การบำบัดน้ำเสียด้วยน้ำสกัดชีวภาพ

น้ำเสียในแหล่งน้ำสาธารณะ เกิดจากสาเหตุ 3 ประการ คือ เกิดจากน้ำเสียจาก การเกษตร โดยเฉพาะจากการเลี้ยงสัตว์ทั้งสัตว์น้ำสัตว์บก น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม และน้ำเสียจากครัวเรือน

การบำบัดน้ำเสียจากการเลี้ยงสัตว์

น้ำเสียจากการเลี้ยงสุกรและโค

1.  สุกร การบำบัดน้ำเสียจากการเลี้ยงสุกรจำเป็นต้องมีบ่อบำบัดน้ำเสียอย่างน้อย 2-3 บ่อคือ

บ่อที่ 1 เป็นบ่อที่รับน้ำเสียจากการล้างคอกด้วยน้ำที่ผสมด้วยน้ำสกัดชีวภาพแล้วน้ำสกัดชีวภาพจะทำงานย่อยสลายช่วยให้น้ำมีอุณหภูมิดีขึ้น

บ่อที่ 2-3 เมื่อน้ำเสียผ่านการบำบัดบางส่วนแล้วจากบ่อที่ 1 ผ่านไปยังบ่อที่ 2-3 น้ำจะมีสภาพดีขึ้นให้เติมน้ำสกัดชีวภาพในอัตรา 1:1000 หรือน้ำสกัดชีวภาพ(ขยาย) 1 ลิตรต่อน้ำในบ่อ 1 ลูกบาศก์เมตร จนได้น้ำที่สะอาดมีค่าออกซิเจนสูงขึ้นจนสามารถเลี้ยงปลาได้  ก็นำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้เช่น นำไปล้างคอกสุกร นำไปรดต้นไม้ หรือปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้

2.  โค(โคเนื้อและนม) การบำบัดน้ำเสียจากการล้างคอกสามารถบำบัดได้ 2 วิธีคือ

ปล่อยลงแปลงหญ้า ถ้ามีแปลงหญ้าอยู่ใกล้คอกเลี้ยงสัตว์ก็สามารถปล่อยน้ำล้างคอกที่ผสมด้วยน้ำสกัดชีวภาพ(ขยาย)ในอัตรา 1:500 ส่วน ปล่อยลงแปลงหญ้าได้เลยเป็นน้ำปุ๋ยสำหรับแปลงหญ้า

บำบัดก่อนนำไปใช้  ถ้าไม่สามารถปล่อยลงแปลงหญ้าก็ให้มีบ่อบำบัด 1-2 บ่อ แล้วค่อยนำไปใช้ล้างคอกหรือปล่อยลงแหล่งน้ำสาธารณะ

3.  น้ำเสียจากการเลี้ยงสัตว์น้ำ ในระหว่างการเลี้ยงถ้าผ่านการใช้น้ำสกัดชีวภาพตามคำแนะนำ น้ำก็จะไม่เสีย สามารถเก็บไว้ใช้เลี้ยงสัตว์ต่อไปอีกได้แล้วจากผ่านการบำบัดเพียงระยะสั้นเท่านั้น

การบำบัดน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม

โรงงานอุตสาหกรรมเกษตร เช่น โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร โรงงานอุตสาหกรรมผลิตยางพารา บำบัดได้โดยมีบ่อบำบัดน้ำเสีย 1-3 บ่อ

บ่อที่ 1 รับน้ำเสียจากการล้างพื้นโรงงานและภาชนะด้วยน้ำผสมน้ำสกัดชีวภาพ(ขยาย) น้ำในบ่อที่ 1 บำบัดด้วย(ขยาย) ในอัตรา 1:1000 ทุก ๆ วัน

บ่อที่ 2 รับน้ำเสียจากบ่อที่ 1 หลังจากผ่านการบำบัดบ้างแล้วระยะหนึ่งในบ่อที่ 2 นี้ใส่น้ำสกัดชีวภาพ(ขยาย) ในอัตรา 1:1000 อีกทุก 15 วัน

บ่อที่ 3 รับน้ำเสียที่บำบัดแล้วจากบ่อที่ 2 น้ำในบ่อที่ 3 นี้สามารถเลี้ยงสัตว์น้ำหรือนำไปรดต้นไม้และล้างพื้นโรงงานได้

การบำบัดน้ำเสียจากครัวเรือน

แม่น้ำลำคลองที่เสียส่วนใหญ่เกิดจากน้ำเสียจากครัวเรือนที่ปล่อยลงแม่น้ำลำคลอง โดยไม่บำบัดทำให้น้ำในคลอง โดยเฉพาะลำคลองที่ผ่านชุมชนเสียมีกลิ่นเหม็นและน้ำมีสีดำ

วิธีบำบัดทำได้ 2 วิธี

มีบ่อบำบัด สำหรับหมู่บ้านที่อยู่กันหนาแน่นเช่น บ้านจัดสรรหรือหมู่บ้านแออัดควรมีบ่อบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่พอสำหรับรับน้ำจากหมู่บ้านทั้งหมด

น้ำจากแต่ละครัวเรือน ทำการบำบัดตั้งแต่จากครัวเรือนโดยใช้น้ำสกัดชีวภาพ ผสมลงไปในน้ำก่อนปล่อยลงท่อระบายน้ำไปลงบ่อบำบัด

การบำบัดในบ่อพักน้ำ ใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพใส่ถุงปุ๋ยแขวนในน้ำหน้าปาก ท่อระบายน้ำลงบ่อพักเพื่อให้น้ำเสียผ่านปุ๋ยหมักชีวภาพก่อนลงบ่อบำบัด ใส่น้ำสกัดชีวภาพในบ่อบำบัดทุก 2-4 อาทิตย์ในอัตรา 1:1000 หรือ 1 ลิตร ต่อน้ำ 1000 ลิตร หรือ 1 ลูกบาศก์เมตร จนน้ำสะอาดปล่อยลงแม่น้ำลำคลองได้

การบำบัดน้ำเสียในแหล่งน้ำสาธารณะ

น้ำในคูคลองที่ผ่านชุมชนที่เสียมีสีดำและมีกลิ่นเหม็นสามารถบำบัดได้ไม่ยากโดยความร่วมมือจากชุมชนริมคูคลอง ช่วยกันบำบัดน้ำด้วยน้ำสกัดชีวภาพเสียก่อนปล่อยลงลำน้ำ

ในกรณีที่ต้องการทำการบำบัดลำน้ำที่เสียแล้วให้ดีไม่มีกลิ่นเหม็นทำได้ 2 วิธีคือ

1.  ลำน้ำที่มีสภาพนิ่ง คุคลองที่น้ำนิ่งไม่ไหลสามารถบำบัดได้ไม่ยากโดยใช้น้ำสกัดชีวภาพ(ขยาย) บำบัดในอัตรา 1:1000 ทุก 15 วัน น้ำจะมีสภาพดีขึ้นภายใน 1-2 เดือน และกลิ่นจะหายไปภายใน 15 วัน

2.  ลำน้ำที่ไม่นิ่ง คูคลองที่ไหลขึ้นลงตลอดเวลาต้องทำให้น้ำนิ่งโดยทำเขื่อนชั่วคราวเป็นช่วง ๆ ห่างกันประมาณ 100-500 เมตร ด้วยผ้าใบหรือผ้าพลาสติกกั้นให้น้ำตอนล่างนิ่ง ส่วนผิวน้ำสามารถไหลผ่านได้ แล้วทำการบำบัดตามข้อ 1

การกำจัดกลิ่นและแมลงวันในขยะในเมือง

ขยะในเมืองนับวันจะมีปัญหามากขึ้นทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ กรุงเทพมหานครแห่งเดียวมีขยะวันละเกือบหมื่นตัน ทำให้เกิดปัญหากลิ่นเหม็นและแมลงวัน และการกำจัดโดยการนำไปฝังกลบ หรือนำไปเผาทำลาย หรือนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามก่อนจะนำขยะไปกำจัด การกำจัดกลิ่นและแมลงวันด้วยน้ำสกัดชีวภาพสามารถแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

การกำจัดจากครัวเรือน

ใช้น้ำสกัดชีวภาพเข้มข้น ( 1:100-200) ฉีดพ่นขยะเปียกก่อนบรรจุลงถุงขยะ แล้วมัดปากถุงนำไปใส่ถังขยะเพื่อรอให้รถขยะมารับต่อไป

การกำจัดกลิ่นและแมลงวันที่กองขยะ

1.  ใช้น้ำสกัดชีวภาพ(ขยาย) ในอัตราเข้มข้น ฉีดพ่นบนกองขยะให้ทั่ว เพื่อรอรถขนไปทำลายต่อไป

2.  ถ้านำไปทำลายโดยวิธีฝังกลบ ควรใช้น้ำสกัดชีวภาพฉีดพ่นให้ทั่วบนรถขนขยะ แล้วใช้ผ้าใบปิดรถขยะให้มิดชิดก่อนขนไปฝังกลบ

3.  ที่หลุมฝังกลบ  ก่อนทำการกลบด้วยดินให้ฉีดพ่นน้ำสกัดชีวภาพบนกองขยะอีกครั้งหนึ่งแล้วทำการกลบ