การปลูกกะทกรกฝรั่ง

การปลูกกะทกรกฝรั่ง

สุมาลี  แหนบุญส่ง

ลักษณะทั่วไป

กะทกรกฝรั่งเป็นพืชจำพวกไม้เลื้อยที่แข็งแรง เครือขาว ลำต้นมีสีเขียวข้างในกลวง ผิวเรียงไม่มีขน ใบมีลักษณะเป็นแฉก 3 แฉก มีมือเกาะชนิดไม่แตกแขนง สีเขียวม้วนขอดเป็นวงกลม ดอกเป็นดอกเดี่ยวออกตามตาข้าง มีสีขาว มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7.5-10 เซนติเมตร

ผลมีลักษณะกลม หรือรูปไข่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-7 ซม. เปลือกชั้นนอกมีลักษณะแข็ง เปลือกชั้นในมีสีขาว ภายในผลจะมีถุงอยู่มากมาย ภายในถุงนี้จะมีเมล็ดสีดำหรือสีน้ำตาลเข้มรวมอยู่กับส่วนที่เป็นน้ำ  ซึ่งมีลักษณะเหนียวข้น มีสีเหลืองส้ม มีกลิ่นหอมแรง

พันธุ์กะทกรกฝรั่ง

กะทกรกฝรั่งที่มีปลูกอยู่ในประเทศไทยมีอยู่ 3 พันธุ์ คือ

1.  พันธุ์สีม่วง เป็นพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม สามารถเจริญเติบโตได้ดีบนที่สูงจากระดับน้ำทะเลมากได้

2.  พันธุ์สีเหลือง เป็นพันธุ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง เชื่อว่าเกิดจากการกลายพันธุ์มาจากพันธุ์สีม่วง สามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่ราบต่ำและเขตร้อน

3.  พันธุ์ลูกผสม เกิดจากการนำเอาพันธุ์สีม่วงและพันธุ์สีเหลืองมาผสมกันซึ่งจะให้ผลผลิตที่มากกว่า และผลมีรสชาติที่ดีกว่าด้วย

การปลูกกะทกรกฝรั่ง

1.  การเพาะเมล็ด ล้างเมล็ดให้สะอาดนำไปผึ่งไว้ในที่ร่มประมาณ 1 สัปดาห์  ไม่ควรให้ถูกแดดจัดเพราะจะทำให้เปอร์เซนต์ความงอกต่ำ และต้นกล้าอ่อนแอ หลังจากนั้นนำไปแช่น้ำอุ่น 1 วัน การเตรียมดินแปลงเพาะไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ให้ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักผสม เพื่อให้ดินร่วนซุยถ่ายเทอากาศและเก็บความชื้นได้ดี แปลงเพาะควรอยู่กลางแจ้ง เพื่อรับแสงแดดตลอดวัน เมื่อต้นกล้าในแปลงเพาะมีขนาดต้นโตประมาณ2-3 นิ้ว หรือประมาณ 11-13 วัน ก็เริ่มย้ายไปลงชำในถุงได้

2.  การเลี้ยงต้นกล้าในถุงชำ เพื่อให้ต้นเติบโตแข็งแรงก่อนที่จะย้ายไปปลูกในแปลงจริง  โดยวางถุงซึ่งชำต้นกล้านั้นไว้ในร่มให้ได้รับแสงแดดประมาณ 60-70 % รดน้ำต้นกล้าทุก ๆ วัน ๆ ละ 1 ครั้ง ให้ทั่วถึง แต่ต้องระวังไม่ให้แฉะเกินไปเพราะจะทำให้เน่า

3.  เตรียมพื้นที่ปลูก ให้เตรียมดินโดยการไถพรวนตามปกติเช่นเดียวกับการปลูกพืชทั่ว ๆ ไปคือ ไถด้วยผานบุกเบิกให้ลึกพอสมควร 1 ครั้ง แล้วพรวน 1 ครั้ง การพรวนไม่จำเป็นต้องพรวนหลายครั้ง เพราะจะทำให้ดินแตกละเอียดเกินไป ทำให้การระบายน้ำไม่ดี และการดูดซับน้ำในภายหลัง ไม่ดีด้วย

4.  ระยะปลูก ระยะต้นตอ ระยะแถวที่นิยมใช้คือ 2×3 ม. หรือ 2.5 x2.5 ม. หรือ 2×2 ม. ซึ่งจะได้จำนวนต้นปลูก 260-400 ต้น/ไร่

5.  การเตรียมหลุมปลูก ขนาดหลุมปลูกควรขุดขนาดกว้าง และยาวอยู่ระหว่าง 50-60 ซม. ไม่ควรน้อยกว่านี้ เพื่อให้รากแผ่กระจายได้เต็มที่ และขุดให้ลึกประมาณ 30-50 ซม. แล้วหาปุ๋ยคอก เศษใบไม้ใบหญ้าแห้ง ใส่คลุกเคล้ากับดินในหลุม เพื่อให้รากเจริญเติบโตได้ดี

6.  การย้ายกล้าลงหลุมปลูก ให้วางต้นกล้าลงหลุมปลูกโดยได้ระดับตรงโคนกล้าเสมอกับระดับผิวดิน แล้วให้มือกดดินบริเวณรอบ ๆ ต้นกล้าให้แน่น เพื่อให้รากจับกับดินแน่นขึ้น เวลาที่เหมาะที่สุดในการย้ายกล้าลงปลูกควรเป็นตอนบ่ายถึงเย็น ไม่ควรย้ายกล้าไปปลูกในตอนเช้า เพราะต้นกล้าจะถูกแสงแดดนานเกินไป หลังจากปลูกต้นกล้าลงดินแล้วให้รดน้ำตามทันที

การบำรุงรักษา

1.  การปักหลักพยุงต้น ภายหลังจากการปลูกต้นกล้วแล้ว จำเป็นต้องปักหลักไม้เล็ก ๆ โดยปักให้ชิดกับโคนต้นกล้าให้มากที่สุด โดยให้หลักไม้สูงจากพื้นดินประมาณ 1.50-2.00 ม. ส่วนปลายไม้ผูกติดกับไม้ค้างซึ่งจะกล่าวในภายหลัง สำหรับไม้หลักพยุงต้นนี้  ใช้สำหรับผูกต้นกล้าเข้าหลัก เพราะการเจริญเติบโตของต้นกะทกรกฝรั่งในระยะแรก ๆ นี้ ยังไม่มีมือจับไม้หลักได้ดี พอเหมือนต้นบวบหรือแตงกวา จำเป็นต้องใช้เชือกเส้นเล็ก ๆ ผูกมัดลำต้น(เถา)ให้ขนานติดกับไม้หลักขึ้นไปเป็นแนวตรง จนถึงไม้ค้างข้างบน

2.  การริดยอดแขนงของต้น ในช่วงระยะนี้ระหว่างที่ต้นกะทกรกฝรั่งเจริญเติบโตขึ้นไปข้างบนเรื่อย ๆ จะปรากฎว่ามีกิ่งแขนงเกิดขึ้นตามข้อโดยแยกออกเป็นช่วงตามออกมาด้วย ให้เด็ดกิ่งแขนงเหล่านี้ออกให้หมด  เพื่อให้ลำต้นแม่มีอาหารไปเลี้ยงเพียงพอ ทำให้ลำต้นอวบและเจริญเติบโตได้เต็มที่

3.  การให้น้ำ การให้น้ำกะทกรกฝรั่งในระยะแรก ๆ นี้ จำเป็นที่จะต้องให้อย่างสม่ำเสมอ เพราะต้นกะทกรกฝรั่งเป็นไม้ประเภทเถาเลื้อย ถ้าขาดน้ำในช่วงการเจริญเติบโตระยะแรกจะทำให้ยอดแคระแกร็น หยุดชะงักการเจริญเติบโตในทันที่และจะฟื้นตัวช้า ถ้าสามารถให้น้ำช่วยในระยะที่ขาดน้ำได้จะทำให้ผลผลิตสูงขึ้นและสามารถติดผลได้ตลอดปี

4.  การให้ปุ๋ย การให้ปุ๋ยต้นกล้ากะทกรกฝรั่งซึ่งปลูกลงในแปลงใหม่ ในระยะแรก ๆ นี้ ควรให้ปุ๋ยประเภทที่มีไนโตรเจนสูง ๆ หรือฉีดพ่นด้วยปุ๋ยทางใบสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในขณะเดียวกันก็ใช้ปุ๋ยไนโตรเจน (21-0-0) ใส่ลงด้วย ในอัตราประมาณ 100 กรัมต่อต้น (ประมาณ 3 ช้อนพูน) โดยให้ระยะ 15 วันต่อครั้ง โดยการโรยรอบ ๆ โคนต้นห่างประมาณ 30 ซม. แล้วกลบดินบาง ๆ ตลอดระยะเวลา 2 เดือน  เพื่อให้ต้นเจริญเติบโตเต็มที่ หลังจากนั้นจึงค่อยเปลี่ยนสูตรปุ๋ยใหม่ เพื่อเร่งการออกดอก และช่วยให้ดอกติดผลได้ดีด้วย สูตรปุ๋ยที่ควรใช้คือสูตร 12-24-12

5.  การกำจัดวัชพืช วัชพืชนอกจากจะเป็นที่อาศัยของโรค และแมลงแล้วยังเป็นตัวการคอยแย่งน้ำ และอาหารจากต้นกะทกรกฝรั่งอีกด้วย การกำจัดวัชพืชทำได้โดยอาจใช้จอบถาก ไถด้วยรถไถในระหว่างแถวของต้น หรือใช้ยากำจัดวัชพืชชนิดฉีดถูกหญ้าตายได้ เช่น พาราควอท(กรัมม๊อกโซน)

การทำค้างให้ต้นกะทกรกฝรั่ง

ในตอนการลงกล้ากะทกรกฝรั่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้พูดถึงความจำเป็นที่จะต้องปักไม้พยุงต้นกล้าเพื่อเป็นหลักให้ต้นกล้าเลื้อยขึ้นไปหาค้างข้างบนได้ โดยผูกปลายไม้หลัก  พยุงต้นไว้กับไม้หลักค้างจริง การทำค้างให้กับต้นกะทกรกฝรั่งนั้นแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1.  ค้างแบบกึ่งถาวร การทำค้างประเภทนี้ใช้เมื่อเราตั้งเป้าหมายว่า จะทำการผลิตกะทกรกฝรั่งจำนวนมาก โดยใช้พื้นที่หลาย ๆ แปลง ให้เก็บได้ในช่วยระยะเวลาสั้นและเร็ว ค้างประเภทนี้สามารถรื้อถอน และเคลื่อนย้ายได้เมื่อสิ้นฤดูการเก็บเกี่ยวของปี และสามารถหาซื้อได้ทั่วไป ค้างประเภทนี้วัสดุที่ใช้มักเป็นไม้ไผ่หรือไม้รวกที่มีลำต้นค่อนข้างแข็ง ถ้าได้นำมาแช่น้ำไว้ก่อน 1-2 เดือน เมื่อนำมาใช้ทำค้างตัวมอดและแมลงจะไม่มาเจาะหรือกัดกิน เนื้อไม้ภายใน ถ้ามีการเก็บรักษาดี ๆ ภายหลังจากการเก็บเกี่ยวผลกะทกรกฝรั่งแล้วก็สามารถจะใช้ได้อย่างน้อยเป็นเวลาถึง 2 ปี

2.  ค้างประเภทถาวร ค้างแบบนี้มักใช้กับแปลงขนาดเล็ก เมื่อสิ้นฤดูการเก็บเกี่ยวแล้ว ก็จะถอนทิ้งทันที แต่โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว การทำค้างที่ใช้จะมีหลายประเภทย่อย ๆ คือ

1)  ค้างรูปตัวที (T) เหมาะสำหรับแปลงที่มีขนาดเล็ก จะทำให้กะทกรกออกดอกก่อนและมีกิ่งก้านสาขามาก

2)  ค้างรูปสี่เหลี่ยม มักจะใช้กับแปลงที่มีขนาดใหญ่ มีทั้งแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัส และสี่เหลี่ยมผืนผ้า

3)  ค้างแบบรั้ว

4)  ค้างแบบรั้วธรรมชาติ

การดูแลรักษาบำรุงต้นกะทกรกฝรั้งให้เจริญเติบโตเต็มที่ ก่อนจะถึงระยะเวลาเริ่มออกดอกใช้เวลา 60 วัน หรือประมาณ 2 เดือน  โดยลำต้นจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่จำกัดระยะ  ซึ่งหลังจากนี้จำเป็นจะต้องมีการตัดแต่งเถาและยอด เพื่อให้สามารถแตกกิ่งก้านสาขาแผ่ออกไปโดยรอบ เพื่อเพิ่มปริมาณกิ่งและดอก

การตัดแต่งกิ่งและยอดของกะทกรกฝรั่ง

เมื่อกะทกรกฝรั่งเจริญเติบโตนั้น เราต้องคอยตัดหรือริดกิ่งแขนงที่แตกออกมาตามข้อ เพื่อให้ต้นกะทกรกฝรั่ง เติบโตขึ้นไปโดยมียอดเดี่ยว และเราจะปล่อยยอดเดี่ยวนี้ให้เจริญเติบโตไปเรื่อย ๆ จนถึงระดับความสูงของไม้ค้างที่เราทำไว้ก่อน  ซึ่งสูงโดยประมาณ 1.5-2.0 ม. เมื่อยอดนี้ขึ้นไปถึงระดับค้างแล้ว ให้ตัดยอดของทุก ๆ ต้นทิ้ง  โดยตัดเสมอที่ระดับค้างข้างบน เมื่อตัดยอดทิ้งหมดแล้ว  ไม่นานต้นกะทกรกฝรั่งจะเริ่มแตกกิ่งแขนงใหญ่ตั้งแต่ 1-4 กิ่ง กิ่งที่แตกออกตอนแรกนี้ เราเรียกว่าเป็นกิ่งหลัก ซึ่งเราจะปล่อยกิ่งหลักนี้ให้ยาวออกไปประมาณ 1 เมตร แล้วจึงทำการตัดยอดทิ้งอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้แตกแขนงมากขึ้น เพราะถามีแขนงมากก็จะออกดอกมากและจะติดผลมากขึ้นด้วย  เพราะต้นกะทกรกฝรั่งจะติดผลที่กิ่งแขนงเท่านั้น ดังนั้นการเด็ดยอดเพื่อให้แตกแขนงย่อยมากขึ้น จะทำให้ได้ผลผลิตสูงขึ้น และที่สำคัญคือจะต้องคอยจัดวางแผ่กิ่งหลักเหล่านี้ ให้เป็นรัศมีรอบกิ่งกลางต้นให้มีระยะห่างเท่า ๆ กัน ซึ่งสามารถทำได้โดยใช้เชือกเส้นเล็ก ๆ ผูกติดกับไม้ค้างไว้

หลังจากที่เราตัดยอกกิ่งหลักทิ้งไปแล้ว ต้นกะทกรกฝรั่งจะเริ่มแตกกิ่งแขนงออกไปทั้งสองข้างของกิ่งหลักเป็นจำนวนมาก ซึ่งกิ่งแขนงที่แตกออกมาเหล่านี้จะแตกออกมาพร้อมกับมีดอกออกมาด้วยประมาณ 1-6 ดอก  ซึ่งดอกเหล่านี้จะติดผลเพียง 2-4 ผลเท่านั้น  กิ่งแขนงพร้อมดอกนี้จะออกมาไม่ยาวมากนัก  โดยจะมีความยาวไม่เกิน 2 ฟุต โดยธรรมชาตินิสัย

สิ่งสำคัญที่จะต้องระวังในการตัดแต่งกิ่งก็คือ ในจำนวนกิ่งแขนงที่แตกออกมานี้จะมีกิ่งบางกิ่งที่แสดงอาการว่า จะเจริญเติบโตออกไปเรื่อย ๆ โดยไม่ยอมมีดอกออกมาด้วย กิ่งชนิดนี้นั้นไม่ควรปล่อยให้ยาวออกไปมาก ๆ ถ้าพบกิ่งหรือเถาที่ไม่ยอมมีดอกแบบนี้ ให้ทำการตัดให้สั้นลงเหลือความยาวไม่เกิน 3 ฟุต ซึ่งเมื่อตัดกิ่งชนิดนี้แล้วกิ่งแบบนี้จะสามารถแตกกิ่งแขนง สั้น ๆ ที่สามารถออกดอกได้อีกชั้นหนึ่ง

การออกดอกออกผล

ต้นกะทกรกฝรั่งจะให้ผลปีละครั้ง โดยถ้าเริ่มปลูกในเดือนมกราคม ต้นกะทกรกฝรั่งจะเริ่มออกดอกและติดผลในเดือนกรกฎาคม  ออกดอกและติดผลมากที่สุดในเดือนสิงหาคม และจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลได้ในเดือนกันยายน สามารถเก็บเกี่ยวได้เป็นรุ่น ๆ จนถึงเดือนมกราคม

การเก็บผลผลิต

หลังจากกะทกรกฝรั่งเริ่มออกดอกติดผลในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม (ถ้าต้นสมบูรณ์พอ) และจะติดไปเรื่อย ๆ จนถึงฤดูหนาว ระยะจากเริ่มติดผลจนถึงผลแก่ประมาณ 2 เดือน  ฤดูที่ผลแก่มากมี 2 ระยะคือ เดือนสิงหาคม – กันยายน และเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ในการเก็บผลให้เก็บเฉพาะผลที่แก่และหล่นเองเท่านั้น ไม่ให้ปลิดผลลงมาจากต้น เพราะถ้าผลแก่เต็มที่ผลกะทกรกฝรั่งจะหลุดร่วงเอง

ผลกะทกรกฝรั่งที่เก็บมาแล้ว จะทำการส่งขายที่โรงงานโดยตรงเลยเพื่อนำไปแปรรูป  โดยจะขายได้ในราคากิโลกรัมละประมาณ 5 บาท และผลผลิตต่อไร่โดยเฉลี่ยประมาณ 1-2 ตัน หรือมีรายได้สุทธิประมาณปีละ 1,000-2,000 บาท

โรคและแมลงศัตรู

เนื่องจากกะทกรกฝรั่งเป็นพืชใหม่จึงไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวนมากนัก ที่พบเห็นบ่อยได้แก่

1.  ด้วงปีกแข็ง ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ซึ่งจะมารบกวนในระยะต้นกล้า จะกัดกินตั้งแต่ใบแก่ ใบอ่อน และยอดอ่อน กัดกินทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ถ้ามีแมลงเป็นจำนวนมากอาจจะต้องพ่นยา  โดยพ่น 3-5 วันต่อครั้ง ระยะเวลาที่เหมาะสมกับการพ่นยาควรเป็นเวลาบ่ายมาก ๆ ไปจนถึงใกล้ค่ำ ยาที่ใช้กับแมลงประเภทนี้ดีที่สุดคือ เซฟวิน-85  ซึ่งนอกจากจะใช้ได้ผลดีแล้ว ยังเป็นอันตรายกับคนและสัตว์น้อยอีกด้วย

2.  แมงมุมแดง ซึ่งมีอยู่หลายชนิดเช่นเดียวกัน แมงชนิดนี้ตัวเล็กมากจนเกือบจะมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แมงมุมแดงนี้มักจะอาศัยเกาะอยู่ใต้ใบเพื่อคอยดูดกินน้ำเลี้ยงของใบและยอดอ่อน การพ่นยาจะต้องพ่นให้โดนทางใต้ใบเป็นสำคัญ  ถ้าเข้าระยะหน้าฝนซึ่งมีฝนตกชุกแมงมุมแดงพวกนี้จะลดจำนวนมาก โดยจะหนีลงไปอยู่ใต้ดินยาที่ใช้พ่นเพื่อฆ่าแมงมุมแดงคือ ยาประเภทมิทิไซด์

3.  เพลี้ยแป้ง ลักษณะตัวเป็นสีขาวและมีสารสีขาวคล้ายแป้ง เคลือบตามตัว เพลี้ยแป้งนี้จะดูดน้ำเลี้ยงที่ใบและผล และจะอาศัยอยู่ที่ตาของผล  ถ้ามีมากให้ฉีดพ่นด้วยพาราไธออน หรือโล่ติ้น ก่อนตกผลและหลังเป็นผลแล้วอีก 2-3 ครั้ง และควรกำจัดมดซึ่งเป็นพาหะด้วย

4.  เพลี้ยหอย พบบ้างเล็กน้อย

5.  โรคโคนเน่า เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง จะเกิดกับกะทกรกฝรั่งในระยะเป็นต้นกล้า โดยใบจะเริ่มเหลืองและร่วง เมื่อถอนต้นขึ้นมาดูจะเห็นว่ารากบางส่วนเริ่มเน่าเป็นสีดำ ถ้าปล่อยไว้จะลามไปทั่วทุกราก ต้นกล้าจะอ่อนแอและตายไป การแก้ไขทำได้โดยต้องป้องกันไม่ให้เชื้อราชนิดนี้เข้าทำลาย  โดยใช้ยาป้องกันพวกคอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์

6.  ตะไคร่น้ำ ถ้าต้นกล้าในถุงชำมีความชื้นสูง จะมีตะไคร่น้ำเกิดขึ้น ถามีในถุงชำมาก ๆ จะทำให้ต้นกล้ากะทกรกฝรั่งอ่อนแอหรือตายไปเสียก่อน การป้องกันให้ใช้วิธีเดียวกับการป้องกันโรคโคนเน่า

7.  โรคใบด่าง เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส โดยมีเพลี้ยหอยและเพลี้ยแป้งเป็นพาหะในการนำโรค อาการของโรคในระยะแรกจะเกิดที่ใบอ่อน หรือยอดอ่อนโดยใบอ่อน หรือยอดอ่อนจะแสดงอาการจุดด่างเหลืองกระจัดกระจายทั่วไป อาการด่างเหลืองนี้ จะขยายเพิ่มขึ้นพร้อมกับการเจริญของใบ ถ้าเป็นมากจะเกิดอาการนี้กับใบแก่ด้วย  ถ้าเกิดโรคนี้ขึ้นกับกะทกรกฝรั่งจะทำหใต้นชะงักการเจริญเติบโต และผลจะมีรูปทรงผิดปกติไป ถ้าพบต้องเผาทำลายต้นที่เป็นโรคทิ้งไป หรือใช้ยาพวกพาราไธออน กำจัดเพลี้ยหอย เพลี้ยแป้งที่เป็นพาหะ แต่โรคนี้จะไม่ติดมากับเมล็ด ดังนั้น ถ้าเราดูแลตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะเมล็ดเป็นอย่างดี โอกาสที่เชื้อไวรัสจะเข้าทำลายก็มีได้น้อยลง

นอกจากโรค และแมลงที่กล่าวมาแล้วยังมีศัตรูธรรมชาติอีกหลายชนิด เช่น นกหรือค้างคาวจะมาจิกกินผลที่ใกล้สุกเต็มที่แล้ว  ซึ่งป้องกันได้ยากเพราะต้องเก็บผลเมื่อผลแก่ และหล่นเองเท่านั้น ถ้าเก็บก่อนเปอร์เซนต์น้ำตาลจะลดลง