การปลูกคาร์เนชั่น

คาร์เนชั่น

คาร์เนชั่นเป็นไม้พื้นเมืองของประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน ลักษณะเดิมคล้ายดอกผีเสื้อชั้นเดียวสีชมพูสด มีกลิ่นหอมคล้ายกานพลู ออกดอกเฉพาะในฤดูใบไม้ผลิที่มีสภาพวันยาว ในปัจจุบันนี้ได้รับการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์มานานหลายร้อยปีทำให้ได้ดอกมีกลีบซ้อนกันแน่น สีต่าง ๆ เช่น ขาว ชมพู แดง เหลือง ส้ม บานเย็นและสีลายดอกมีก้านยาวตรงและแข็งแรง ออกดอกได้ตลอดปี บางพันธุ์ยังมีกลิ่นหอมอยู่ พันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากคือ พันธุ์ “Sim” สีต่างๆ และพันธุ์อื่นๆ ที่สร้างขึ้นในยุโรป

คาร์เนชั้นมี 2 ประเภท แต่ละประเภทมีพันธุ์ต่าง ๆ เฉพาะ

1. คาร์เนชั่นดอกเดี่ยว (Standard carnation) มีดอกใหญ่ขนาด 3 นิ้วขึ้นไป ก้านดอกหนึ่งๆ เลี้ยงให้มีดอกเดียว การปลูกต้องเด็ดดอกข้างออกให้เหลือแต่ดอกกลาง เช่นพันธุ์ White Sim, Red Sim เป็นต้น

2. คาร์เนชั่นดอกช่อ หรือคาร์เนชั่นสเปรย์ (Spray Carnation) พวกนี้มีดอกเล็กขนาด 1- 2 นิ้ว ก้านหนึ่งมี 3-5 ดอกบานพร้อมกัน การปลูกให้เด็ดดอกกลางออก ปล่อยให้ดอกข้างทั้งหมดเจริญ เช่น พันธุ์ Exquisite, Karina เป็นต้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

คาร์เนชั่นมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dianthus caryophyllus อยู่ในวงศ์ Caryophyllaceae และเป็นพืชยืนต้นมีชีวิตยาวหลายฤดู (perennial) แต่นิยมปลูกเลี้ยงกันในต่างประเทศเพียง 2 ปีในโรงกระจก สำหรับในเมืองไทยนั้นอาจปลูกเพียงฤดูเดียวหรือ 2 ฤดูเป็นอย่างมากก็รื้อแปลงทิ้งแล้วปลูกใหม่

คาร์เนชั้นมีลำต้นเป็นกอ กิ่งก้านยาวเก้งก้างต้องมีการคํ้าต้นจึงจะทำให้ก้านดอกตรง ใบของคาร์เนชั่นเรียวยาวสีเขียวอมฟ้าหม่นดูเหมือนมีขึ้ผึ้งสีขาวขุ่นเคลือบอยู่บาง ๆ ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบและไม่มีก้านใบ ใบเกิดเป็นคู่โอบรอบข้อทำให้ดูบวมโตเฉพาะตรงข้อ ดอกมีกลีบบาง โคนกลีบสอบลงเป็นรูปลิ่ม ปลายกลีบหยักเป็นฟันเลื่อยละเอียดหรือหยักเป็นคลื่น กลีบดอกเรียงซ้อนกันแน่นโดยมีกลีบรองดอก (calyx) สีเขียวรูปกรวยโอบรัดโคนกลีบไว้ ปลายกลีบรองดอกหยักเป็นสามเหลี่ยมเล็กๆ 5 หยัก ดอกมีกลิ่นหอมคล้ายกานพลู ก้านดอกกลมเรียบ หักออกได้ง่ายตรงข้อ โดยไม่ฉีกขาด

คาร์เนชั่นมีดอกสวย มีสีต่างๆ กลิ่นหอมและบานทน พันธุ์ต่างๆ ที่ปลูกกันอยู่ได้รับการผสมพันธุ์ในต่างประเทศแถวทวีปยุโรป หรืออเมริกาเพื่อให้ปลูกในโรงกระจกที่มีการควบคุมอุณหภูมิ หรือนำ ไปปลูกในที่สูงจากระดับน้ำทะเลมาก ๆ ที่มีอากาศเย็น แหล่งผลิตคาร์เนชั่นดอกเดี่ยวที่สำคัญของโลกอยู่ที่เมืองโบโกตาในประเทศโคลัมเบีย ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 2,800 เมตร สำหรับคาร์เนชั้น ดอกช่อผลิตกันมากที่ริมทะเลสาปไนวาชาประเทศเคนยาของทวีปแอฟริกา ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,600 เมตร ดังนั้นแหล่งปลูกที่เหมาะสมในเมืองไทยคือ สภาพบนภูเขาที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลมากๆ ตามดอยต่างๆ ในภาคเหนือ เช่นดอยอ่างขาง ดอยสามหมื่น และดอยอินทนนท์ เป็นต้น ถ้าจะปลูกคาร์เนชั่นในพื้นที่ราบเชียงใหม่หรือจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือและอีสานก็ทำได้เช่นเชียงราย เลย เป็นต้น โดยเอากิ่งชำที่ออกรากแล้วปลูกเมื่อหมดฤดูฝนคือ ประมาณช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นพฤศจิกายน และจะเริ่มให้ดอกประมาณต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นไป เมื่อหมดดอกแล้วควรรอแปลงทิ้ง เพราะถ้าได้รับสภาพแวดล้อมในฤดูร้อนจะมีปัญหาจากแมลงคือ หนอนผีเสื้อ ประกอบกับอากาศร้อนทำให้ต้นโทรม ถ้าจะเลี้ยงต้นต่อไปในฤดูร้อนและฤดูฝนเพื่อรออากาศเย็นในช่วงหนาวใหม่นั้นไม่คุ้มแน่นอน

การปลูกคาร์เนชั่น ปลูกได้จากเมล็ดและกิ่งชำ ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดมักให้ดอกเล็ก ก้านอ่อนและสั้น มักใช้ในการปลูกประดับแปลงมากกว่านำมาใช้เป็นไม้ตัดดอก ดอกมีคุณภาพต่างกับดอกที่ปลูกจากกิ่งชำสำหรับตัดดอกมาก

การเพาะเมล็ด

ตามแคตตาล็อกของบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์มีเมล็ดพันธุ์คาร์เนชั่นจำหน่าย พันธุ์ที่นิยมปลูกกัน ได้แก่ Giant Chabaud, Knight, Enfant de Nice เป็นต้น

เมื่อได้เมล็ดมาแล้วให้เพาะเมล็ดเป็นแถวในวัสดุเพาะเมล็ดเช่น ดิน:ทราย:ปุ๋ยคอกเก่า ๆ ในอัตราส่วนอย่างละเท่าๆ กันใช้ระยะระหว่างแถวประมาณ 2 นิ้ว ระยะระหว่างต้นประมาณ 1 นิ้ว แล้วกลบเมล็ดบางๆ หรือใช้ฟางคลุมเมล็ด เมล็ดจะงอกใน 4-7 วัน ระยะเริ่มงอกอย่าให้ถูกแสงโดยตรง เมื่อต้นเริ่มมีใบจริงจึงย้ายที่ให้ได้รับแสงมากขึ้น หลังจากงอกได้ 1เดือนจึงเริ่มย้ายลงแปลงปลูก ปลูกต้นให้ห่างกันประมาณ 20 ซม.

การใช้กิ่งชำ

พันธุ์คาร์เนชั่นที่ปลูกตัดดอก มีจำหน่ายเป็นกิ่งชำที่ออกรากแล้ว(rooted cuttings) และกิ่งชำที่ยังไม่ออกราก (unrooted cuttings) โดยสั่งจากบริษัทจำหน่ายกิ่งชำในต่างประเทศซึ่งรับรองการปลอดโรค เป็นกิ่งชำที่สะอาดและแข็งแรงมาปลูก หรือถ้ามีต้นแม่อยู่แล้ว ใช้ปลายยอดขนาด 4-5 นิ้ว หักจากต้นแม่ตรงข้อ เอาใบคู่ล่างออกแล้วจุ่มโคนกิ่งลงในสารเร่งรากเช่นเซราดิกซ์เบอร์ 1 หรือ 2 ก่อนนำไปปักชำในวัสดุชำคือทราย:ขี้เถ้าแกลบในอัตรา 1:1 ใช้ระยะระหว่างกิ่งชำ 1 นิ้ว ระยะระหว่างแถว 2 นิ้ว ชำลึก 2 – 1 นิ้ว เมื่อออกรากยาวประมาณ 5 นิ้ว ก็นำออกปลูกในแปลงได้ ระยะเวลาจากการชำกิ่งถึงออกรากประมาณ 20 วันแล้วแต่พันธุ์และฤดูกาล ถ้าปล่อยให้รากยาวกว่านี้เวลาเอาไปปลูก ในแปลงรากจะขาดง่ายและใช้เวลาอีกช่วงหนึ่งจึงจะตั้งตัวได้

แปลงปลูกและระยะปลูก

ขนาดของแปลงควรกว้าง 1 เมตร ความยาวไม่จำกัดแล้วแต่ความสะดวก ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 6 นิ้ว และระหว่างแถว 8 นิ้ว ระยะปลูกของคาร์เนชั่นค่อนข้างแคบเนื่องจากคาร์เนชั่น เติบโตทางความสูงมากกว่าความกว้างของทรงพุ่ม

ดินปลูก

ดินปลูกควรร่วน โปร่ง มีอินทรียวัตถุประมาณ 1/4 เป็นอย่างน้อย ที่สำคัญที่สุดคือต้อง ระบายน้ำดีเพราะคาร์เนชั่นจะเป็นโรคได้ง่ายถ้าดินปลูกแฉะหรือระบายน้ำไม่ดี pH ของดินควรเป็น 6.5

การย้ายปลูก

เมื่อกิ่งชำออกรากยาวเพียงครึ่งนิ้วก็ย้ายลงแปลงได้ เวลาปลูกอย่าปลูกลึกเกินไปจะทำให้ต้นโตช้าและเป็นโรคได้ง่ายจึงปลูกตื้นเพียง ½  – 1 นิ้วแล้วกลบโคนต้นให้กระชับแล้วรดนํ้าให้ชุ่ม ถ้าวันรุ่งขึ้นปรากฎว่ามีต้นล้มประมาณ 1/3  แสดงวาปลูกถูกต้อง ถ้าไม่มีต้นล้มเลยแสดงว่าปลูกลึกเกินไป ถ้ามีต้นล้มให้จับต้นตั้งตรงแล้วกลบโคนต้นอีกครั้ง ถ้าอากาศร้อนหรือแดดจัดควรให้น้ำบ่อย ๆ โดยเฉพาะใน 2-3 วันแรก

การให้น้ำ

การให้น้ำแต่ละครั้งให้ชุ่มลึกลงถึงระดับรากคือประมาณ 8 นิ้ว หลังจากนั้นปล่อยให้หน้าดินแห้งแล้วจึงรดน้ำใหม่ ถ้าปล่อยให้ดินชุ่มอยู่ตลอดเวลาจะมีโอกาสเกิดโรคต้นเน่าได้มาก ไม่ควรให้นํ้าแบบสปริงเคลอร์เพราะจะช่วยกระจายสปอร์ของโรคให้แพร่ไปได้ แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ให้รดน้ำแล้วกะเวลาให้ใบแห้งก่อนค่ำ

การเด็ดยอด

เมื่อย้ายปลูกได้ประมาณ 1 เดือน ยอดจะเริ่มยืด ให้เด็ดยอดออกให้เหลือ 4-5 คู่ใบติดอยู่กับต้น ควรเด็ดยอดตอนเช้าเมื่อเนื้อเยื่อยังเปราะ ถ้าเด็ดยอดขณะอากาศร้อนจัดอาจได้แผลที่ฉีดขาด เชื้อโรคจะเข้าทำลายได้ง่าย

การเด็ดยอดจะทำให้แตกตาข้างอีกประมาณ 3-6 หน่อซึ่งจะเติบโตเป็นกิ่งดอก การเด็ดยอดทำให้ได้ดอกช้าออกไป แต่ได้ดอกที่มีคุณภาพดีและได้จำนวนดอกมากขึ้น ในการค้านิยมให้ต้นแตกหน่อ 4 หน่อ

การเด็ดดอกข้าง

เมื่อคาร์เนชั่นออกดอก จะมีดอกข้างหลายดอกเกิดขึ้นพร้อมกันโดยธรรมชาติต้องเด็ดดอกข้างเหล่านั้นออกให้หมดเหลือแต่ดอกกลางดอกเดียว ดอกกลางจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเพราะได้รับอาหารเต็มที่ การเด็ดดอกข้างต้องทำตั้งแต่มีขนาดพอเด็ดได้คือใหญ่กว่าหัวไม้ขีดไฟเล็กน้อย ใช้นิ้วหัวแม่มือปลิดออกโดยบิดลงล่างจะหลุดออกได้โดยง่าย ถ้าปล่อยให้ดอกข้างโตมากนอกจากจะแย่งอาหารจากดอกกลางแล้ว ยังทำให้เกิดแผลใหญ่และอาจเบียดดอกกลางให้เฉไปบ้าง

สำหรับคาร์เนชั่นดอกช่อ นิยมเด็ดดอกกลางออกเพื่อให้ดอกข้างยืดและเจริญพร้อมกัน มีขนาดดอกสม่ำเสมอ

การให้ปุ๋ย

ควรคลุกปุ๋ยฟอสฟอรัสเช่น ซูเปอร์ฟอสเฟต 10 กก. ลงในดินในแปลงกว้าง 1 เมตร ยาว 20 เมตร หลังจากย้ายปลูกแล้วให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง อัตรา 2:1:1 ละลายนํ้ารด และหลังจากเด็ดยอดจนถึงออกดอกจึงให้ปุ๋ยสูตร 5-10-5 ละลายนํ้ารด 7-10 วันต่อครั้ง

การคํ้าต้น

ควรใช้ตาข่ายพยุงลำต้นอย่างน้อยที่สุด 2 ชั้น ชั้นแรกสูงจากดินประมาณ 1 คืบ หรือ 15 ซม. ชั้นที่ 2 สูงจากชั้นแรกอีก 15 ซม. ขึงตาข่ายให้ตึง ตาข่ายควรมีขนาด 5” X 5″ พยายามให้กิ่งก้านอยู่ในช่องตาข่ายทั้งหมดทั้งแต่ยังเล็กจนต้นโตขึ้นมิฉะนั้นก้านดอกจะคดหรืองอ

การตัดดอก

ควรตัดดอกเมื่อกลีบดอกคลี่ทำมุมฉากกับกลีบรองดอกโดยหักกิ่งตรงข้อ ถ้าจะปลูกเพียงฤดูเดียวก็ตัดก้านได้ยาว แต่ไม่ควรตัดชิดโคนต้นเพราะเนื้อเยื่อบริเวณนั้นแข็ง จะทำให้ก้านดอกดูดน้ำยาก ถ้าจะเอาดอกรุ่นที่สอง ให้ตัดตรงจุดที่ต่ำกว่าใบคู่ที่ 8 หน่อที่เหลือจะเจริญเป็นดอกรุ่นต่อไป เมื่อตัดดอกแล้วให้แช่น้ำทันที ภาชนะที่ใส่ดอกต้องล้างให้สะอาด ถ้ามีน้ำยารักษาดอกไม้ให้บานนานด้วยยิ่งดี

ลักษณะของดอกที่ดี

1. สีสดใส ดอกและใบสะอาด

2. กลีบเรียงซ้อนกันแน่นโดยเฉพาะกลีบที่อยู่ตรงใจกลางดอก

3. รูปดอกไม่เบี้ยว

4. ไม่มีอาการกลีบรองดอกแตก

5. ก้านดอกยาว ตรงและแข็งแรง

6. ไม่มีรอยช้ำหรือเสียหาย

การคัดขนาดของสมาคมไม้ดอกอเมริกา

เกรดสีฟ้า เกรดลีแดง เกรดสีเขียว
ขนาดเส้นผ่าศนย์กลางดอก ดอกตมแน่น 50 44 ไม่กำหนด
(มม.) ดอกแย้ม 62 56 ไม่กำหนด
ดอกบาน 75 69 ไม่กำหนด
ความยาวก้านต่ำสุด (ซม.) 55 43 30

การคัดขนาดของโครงการหลวง

เกรดเอ เกรดบี เกรดซี
ขนาดดอกบานต่ำสุด (ซม.) 7 6 5
ความยาวก้านอย่างต่ำ (ซม.) 50 40 30

อายุของต้น

ที่จริงคาร์เนชั่นเป็นพืชอายุหลายปีแต่ในทางปฎิบัติของประเทศทั้งในยุโรปและอเมริกา ผู้ปลูกจะปลูกคาร์เนชั่นในโรงกระจกเพื่อเอาดอกเพียง 2 ปี แล้วรื้อแปลงเพื่อปลูกด้วยกิ่งชำใหม่เนื่องจากมีปัญหาเรื่องโรค จำนวนดอกและคุณภาพของดอกลดลงจนไม่คุ้มที่จะปลูกต่อไป แต่สำหรับในเมืองไทย ถ้าปลูกเลี้ยงในโรงเรือนในสภาพบนดอยที่มีอากาศเย็นและมีการเอาใจใส่อย่างดี อาจปลูกได้ถึง 2 ปี เช่นเดียวกัน แต่ถ้าการดูแลไม่สม่ำเสมอและไม่เคร่งครัด หรือปลูกในพื้นราบแล้วแนะนำให้ปลูกในช่วง ฤดูหนาวเพียงรุ่นเดียวหรืออย่างมากที่สุดก็สองรุ่นแล้วรื้อแปลงทิ้ง

ปัญหาที่พบในการเลี้ยงดู

1. กลีบรองดอกแตก (Calyx splitting)

อาการคือ กลีบเขียวชั้นนอกที่หุ้มโคนกลีบดอกแตก ทำให้กลีบดอกห้อยลงมา ดอกเสียรูปทรง ปัญหานี้พบกับทุกพันธุ์มากน้อยแล้วแต่ฤดูกาลและชนิดพันธุ์ ปกติ calyx จะแตกก่อนดอกบานประมาณ 10-14 วัน ดอกที่ calyx แตกจะเสียราคา

สาเหตุสำคัญของการที่กลีบรองดอกแตกคือ อุณหภูมิ มีผู้สังเกตว่า การที่อุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว ประมาณ 6 ° ซ ใน 1 ชั่วโมง จะทำให้กลีบรองดอกแตกและการมีอุณหภูมิต่ำติดต่อกันป็นเวลานานจะทำให้ดอกสร้างกลีบดอกเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากจนกลีบรองดอกรับไว้ไม่ไหว กลีบรองดอกจึงแตก

การมีอุณหภูมิสูงในเวลากลางวันก็ทำให้กลีบรองดอกแตกได้ เช่น ปลูกในที่มีอุณหภูมิ 25° ซ สันนิษฐานว่าการแตกเกิดเพราะเนื้อเยื่อของกลีบรองดอกไม่มีความยืดหยุ่นที่อุณหภูมิสูง

ดังนั้น การควบคุมอุณหภูมิในการปลูกทั้งอุณหภูมิกลางวันและกลางคืน จึงสำคัญมาก ในต่างประเทศเมื่ออากาศหนาวมาก ต้องมีเครื่องทำความร้อน(heater) เพื่อลดการเปลี่ยนอุณหภูมิ อย่างกะทันหันของอุณหภูมิกลางวันมาเป็นอุณหภูมิกลางคืนซึ่งเย็นจัด และในเวลากลางวันต้องมีการ ระบายอากาศอย่างดีด้วย

นอกจากอุณหภูมิเป็นสาเหตุที่สำคัญแล้ว กลีบรองดอกแตกยังอาจเกิดได้จาก

-โครงสร้างของดอก ถ้าดอกมีกลีบรองดอกตื้นและกว้างจะไม่ค่อยแตก แต่ถ้าลึกและแคบ ดอกที่มีกลีบมากจะแตกได้ง่ายหรือเนื้อเยื่ออ่อนแอก็เป็นสาเหตุหนึ่ง

-จำนวนกลีบดอก ดอกที่มีกลีบมากจะมีโอกาสแตกมากกว่า

-กรรมพันธุ์ บางพันธุ์แตกมาก บางพันธุ์แตกน้อย แม้แต่บางต้นในสายต้น (clone) เดียวกันก็แตกมากกว่าต้นอื่น วิธีแก้คือ การคัดเลือกแต่ต้นที่พบปัญหานี้น้อยมาปลูก

-ระยะเวลาวิกฤตของการแตก เมื่อดอกเริ่มบานกลีบรองดอกจะเผยอออกก่อนเพื่อให้กลีบดอกบาน การแตกของกลีบรองดอกอาจเกิดระหว่าง 1-12 วันหลังจากกลีบรองดอกเผยอ แต่ระยะ 2-6 วันนับจากกลีบรองดอกเผยอจะเป็นระยะที่เกิดการแตกมากที่สุด

-ธาตุอาหาร การให้ปุ๋ยฟอสฟอรัสมากเกินไป ปุ๋ยไนโตรเจนน้อยเกินไปหรือขาดธาตุโบรอนก็เป็นสาเหตุให้กลีบรองดอกแตกได้

-โรค คาร์เนชั่นที่เป็นโรคไวรัส จะทำให้ต้นอ่อนแอและกลีบรองดอกแตกมากผิดปกติ

2. ปัญหาเรื่องโรค

โรคใบจุด (Alternaria leaf spot)

อาการ เกิดที่ใบโดยมีแผลวงกลมสีน้ำตาล ซึ่งจะขยายวงกว้างออกไป มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 ซม. ใบที่มีแผลใหญ่มาก ปลายใบจะแห้งเหี่ยวไป เนื้อเยื่อตรงกลางแผลจะแห้งเป็นสีน้ำตาลอ่อน ขอบแผลมีสีน้ำตาลอมม่วงเห็นได้ชัดเจนเวลาที่อากาศชื้น ๆ จะมีราเป็นผงสีนํ้าตาลดำเกิดปกคลุมบาง ๆ บนแผล แผลที่ขยายออกไปมีลักษณะเป็นวงกลมหรือวงรีรูปไข่ ต้นที่มีหลายแผลบนใบจะทำให้ใบแห้งและต้นอาจถึงตายได้

การป้องกันกำจัด ใช้ยากันราฉีดพ่นประมาณ 10-15 วันต่อครั้ง ถ้ามีฝนตกชุก ให้ฉีดถี่ขึ้นกว่านั้นและใช้ยาจับใบ (sticker) ช่วย

โรคราสนิม(rust)

อาการ ตามลำตัน กิ่งและใบจะมีแผลปริแตกเป็นรอยยาวประมาณ 1-2 ซม. ภายในมีผงสีนํ้าตาลแดงซึ่งฟุ้งกระจายไปตามลมรอบ ๆ แผลมีสีเหลือง ใบที่มีแผลหลายแผลอาจมีปลายใบแห้ง ต้นที่เป็นโรคจะแคระแกร็นและมีใบม้วนงอ

การป้องกันกำจัด ใช้ยาป้องกันราฉีด เช่น ไซเนบ มาเนบ คาราเธน

โรคโคนเน่าและรากเน่า (Sclerotium rot)

อาการ ในระยะแรกจะแสดงอาการเหลืองและเหี่ยว โดยมากเริ่มจากใบล่างขึ้นมาก่อน เมื่อตรวจดูบริเวณโคนต้นแล้วจะพบว่า ส่วนของลำต้นที่ติดกับดินมีรอยชํ้าสีนํ้าตาล ลำต้นตรงส่วนที่เน่า จะหักพับได้ง่าย เมื่ออาการรุนแรงจะแสดงอาการเหี่ยวทั้งต้นและตายในที่สุด บริเวณโคนต้นและดินรอบๆ โคนต้นจะพบเส้นใยสีขาวขึ้นปกคลุม ในบางครั้งจะพบเม็ดSclerotium สีน้ำตาลขนาดเท่าหัวเข็มหมุดปนอยู่ด้วย โรคนี้ระบาดได้ดีในที่ๆ มีอุณหภูมิและความชื้นสูง หรือให้น้ำมากเกินไป

การป้องกันกำจัด จากผลการทดลองพบว่าการใช้เทอร์ราคลอร์ 2 กรัมต่อนํ้า 1 ลิตร เทราดในดินทุก 7 วัน หรือใช้แคปแทน 6 กรัมต่อนํ้า 1 ลิตร พ่นทั่วต้นทุก 7 วัน หรือใช้คูปราวิท 3 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร พ่นทุก 10-14 วัน จะปราบโรคนี้ได้ดี

ในเชียงใหม่โรคนี้เป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุด โดยเฉพาะในฤดูฝนและกำจัดได้ยาก เนื่องจากเชื้อรา Sclerotium ที่เป็นสาเหตุสามารถอยู่ข้ามฤดูได้โดยสร้าง Sclerotia body ซึ่งเกิดจากเส้นใย มาพันเป็นก้อนตกค้างอยู่ในดินได้นานหลายปีโดยไม่ตาย เมื่อมีสภาพแวดล้อมและอาหารเหมาะสมก็สามารถเจริญงอกเส้นใยต่อไปได้ การอบดินหรือใช้สารเคมีราดในดินจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่าดินนั้นเคยปลูกคาร์เนชั่นที่เป็นโรคมาก่อน

โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส

-Carnation mottle virus มีลักษณะเป็นจุดด่างบนต้น ทำให้ลำต้นแคระแกร็น บางครั้งอาการต่าง ๆ จะไม่ปรากฎให้เห็น

-Carnation mosaic virus เกิดเป็นรอยด่างสีเขียวอ่อนบนใบ ถ้าเกิดบนกลีบดอกทำให้ดอกมีสีไม่สม่ำเสมอ โรคนี้แพร่หลายโดยเพลี้ย

-Carnation ringspot virus เกิดเป็นวงสีเทาหรือเหลืองบนใบ แพร่ได้อย่างรวดเร็ว โดยการสัมผัสเพลี้ยเป็นตัวนำโรคนี้

-Carnation streak virus เกิดเป็นเส้นสีเหลืองและมีจุดสีแดงขนานกับเส้นนั้น ใบที่อยู่ด้านล่างจะเหลืองและตายไปในที่สุด

โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสไม่มีทางกำจัด มีแต่ทางป้องกันโดยปลูกแต่ต้นที่ปลอดโรค และ ฉีดยาป้องกันแมลงที่เป็นตัวนำโรค

โรคเหี่ยวที่เกิดจากบักเตรี (Bacterial wilt)

โรคนี้ทำลายท่อนํ้าท่ออาหารภายในต้นพืช ทำให้การส่งน้ำและอาหารชะงัก อาการที่แสดงให้เห็นในระยะแรกคือกิ่งก้านจะเหี่ยวทีละกิ่งหรือทีละหลายกิ่งถ้าเป็นมากใบจะเหลืองในที่สุดต้นก็ตาย การป้องกันกำจัดคือทำลายต้นที่เป็นโรคโดยการเผาทิ้งทันทีที่ตรวจพบและไม่ปลูกซํ้าอีกในแปลงที่เป็นโรค

แมลง

เพลี้ยอ่อน ไรแดง เพลี้ยไฟ หนอนเจาะดอก หนอนม้วนใบ ตั๊กแตน กำจัดโดยใช้ยาฆ่าแมลง

ปัญหาเรื่องแมลงเกิดกับดอกทำให้คุณภาพดอกลดลงหรือทำให้ขายไม่ได้แต่ปัญหาเรื่อง โรคมักเกิดกับต้น โดยเฉพาะฤดูฝนซึ่งฝนตกหนักและความชื้นในอากาศสูงมาก คาร์เนชั่นจะเป็นโรค โคนเน่าและตายไปเป็นจำนวนมาก ต้นที่เป็นโรคแต่ไม่ตายก็จะอ่อนแอ การเจริญเติบโตช้ากว่าปกติมาก กว่าจะฟื้นตัวก็ใช้เวลานาน แม้จะใช้ผ้าพลาสติกใสชนิดหนาทำหลังคาให้ด้านบนก็ไม่ได้ผลเนื่องจากฝนยังสาดเข้าไปในแปลงได้จึงจำเป็นต้องปลูกในโรงเรือนหลังคาพลาสติกที่มีมุ้งพลาสติกบุด้านข้างเพื่อ กันแมลงและใช้ดินระบายน้ำดีที่ที่อบฆ่าเชื้อแล้ว และมีโปรแกรมฉีดยาป้องกันเชื้อรา

สรุป

ไม้ตัดดอกส่วนมากต้องการการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะคาร์เนชั่น ต้องมีการเด็ดยอด คํ้าต้น และเด็ดดอกข้างในเวลาที่เหมาะสม ถ้าละเลยเสียจะไม่ได้ดอกที่มีคุณภาพดี หรือเมื่อมีโรคและแมลงมารบกวน การป้องกันและการกำจัดเป็นสิ่งจำเป็นมาก ต้องทำให้ทันเวลา การปลูกคาร์เนชั่นจึงเป็นงานที่ละเอียดและใช้แรงงานมาก แต่เมื่อนึกถึงผลที่ได้แล้วก็คุ้มค่า เพราะคาร์เนชั่นให้ดอกที่มีสีต่าง ๆ สดใส กลิ่นหอมและปักแจกันได้นานวัน การขยายพันธุ์ก็ทำได้ง่าย ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ยากที่จะพบรวม อยู่ในไม้ดอกชนิดเดียว สำหรับเชียงใหม่มีข้อได้เปรียบอยู่แล้วตรงที่มีอากาศเย็นปลูกได้ดีในช่วงที่มีอากาศหนาว แม้ว่าตลาดไม้ดอกในเชียงใหม่ไม่กว้างนัก แต่ก็มีโอกาสดีที่จะส่งไปจำหน่ายที่กรุงเทพฯ ทางเครื่องบิน ทางรถไฟหรือรถยนต์ ซึ่งใช้เวลาอย่างมากเพียงคืนเดียว ดอกยังมีคุณภาพดีอยู่และบานรอตลาดได้หลายวัน คาร์เนชั่นจึงเป็นไม้ตัดดอกที่น่าสนใจปลูกในสภาพที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลได้ตลอดปี และปลูกในที่ราบของจังหวัดที่มีอากาศเย็นในฤดูหนาว