การนวดตัวด้วยน้ำมันงา

อายุรเวท เป็นหลักการแพทย์แผนโบราณของอินเดีย ซึ่งเป็นศาสตร์ที่แนะให้ปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับธรรมชาติเพื่อให้เกิดความสมดุลภายในตัวเอง และสมดุลกับสิ่งแวดล้อม เป็นการป้องกันและรักษาโรคแบบองค์รวม ซึ่งกำลังกลับมาได้รับความสนใจและนำไปปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน แม้แต่ในประเทศตะวันตก ตามหลักอายุรเวทแนะนำว่า นอกจากการกินงา ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว การนวดตัวด้วยน้ำมันงายังช่วยบรรเทาอาการผิวหนังแห้งแตกในหน้าหนาว ช่วยหล่อลื่นบำรุงผิวหนัง อีกทั้งยังบำรุงกระดูก เนื้อเยื่อ และประสาท ทำให้จิตใจสงบ

ตำราอายุรเวทแนะนำให้ใช้น้ำมันงานวดตัวในตอนเช้าก่อนอาบน้ำ จะช่วยปรับสภาพระบบที่สำคัญของร่างกาย 2 ระบบคือ ระบบประสาทและระบบฮอร์โมนให้เข้าสู่สภาวะสมดุล เนื่องจากบริเวณผิวหนังมีเส้นประสาทจำนวนมากและยังเป็นแหล่งผลิตฮอร์โมนที่สำคัญ น้ำมันงามีคุณสมบัติที่สามารถซึมผ่านผิวหนังไปได้ทุกชั้น การนวดตัวด้วยน้ำมันงา การนวดตัวด้วยน้ำมันงาจึงทำให้ทำให้เกิดความอบอุ่นที่ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังอ่อนนุ่มและอ่อนเยาว์ เนื่องจากน้ำมันงาอุดมด้วยวิตามินอี นอกจากนี้ยังช่วยให้กล้ามเนื้อทรงสภาพช่วยขจัดพิษและสิ่งสกปรกออกจากร่างกายผ่านทางผิวหนัง

วิธีการนวดตัวด้วยน้ำมันงา

น้ำมันงาที่ใช้นวดตัว น้ำมันงาที่ใช้นวดตัวควรเป็นน้ำมันงาที่บีบจากเมล็ดงาดิบที่ยังไม่ผ่านความร้อนและไม่ผ่านการขัดล้างเปลือก แต่น้ำมันงาที่จะใช้นวดตัวควรได้รับการเตรียมโดยผ่านความร้อนจะมีประสิทธิภาพดีกว่า วิธีการเตรียมน้ำมันงาก็ทำได้โดยนำน้ำมันงาใส่กระทะตั้งไฟอ่อน อุ่นให้ร้อนประมาณ 100 องศาเซลเซียส จากนั้นยกลงทิ้งไว้ให้เย็น บรรจุขวดสีชาที่มีฝาปิดเก็บไว้ใช้นวดตัว

เมื่อจะใช้นวดตัว ก็ใช้น้ำมันงาประมาณ ¼ ถ้วย อุ่นให้ร้อนโดยการใส่น้ำมันงาในถ้วยหรือในขวดแล้วนำไปแช่ในน้ำร้อนสักครู่ ให้น้ำมันงาในถ้วยร้อนขึ้นจนมีอุณหภูมิเท่ากับหรือมากกว่าอุณหภูมิของผิวของร่างกายเรา

การใช้น้ำมันงานวดตัว ให้ใช้น้ำมันงาแบ่งเป็นส่วน ๆ ชโลมให้ทั่วตัวตั้งแต่หัวจรดเท้า แล้วเริ่มนวดตั้งแต่ศีรษะ คอ ร่างกาย แขน ขา ไปจนถึงเท้า บริเวณที่ควรจะเน้นและให้เวลามากกว่าส่วนอื่นก็คือ ศีรษะและเท้า การนวดให้ใช้วิธีนวดวนเป็นวงกลมบนผิวหนังที่มีพื้นที่เป็นวงกลมและบริเวณข้อต่อต่าง ๆ เช่น หัวไหล่ ข้อศอก หัวเข่า สะโพก เป็นต้น และให้ใช้วิธีนวดถูไปมาบนผิวหนังที่มีพื้นที่ตรง และตามแนวยาวของกระดูก เช่น คอ แขน ขา เป็นต้น

เริ่มต้นนวด ทาน้ำมันงาให้ทั่วตัวตั้งแต่ศีรษะไปจนถึงเท้าโดยใช้ฝ่ามือปล่อยทิ้งไว้สักครู่ให้น้ำมันดูดซึมผ่านผิวหนัง เริ่มนวดจากศีรษะก่อน ใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างนวด หนัก ๆ วนไปมาบริเวณหนังศีรษะตั้งแต่ด้านหน้าไปยังท้ายทอย นวดเบา ๆที่ใบหู บริเวณหน้าให้นวดลูบไล้เบา ๆ เหมือนการทาแป้ง นวดจมูกโดยใช้ปลายนิ้วก้อยจุ่มน้ำมันแล้วทาบริเวณรูจมูกทั้งสองข้างนวดเบา ๆ

ระหว่างการนวดส่วนต่าง ๆ หากรู้สึกว่าน้ำมันที่ทาทิ้งไว้น้อยเกินไป ให้ทาเพิ่มได้ จากศีรษะต่อไปให้นวดบริเวณคอและหลัง บริเวณไหล่ และบริเวณข้อต่าง ๆ เช่น หัวไหล่ ข้อศอก หัวเข่า ให้ใช้ฝ่ามือและนิ้วมือนวดวนเบา ๆ นวดแขนก่อน แล้วจึงนวดขาโดยให้นวดหนักกว่าที่อื่น โดยการถูไปมาแรง ๆ ส่วนบริเวณลำตัว อกและท้องให้นวดเบา ๆ โดยใช้ฝ่ามือลูบวนเป็นวงกลมตามเข็มนาฬิกา บริเวณหลังให้นวดลูบขึ้นลงหลังมือ และนิ้วมือนิ้วเท้าให้นวดเบา ๆ สุดท้ายให้นวดบริเวณฝ่าเท้าแรง ๆ ด้วยฝ่ามือ

หลังการนวด พักสักครู่ แล้วจึงอาบน้ำด้วยน้ำอุ่น ถ้าจะใช้สบู่ควรใช้สบู่อ่อน ไม่จำเป็นต้องล้างน้ำมันงาออกให้หมด ปล่อยให้เหลือน้ำมันงาเคลือบตัวบ้าง รวมทั้งบริเวณหนังศีรษะและเส้นผม

การนวดแบบย่อ

การนวดตัวด้วยน้ำมันงาทั้งตัวตามที่กล่าวมาจะใช้เวลา 10-15 นาที เป็นอย่างน้อย แต่ถ้าหากไม่มีเวลาพอสามารถนวดอย่างย่อได้โดยเน้นการนวดที่ศีรษะและเท้า ซึ่งอาจจะใช้เวลาเพียง 2-3 นาที โดยใช้น้ำมันงาอุ่น 1 ช้อนโต๊ะ ชโลมศีรษะ แล้วนวดด้วยฝ่ามือจากด้านหน้าสู่ท้ายทอย นวดหน้าผากด้วยฝ่ามือนวดบริเวณทัดดอกไม้โดยถูวนรอบ ๆ นวดใบหูเบา ๆ จากนั้นนวดใบหน้าและคอ

เสร็จแล้วให้ใช้น้ำมันงาอีก 1 ช้อนโต๊ะทาเท้าทั้งสองข้างด้วยฝ่ามือ นวดนิ้วเท้าด้วยนิ้วมือ นวดฝ่าเท้าโดยใช้ฝ่ามือถูไปมา พักสักครู่แล้วจึงอาบน้ำด้วยน้ำอุ่น

เอกสารอ้างอิง  “อายุรเวท : วิถีสู่สุขภาพตามธรรมชาติ” เขียนโดย ศ.นพ.เฉลียว  ปิยะชน  มูลนิธิสานแสงอรุณ จัดพิมพ์ ปี 2539 “สุขภาพดีด้วยสมุนไพรใกล้ตัว ชุด 5” โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง สนพ.ประพันธ์  สาส์นจัดพิมพ์ เมษายน 2540 “เว็บไซท์ Sesame Oil Massage Procedure.htm