การปรุงยาสมุนไพร


เทคนิค วิธีการปรุงยาสมุนไพร ในรูปแบบที่ง่ายและประหยัด ได้แก่
1. ยาชง สมุนไพรที่มีกลิ่นหอมมักใช้ในรูปชาสมุนไพรซึ่งนอกจากจะแก้กระหายได้แล้ว การใช้ดื่มประจำช่วยบำบัดอาการโรคบางชนิดได้ เช่น ชาของผลมะตูมอ่อนมีกลิ่นหอมชวนดื่ม ใช้แก้ท้องเสียเป็นประจำได้ด้วย ชามะขามแขกใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ เป็นต้น พืชที่นำมาใช้ในรูปยาชงจะต้องไม่มีสารที่ออกฤทธิ์รุนแรงต่อร่างกาย สามารถดื่มได้บ่อยๆ โดยไม่จำกัดขนาดใช้ สมุนไพรประเภทนำมาแต่งกลิ่นอาหาร เช่น ขิง สะระแหน่ เมล็ด ผักชี ผิวส้ม ฯลฯ จึงใช้ทำชาได้ดี ชาสมุนไพรทีมีคุณภาพดีมีวิธีการปรุง ดังนี้
พืชแห้งบดเป็นผงหยาบ 1 ช้อนชา (พืชสดใช้ขนาดสองเท่า ทุบให้ช้ำก่อน) ต่อน้ำเดือด 1 ถ้วยชา ถ้าต้องการรสอ่อนให้เติมน้ำมากขึ้น ถ้าเป็นเมล็ดทุบให้แตกใช้ 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 3-4 ถ้วยชา ก่อนชงให้อุ่นภาชนะ(กา) ภาชนะที่ใช้ควรเป็นกระเบื้องเคลือบ หรือแก้ว เติมสมุนไพรลงไปแล้วรินน้ำที่กำลังเดือดตามลงไปในอัตราส่วนที่กล่าวมาแล้ว ปิดฝาทิ้งไว้ 10-15 นาที แล้วจึงริน ดื่มขณะร้อน ไม่ควรแช่นานเกินไป เพราะจะทำให้ได้สารอื่นที่มีฤทธิ์ไม่พึงประสงค์ละลายออกมา นอกจากว่าจะต้องการเช่นนั้น เช่น ชาจีน ถ้าชงแช่น้ำนานเกินไปจะทำให้ท้องผูก ดังนั้นถ้าต้องการแก้ท้องเสียควรใช้เวลาต้มชาให้นาน นอกจากนี้ควรใช้ชาสมุนไพรที่ชงขึ้นสดใหม่ ไม่ใช้กากสมุนไพรหรือนํ้าชาข้ามวัน เพราะ ชาที่ได้จะบูดเสีย
2. ยาต้ม เหมาะกับสมุนไพรที่มีลักษณะแข็ง เช่น ราก เปลือกราก เปลือกต้น กิ่ง เมล็ดเปลือกแข็ง ฯลฯ ต้องใช้เวลาต้มนานและใช้ความร้อนสูงจึงจะสกัดสารในพืชออกมาได้ ภาชนะที่ต้มให้ใช้หม้อดินหรือหม้อเคลือบ ห้ามใช้หม้ออลูมิเนียมหรือโลหะ (เช่นเดียวกันกับยาชง) เทคนิคในการเตรียมยาต้ม ได้แก่
1. ใส่น้ำให้ท่วมยา ใช้ไฟไม่แรงเกินไป ควรต้มให้เดือดอย่างน้อย 15 นาที ยกเว้นที่บ่งเป็นกรณีพิเศษ
2. คอยดูอย่าให้น้ำงวดจนไหม้
3. ปกติยาหม้อหนึ่งต้มได้ 3 ครั้งกินภายในหนึ่งวันแล้วทิ้งไป ไม่ใช้ยาต้มข้ามวัน ยกเว้นในตำรับยาที่มีการระบุเป็นกรณีพิเศษ
*ห้ามใช้ภาชนะที่เป็นโลหะ เพราะในพืชที่มีฤทธิ์ฝาดสมานพวกแทนนิน (Tannin) จะทำปฏิกริยากับเกลือโลหะให้สารที่เป็นอันตราย
3. ยาดองเหล้า เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับใช้สกัดตัวยาที่ละลายน้ำยาก แต่มีข้อห้ามใช้ยาดองเหล้ากับอาการป่วยบางชนิด เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หญิงมีครรภ์ นอกจากนี้อาจทำให้ติดยาและเหล้าได้ ต้องระวังในการใช้
วิธีการทำยาดองสมุนไพรอย่างง่าย คือ ใช้เหล้าจำนวน 480 ซีซี.(เป็นเหล้าที่มีขายในท้องตลาด ยี่ห้อใดก็ได้ ยกเว้นห้ามใช้เหล้าหรือแอลกอฮอล์ชนิดที่ใช้จุดตะเกียง เพราะเมื่อกินจะทำให้ตาบอดได้)
ต่อสมุนไพรที่บดหรือหั่นแล้วหนัก 30-120 กรัม แช่ทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ นำมากรอง (จะได้ยาสกัดหรือ ยาดองเหล้าขั้นต้น) ใส่ขวดปิดจุกให้แน่นติดฉลากกำกับไว้
ขาดองชนิดเข้มข้น ให้นำเอายาสกัดขั้นต้น มาแช่สมุนไพรชุดใหม่ในขนาดเท่าเดิม แช่ทิ้งไว้อีกสองสัปดาห์ กรองเก็บใส่ขวด หรือกรองเหล้าผ่านสมุนไพรในกระบอกแก้วหลายๆ ครั้ง
ยาดองชนิดเจือจาง โดยนำยาดองเหล้าขั้นต้นมาเติมน้ำในอัตราส่วน 1 : 10 แล้วให้เติมกลีเซอรีน (glycerine) 1 ช้อนชาต่อเหล้า 480 ซีซี. เพื่อช่วยทำให้สารละลายใส
4. ขี้ผึ้งสมุนไพร เหมาะสำหรับตัวยาในสมุนไพรบางชนิดที่ไม่ละลายน้ำ แต่ละลายได้ในน้ำมันหรือเหล้า เช่น แคปซายซิน หรือน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากพืชต่างๆ การเตรียมขี้ผึ้งสมุนไพรมสองขั้นตอนคือ ขั้นตอนการเตรียมขี้ผึ้งและขั้นตอนการเตรียมยาสมุนไพร
ขั้นตอนการเตรียมขี้ผึ้ง ใช้ขี้ผึ้ง(Beeswax) ผสมกับน้ำมันพืชในอัตราส่วน 1 : 4 (ถ้าต้องการให้เนื้อขี้ผึ้งแข็ง ให้เติมปริมาณขี้ผึ้งให้มากขึ้น) นำมาอุ่นบนหม้ออังไอน้ำ คนให้เข้ากัน แล้วยกลงทิ้งไว้สักครู่ หรืออาจใช้วาสลินเป็นเนื้อขี้ผึ้งก็ได้ หาได้ง่ายราคาถูก
ขั้นตอนการเตรียมยาสมุนไพร มีหลายวิธีขึ้นอยู่กับชนิดของตัวยา จำพวกน้ำมันหอมระเหยให้ใช้สมุนไพรมากลั่นโดยตรง พวกที่กลั่นไม่ได้ ให้ใช้เหล้าสกัด(ตามวิธีที่กล่าวแล้ว) นำมาระเหยให้ตัวยาเข้มข้นขึ้น หรือใช้น้ำมันสกัด โดยแบ่งน้ำมันพืชจากอัตราส่วนที่ใช้ทำขี้ผึ้งนั้นมาอุ่นกับสมุนไพรก่อนประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วกรองเอาแต่น้ำมันไว้
คำนวณปริมาณของทั้งสองส่วน เพื่อให้ได้ขี้ผึ้งที่มีตัวยาตามที่ต้องการ แล้วนำมาผสมเข้าด้วยกัน เทคนิคในการผสม ให้แบ่งจำนวนขี้ผึ้งหรือวาสลินให้ใกล้เคียงกับปริมาณตัวยา แล้วผสมให้เข้ากัน แบ่งขี้ผึ้งที่เหลือนั้นมาอีกครั้งให้ใกล้เคียงกับจำนวนที่ผสมอยู่ ผสมให้เข้ากันอีก ทำเช่นนี้จนเนื้อขี้ผึ้งที่คำนวณไว้หมด จะได้ขี้ผึ้งที่มีเนื้อเดียวกัน
5. ยาพอกสมุนไพร การทำยาพอกด้วยวิธีการที่ง่ายที่สุด คือการตำ หรือตัด หรือบดสมุนไพรสดๆ ให้ละเอียดเพื่อให้น้ำสมุนไพรออกมา นำมาปิดพอกบริเวณที่เป็น วิธีการเช่นนี้เหมาะสำหรับสมุนไพรที่ไม่มีฤทธิ์ระคายเคืองหรือกัดผิวหนังรุนแรง ส่วนพวกที่ระคายเคืองมากๆ เช่น พริก จะทำให้ผิวหนังไหม้บวมแดงได้ อาจแก้ไขโดยใช้ผ้าห่อเสีย
ชั้นหนึ่งก่อน หรือใช้นวดผสมกับแป้งหมี่(อัตราส่วนการผสมขึ้นอยู่กับความแรงของยาที่ต้องการ)
ที่มา:สำลี  ใจดี, สุนทรี  วิทยานารถไพศาล, รพีพล  ภโววาท, จิราพร  ลิ้มปานานนท์, นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี, วิทิต  วัณนาวิบูล