การปราบหญ้าคาโดยการใช้เครื่องมือทุ่นแรงฟาร์ม

หญ้าคา

หญ้าคาเป็นพืชที่มีลำต้นเลื้อยอยู่ใต้ดิน ส่วนที่โผล่ขึ้นมาจากดินนั้น เป็นกาบใบและใบ ความจริงหญ้าคาบางแห่งใช้ทำประโยชน์ได้ดีมาก เช่น ใช้ใบมุงหลังคาทางภาคอีสาน แต่สำหรับภาคใต้แล้วถือว่าเป็นพืชที่ร้ายแรง ดังนั้นการที่จะปราบให้ได้ผล กระทำได้ดังนี้คือ

1.  ปราบโดยการทับ ได้ผลกับหญ้าคาที่ขึ้นอยุ่หนาแน่น วัตถุที่ใช้ทับได้แก่ลูกกลิ้งหรือท่อนไม้ พยายามทับให้กาบใบหักปูราบไปรับพื้นดิน แล้วอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์หญ้าคาเหล่านี้ก็จะตาย และเป็นปุ๋ย วิธีนี้ชาวสวนเคยทำลองได้ผลมาแล้วเป็นส่วนมาก และได้ผลดีกว่าวิธีใช้ฟันด้วยมีด คือ

เมื่อหญ้าคาเหล่านี้ถูกทับ และเน่าเปื่อยปกคลุมดินอยู่อากาศและแสงสว่างจะไม่เหมาะกับความเจริญเติบโตของต้นหญ้าคาที่เจริญขึ้นมาใหม่ แต่ถึงแม้กระนั้นก็ตามหญ้าคาก็จะพยายามส่งตาที่สมบูรณ์งอกออกมาก่อน ตอนนี้จะงอกออกมามีระยะห่างๆ กันไม่หนาแน่นมากนัก  ถ้าหากเราต้องการจะปราบโดยวิธีนี้อีก เพื่อใช้ใบของหญ้าคาทำปุ๋ยด้วย ก็ปล่อยไว้ให้เจริญงอกงามพอสมควรแล้วจึงทับลงไปอีก แต่ไม่ควรทิ้งไว้จนออกดอก

2.  ปราบโดยการไถ

(1)ลงมือไถครั้งหนึ่ง แล้วทิ้งเอาไว้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ หรือจนกว่าหญ้าคาจะเจริญเติบโตขึ้นมาใหม่และควรทิ้งไว้ให้สูงประมาณหนึ่งฟุต(เป็นระยะที่ดี) การไถครั้งนี้จะได้รับประโยชน์คือ

ก.  ทำให้ต้นหญ้าคาถูกตัดขาดเป็นท่อนสั้นๆ และมีโอกาสเน่าเข้ามาหาส่วนกลางๆ ทั้งสองข้าง เนื่องจากถูกตากแดดและฝน หรือจากบาดแผลที่มีรอยตัด

ข.  ส่วนที่เหลืออยู่(ส่วนกลางๆ) จะส่งตาที่สมบูรณ์ให้เจริญงอกงามออกมาก่อน เพื่อการขยายพันธุ์ต่อไป

(2)ไถครั้งที่สอง และทิ้งเอาไว้ให้งอกขึ้นมาใหม่ตามการไถครั้งที่หนึ่ง การไถครั้งนี้จะได้รับประโยชน์ คือ

ก.  ลำต้นเลื้อยของหญ้าคาที่ยังไม่ตาย จะถูกตัดขาดให้เป็นท่อนสั้นๆ ลงไปอีก (ตอนนี้หญ้าคงยังไม่ได้เจริญงอกงามทางลำต้น) และจะเน่าตายอย่างเดียวกับข้อหนึ่ง ก.

ข.  ส่วนที่ยังไม่ตายจะเจริญงอกงามขึ้นมาใหม่อีก แต่ตอนนี้ช้ากว่าธรรมดา เพราะว่ายังคงเหลือแต่ตาที่ไม่สมบูรณ์แล้ว

(3)ไถครั้งที่สาม ครั้งนี้ลำต้นของหญ้าคาที่ยังไม่ตาย จะถูกตัดให้สั้นเข้าอีกและจะเน่าตาย เช่นเดียวกับข้อหนึ่ง ซึ่งจะทำให้พืชพันธุ์ของหญ้าคาหมดไป หรืออาจจะมีเหลืออยู่บ้างเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งถ้าไถครั้งที่สี่ได้อีกก็จะหมดเลย

การปราบหญ้าคา โดยวิธีนี้ ถ้าหากมีพื้นที่อยู่น้อยก็อาจใช้จอบขุดแทนการไถก็ได้