การปลูกถั่วเขียวผิวดำ


ถั่วเขียวผิวดำหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ถั่วแขก หรือถั่วเม็ดนุ่น มีลักษณะต้น ใบ กิ่งก้าน ฝัก และเมล็ดใกล้เคียงกับถั่วเขียวธรรมดา ฝักอ่อนก็ใช้รับประทานเป็นผักสด ส่วนเปลือกถั่วและซากลำต้นใช้เป็นอาหารสัตว์ หรือจะปลูกไว้เพื่อใช้ทำปุ๋ยพืชสดก็ได้ ปัจจุบันผลผลิตของถั่วเขียวผิวดำตลาดญี่ปุ่นมีความต้องการมาก เนื่องจากชาวญี่ปุ่นพบว่าถั่วงอกที่เพาะจากถั่วเขียวผิวดำมีความน่ารับประทาน ลำต้นขาวอวบอ้วนกว่าและคงความสดไว้ได้นานกว่าถั่วงอกที่เพาะจากถั่วเขียวธรรมดา ส่วนคุณค่าทางอาหาร (ของเมล็ดแห้ง) ก็ใกล้เคียงกับถั่วเขียวธรรมดาคือมีโปรตีนประมาณ 23.4 เปอร์เซ็นต์ น้ำมัน 1.0 เปอร์เซ็นต์ และคาร์โบไฮเดรต 57.3 เปอร์เซ็นต์
สำหรับการปลูกถั่วเขียวผิวดำในประเทศไทย ปัจจุบันนี้มีการปลูกมากในท้องที่หลายจังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย เพชรบูรณ์ ลพบุรี และสระบุรี ผลผลิตส่วนใหญ่จะส่งไปจำหน่ายยังประเทศญี่ปุ่นเกือบทั้งหมด ประเทศที่เป็นลูกค้าสำคัญของไทยรองลงมาได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง
การที่จำนวนเนื้อที่ปลูกและผลผลิตของถั่วเขียวผิวดำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มว่าจะมีผลผลิตสูงขึ้นต่อไปอีกนั้น เนื่องจากว่าราคาผลผลิตสูงจึงเป็นสิ่งจูงใจ นอกจากนี้การปลูก การดูแลรักษาตลอดจนการเก็บเกี่ยวไม่ยุ่งยาก เหมือนพืชไร่อื่นๆ ทั้งยังเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดีให้ผลผลิตสูง และประกอบกับเกษตรกรผู้ปลูกในบางท้องที่เริ่มมีความชำนาญ
ในการปลูกมากขึ้น จึงมีการขยายเนื้อที่ปลูกออกไป ปัจจุบัน ตลาดญี่ปุ่นก็เริ่มพอใจผลผลิตถั่วเขียวผิวดำของไทย เพราะมีคุณภาพดีกว่าถั่วเขียวผิวดำของพม่า ของไทยมีขนาดเมล็ดใหญ่กว่า ทั้งนี้เพราะพ่อค้าผู้ส่งออก ของไทยได้ทำการคัดขนาดของเมล็ด และเลือกสิ่งเจือปนอื่นๆ ออกเสียก่อน และพยายามปรับปรุงมาตรฐานของถั่วเขียวผิวดำให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดญี่ปุ่นอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามในเรื่องการผลิตถั่วเขียวผิวดำก็ไม่ควรผลิตให้เกินเป้าหมายของตลาดผู้รับซื้อ โดย เฉพาะประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของไทยต้องการถั่วเขียวผิวดำเพื่อไปเพาะถั่วงอกบริโภคเพียงปีละ 4-5 หมื่นตัน เท่านั้น แต่ถ้าคนไทยจะหันมาบริโภคถั่วงอกที่เพาะจากถั่วเขียวผิวดำกันบ้างก็จะทำให้ตลาดรับซื้อผลผลิตในประเทศกว้างขวางขึ้นอย่างแน่นอน


ลักษณะดีเด่นของถั่วเขียวผิวดำ
1. ปลูกง่าย ดูแลรักษาง่าย ทนแล้ง และทนต่อการรบกวนของวัชพืชได้ดี
2. ให้ผลผลิตสูงกว่าถั่วเขียวธรรมดา ประมาณ 2 เท่าตัว
3. แมลงรบกวนน้อย เนื่องจากต้นมีขนมาก
4. ฝักแก่ไม่แตก สามารถชลอการเก็บเกี่ยวได้โดยไม่เสียหายและเก็บเกี่ยวได้ทั้งต้น
5. เมล็ดเก็บไว้นานราว 2 ปี โดยความงอกไม่เสื่อม มอดไม่ทำลายเมล็ด
6. ใบใหญ่และดก เมื่อร่วงหล่นลงดินและเน่าเปื่อย จะเป็นการช่วยเพิ่มอินทรีย์วัตถุพวกธาตุอาหารให้แก่ดินได้มาก
พันธุ์
กรมวิชาการเกษตรได้ทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพันธุ์ถั่วเขียวผิวดำ พบว่าถั่วเขียวผิวดำพันธุ์ซี คิว 20147 ให้ผลผลิตต่อไร่สูงประมาณ 300 กก./ ไร่ และมีขนาดของเมล็ดใหญ่ จัดเป็นถั่วเขียวผิวดำพันธุ์ดีพันธุ์หนึ่ง มีอายุเก็บเกี่ยว 90 วัน ซึ่งนานกว่าถั่วเขียวธรรมดาประมาณ 25-30 วัน
ฤดูปลูก ปลูกได้ปีละ 2 ครั้ง ดังนี้
1. ปลูกตอนปลายฤดูฝน ประมาณเดือนสิงหาคมถึงต้นตุลาคม
2. ปลูกตามพืชไร่อื่น เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วลิสง หรือ ปอ หรือปลูกในนาที่มีการชลประทานในฤดูแล้ง โดยปลูกหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วประมาณเดือนมกราคม ทำเลปลูก ปลูกได้ตั้งแต่บนพื้นที่ราบระดับน้ำทะเล จนถึงสูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,800 เมตร ไม่เหมาะที่จะปลูกทางภาคใต้ของประเทศไทย หรือปลูกในท้องที่หรือในฤดูที่มีฝนตกชุก
และตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ต้นถั่วเขียวผิวดำเกิดโรคโคนเน่าได้ง่าย
การปลูก
ถ้าปลูกแบบหว่าน ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 6-8 กก.ต่อไร่
ถ้าปลูกแบบโรยเป็นแถว ให้แถวห่างกันประมาณ 25 ซม. จะใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 5-6 กก. ต่อไร่
ก่อนปลูก ไถเตรียมดินประมาณ 1-2 ครั้ง แล้วลงมือหว่านหรือโรยเมล็ดพันธุ์ทันทีโดยไม่ต้องปล่อยดินตากแดดจนแห้ง ในประเทศอินเดียจะปลูกถั่วเขียวผิวดำหมุนเวียนหรือปลูกปนไปกับต้นข้าว
การดูแลรักษา
การปลูกถั่วเขียวผิวดำไม่ต้องเอาใจใส่ดูแลมากนัก ไม่ต้องกำจัดวัชพืชเพราะต้นถั่วเขียวผิวดำเจริญเติบโตเร็ว และแผ่กิ่งใบปกคลุมต้นวัชพืชจนไม่อาจขึ้นเจริญงอกงามทำความเสียหายให้แก่ต้นถั่วได้ มีศัตรูพืชจะกวนน้อย แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากลงมือปลูกไปแล้วมีแมลงพวกตั๊กแตน ด้วงน้ำมัน หรือหนอนระบาดทำความเสียหายมาก ควรฉีดยาคาบาริล (เซวิน) 85 ตามอัตราส่วนที่บอกไว้ในฉลากยาเพื่อป้องกันกำจัดแมลงเหล่านั้นเสีย
การเก็บเกี่ยว
เมื่อฝักแก่หมดและเริ่มแห้ง ใช้เคียวเกี่ยวทั้งต้นเหมือนเกี่ยวข้าวแล้ววางรายตากแดดจนกว่าฝักจะแห้งสนิท หลังจากนั้นจึงรวบรวมมัดเป็นฟ่อนนำมานวดที่ลาน โดยใช้แทร๊กเตอร์ย่ำให้เมล็ดหลุดออกจากฝัก แล้วจึงฝัดหรือเข้าเครื่องเป่าเอาเศษผงพวกใบเปลือกฝักที่ปะปนอยู่ออกแล้วใส่ตะแกรงร่อนเอาทราย ดิน หิน กรวด ที่ติดมาออกให้หมดอีกครั้งหนึ่ง เสร็จแล้วจึงบรรจึเมล็ดลงกระสอบจำหน่ายต่อไป
ส่วนใหญ่จำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลางในท้องถิ่น แล้วพ่อค้าจะส่งจำหน่ายต่อไปในกรุงเทพฯ การรับซื้อให้ราคาตามขนาดและคุณภาพของเมล็ด ถ้าเมล็ดขึ้นรา แตก และมีเมล็ดสีอื่นปะปนมากก็จะได้ราคาต่ำ หลังจากรับซื้อไปแล้วพ่อค้าจะทำการฝัดและคัดขนาดและคุณภาพ (เกรด) ของเมล็ดอีกครั้งหนึ่งก่อนส่งจำหน่ายตลาดในกรุงเทพฯ
การตลาดและการจำหน่าย
ญี่ปุ่นได้อนุโลมให้ใช้มาตรฐานคุณภาพสินค้าถั่วเขียว ผิวดำที่ได้มีการตกลงไว้ระหว่างสมาคมพ่อค้าข้าวโพดและพืชพันธุ์ไทย กับสมาคมผู้ค้าถั่วงอกของญี่ปุน มาตรฐานนี้เรียก า จี.ที.อี.เอ็ม. ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงโดยการตกลงยินยอม ระหว่างสมาคมทั้งสอง เพราะคุณภาพของถั่วเขียวผิวดำที่ผลิตได้ในแต่ละปีนั้น มักมีคุณภาพแตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับภาวะของดินฟ้าอากาศ มาตรฐานครั้งสุดท้ายที่ทั้งสองสมาคมได้ ตกลงยินยอมให้กำหนดมาตรฐานไว้ดังนี้
ให้มีเมล็ดอื่นเจือปนได้ ต้องไม่เกินร้อยละ 1.0 โดยน้ำหนัก
เมล็ดเสีย             รวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 2.5 โดยน้ำหนัก
เมล็ดไม่แก่จัด        รวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 2.5 โดยน้ำหนัก
เมล็ดแตกหัก         รวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 2.5 โดยน้ำหนัก
วัตถุอื่นเจือปน         รวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 2.5 โดยน้ำหนัก
เมล็ดถูกแมลงทำลายต้องมีไม่เกินร้อยละ 0.2 หรือ 0.5 โดยน้ำหนัก
กรรมวิธีการผลิตถั่วงอกจากถั่วเขียวผิวดำของญี่ปุ่น
วิธีการผลิตถั่วงอกใช้เวลานับตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงเพาะออกเป็นต้นและส่งจนถึงตลาด จะใช้เวลาทั้งสิ้น 1 สัปดาห์ ซึ่งมีกรรมวิธีโดยย่อดังนี้
1. นำถั่วเขียวผิวดำมาล้างทำความสะอาดเสียก่อน และทำให้เมล็ดมีความชื้น โดยแบ่งถั่วเขียวออกเป็นส่วนๆ หนึ่งประมาณ 4 กก. บรรจุลงในภาชนะพลาสติก ชึ่งมีความจุประมาณ 45 ลิตร
2. นำภาชนะที่บรรจุถั่วเขียวจุ่มลงในน้ำอุ่นประมาณ 35-45 อาศาเซลเซียส นาน 3 ½ -4 ชม. ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับถั่วที่ใช้เพาะนั้นเป็นถั่วเก่าที่เก็บไว้นานหรือเป็นถั่วใหม่
3. หลังจากแช่น้ำอุ่นแล้ว นำถั่วมาถ่ายลงในถังเพาะ ซึ่งก้นถังมีรูเล็กๆ ให้น้ำระบายออกได้ใช้น้ำอุ่นอุณหภูมิ 20-30 องศาเซลเซียสพ่นผ่านลงในถังเพาะทุกๆ 5-6 ชม. ตลอดระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์
4. หลังจากนี้จะนำถั่วงอกมาล้างให้สะอาดในรางน้ำใหญ่ผ่านเครื่องจักร บรรจุลงในถุงพลาสติกและนำส่งตลาดอย่างรวดเร็ว