกด้วย ได้เคยพบมาหลายแห่ง เปิดที่เตรียมที่ไถดินทุกหลุมแล้วปลูกต้นไม้ลงไปเสียเลยโดยไม่มีไม้บังร่มเลย ยิ่งกว่านั้นยังปล่อยดินในระหว่างแถวโล่งเตียนในฤดูแล้งอีกยิ่งเกิดผลเสียหาย ต้นไม้ตายเสียมาก ต้นพืชถูกแดดเผา น้ำในดินระเหยแห้งผากตลอดเวลา แม้จะได้ปลูกในต้นฤดูฝนและรดน้ำให้บ้างในฤดูแล้งก็ตาม รู้สึกว่ายังไม่เพียงพอสำหรับต้นไม้อ่อน ถ้าได้มีพืชบังร่มบังแดดให้อีกก็จะเพิ่มความชุ่มชื้นปลอดภัยดียิ่งขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ปลูกต้องพิจารณาดูว่าเราจะใช้พืชอะไรปลูกบังร่มกันดี เท่าที่เคยแนะนำได้ผลมาแล้ว กล้วยน้ำว้า เป็นพืชบังร่มต้นผลไม้แรกปลูกได้ดี ปลูกสับระหว่างแถวของพืชยืนต้น จะทำก่อนปลูกพืชยืนต้นหรือพร้อมๆ กันก็ได้ ถ้าเป็นส้มเขียวหวานซึ่งปลูกในระยะห่างกัน 4-5 เมตร ปลูกกล้วยน้ำว้าสับหว่างไว้ระหว่างต้นก็พอ ถ้าเป็นต้นไม้อื่นปลูกระยะห่างกว่านี้จะปลูกกล้วยสับหว่างๆ ละ 2-3 ต้นก็ได้ แล้วแต่ระยะของพืชนั้นๆ เมื่อพ้นฤดูแล้งไปสัก 2 ฤดู จะตัดรื้อกล้วยทิ้งไปเสียเหลือแต่พืชยืนต้น ในระหว่าง 2 ปี ที่ต้องมีกล้วยปนอยู่ในสวนนี้เราอาจจะต้องแทงหน่อกล้วยทิ้งไปเสียบ้างเมื่อมาเบียดบังต้นผลไม้จนเกินไป นอกจากบังแดดยังขายได้ผลกล้วยเป็นรายได้ลำไพ่อีกด้วย
5. การปลูกพืชคลุมดิน แม้ว่าจะปลูกไม้ผลด้วยกิ่งชำ ปลูกต้นหรือกลางฤดูฝน ปลูกพืชบังแดดให้ดังกล่าวแล้วก็ตามแต่เพื่อความแน่นอน และได้ผลเต็มที่ยิ่งขึ้น ไม่ควรจะลืมคลุมดิน พืชคลุมดินนี้หมายถึงพืชตระกูลถั่วที่เป็นเถาเหมาะกับสวนผลไม้ เช่น ถั่วยี่สง ถั่วลาย คุชสุ ตาโรโปโกเนี่ยม เป็นต้น หยอดเมล็ดลงเป็นหลุมๆ ในสวนผลไม้ทั่วทุกแถวทั้งแปลงของพืชยืนต้น ก่อนปลูกพืชยืนต้นหรือพร้อมๆ กับปลูกพืชยืนต้นนั้นๆ ก็ได้ แล้วควรดายหญ้าได้ 1 ครั้ง เมื่อเริ่มทอดเถา ต่อจากนั้นก็เลื้อยออกคลุมจนทั่วสวน คอยถากแต่เฉพาะที่โคนพืชยืนต้น อย่าปล่อยให้เลื้อยขึ้นพันต้นไม้ได้ พืชคลุมดินดังกล่าวนี้จะช่วยคลุมดินให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ตลอดฤดูแล้งจะเพิ่มปุ๋ยให้แก่ดิน จะป้องกันการชะล้างหน้าดินในฤดูฝนเป็นอย่างดี จะได้ติดเถาปกคลุมโคนต้นในฤดูแล้ง ยิ่งในพื้นที่ลาดเท เช่นเชิงเขา เชิงดอน ซึ่งต้องถูกชะล้างหน้าดินในฤดูฝนขนาดหนักด้วยแล้ว พืชคลุมดินนี้จะป้องกันการชะล้างได้เป็นอย่างดี เช่น เมื่อ พ.ศ.2500 ส้มเขียวหวานในท้องที่อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี หลังจากเกิดมรสุมฝนใหญ่ น้ำท่วมได้พบว่า สวนส้มอยู่ที่เชิงเขาพื้นที่ลาดเทมีพืชคลุมอย่างถูกต้อง กันการชะล้างไว้ได้เป็นอย่างดี ไม่กระทบกระเทือนเสียหาย ส่วนบางสวนที่มีพื้นที่เช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้ปลูกพืชคลุมดินไว้ ล้มตายเพราะถูกฝนชะล้างเป็นจำนวนมาก ดินเกิดเป็นร่อง เป็นทางยาวเพราะน้ำไหล เมื่อการทำสวนของท่านผ่านฤดูแล้งไป 2 ฤดูแล้ว และได้ตัดรื้อกล้วยออกหมดดังกล่าวก็จะเหลือแต่พืชยืนต้นกับพืชคลุมดิน
6. การปลูกพืชยืนต้น เราสามารถเปิดป่าเตรียมดินปลูกลงไปในปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนหลายๆ สิบไร่และเป็นจำนวนพันๆ ต้นไม่ยากนัก แต่หลังจากปลูกเรียบร้อยแล้วความยุ่งยากต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติรักษานั่นเองเป็นเรื่องยาก อุปสรรคต่างๆ เกิดจากธรรมชาติบ้าง เกิดจากโรคและศัตรูบ้างตามมาภายหลังทำให้เกิดการเสียหาย ฉะนั้นเพื่อป้องกันการเสียหายอันนี้ จึงควรทยอยปลูกปีละพอเหมาะกับกำลังงานการปฏิบัติดูแลได้ทั่วถึง และค่อยปลูกเพิ่มเติมในปีต่อไป ทั้งนี้เป็นการแบ่งเบาภาระและแรงงานในการปฏิบัติได้ดี การปฏิบัติต้นไม้นั้นควรจะทำงานให้ทันตามเวลาทุกระยะ เป็นต้นว่าในฤดูฝนเมื่อฝนตกชุก ต้องคอยดูและระบายน้ำ อย่าให้แช่ขังแฉะ ถางหญ้าอย่าให้รกจนปกคลุมต้นได้ พอหมดฝนย่างเข้าฤดูแล้งต้องรีบพรวนโคนต้น และคลุมโคนต้นไว้ด้วยหญ้าแห้งหรือพืชเถาคลุมให้หนาที่สุดเท่าที่จะทำได้ การคลุมโคนต้นตลอดฤดูนี้ ทำได้ไม่ยากเย็นอะไรเลย มองดูแล้วน่าเป็นเรื่องสำคัญในทางเกษตร แต่ความจริงนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ที่เคยปฏิบัติมาแล้วเห็นผลในฤดูแล้งและลงความเห็นว่าควรทำอย่างยิ่ง พอหมดฤดูฝนย่างเข้าฤดูแล้ง น้ำในดินก็ยังมีพอสมควร ควรเริ่มพรวนดินรอบๆ บริเวณโคนต้นทันที การพรวนนั้นอย่าให้ชิดโคนต้น ควรเว้นห่างจากโคนต้นประมาณ 1 ฟุต พรวนดินลึกประมาณ 5-6 นิ้ว เป็นวงรอบๆ ต้น มีความกว้าง 50 ซม. หรือตามขนาดความใหญ่ของต้นไม้ จะเป็นดินเหนียวหรือดินร่วนก็ควรพรวนทั้งนั้น และไม่ต้องย่อยดินให้ละเอียด ขุดพลิกทิ้งไว้เป็นก้อนได้ยิ่งดี แล้วเอาหญ้าแห้งปกคลุมลงไปดังกล่าวแล้ว จะช่วยเก็บความชื้นในดินฤดูแล้วไปได้นานวัน ถ้ามีน้ำรด เมื่อเวลารดน้ำก็รดลงไปบนหญ้าแห้ง จะเป็นการป้องกันไม้ตายแล้งได้เป็นอย่างดี และหญ้าแห้งหรือเถาถั่วก็จะเน่าเปื่อยเป็นปุ๋ยในวันข้างหน้าเป็นอย่างดีอีก
7. การดูแลรักษากำจัดศัตรูพืช ต้นไม้อ่อนในระยะนี้มักจะมีเพลี้ย เช่น เพลี้ยแห้ง เพลี้ยไฟ เพลี้ยเกล็ดหอย เกาะดูดน้ำเลี้ยงในลำต้นและใบอ่อน ส่วนแมลงนั้นชอบกินใบอ่อนอยู่เสมอ ทำให้ต้นไม้ชะงักความเจริญเติบโตและตายได้ ฉะนั้นต้องคอยตรวจ คอยฉีดยากำจัดป้องกันเสียแต่แรกเริ่มเกิด โดยเตรียมตัวและเครื่องมือไว้ นอกจากแมลงและเพลี้ย ยังมีจำพวกรา เช่น ราดำจับตามใบ ราขาวจับลำต้นและกิ่ง ทำให้ชะงักความเจริญเหมือนกัน ถ้ามีราเกิดขึ้นกับต้นไม้ ก็ควรจะฉีดยาทำลายเสีย ปัญหามีอยู่ว่าเจ้าของจะทราบได้อย่างไรว่าเพลี้ยลงเมื่อไร แมลงกัดกินใบอ่อนเมื่อไร และต้นเป็นโรคเมื่อไร ทางที่ดีเจ้าของสวนควรจะได้มอบหมายการดูแลไว้กับคนหนึ่งคนใดให้เป็นคนคอยตรวจตราอย่างใกล้ชิดทุกวัน ต้นไหนเป็นโรคราก็จัดการฉีดยาเสียทันที อย่าปล่อยให้เป็นมากต้นจะยากแก่การกำจัดและเสียยาเสียแรงงานมาก
8. การใส่ปุ๋ย ปุ๋ยเป็นสิ่งจำเป็นของต้นไม้ เมื่อเราปลูกต้นไม้หรือชำต้นไม้ เราต้องใช้ปุ๋ยต้นไม้นั้น จริงอยู่ต้นไม้ได้รับปุ๋ยโดยธรรมชาติอยู่แล้วหลายทาง เช่น ได้แก๊สคาร์บอนไดอ็อกไซด์จากอากาศ ได้ฟอสฟอรัสปอแตสเซี่ยมและไนโตรเจนจากดินนอกจากนี้ต้นไม้ยังได้รับปุ๋ยจำพวกอินทรีย์วัตถุซึ่งเกิดจากสิ่งเน่าเปื่อยผุพังจากต้นพืชต่างๆ ที่สะสมไว้ในดินอีกด้วย แต่อย่างไรก็ดีปริมาณแต่ละอย่างย่อมไม่พอกับต้นไม้ ดังนั้น ทางที่จะเพิ่มพูนความเจริญเติบโตของต้นไม้แรกปลูกให้เจริญเติบโตขึ้นได้ก็โดยการเพิ่มปุ๋ยให้ถูกส่วน การเพิ่มปุ๋ยหรือการใส่ปุ๋ยเคมีให้ต้นไม้ดังกล่าวนี้ เราควรจะรู้โดยการวิเคราะห์หน้าดินเสียก่อนว่าดินขาดธาตุอะไร พืชเราต้องการธาตุอะไร มีสัดส่วนอย่างไรจึงใส่ลงไป ถ้าจะใส่ปุ๋ยจำพวกปุ๋ยคอกต่างๆ หรือปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยที่ได้รับมาจากกาก หรือใบของพืชที่อยู่ในบริเวณสวน จะใส่ลงไปมากเท่าใดก็ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใดแก่พืช ได้เคยแนะนำให้เจ้าของสวนมะพร้าว ทุกหลุมไว้ระหว่างแถวมะพร้าวภายในสวนหมักเศษหญ้า ใบไม้และเถาถั่วลิสงซึ่งปลูกระหว่างแถวมะพร้าวลงไปในหลุม เมื่อเน่าเปื่อยดีแล้วโกยขึ้นใส่โคนต้น มะพร้าวเล็กๆ แรกปลูก หลัง 6 เดือนแล้วพบว่า ต้นเล็กที่แคระแกร็นใบเหลือง กลับมีใบเขียวเจริญงอกงามขึ้นอย่างประหลาด การใส่ปุ๋ยหรือการเพิ่มปุ๋ยดังกล่าวแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์ของเทศบาล ใช่ว่าจะให้ผลดีให้คุณประโยชน์แต่ต้นไม้เสมอไป บางครั้งต้นไม้ของท่านจะเกิดผลเสียหาย หรือว่าเกิดโทษจากการใส่ปุ๋ยก็เป็นได้ ฉะนั้นการใส่ปุ๋ยจึงเป็นเรื่องสำคัญจะต้องทำด้วยความระมัดระวัง