การปฏิบัติเพื่อการส่งออกสับปะรดสด

เบญจมาส  รัตนชินกร

สณทรรศน์  นันทะไชย

สถาบันวิจัยพืชสวน เกษตรกลางบางเขน กรุงเทพฯ

ผลไม้ไทยที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดคือ สับปะรดโดยเฉพาะในรูปสับปะรดบรรจุกระป๋อง สำหรับสับปะรดรับประทานสดนั้น แม้จะมีมูลค่าการส่งออกยังน้อยอยู่แต่ก็นับเป็นผลไม้สดที่ส่งออกมากเป็นอันดับสองรองจากทุเรียน คือ ในปี พ.ศ.๒๕๓๐ สับปะรดสดมีมูลค่าการส่งออกประมาณ ๒๑๔ ล้านบาท (ข้อมูลจากกรมศุลกากร) ปริมาณที่ส่งออกนี้เมื่อเทียบแล้วมีไม่ถึงร้อยละ ๑ ของปริมาณที่ผลิตได้ เพราะในแต่ละปีจะผลิตสับปะรดได้ประมาณ ๑.๗ ล้านตัน(กรมส่งเสริมการเกษตร พ.ศ.๒๕๒๘/๒๕๒๙) ตลาดใหญ่ของสับปะรดสดจากเมืองไทยในขณะนี้ก็คือ ญี่ปุ่นซึ่งเราส่งเข้าถึง ๙๖.๔ ของปริมาณส่งออกทั้งหมด ส่วนปริมาณที่เหลืออีกเล็กน้อยไม่ถึงร้อยละ ๕ นั้น ส่งไปจำหน่ายยังประเทศประชาคมยุโรป สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ ตามลำดับ

เนื่องจากสับปะรดไทยมีรสชาติดีเป็นที่นิยมของผู้บริโภคต่างประเทศมาก ดังนั้นอนาคตการส่งออกจึงยังสดใสอยู่ ปัญหาอุปสรรคสำคัญในการส่งออกสับปะรดเท่าที่ผ่านมาก็คือ ยังไม่สามารถยืดอายุการเก็บรักษาให้ยาวนานได้เพียงพอ จึงต้องทำการส่งออกสับปะรด โดยทางเครื่องบิน ซึ่งนอกจากจะส่งออกได้ในปริมาณเพียงเล็กน้อยแล้ว ยังเสียค่าขนส่งแพงมาก ทำให้เสียเปรียบในการแข่งขันกับผู้ผลิตจากแหล่งอื่น

จากการทดลองของกรมวิชาการเกษตรร่วมกับภาคเอกชน พบว่าสามารถยืดอายุการเก็บรักษาสับปะรดให้อยู่ในสภาพดีได้นานขึ้น ในปัจจุบันทำให้สามารถส่งสับปะรดทางเรือไปยังประเทศญี่ปุ่นได้และคาดว่าจะสามารถส่งโดยวิธีการดังกล่าวไปยังตลาดที่ไกลออกไป เช่นยุโรปและอเมริกาในอนาคตอันใกล้นี้

การเก็บเกี่ยว

ในการเก็บเกี่ยวสับปะรดสดนั้น สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกก็คืออายุการเก็บเกี่ยว ทั้งนี้เพราะว่าความแก่ของสับปะรดที่จะส่งออกนั้นมีส่วนสัมพันธ์กับวิธีการและระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่ง ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพของผลผลิตเมื่อถึงปลายทาง

การเก็บเกี่ยวจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังไม่ให้ผลและจุดชอกช้ำ เพราะจะมีผลต่อคุณภาพระหว่างการเก็บรักษาหรือระหว่างการวางจำหน่าย

สับปะรดที่ส่งออกทางอากาศสามารถเก็บเกี่ยวเมื่อมีความสุก ๕๐℅ ได้ แต่สำหรับการส่งออกทางเรือห้องเย็นนั้นจะต้องเก็บเกี่ยวเมื่อแก่เขียว (Mature green) ถึงเนื้อสุกไม่เกิน ๒๐℅ ทั้งนี้ เพราะสับปะรดที่สุกเกินไปจะเก็บในอุณหภูมิต่ำไม่ได้นาน เนื่องจากจะเกิดการผิดปกติทางสรีระ เช่นการเกิดอาการไส้ดำ (Internal Brown Spot) และความเสียหายอันเนื่องมาจากความเย็น (chilling injury) ได้ง่าย ซึ่งหากมีอาการผิดปกติดังกล่าวเกิดขึ้นมากเกินไป จะทำให้เนื้อรับประทานไม่ได้

ขนาดของผลสับปะรดที่ส่งออกในปัจจุบัน มีน้ำหนักอยู่ระหว่าง ๑.๕-๒.๕ กิโลกรัม เป็นส่วนใหญ่

การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

สับปะรดที่จะส่งออกควรจะคัดขนาดให้สม่ำเสมอ คัดเอาผลที่มีตำหนิหรือลักษณะผิดปกติอื่น ๆ ออก แล้วนำผลที่คัดได้มาตัดแต่งขั้ว โดยให้มีก้านติดขั้วยาวประมาณ ๑ นิ้ว หรือไม่ไว้ก้านก็ได้ใบที่ขั้วต้องปลิดออก ทั้งนี้เพื่อให้ทำความสะอาดได้ดียิ่งขึ้น เพราะบริเวณดังกล่าวมักจะพบว่ามีแมลงซ่อนเร้นอยู่เสมอ

สับปะรดที่จะขนส่งทางอากาศนั้น การทำความสะอาดอาจจะใช้แค่แปรงปัดก็พอ

สำหรับสับปะรดที่จะขนส่งทางเรือที่ใช้เวลาขนส่งไม่เกิน ๗ วันนั้น ขั้นแรกควรล้างเอาสิ่งสกปรกออกก่อน แล้วจุ่มสารกันเชื้อรา (Thiabendazole) ให้มีประมาณของสารออกฤทธิ์ ๕๐๐-๑๐๐ ส่วนต่อล้านส่วน

ส่วนสับปะรดที่ใช้เวลาการขนส่งทางเรือนานกว่านี้จำเป็นต้องเพิ่มกรรมวิธีเคลือบผิวเข้าไปด้วย โดยเลือกใช้สารเคลือบผิวที่ผลิตเพื่อใช้กับสับปะรด โดยเฉพาะและควรผสมสารกันเชื้อราให้มีปริมาณของสารออกฤทธิ์ ๑๐๐๐-๒๐๐๐ ส่วนต่อล้านส่วน จากนั้นจึงผึ่งให้แห้งแล้วจึงทาขั้วผลด้วยสารกันเชื้อราหรือปูน เป็นการป้องกันเชื้อราซึ่งมักจะพบที่ขั้วภายหลังการเก็บรักษาหรือระหว่างการวางจำหน่าย

หุ้มผลที่เคลือบผิวแล้วด้วยกระดาษก่อนบรรจุในกล่องกระดาษลูกฟูก ซึ่งโดยทั่วไปใช้กัน ๒ แบบ คือ กล่องทรงสูง สำหรับการเรียงสับปะรดในแนวตั้งและกล่องทรงเตี้ย สำหรับเรียงสับปะรดในแนวนอน ซึ่งกล่องทั้ง ๒ แบบสามารถบรรจุสับปะรดได้ ๖-๘ ผล

การขนส่ง

สับปะรดที่ขนส่งทางเรือห้องเย็นนั้นควรมีการลดความร้อน(precooling)เมื่อเก็บเกี่ยวจากไร่แล้ว จากนั้นจึงขนส่งผลิตผลจากไร่โดยรถห้องเย็นไปยังเรือห้องเย็นอุณหภูมิในการขนส่ง ๘-๑๐ องศาเซลเซียส

ปัญหาและอุปสรรคของการส่งออกสับปะรดสด

วิธีการใช้สารเคลือบผิวสับปะรดสามารถทำให้สับปะรดเก็บรักษาที่ ๘-๑๐ องศาเซลเซียส ได้นาน ๒-๓ สัปดาห์ โดยจะมีอายุการวางจำหน่ายอีก ๑ สัปดาห์ การส่งออกสับปะรด โดยทางเรือห้องเย็นจึงยังมีขอบเขตจำกัดอยู่ คือสามารถส่งออกไปยังประเทศที่ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน ๒-๓ สัปดาห์เท่านั้น เช่น ญี่ปุ่น ส่วนการจะทำให้สับปะรดสามารถเก็บได้นานขึ้นเพื่อขนส่งไปยุโรปโดยทางเรือ ซึ่งใช้เวลา ๔-๕ สัปดาห์ได้นั้นจะต้องศึกษาวิจัยกันต่อไป