การปลูกถั่ว:ไรโซเบียมกับการปลูกถั่วเพื่อปรับปรุงดิน

ปัญหาเรื่องดินไม่เหมาะสมดูจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับการปลูกพืชของเกษตรกรมากโดยเฉพาะในส่วนของความอุดมสมบูรณ์ของดิน  เพราะหากดินขาดความอุดมสมบูรณ์นั่นก็หมายความว่าเกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อปรับปรุงดินหรือซื้อปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน ปุ๋ยไนโตรเจนที่เกษตรกรนิยมใช้ก็ใช่ว่าราคาถูก ๆ เสียเมื่อไหร่  จะทำปุ๋ยหมักมาใช้ก็ยุ่งยากอยู่เหมือนกัน วิธีที่ดี เหมาะสม และสะดวกที่สุดเป็นจะเป็นการใช้ “ปุ๋ยพืชสด” ปรับปรุงดินเพื่อเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุและธาตุไนโตรเจนให้แก่ดินเพราะมีราคาถูกเมื่อเทียบกับวิธีอื่น ๆ

ปุ๋ยพืชสด ความหมายจริง ๆ แล้วก็คือ พืชที่ปลูกเพื่อไถกลบหรือคลุกลงไปในดินเมื่อยังสด โดยไม่ได้หวังจะเก็บเกี่ยวพืชนั้นมาทำประโยชน์อย่างอื่น ที่นิยมกันมากก็คือพืชตระกูลถั่วเช่น ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ปอเทือง โสนอินเดีย โสนไต้หวัน ฯลฯ พืชเหล่านี้จะมีไนโตรเจนสูงมากเมื่อสลายตัวก็จะปลดปล่อยไนโตรเจนลงสู่ดิน  รากพืชมีความสามารถในการชอนไชดินแข็งได้ดี ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้สูง ทำให้จุลินทรีย์ดินทำงานได้ดีขึ้นและประโยชน์อีกมากมาย

ไรโซเบียมเกี่ยวอะไรกับพืชตระกูลถั่ว

ดินปนทราย ดินเหนียว ดินเปรี้ยว ดินแข็ง ดินเค็ม และดินที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ ล้วนมีธาตุอาหารในดินน้อยเต็มที  หากจะปลูกถั่วในดินดังกล่าวย่อมให้ผลผลิตไม่ดีนัก เพราะปมรากถั่วที่จะตรึงไนโตรเจนนั้นมีน้อย  วิธีแก้ปัญหาก็คือต้องใส่เชื้อไรโซเบียมลงไป  เพื่อให้ไรโซเบียมเข้าไปในปมรากถั่วแล้วตรึงไนโตรเจนในอากาศมาสร้างเป็นสารประกอบไนโตรเจนให้พืชนำไปใช้ในการเจริญเติบโต ทำให้ปริมาณโปรตีนในลำต้นสูงขึ้นกว่าธรรมดาเป็นประโยชน์สำหรับไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด  ขณะเดียวกันก็จะทำให้มีไนโตรเจนที่เหลือเกินความต้องการถูกปลดปล่อยลงสู่ดินเป็นปริมาณมากตามไปด้วย ขบวนการปรับปรุงดินก็จะเกิดขึ้นได้ดีโดยที่เราไม่ต้องใช้ปุ๋ยไนโตรเจนเลย ดินก็จะคงสภาพความอุดมสมบูรณ์อยู่ได้นาน ในฤดูปลูกถัดมาก็สามารถปลูกพืชชนิดอืนตามได้เลย

เชื้อไรโซเบียมคืออะไร

เกษตรกรบางท่านอ่านแล้วคงจะยังงงอยู่ว่าเชื้อไรโซเบียมหน้าตาเป็นอย่างไร เชื้อไรโซเบียมก็คือไรโซเบียมที่เลี้ยงขยายให้ได้ปริมาณมาก ๆ ในรูปเชื้อบริสุทธิ์แล้วนำมาผสมกับสารพาหะ(เพื่อให้ไรโซเบียมเกาะอยู่) หรือจะไม่ผสมก็ได้แต่จะต้องอยู่ในรูปที่สามารถนำไปใช้กันทั่วไปได้สะดวก

ลักษณะของเชื้อที่ดีจะต้องมีปริมาณไรโซเบียมไม่ต่ำกว่าอัตรามาตรฐานที่กำหนดไว้ให้ใช้และจะต้องเป็นไรโซเบียมที่มีประสิทธิภาพในการตรึงไนโตรเจนกับถั่วที่กำหนดไว้  สารพาหะที่ใช้ต้องมีคุณสมบัติป้องกันการตายของไรโซเบียมที่อยู่ในถุงและบนเมล็ดได้ดี  อีกทั้งต้องติดเมล็ดได้ดีเมื่อทำการคลุก ที่นิยมใช้กันมากก็มีพีท ปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว ถ่านลิกไนท์และดินเหนียว นอกจากนี้ถุงบรรจุจะต้องบอกขนาดของเชื้อที่บรรจุ ชนิดของถั่วที่จะใช้อัตราการใช้ตลอดจนคำแนะนำวิธีการใช้และวิธีการเก็บรักษาตลอดจนวันหมดอายุ ชื่อผู้ผลิต และจำหน่าย

การคัดเลือกเชื้อไรโซเบียม

เนื่องจากเชื้อไรโซเบียมมีอยู่มากมายหลายชนิดซึ่งจะไปทำให้เกิดปมที่รากของถั่วบางชนิดเท่านั้น  และแต่ละชนิดยังมีความเหมาะสมที่จะนำไปใช้แต่ละพืชไม่เหมือนกัน ดังนั้นในการใช้เชื้อไรโซเบียมผู้ใช้จะต้องเลือกให้เหมาะกับถั่วที่จะใช้เพาะ เชื้อที่ผลิตขึ้นจะระบุว่าใช้กับถั่วอะไรได้บ้าง ดังนั้นในการสั่งซื้อเชื้อจะต้องบอกด้วยว่าการนำไปใช้กับถั่วอะไร  และเพื่อให้แน่ใจได้ว่าเชื้อที่ได้เป็นเชื้อที่มีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนสูง  ผ่านการคัดเลือกและผ่านการทดสอบมาอย่างดีแล้ว  จึงควรใช้เชื้อที่ผลิตโดยกรมวิชาการเกษตรหรือหากจะเป็นเชื้อที่ผลิตโดยเอกชนก็ควรจะเป็นเชื้อที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น

วิธีการใช้เชื้อไรโซเบียม

การที่พืชถั่วจะได้รับประโยชน์จากไรโซเบียมได้สูงสุดจะต้องทำให้ไรโซเบียมที่ใส่ลงไปเข้าสู่รากเพื่อสร้างปมให้ได้มากที่สุด  โดยยึดหลักเกณฑ์ที่ว่าจะต้องให้เชื้ออยู่ใกล้เมล็ดที่สุด เมื่อรากถั่วงอกออกมาไรโซเบียมที่อยู่กับเมล็ดก็จะเข้าสู่รากได้ทันที วิธีการที่นิยมใช้เชื้อไรโซเบียมมีอยู่ 2 วิธี คือใช้คลุกกับเมล็ดถั่วโดยตรงและการใส่ลงไปในดิน

การคลุกเชื้อกับเมล็ด

เชื้อที่จะนำมาใช้สำหรับคลุกเมล็ดจะต้องเป็นเชื้อที่เหมาะสำหรับคลุกเมล็ดโดยเฉพาะ  ซึ่งได้แก่พวกที่ผลิตในรูปเชื้อผงสำเร็จรูปโดยใช้ดินพีทหรือปุ๋ยหมักหรือในรูปอาหารเหลว  ซึ่งมีลักษณะที่สามารถติดอยู่บนเมล็ดได้ และเพื่อให้เชื้อไรโซเบียมติดเมล็ดได้ดีจำเป็นต้องใช้สารช่วยติดเมล็ดมาช่วยในการคลุกเมล็ดด้วย  โดยสารที่ใช้จะต้องไม่เป็นพิษต่อไรโซเบียมและหาได้ไม่ยาก เป็นต้นว่า กาวสังเคราะห์ 40℅ ละลายในน้ำ น้ำตาลทราย 30℅ ละลายในน้ำ น้ำมันพืช หรือสารอื่น ๆ

กรณีที่ดินเป็นกรดจัด ไรโซเบียมที่อยู่บนเมล็ดจะถูกทำลายไปหรือไม่สามารถที่จะเข้าสร้างปมได้อย่างมีประสิทธิภาพควรแก้ปัญหานี้โดยใช้หินปูนที่บดละเอียดจนเป็นฝุ่นหรือหินฟอสเฟตเคลือบไปบนเมล็ดที่คลุกเชื้อแล้วอีกชั้นหนึ่ง หินปูนหรือหินฟอสเฟตจะช่วยลดความเป็นกรดของดินบริเวณรอบ ๆ เมล็ด และช่วยให้ไรโซเบียมมีชีวิตอยู่รอดได้ดีขึ้น  ในกรณีนี้จำเป็นต้องใช้สารช่วยติดเมล็ดที่มีความเหนียวมาก ๆ เช่น กาวหรือน้ำเชื่อมและใช้ในปริมาณที่มากขึ้น

การใส่เชื้อลงดิน

วิธีนี้อาจจะใส่เชื้อลงไปในหลุมปลูกก่อนแล้วหยอดเมล็ดตามลงไปหรือหยอดเมล็ดก่อนแล้วจึงใส่เชื้อตามลงไปก็ได้ วิธีการใส่เชื้อลงดินทำได้ 2 แบบ คือ โดยนำเชื้อผลมาผสมกับดิน ทราย หรือวัสดุอื่น ๆ ที่เหมาะสม ที่จะหยอดลงหลุมปลูกได้เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่เกษตรกรและลดการสิ้นเปลืองเชื้อ และหลังจากผสมแล้วควรผสมน้ำทำให้มีความชื้นที่พอเหมาะด้วย อีกวิธีหนึ่งก็เพียงเอาเชื้อมาละลายกับน้ำผสมให้เชื้อกระจายในน้ำแล้วพ่นฝอยลงไปบนเมล็ดพอเปียก  ปริมาณสารละลายเชื้อนี้ไม่จำเป็นต้องใช้มากนัก

วิธีการใส่เชื้อลงดินโดยตรงมองดูแล้ววิธีการค่อนข้างจะยุ่งยากไม่สะดวกนัก แต่จะทำให้เชื้อไรโซเบียมมีประสิทธิภาพสูงขึ้นในกรณีที่ปลูกพืชในดินที่มีผิวดินแห้ง มีความร้อนสูง อุณหภูมิขณะปลูกพืชสูงมาก ซึ่งล้วนเป็นอันตรายกับไรโซเบียม จึงควรใส่เชื้อไรโซเบียมลงไปในดินที่ชื้นภายใต้เมล็ดจะทำให้เชื้อมีชีวิตอยู่ได้

เรื่อง:ใบเฟิร์น