การปลูกกุหลาบ

กุหลาบสีเเดง

กุหลาบ

การเลี้ยงกุหลาบต้องการความเข้าใจและการดูแลอย่างเอาใจใส่มาก จะปลูกทิ้งไว้แล้วคอยดูดอกอย่างเดียวนั้นไม่ได้แน่จึงขอให้ผู้สนใจปลูกกุหลาบเรียนรู้ปัจจัยพื้นฐานสำหรับการปลูกเลี้ยงดังต่อไปนี้เสียก่อน จะได้ปลูกอย่างมั่นใจ

กุหลาบมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีลักษณะเฉพาะและมีการเติบโตที่ไม่เหมือนกัน

1. Hybrid Tea เป็นกุหลาบตัดดอก ให้ดอกเดี่ยวต่อก้าน ดอกโตและมีก้านยาวแข็งแรง มีทั้งต้นเตี้ยและต้นสูงตั้งแต่ 2-6 ฟุต

2. Floribunda ให้ดอกเป็นช่อ ดอกเล็กกว่าและก้านสั้นกว่าพวกแรก ถ้าปลูกเป็นจำนวนมาก เมื่อออกดอกจะเห็นเป็นกลุ่มก้อนให้สีชัดเจน มีชนิดต้นเตี้ยจนถึงสูงปานกลาง

3. Grandiflora ให้ดอกเป็นช่อดอกใหญ่กว่าและก้านยาวกว่า Floribunda กุหลาบพวกนี้ต้นใหญ่ ได้มาจากการผสมพันธุ์กุหลาบพวก Hybrid Tea กับ Floribunda

4. Tree rose ได้มาจากการเลี้ยงต้นตอกุหลาบป่าให้สูงประมาณ 3-5 ฟุต แล้วติดตาที่ใกล้ยอดทำให้ได้ต้นใหม่ มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้น (Tree) เห็นลำต้นตั้งตรงขึ้นชัดเจน ไม่ใช่ไม้พุ่ม (bush) อย่างกุหลาบทั่วไป กุหลาบกลุ่มนี้ราคาแพง เนื่องจากในการผลิตต้องใช้เวลา

5. Climbing rose ภาษาไทยเรียกกันว่ากุหลาบเลื้อย การปลูกต้องทำค้างให้เกาะต้นยืดยาว 8-10 ฟุตหรือกว่านั้น ถ้าปลูกในที่มีอากาศเย็นจึงจะออกดอกดกพราว

6. Miniature rose ภาษาไทยเรียกว่ากุหลาบหนู เป็นกุหลาบต้นเล็ก เตี้ยประมาณ 8 นิ้ว หรือเตี้ยกว่านั้น มีใบเล็กๆ ดอกเล็กๆ น่ารักมาก กุหลาบหนูชนิดเลื้อยมีความสูงเพียง 3-5 ฟุต หรือถ้าทำเป็น tree rose ก็มีต้นสูงเพียง 10 นิ้ว

กุหลาบสีชมพู

การเลือกซื้อกุหลาบ

ถ้าไม่ใช่กุหลาบพันธุ์ใหม่ กิ่งตอนหรือกิ่งชำของพันธุ์หนึ่งๆ จากสวนต่างๆ มักมีราคาพอๆ กัน ถ้าต้นใหญ่กว่าจะมีราคาสูงขึ้น สำหรับผู้ปลูกมือใหม่ เมื่อฟังราคาของกิ่งตอนแล้วจะรู้สึกว่าน่าซื้อ แต่ถ้านึกว่าการเสียเงินมากกว่า แต่ได้ต้นใหญ่กว่าแข็งแรงกว่ามาปลูกจะทำให้ได้เห็นดอกใหญ่เร็วทันใจกว่า เท่ากับเสียเงินแลกกับเวลาหลายเดือนหรือเป็นปีก็สมควรอยู่ กุหลาบกิ่งเล็กบอบบางเมื่อมาถึงมือผู้ปลูกสมัครเล่นที่ยังไม่เข้าใจการปลูกเลี้ยงดีนักอาจตายได้ทำให้เป็นการเสียเงินเปล่า จึงขอแนะนำให้ซื้อต้นใหญ่แข็งแรงจะดีกว่า

ปัจจุบันนี้ต้นกุหลาบมีจำหน่ายเป็นต้นติดตา วิธีการผลิตคือเลี้ยงต้นตอซึ่งเป็นกุหลาบป่า สักระยะหนึ่งก่อน แล้วจึงนำ “ตา” จากกุหลาบพันธุ์ดีมาติด ต่อมาจึงตัดยอดของต้นตอและริดกิ่งที่เจริญจากต้นตอออกให้หมดเพื่อต้นตอจะทำหน้าที่รากอย่างเดียวและ “ตา” ที่ติดไว้จะเจริญเป็นกิ่งก้าน ให้ดอกสวยงามตามพันธุ์ ต้นที่ได้จากการติดตาบนต้นตอจะเจริญได้ดีกว่ากิ่งตอนซึ่งมีรากของตนเอง แต่จะมีราคาแพงกว่ากิ่งตอนแน่นอน ถ้ามีการเลี้ยงดูอย่างถูกต้องจะเติบโตให้ตัดดอกได้ถึง 5 ปีเป็นอย่างน้อยเทียบกับกิ่งตอนซึ่งให้ดอกตัดจำหน่ายได้ไม่เกิน 2 ปีครึ่ง หลังจากนั้นจะให้ดอกน้อยลงและต้นโทรมจนต้องรอทิ้ง กุหลาบติดตามักเป็นพันธุ์ใหม่ๆ มีดอกสวยสีแปลกไปจากพันธุ์เก่าๆ เมื่อซื้อมา แล้วถ้าเรียนรู้วิธีขยายพันธุ์ก็จะเพิ่มจำนวนต้นและอาจนำไปถึงการผลิตต้นเป็นการค้า ทำให้การลงทุนสูงในครั้งแรกนั้นคุ้มค่า

เวลาเลือกซื้อกุหลาบไม่จำเป็นต้องเลือกต้นที่มีดอก เลือกต้นที่มีกิ่งและใบงามดี ไม่มีโรค เมื่อเลี้ยงไปต้นจะเติบโตให้ดอกเอง ควรเลือกซื้อจากร้านที่แนใจว่าจำหน่ายกิ่งที่ตรงตามพันธุ์เท่านั้น แต่ถ้าได้ต้นที่แข็งแรงและกำลังมีดอกด้วยก็ยิ่งดี

การเลือกซื้อจากสวนในท้องถิ่น ผู้ซื้อมีโอกาสได้เห็นว่าลักษณะต้นและดอกเป็นอย่างไร และแน่ใจว่ามีโอกาสจะปลูกและเลี้ยงดูได้งามเท่านั้น ผิดกับที่ซื้อจากต่างภาคหรือสั่งซื้อจากแคตตาล็อกต่างประเทศ เมื่อนำมาปลูกอาจปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของเราได้ไม่ดีนักและอาจให้ดอกมีคุณภาพด้อยกว่าที่เคยเห็น

AARS

AARS ย่อมาจาก All American Rose Selection ซึ่งเป็นองค์การที่ผู้ผลิตกุหลาบในอเมริกาก่อตั้งขึ้นโดยมีเจตนาหาพันธุ์กุหลาบที่สามารถปลูกและเจริญได้ดีในแปลงทดลองของรัฐต่างๆ ในอเมริกาตั้งแต่เหนือจดใต้ ตะวันตกจดตะวันออกรวม 23 แห่งซึ่งมีสภาพดินต่างชนิด มีสภาพอากาศไม่เหมือนกัน และได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีของผู้ปลูก แต่ไม่ถึงขั้นอย่างดีเลิศของผู้เชี่ยวชาญ

กุหลาบที่ได้ AARS ผ่านการทดสอบมาแล้วเป็นเวลา 2 ปี มีกรรมการตัดสินที่ได้รับการแต่งตั้งจาก AARS และอยู่ประจำแปลงทดลองแต่ละแห่ง ส่วนมากกรรมการเป็นศาสตราจารย์ภาควิชา พืชสวนหรือเป็นผู้อำนวยการสวนสาธารณะในรัฐนั้น ๆ การตัดสินพิจารณาจากความแข็งแรง นิสัยการเติบโต ความต้านทานโรค ลักษณะใบ รูปทรงของดอก จำนวนดอก ลักษณะการบาน สี ความหอม ก้านดอกรวมทั้งลักษณะทั่ว ๆ ไปทั้งหมด วิธีการให้คะแนนมีหลักเกณฑ์ซึ่งผู้ตัดสินต้องเข้าร่วมสัมมนา เรื่องวิธีปรับปรุงการตัดสินกุหลาบ AARS ทุกๆ 5 ปี

หลังจากทดสอบแล้ว 2 ปี จะรวมคะแนนที่กุหลาบพันธุ์นั้นได้รับจากแปลงในรัฐต่างๆ 23 แห่ง ถ้าชนะคะแนนของกุหลาบพันธุ์อื่นที่ส่งเข้าประกวดในคราวเดียวกันและได้คะแนนเหนือกว่าพันธุ์อื่นที่ได้ AARS มาก่อนจะได้รางวัล AARS ได้รับป้าย AARS สีเขียว-ขาว และประกาศผลผ่านสื่อมวลชนต่างๆ กุหลาบพันธุ์หนึ่งๆ มีสิทธิ์ติดป้าย AARS เพียง 17 ปี หลังจากนั้นก็ยังเป็นกุหลาบดีเยี่ยมอยู่ แต่ไม่มีป้าย AARS และยังมีจำหน่าย เช่น กุหลาบพันธุ์ “Peace” เป็นกุหลาบดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาได้รางวัล AARS เมื่อ ค.ศ.1948 เวลานี้ไม่มีป้าย AARS ติดที่พันธุ์แล้วแต่ยังได้รับความนิยมมากในอเมริกา หาซื้อได้จากเนิสเซอรี่และแหล่งขายพันธุ์ไม้ต่างๆ เครื่องหมาย AARS ให้ความมั่นใจกับผู้ซื้อว่าเป็นพันธุ์ที่สามารถปรับตัวได้ดีและปลูกเลี้ยงได้ในสภาพแวดล้อมที่กว้างขวาง หนึ่งในสถานที่ทดลองปลูกกุหลาบ AARS คือที่สวนไซเปรส (Cypress Garden) ในรัฐฟลอริดา ซึ่งมีสภาพอากาศใกล้เคียงกับเมืองไทย จะเห็นว่ามีกุหลาบหลายพันธุ์เจริญเติบโตได้ดีในเมืองไทย

การปลูกกุหลาบ

เมื่อได้ต้นมาแล้ว ถ้าจะปลูกแบบง่ายๆ ก็คือ ขุดหลุมแล้วเอาต้นปลูกลงไป เอาดินกลบ แล้วรดน้ำก็เสร็จ แต่วิธีที่ถูกต้องนั้นใช้เวลามากกว่าเล็กน้อย แต่เป็นการเริ่มต้นที่ดีและผลที่ได้นั้นคุ้มค่า เนื่องจากกุหลาบไม่ชอบดินเหนียวหรือแน่นทึบ ดินที่ปลูกจึงต้องระบายน้ำดี ไม่ชอบดินทราย จัดที่ไม่มีธาตุอาหาร สถานที่ที่จะปลูกถ้าหญ้าเติบโตได้ดี ก็พอจะคาดได้ว่าดินบริเวณนั้นใช้ได้ ถ้าได้รับการปรับปรุงอีกเล็กน้อยก็จะปลูกกุหลาบได้ดีด้วย โปรดจำไว้ว่าถ้าปลูกต้นไม้ลงไปก่อนแล้วจึงคิดแก้ไขปรับปรุงดินทีหลังนั้นไม่ถูกอย่างยิ่ง

หลุมสำหรับปลูกกุหลาบควรลึกประมาณ 15-18 นิ้วและกว้างเท่าๆ กัน เพื่อให้โอกาสกับรากให้แผ่กระจายได้เต็มที่เมื่อต้นโตขึ้น ถ้าดินแข็งและระบายนํ้าไม่ดีให้ขุดลึกลงไปอีก 2-3 นิ้ว แล้วใส่อิฐหักหรือกระถางแตก ๆ ลงไปที่ก้นหลุมเพราะกุหลาบไม่ชอบให้นํ้าขังราก

ถ้าไม่แน่ใจว่าหลุมนั้นจะระบายน้ำดีให้ลองเอานํ้าใส่หลุมสักครึ่งหลุม ถ้าใน 2 ชั่วโมงต่อมานํ้ายังไม่แห้งไป ต้องใช้วัสดุระบายน้ำช่วย หรือหาที่ปลูกใหม่

ดินที่ขุดออกจากหลุมควรเติมอินทรียวัตถุ เช่นใบไม้ผุ ขี้วัวเก่าๆ หรือปุ๋ยอินทรีย์ ¼ ส่วนแล้วเติมทรายหยาบ ¼  ส่วนโดยปริมาตร การเติมอินทรียวัตถุและทรายหยาบลงในดินเหนียวจะช่วยให้กุหลาบเติบโตได้ดีและให้ดอกดกขึ้น ดินก้นหลุมนั้นควรเติมปุ๋ยกระดูกเพื่อให้ธาตุฟอสฟอรัสอย่างช้าๆ ไปตลอด 1-2 ปี โดยใส่กระดูกป่นประมาณ 3 กระป๋องนมข้น ปุ๋ยคอก 2 กระป๋องนม ถ้าหาปุ๋ยคอกไม่ได้ให้ใช้ปุ๋ยสูตร 6-10-4 หรือ 5-10-6 ครึ่งกระป๋องนมแล้วคลุกกับดินให้ทั่ว พอขุดหลุมแล้วเอาน้ำใส่ในหลุมเพื่อให้น้ำซึมในดินจนแน่ใจว่าดินดูดซับความชื้นไว้พอเพียง โดยเฉพาะการปลูกปลายฤดูร้อน หรือต้นฤดูฝน

สำหรับกุหลาบล้างราก (bare root roses) ให้ตัดปลายกิ่งออกให้เหลือกิ่งยาวเพียง 2-3 ตา จะเร่งให้ได้ต้นใหม่ที่แข็งแรง มีรากงามและเติบโตได้ดี

เมื่อจะปลูกให้เอาดินที่ผสมไว้ใส่ก้นหลุมราว 2/3 แล้วพูนขึ้นเป็นเนิน เอารากแผ่ไปบนดินที่พูนไว้ใช้ด้ามจอบพาดปากหลุมวางต้นลง กะให้รอยติดตาอยู่เหนือระดับไม้ที่พาดปากหลุมเล็กน้อย จะได้กิ่งกระโดงแตกออกจากบริเวณรอยติดตา กลบดินรอบต้นให้แน่นแล้วรดน้ำให้ชุ่มอีกครั้ง ระยะปลูกของกุหลาบ Hybrid tea คือ 18-24 นิ้ว กุหลาบเลื้อยใช้ 8-16 ฟุต กุหลาบหนูใช้ 6-12 นิ้ว

การให้น้ำกุหลาบในแปลง

ควรรดน้ำเฉพาะโคนต้นให้ชุ่มลึกลงไปประมาณ 1 ฟุตเป็นอย่างน้อย การรดน้ำให้ถึงระดับรากอาทิตย์ละครั้งดีกว่าการให้นํ้าน้อยๆ แต่ให้อาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง การให้น้ำด้วยระบบฝนโปรย(sprinkler) ไม่เหมาะสำหรับกุหลาบเพราะทำให้ใบเปียก อาจเป็นการแพร่กระจายโรค ถ้าสายยางมีหัวฉีด ถอดหัวฉีดออก แล้วรดนํ้าให้ชุ่มที่โคนต้น แต่อย่าปล่อยให้นํ้านองไหลเซาะหน้าดิน

การคลุมดิน

การคลุมดินให้กุหลาบหลังจากปลูกเสร็จแล้ว มีประโยชน์หลายอย่างคือวัสดุคลุมดินจะช่วยรักษาความชื้นให้กับดินโดยเฉพาะเมื่ออากาศร้อน ช่วยทำให้ดินไม่แน่นทึบ ทำให้จุลินทรีย์และไส้เดือนในดินทำงานได้ดี วัสดุคลุมดินช่วยป้องกันสปอร์และราในดินไม่ให้ถูกใบและดอก การคลุมดินทำให้วัชพืชขึ้นน้อยมาก หรือถ้างอกขึ้นมาก็กำจัดออกได้ง่าย ประการสุดท้ายคือ ถ้าคลุมดินให้กุหลาบแล้ว ไม่จำเป็นต้องพรวนดิน

วัสดุคลุมดินถ้าเป็นอินทรียวัตถุก็จะเป็นประโยชน์อีกต่อหนึ่ง คือ นอกจากทำหน้าที่ดังกล่าวมาแล้ว เมื่อนานไปก็ผุเปื่อยเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินด้วย

สิ่งที่ใช้เป็นวัสดุคลุมดินที่ดี ได้แก่ หญ้าที่ตัดจากสนาม เปลือกถั่ว ปุ๋ยคอกที่ผุดีแล้ว ซังช้าวโพด หรือฟางข้าวตัดเป็นชิ้นเล็ก แกลบ ขี้เถ้าแกลบ กากเมล็ดพืชที่หีบนํ้ามันออกแล้ว ฯลฯ

ถ้าจะใช้อิฐหรือกรวด หรือผ้าพลาสติกคลุมดินก็ได้ แต่จะไม่ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน วัสดุที่เหมาะต้องรองรับนํ้าหรือฝนให้ซึมผ่านรากพืช ในเวลาเดียวกันก็คลุมป้องกันแสงแดด ทำให้อุณหภูมิของดินเย็นลง แต่ต้องมีน้ำหนักพอที่จะไม่ถูกลมพัดปลิวกระจายได้ง่าย

การคลุมดินควรคลุมหนา 1-2 นิ้ว ถ้าวัสดุคลุมดินยุบควรเติมให้ด้วย

การให้ปุ๋ย

กุหลาบต้องการปุ๋ยสองชนิดคือปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ควรคลุกกับดินตั้งแต่ตอนเตรียมหลุมปลูก สำหรับปุ๋ยเคมีนั้นควรให้ครั้งแรกในฤดูที่กำลังเติบโตเช่นต้นฤดูฝน ปุ๋ยที่ควรใช้คือสูตร 5-10-5, 6-10-4 หรือ 4-6-4 และให้เดือนละครั้งหรือ 4-5 อาทิตย์ต่อครั้ง ไม่ต้องบ่อยกว่านี้ เนื่องจากระยะเวลาจากตาดอกเจริญเป็นดอกใช้เวลาประมาณ 5-6 อาทิตย์แล้วแต่พันธุ์ การให้ปุ๋ยใช้วิธีหว่านรอบต้นแล้วรดน้ำให้ชุ่ม หรือละลายน้ำรดให้ก็ได้ นอกจากนี้ควรให้ปุ๋ยทางใบสลับกับการให้ปุ๋ยทางรากจะให้ผลดียิ่งขึ้นปุ๋ยทางใบที่ใช้คือปุ๋ยสูตร 15-15-15, 20-20-20 ใช้อัตรา 1 ช้อนโต๊ะ/นํ้า 4-5 ลิตร ฉีดให้ชุ่มทั้งใต้ใบและบนผิวใบทุกอาทิตย์เว้นอาทิตย์

การตัดแต่งกิ่ง

เมื่อปลูกกุหลาบไปนานเข้า ต้นจะเก้งก้าง ให้ดอกเล็กลง มีก้านผอมบาง การตัดแต่งกิ่งจะช่วยให้กิ่งที่แตกออกมาใหม่แข็งแรงและให้ดอกที่มีคุณภาพดี การตัดแต่งกิ่งควรทำตอนต้นฤดูฝนหรือต้นฤดูหนาว ถ้าตัดแต่งถูกวิธีใน 45 วันต่อจากนั้นก็จะได้ดอกชุดแรก

การตัดแต่งกิ่ง ควรพิจารณาสิ่งต่อไปนี้

1. ตัดกิ่งตาย กิ่งที่เป็นโรค กิ่งผอมบางและกิ่งไขว้หรือกิ่งที่เจริญเข้าหาใจกลางต้นออกให้หมด

2. ตัดกิ่งแก่ออกและเลือกกิ่งกระโดงหรือกิ่งที่แข็งแรงให้เป็นกิ่งใหม่แทน

3. ตัดด้วยกรรไกรที่คม ตัดเฉียง 45° เหนือตาเพียงครึ่งนิ้ว ตัดเหนือตานอกที่จะแตกกิ่งออกจากทรงพุ่มเพื่อเปิดทรงพุ่มให้โปร่ง

4. เลี้ยงกิ่งใหญ่ไว้เพียง 3-4 กิ่งต่อต้น และตัดให้เหลือความยาวเพียงครึ่งหนึ่งของความสูง ดิม เช่นต้นสูง 1 เมตร ก็ตัดให้เหลือครึ่งเมตร

5. ใช้ปูนแดงทาแผลที่มีขนาดใหญ่กว่าปลายนิ้วก้อยเพื่อกันเชื้อโรคเข้าแผล

การตัดแต่งกิ่ง ถ้าตัดให้เหลือกิ่งสั้นมาก เช่นให้เหลือความยาวเพียง 8-10 นิ้ว จะได้ดอกที่มีก้านแข็งแรงและดอกใหญ่ แต่ได้ดอกช้ากว่าการตัดให้เหลือกิ่งยาว การตัดให้เหลือกิ่งยาวจะได้ดอกมากกว่าได้ดอกเร็วกว่า แม้ขนาดดอกจะเล็กกว่าบ้าง

สำหรับการตัดดอกนั้น ถ้าเป็นต้นเล็กควรตัดใบติดไปกับดอกเพียง 2 ใบ เพื่อให้มีใบเหลือติดต้นไว้มากๆ จะได้สร้างอาหารไว้สร้างดอกใหม่ต่อไป ถ้าเป็นต้นใหญ่ตัดให้เหลือ 2 คู่ใบติดไว้กับต้น ตาที่เหลือจะแตกออกเป็นกิ่งดอกที่แข็งแรง เมื่อตัดแล้วรีบแช่ในน้ำอุ่น 37-38°ซ ทันทีทิ้งไว้จนนํ้าเย็นลง แล้วจึงตัดโคนก้านใหม่ก่อนนำไปจัดแจกัน

โรคและศัตรูของกุหลาบ

โรคที่เป็นปัญหาใหญ่ของกุหลาบ คือ โรคใบจุด และโรคราแป้ง

1. โรคใบจุด เป็นโรคที่พบเป็นธรรมดาในแปลงกุหลาบ อาการคือ เป็นจุดหรือวงสีดำบนใบ แล้วขยายกว้างออกรอบๆ แผลเป็นสีเหลือง ถ้าเป็นมากใบจะเหลืองและร่วง ถ้าไม่รีบฉีดยาใบจะร่วงหมด ต้นจะชะงักการเจริญเติบโตและอาจถึงตายได้กุหลาบสีเหลืองจะเป็นโรคนี้มากกว่ากุหลาบสีอื่นๆ

โรคนี้เกิดจากเชื้อรา และระบาดไปได้โดยสปอร์ที่ปลิวไปตามลมและน้ำ อาการของโรคจะรุนแรงมากในฤดูฝนและฤดูหนาวที่มีนํ้าค้างแรง

การป้องกันกำจัด

1. เริ่มตั้งแต่การซื้อต้นมาปลูก ควรเลือกต้นที่ไม่เป็นโรค ถ้าซื้อต้นที่ใบเป็นโรคมา ต้องรีบเก็บใบเผาไฟเสีย

2. ถ้าพบว่าโรคนี้เกิดขึ้นไม่ว่าเมื่อใด ต้องเก็บใบที่เป็นโรคออกให้หมดแล้วเผาไฟเสีย

3. ฉีดยาป้องกันโรคนี้ทุกๆ 7 วัน เช่น ดาโคนิล เบนเลท แคพแทน ถ้าเป็นฤดูฝน ควรฉีดยาบ่อยขึ้น และใช้ยาจับใบ (sticker) ผสมในยาด้วย

การฉีดยาเป็นการป้องกันโรคมิให้เกิดกับใบใหม่เท่านั้น ใบที่เป็นโรคแล้วรักษาให้หายไม่ได้ เพราะเมื่อเห็นอาการของโรคแสดงว่าเชื้อเข้าไปในต้นพืช 7 วันแล้ว จึงต้องฉีดยาป้องกันไว้

2. โรคราแป้ง เป็นโรคที่เป็นกับกุหลาบมากเป็นที่ 2 รองจากโรคใบจุด อาการเกิดขึ้นที่ยอดอ่อนเป็นผงสีขาว ๆ คล้ายผงแป้งเคลือบอยู่ทั้งใต้ใบและบนใบ ใบอ่อนที่มีราเกาะอยู่จะมีสีม่วงและไม่เจริญต่อไป ถ้าเกิดกับดอก ดอกจะไม่บาน

โรคนี้เกิดจากเชื้อราและระบาดไปโดยสปอร์ซึ่งปลิวไปตามลม ถ้าอากาศชื้นจะเป็นมาก เช่น ในฤดูหนาวซึ่งมีนํ้าค้างแรง

การป้องกันกำจัด ใช้ยาพวกกำมะถันผง คาราเธนฉีดให้ตอนที่อากาศไม่ร้อน มิฉะนั้นใบจะไหม้

3. โรครัสท์ มักเกิดกับใบแก่บริเวณใต้ใบ เป็นจุดสีส้มและเห็นเป็นสีเหลืองใต้ใบ บริเวณรอบจุดเป็นสีเขียวอ่อน ใบที่เป็นมากจะเหี่ยวและทิ้งใบใน 5 วันหลังจากเห็นอาการ

โรคนี้เกิดในฤดูฝนโดยเฉพาะเมื่อฝนตกชุก การป้องกันใช้เคลเธนฉีดพ่น แมลง

แมลงที่เป็นศัตรูของกุหลาบได้แก่

1. แมลงปีกแข็ง ตัวยาวขนาด 1 – 1นิ้ว หลังนูน สีนํ้าตาลหรือดำ ระยะการเข้าทำลายคือ ตอน 1-3 ทุ่ม ควรฉีดยาฆ่าแมลงอาทิตย์ละครั้งเป็นประจำ

2. ผึ้งกัดใบ ใบที่ถูกทำลายจะเป็นรอยแหว่งเป็นรูปวงกลมหรือส่วนของวงกลมเป็นแผลเรียบเหมือนถูกเฉือนด้วยมีด

3. เพลี้ยจั๊กจั่น เป็นแมลงปากดูด สีเขียว ทำลายใบอ่อนขณะยังเล็กอยู่ ใบที่ถูกทำลายจะหงิกงอและเป็นรอยเหมือนถูกแทงด้วยเข็ม

4. เพลี้ยแป้ง มีปุยสีขาวคลุมตัวทำให้กำจัดยากต้องใช้ยาฆ่าแมลงประเภทดูดซึม

5. หนอนเจาะดอก เป็นหนอนของผีเสื้อกลางคืน วางไข่ตั้งแต่ดอกยังเล็ก เมื่อไข่แก่จะฟักเป็นตัวและเจาะกินดอก ต้องฉีดยาฆ่าแมลงที่มีกลิ่นเหม็นมาก ๆ การกำจัดทำได้ยากเพราะไข่เข้าไปเติบโตอยู่ในดอก

ศัตรูอีกชนิดหนึ่งคือ ไรแดงซึ่งดูดน้ำเลี้ยงจากใบ ระบาดมากในฤดูร้อนซึ่งอากาศแห้ง ถ้าสังเกตใกล้ๆ จะเห็นตัวมีขนาดเล็กมากสีส้มเดินไปมาอยู่ใต้ไบ ใบที่ถูกทำลายจะมีสีซีดและร่วง ถ้าเป็นมากต้นจะชะงักการเติบโต

ไรแดงขยายพันธุ์ได้เร็วมาก จึงต้องมียาปราบหลายขั้นตอนของการเจริญเติบโต ยาที่ทำลายไข่ชื่ออีรีซิท ยาที่ทำลายตัวชื่อเคลเธนและไบดริน

การปลูกกุหลาบในกระถาง

ขนาดกระถางที่ใช้ปลูกกุหลาบมีตั้งแต่ 6, 8, 19 และ 12 นิ้ว ขนาดของกระถางมีความสัมพันธ์กับขนาดของต้นด้วย คือถ้าขนาดของต้นยังเล็กแล้วนำไปปลูกในกระถางใหญ่ ต้นอาจตายได้ เพราะเครื่องปลูกแฉะเกินไป (เนื่องจากให้น้ำชุ่มเครื่องปลูกแต่ต้นยังเล็ก รากดูดน้ำไปใช้แล้วยังมีเหลือเฟือ ถ้าปลูกต้นเล็กควรใช้กระถาง 6 นิ้ว แล้วเปลี่ยนเป็น 8, 10 และ 12 นิ้ว ตามลำดับ จะเจริญได้งอกงามดีกว่า

เครื่องปลูก การปลูกกุหลาบในกระถางเป็นการจำกัดเนื้อที่ที่รากจะแผ่กระจายไป จึงควรใช้เครื่องปลูกที่ผสมแล้วอย่างดี กุหลาบจึงจะเจริญเติบโตได้เต็มที่ เครื่องปลูกต้องระบายนํ้าได้ดี มีธาตุอาหารค่อนข้างสูง ตัวอย่างของเครื่องปลูกก็เช่น ดิน ใบไม้ผุ ปุ๋ยคอก ในอัตราส่วน 1 : 2: 1และถ้าเครื่องปลูกผุง่ายหรือยุบต้องคอยเติมให้เรื่อยๆ

เมื่อปลูกลงกระถางแล้ว ควรวางในที่อับลม มิฉะนั้น จะระเหยนํ้าทางใบมาก และต้นจะโยกคลอนได้ง่ายด้วย

การให้น้ำ ควรแน่ใจว่าน้ำซึมชุ่มบริเวณโคนต้นจนลงไปถึงก้นกระถางทุกครั้ง ให้น้ำวันละครั้งเป็นอย่างน้อย

การดูแลรักษา เหมือนกับกุหลาบปลูกในแปลง รวมทั้งการให้ปุ๋ยด้วย

การเปลี่ยนกระถาง ปกติจะเลี้ยงในกระถาง 6 นิ้วก่อน แล้วสังเกตการเจริญเติบโตของต้น ถ้าต้นโตเกินกระถางขณะนั้นรากจะแตะขอบกระถางทำให้ร้อน รากจะแห้งไม่สามารถหาอาหารได้ ควรเปลี่ยนไปปลูกในกระถางใหญ่ขึ้น

การขยายพันธุ์กุหลาบ

ทำได้ 3 วิธีคือ การตัดชำ การตอน และการติดตา

การตัดชำ ใช้การตัดชำกิ่งยอด ความยาวประมาณ 3-4 นิ้ว ชำในขี้เถ้าแกลบและทรายในอัตราส่วนอย่างละเท่าๆ กัน แต่ต้องใช้สถานที่ที่มีแดดรำไร หรือถ้าเป็นที่กลางแจ้งต้องบังร่มให้ มิฉะนั้น ใบจะเหี่ยวเฉาก่อนจะออกราก หมั่นดูแลความชื้นในวัสดุปักชำอยู่เสมอ การออกรากใช้เวลาประมาณ 3 อาทิตย์

การตอนกิ่ง เลือกกิ่งที่ดอกโรยแล้ว กิ่งแข็งแรงพอสมควร อย่าเลือกกิ่งที่อ่อนบาง ควั่นตรงเหนือโคนก้านดอกประมาณ 2 นิ้ว ให้รอยควั่นตอนบนและล่างห่างกันเพียงครึ่งนิ้ว แล้วลอกเปลือกออก ใช้สันมีดขูดเมือกออกเบา ๆ จนหมดเมือก เอามอสชุบน้ำบีบออกให้เหลือนํ้ารอหยดที่อุ้งมือพอกบริเวณที่ควั่น แล้วใช้ผ้าพลาสติกตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดกว้าง 5-6 นิ้วหุ้มมอส ถ้าไม่มีมอสใช้ดินหุ้ม แล้วใช้กาบมะพร้าวทุบจนนุ่มตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมหุ้มดินอีกครั้งหนึ่ง ชั้นนอกสุดเป็นใบตองแห้งหรือผ้าพลาสติกแล้วมัดหัวมัดท้ายด้วยเชือกหรือตอก ประมาณ 3-4 อาทิตย์จะเห็นรากแทงทะลุออกมายาวพอสมควรและมีสีออกนํ้าตาล จึงตัดใต้รอยมัดด้านล่าง แล้วนำไปชำก่อนให้รากยาว แล้วจึงเอาใส่กระถางปลูกแล้ววางไว้ในที่ร่มๆ ก่อนจนตาใหม่เจริญดีแล้วจึงค่อยเอาออกปลูกในแปลงหรือปลูกกลางแจ้ง

การติดตา ต้นตอกุหลาบ เท่าที่ทำกันอยูในปัจจุบัน กุหลาบที่มีหนามมีการเจริญเติบโตแบบ เลื้อยที่มีชื่อว่า Rosa multiflora ใช้ได้ผลดีกับกุหลาบหลายพันธุ์

การเลือกตา เลือกกิ่งที่ดอกเริ่มโรย ตาจะแอบอยู่โคนก้านใบ ตาคู่แรกที่ติดกับตัวดอกเราไม่ใช้ เพราะยังอ่อนเกินไป ส่วนมากตาที่ 3, 4 จะเหมาะที่สุด สังเกตว่าตาจะนูนเด่นขึ้นเห็นได้ชัด แสดงว่าตาเริ่มเจริญ อย่าเลือกตาที่แตกเป็นใบอ่อนแล้ว เพราะใบจะระเหยน้ำและเหี่ยวไปก่อนที่แผลจะติด

ต้นตอได้มาจากการชำกิ่งพันธุ์เป็นท่อน ๆ เมื่อออกรากก็ปลูกในแปลงราว 6 เดือนให้ตั้งตัวดี

การติดตา ถ้าใช้ต้นตอที่มีหนาม ลิดหนามในบริเวณที่ต้องการจะติดตาออกให้หมด แล้วใช้มีดคมๆ กรีดต้นตอเป็นทางยาวลงมาประมาณ 3-4 ซม.แล้วกรีดขวางที่หัวรอยกรีดเดิมเป็นรูปตัวที T ให้กว้างประมาณ 1.5-2 ซม.แล้วใช้ปลายมีดค่อยๆ เผยอเปลือกของต้นตอออกทั้ง 2 ข้าง แล้วเฉือนตาจากกิ่งพันธุ์ที่เลือกไว้แล้ว การเฉือนตาต้องตัดใบออกเหลือก้านใบไว้เป็นที่จับ แล้วเฉือนตาด้วยมีดที่คมมากและสะอาด เฉือนให้รอยแผลเรียบด้วยการเฉือนครั้งเดียว และทำอย่างรวดเร็ว เมื่อได้ชิ้นตามาแล้ว จับหูใบไว้ ใช้ปลายมีดแคะเนื้อไม้ออก (ถ้าไม่ลอกเนื้อไม้ออก เมื่อติดตาแล้วแผลจะนั้นโป่งและจะฉีก แยกออกได้ง่ายกว่าเมื่อลอกเนื้อไม้ออก) แล้วจับชิ้นตาสอดลงในแผลรูปตัว T ให้แนบพอดี ถ้าชิ้นตายาวกว่าแผลที่กรีด ตัดตรงหัวออกนิดหนึ่งแล้วเอาเปลือกของต้นตอที่เผยอออกจากรูปตัวที T หุ้มชิ้นตาไว้ ต่อจากนั้นใช้ผ้าพลาสติกตัดเป็นเทปเล็ก ๆ พันตาจากล่างขึ้นบนให้ซ้อนทับกันเหมือนการพันแข้งทหารเพื่อกันน้ำเข้าตา การพันอย่าพันแน่นจนเกินไปจะรัดต้นตอ หรือถ้าหลวมเกินไปนํ้าอาจซึมเข้าได้ ถ้าพันหุ้มตามิดหมดราว 7 วันควรแกะออกดู ถ้าตายังเขียวสดก็พันใหม่โดยเว้นจุดตาไว้ อีก 2-3 อาทิตย์ต่อมาเมื่อแผลเชื่อมกันสนิทจึงแกะพลาสติกออกหมด แต่ถ้าทำจนชำนาญแล้วให้พันแผลเว้นตาไว้ประมาณ 3 อาทิตย์จึงแกะพลาสติกออกหมด เมื่อติดตาแล้วใช้ป้ายพลาสติกเขียนชื่อพันธุ์ที่ติดวันที่ ที่ทำการติดตาผูกติดไว้กับต้นตอเพื่อสะดวกแก่การเช็คว่าต้นตอนี้ติดพันธุ์ใดไว้และเมื่อใดจึงถึงกำหนด 3-4 อาทิตย์ที่เอาผ้าพันตาออกได้

ถ้าปรากฏว่าราว 7-10 วันหลังจากติดตา หูใบเป็นสีน้ำตาล ตาเป็นจุดดำและแผลดำก็ให้ทำใหม่ บางครั้งหูใบเป็นสีน้ำตาลแต่ตายังเขียวสดก็ใช้ได้ ปลิดหูใบทิ้งเสีย ตาก็จะเจริญขึ้น ต่อมาจึงตัดยอดของต้นตอทิ้งให้ตาเจริญ เป็นต้น

สรุป

การปลูกกุหลาบให้ดีนั้นไม่ง่ายนัก แต่ก็ไม่ยากจนเกินจะปฎิบัติตามได้ ผู้ปลูกต้องมีความเข้าใจปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาแต่ละอย่างดังที่ได้เขียนบรรยายมาแล้ว เริ่มตั้งแต่การปลูกผิดที่ก็ทำให้ไม่ งาม จึงต้องเลือกที่ปลูกให้ถูก เตรียมดินให้ดีและปลูกด้วยวิธีที่ถูกต้อง หลังจากนั้นคอยดูแลให้น้ำ ให้ปุ๋ย ควบคุมโรค แมลงและวัชพืชไม่ให้รบกวน สำหรับโรคและแมลงนั้นควรจัดการป้องกันไว้ล่วงหน้า ไม่ใช่รอให้เห็นอาการเสียก่อนแล้วจึงแก้ไข เมื่อปลูกไปแล้วต้นสูงเก้งก้าง ก็ทำการตัดแต่งกิ่งเสียปีละครั้ง เช่น ต้นฤดูหนาว ดอกที่ได้ใหม่จะมีคุณภาพดี การปลูกกุหลาบต้องลงทุนค่อนข้างสูง เช่น เสียค่ายาปราบโรค และแมลง ครั้งแรกผู้ปลูกอาจจะปลูกเพียงเพื่อเป็นงานอดิเรก ครั้นปลูกไปจะรู้สึกสนุกอาจเป็นทางนำไปสู่การปลูกเป็นการค้าถ้ารู้จักวิธีการขยายพันธุ์ทำให้ได้ทุนคืนแถมยังได้กำไรอีกด้วย แต่ต้องมีการดูแลทั่ว ถึงหรือมีคนงานที่มีประสิทธิภาพช่วย อันที่จริงการลงทุนซื้อต้นเพียงไม่กี่ต้นแล้วลงมือปลูกและเลี้ยงดูด้วยตนเอง จนได้เห็นดอกแย้มและบานให้ชม ผู้ปลูกทุกคนก็พอใจแล้ว